svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

"พันธ์ศักดิ์" ซัด บางพรรคไร้จริยธรรม ปั่นกระแสโซเชียลทำลายคู่แข่ง หวังผลเลือกตั้ง

03 มิถุนายน 2566
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

"พันธ์ศักดิ์ อาภาขจร" เปิดปฏิบัติการ"ไอโอ" มีจริง! ใช้โจมตีพรรคคู่แข่ง ซัด เป็นพฤติกรรมจิตวิทยาหมู่ ไร้จริยธรรม! ปั่นกระแสผ่านสื่อออนไลน์ หวังผลการเลือกตั้ง-ดิสเครดิตคู่แข่ง แม้จะออกมาแก้ตัวน้ำขุ่นๆ แล้วก็ตาม ยอมรับ ประเทศมหาอำนาจใช้เฟคนิวส์ บิดเบือนข้อมูลทางไซเบอร์

3 มิถุนายน 2566 อาจารย์พันธ์ศักดิ์ อาภาขจร นักวิชาการอิสระด้านเทคโนโลยีและการสื่อสาร เปิดเผยว่า หลังเลือกตั้งเพียงไม่กี่วัน ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ได้เปิดเผยผลสำรวจของประชาชน เรื่อง “ข่าวลือหรือข่าวจริง ช่วงเลือกตั้ง 2566” 

โดยได้ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 18-22 พฤษภาคม 2566 จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป กระจายทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา อาชีพ และรายได้ ทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้น จำนวน 1,310 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับข่าวลือหรือข่าวจริงช่วงเลือกตั้ง 2566 โดยมีผลการสำรวจสรุปได้ดังนี้

"พันธ์ศักดิ์" ซัด บางพรรคไร้จริยธรรม ปั่นกระแสโซเชียลทำลายคู่แข่ง หวังผลเลือกตั้ง

คำถาม 1 : ความเชื่อของประชาชนต่อข่าวพรรคการเมืองมีการใช้ปฏิบัติการสร้างข่าว ปั่นกระแสผ่านสื่อสังคมออนไลน์ (Social Media) เพื่อโจมตีพรรคการเมืองคู่แข่ง

ผลสำรวจ : ตัวอย่าง ร้อยละ 31.22 ระบุว่า ค่อนข้างเชื่อ รองลงมา ร้อยละ 25.27 ระบุว่า เชื่อมาก ร้อยละ 23.59 ระบุว่า ไม่เชื่อเลย ร้อยละ 19.31 ระบุว่า ไม่ค่อยเชื่อ และร้อยละ 0.61 ระบุว่า ไม่ตอบ/ไม่สนใจ

ขยายความ : การปฏิบัติการด้าน การข่าวเพื่อโจมตีพรรคคู่แข่ง เป็นความจริงหรือไม่ยัง เป็นคำถามอยู่  เพราะมีทั้งการกล่าวหาและการปฏิเสธจากพรรคการเมืองที่ตกเป็นข่าว แต่ผลสำรวจค่อนข้างเชื่อว่ามีอยู่จริง โดยผลสำรวจ เอนเอียงไปในทางเชื่อ 56.49 เปอร์เซ็นต์ (ร้อยละ 31.22 ค่อนข้างเชื่อ ร้อยละ 25.27 เชื่อมาก) และ เอนเอียงไปทางไม่เชื่อ 42.9 เปอร์เซ็นต์ (ร้อยละ 23.59 ไม่เชื่อเลย ร้อยละ 19.31 ไม่ค่อยเชื่อ)

นอกจากนี้ยังมีการกล่าวหากันทางสื่อออนไลน์และโต้ตอบระหว่างกันให้เห็นเป็นข่าวอยู่หลายกรณี เป็นต้นว่า  นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี หรือ โทนี่ วู้ดซั่ม กล่าวในรายการ CareTalk x CareClubHouse ทางช่องยูทูบ CARE คิดเคลื่อนไทย ว่า ส่วนหนึ่งที่ทำให้พรรคก้าวไกลชนะการเลือกตั้ง เป็นเพราะมีปฏิบัติการ IO ในขณะที่มีการตอบโต้จาก นายพิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์ รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล "ยืนยันพรรคก้าวไกลไม่มีปฏิบัติการแบบนั้น และไม่มีงบประมาณที่จะทำอะไรแบบนั้น ถึงมีก็ไม่ทำ และหากจะให้ความเห็นเพิ่ม ตนคิดว่าไม่ว่าพรรคการเมืองใดคงจะต้องปรับทัศนคติและวิธีคิด ไม่เช่นนั้นการทำงานการเมืองจะไม่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนในระยะยาว" (อ้างอิง 2)

"พันธ์ศักดิ์" ซัด บางพรรคไร้จริยธรรม ปั่นกระแสโซเชียลทำลายคู่แข่ง หวังผลเลือกตั้ง

อย่างไรก็ตาม การโจมตีทางการเมืองผ่านโซเชียลมีเดีย เกิดขึ้นได้เสมอและเกิดขึ้นได้ทั่วโลกดังตัวอย่างที่เกิดขึ้นในหลายประเทศ ผ่านโซเชียลมีเดียยอดนิยมและมีฐานผู้ใช้มาก ๆ เช่น เฟซบุ๊ก อินสตาแกรม ยูทูป และ TikTok เป็นต้น ซึ่งนอกจากจะเป็นการดิสเครดิตฝ่ายตรงข้าม เพื่อหวังผลการเลือกตั้งแล้ว การกระทำดังกล่าวยังส่อให้เห็นถึงพฤติกรรมทางการเมืองที่ไร้จริยธรรม ที่นักการเมืองไม่ควรประพฤติอีกด้วย 

คำถาม 2 : ความเชื่อของประชาชนต่อข่าวพรรคการเมืองมีการใช้ปฏิบัติการสร้างข่าว ปั่นกระแสผ่านสื่อสังคมออนไลน์ (Social Media) เพื่อเพิ่มคะแนนนิยมให้กับพรรคตนเอง

ผลสำรวจ : ตัวอย่าง ร้อยละ 30.08 ระบุว่า ค่อนข้างเชื่อ รองลงมา ร้อยละ 27.40  ระบุว่า เชื่อมาก ร้อยละ 22.06 ระบุว่า ไม่เชื่อเลย ร้อยละ 19.54 ระบุว่า ไม่ค่อยเชื่อ และร้อยละ 0.92 ระบุว่า ไม่ตอบ/ไม่สนใจ                

"พันธ์ศักดิ์" ซัด บางพรรคไร้จริยธรรม ปั่นกระแสโซเชียลทำลายคู่แข่ง หวังผลเลือกตั้ง

ขยายความ : คำถามนี้น่าจะไม่มีข้อสงสัยใด ๆ ว่าจะไม่เป็นความจริงเพราะพรรคการเมืองแทบทุกพรรคต่างสร้างคะแนนนิยมโดยใช้โซเชียลมีเดียกันทั้งสิ้นไม่มากก็น้อย แต่จะใช้กลยุทธ์แบบใดนั้นเป็นวิธีการของแต่ละพรรคการเมือง ซึ่งสอดคล้องกับผลสำรวจของนิด้าโพล ซึ่งพบว่ามีความเอนเอียงไปในทางเชื่อ 57.48 เปอร์เซ็นต์ (ร้อยละ 30.08 ค่อนข้างเชื่อ ร้อยละ 27.40 ระบุว่า เชื่อมาก) เอนเอียงไปทางไม่เชื่อ 41.6 เปอร์เซ็นต์ (ร้อยละ 22.06 ระบุว่า ไม่เชื่อเลย ร้อยละ 19.54 ระบุว่า ไม่ค่อยเชื่อ)

การสร้างข่าวปั่นกระแส เพื่อสร้างความนิยมที่มักใช้ได้ผลและใช้กันโดยทั่วไปในทางการเมืองมักใช้วิธีที่เรียกกันว่า การสร้างความนิยมทางการเมืองด้วยหญ้าเทียม (Political Astroturf Movement) ซึ่งจัดให้มีทีมงานขนาดใหญ่ในการสร้างภาพต่อสาธารณะผ่านโซเชียลมีเดียว่าตนเองได้รับความนิยม ทั้ง ๆ ที่ความจริงแล้วสิ่งเหล่านั้นไม่เคยมีอยู่จริง แต่สร้างกระแสให้เกิดความนิยม เพื่อหวังคะแนนเลือกตั้งคล้ายกับช่วยกันปฏิบัติการปูหญ้าเทียมให้เห็นคล้ายหญ้าจริง

"พันธ์ศักดิ์" ซัด บางพรรคไร้จริยธรรม ปั่นกระแสโซเชียลทำลายคู่แข่ง หวังผลเลือกตั้ง

ซึ่งเป็นการสร้างภาพลวงตาแก่กับผู้คนให้สนับสนุนพรรคการเมืองของตนเอง โดยการใช้โซเชียลมีเดียสร้างคอนเทนต์และปั่นยอดไลค์ ยอดแชร์ ฯลฯ ของคอนเทนต์ให้อัลกอริทึมได้ทำหน้าที่จัดการและส่งคอนเทนต์เหล่านี้ออกไป และใช้ปฏิกิริยาโครงข่าย (Network effect) ของโซเชียลมีเดียกระจายออกไปให้คนส่วนใหญ่ได้รับรู้ และเข้าใจว่าเป็นความนิยมจริง ๆ (สอดคล้องกับการทดลองทฤษฎีดาวโหลดเพลงที่สร้างกระแสความนิยมของเพลงขึ้นเองเพื่อให้เพลงนั้นได้รับความนิยม)

อีกวิธีหนึ่งที่มักถูกกล่าวถึงในสร้างกระแสทางการเมืองเป็นวิธีทางการตลาดที่เรียกว่า การตลาดแบบ หว่านเมล็ดพันธุ์ (Big seed marketing) ซึ่งเป็นการผสมผสาน การตลาดแบบปากต่อปาก (Viral Marketing) เข้ากับสื่อทางการตลาดรูปแบบเดิม ๆ ที่เคยใช้กันอยู่ ไม่ว่าจะเป็นสื่อวิทยุ โทรทัศน์ บิลบอร์ด แผ่นพับ ฯลฯ การผสมผสานดังกล่าวนี้ จะทำให้ผลของการส่งข้อมูลข่าวสารไปยังกลุ่มเป้าหมายจำนวนมากขึ้น อัตราการส่งต่อของผู้รับข่าวสารก็จะสูงขึ้นมากกว่าการใช้การตลาดแบบ ปากต่อปากเพียงอย่างเดียว

"พันธ์ศักดิ์" ซัด บางพรรคไร้จริยธรรม ปั่นกระแสโซเชียลทำลายคู่แข่ง หวังผลเลือกตั้ง

คำถาม 3 : ความเชื่อของประชาชนต่อข่าวการเลือกตั้งครั้งนี้ มีการแทรกแซงจากต่างชาติ

ผลสำรวจ : ตัวอย่าง ร้อยละ 56.56 ระบุว่า ไม่เชื่อเลย รองลงมา  ร้อยละ 22.21 ระบุว่า ไม่ค่อยเชื่อ ร้อยละ 11.76 ระบุว่า ค่อนข้างเชื่อ  ร้อยละ 8.17 ระบุว่า เชื่อมาก และร้อยละ 1.30 ระบุว่า ไม่ตอบ/ไม่สนใจ

ขยายความ : โลกโซเชียลมีเดียเป็นโลกไร้พรมแดนที่ใครต่อใครสามารถใช้ประโยชน์จากโซเชียลมีเดียเพื่อความได้เปรียบของตัวเองอยู่เสมอทั้งในเรื่องทั่วๆไปและในทางการเมือง ในช่วงเลือกตั้งจึงมักได้ยินข่าว การแทรกแซงการเลือกตั้งให้ได้ยินอยู่บ้าง แต่จากผลการสำรวจของนิด้าโพล เมื่อพูดถึงการแทรกแซงการเลือกตั้งจากต่างชาติกลับพบว่า ผลสำรวจส่วนใหญ่ ไม่เชื่อว่ามีการแทรกแซงการเลือกตั้งจากต่างชาติ

โดยพบว่า มีความเอนเองไปทางเชื่อเพียง 19.93 เปอร์เซ็นต์ (ร้อยละ 11.76 ค่อนข้างเชื่อ ร้อยละ 8.17 เชื่อมาก) ในขณะที่ ความเอนเอียงไปทางไม่เชื่อ สูงมากถึง 78.77 เปอร์เซ็นต์ (ร้อยละ 56.56 ไม่เชื่อเลย ร้อยละ 22.21 ไม่ค่อยเชื่อ)

"พันธ์ศักดิ์" ซัด บางพรรคไร้จริยธรรม ปั่นกระแสโซเชียลทำลายคู่แข่ง หวังผลเลือกตั้ง

ผลการสำรวจแสดงให้เห็นว่าคนไทยจำนวนหนึ่ง ไม่เชื่อว่ามีการแทรกแซงจากต่างชาติระหว่างการเลือกตั้ง  อย่างไรก็ตาม ในโลกไซเบอร์ สิ่งที่เราคาดไม่ถึงอาจเกิดขึ้นได้เสมอ เป็นต้นว่า

กรณีที่ 1 การแทรกแซงระหว่างประเทศกับประเทศด้วยกัน

ในการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาเมื่อปี 2016 มีรายงานอ้างว่า รัสเซียใช้โซเชียลมีเดียโจมตีการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาเพื่อเบี่ยงเบนผลการเลือกตั้ง โดยตรวจพบว่า หน่วยงาน IRA (Internet Research Agency) ของรัสเซียสร้างบัญชีปลอมบนแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย เช่น Facebook  Twitter  Instagram YouTube Google และแพลตฟอร์มยอดนิยมอื่น ๆ ในสหรัฐอเมริกา ในการสร้างข่าวปลอมเพื่อไม่ให้มีการโหวตและจูงใจของคนอเมริกันบางรัฐให้เลือก อดีตประธานาธิบดีทรัมป์และโจมตี นางฮิลลารี คลินตัน

ฮิลลารี คลินตัน

ปฏิบัติการของรัสเซียในครั้งนั้น ทำให้เฟคนิวส์จากรัสเซียสามารถเข้าถึงคนอเมริกันอย่างน้อยที่สุดราว 126 ล้านคน บนเฟซบุ๊ก เข้าถึงคน 20 ล้านคนบน Instagram และยังมีการส่งข้อความบน Twitter 10 ล้าน ครั้ง จากบัญชีที่มีผู้ติดตามบน Twitter รวม 6 ล้านคน ในขณะที่รัฐบาลรัสเซียปฏิเสธต่อเรื่องการแทรกแซงดังกล่าว

ไม่เฉพาะสหรัฐอเมริกากับรัสเซียเท่านั้น ที่มีความหวาดระแวงต่อกันในการโจมตีทางไซเบอร์ ประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกหลายประเทศที่มีความอ่อนไหวต่อการโฆษณาชวนเชื่อทางไซเบอร์ เช่น ไต้หวัน โปแลนด์ ยูเครน ฯลฯ ต่างเตรียมพร้อมต่อการบิดเบือนข้อมูลทางไซเบอร์อยู่ตลอดเวลาเช่นกัน

"พันธ์ศักดิ์" ซัด บางพรรคไร้จริยธรรม ปั่นกระแสโซเชียลทำลายคู่แข่ง หวังผลเลือกตั้ง

กรณีที่ 2  การแทรกแซงผ่านการจ้างบริษัทวิเคราะห์ข้อมูลเอกชน

ปัจจุบันบริษัทวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ของโลกสามารถใช้การวิเคราะห์ข้อมูลในการเข้าถึงเป้าหมายได้ไม่ยาก โดยอาศัยหลักการทางการตลาดและปฏิบัติการทางจิตวิทยา(Psychological operations) ในการ ควบคุมอารมณ์(Emotion) ความคิด(Thinking) และ พฤติกรรมของเป้าหมาย โดยใช้เทคนิคการปล่อยข่าวลือ(Rumor) ข่าวบิดเบือน(Disinformation) และข่าวปลอม (Fake news) ผ่านโซเชียลมีเดีย

มีรายงานว่า บริษัทบางแห่งเคยรับจ้างใช้ปฏิบัติการทางจิตวิทยาแบบนี้มาแล้ว กับการแทรกแซงการเลือกตั้งในประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกมากกว่า 200 ครั้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งปฏิบัติการลับที่อาศัยกลโกงเหล่านี้ถูกนำไปใช้กับการเลือกตั้งในประเทศที่ประชาธิปไตยยังไม่พัฒนา(Undeveloped democracies) หลายแห่ง จึงไม่น่าสงสัยเลยว่า ประชาธิปไตยบนโลกไซเบอร์ นั้น สามารถถูกบิดเบือนได้ตลอดเวลาโดยที่เป้าหมายไม่รู้ตัวเลยว่ากำลังถูกปั่นหัวจากนักการเมืองผู้ต้องการแสวงหาอำนาจ โดยใช้ความได้เปรียบทางไซเบอร์ที่มีศักยภาพมากพอที่จะทำให้เป้าหมายเบี่ยงเบนความสนใจมาหาตัวเอง หรือแม้แต่เบี่ยงเบนให้เป้าหมายหมดความสนใจและตีจากฝ่ายตรงข้ามได้

โดนัลด์ ทรัมป์

ความเชื่อจากการสำรวจผลโพลข้างต้นซึ่งส่วนใหญ่ไม่เชื่อว่า การเลือกตั้งของไทยที่ผ่านมา มีการแทรกแซงจากต่างชาติ แต่มิได้หมายความว่าการแทรกแซงเกิดขึ้นไม่ได้ เพราะการแทรกแซงการเลือกตั้ง โดยใช้โซเชียลมีเดียเกิดขึ้นได้ในทุกการเลือกตั้งและสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกประเทศในโลก ที่โซเชียลมีเดียเข้าถึง ทั้งการแทรกแซงภายในประเทศและจากต่างประเทศและ เรามักจะทราบในภายหลังเสมอว่ามีการแทรกแซงจากผลการตรวจสอบและยืนยันจากองค์กรด้านข้อมูลและผู้เชี่ยวชาญของแต่ละประเทศ

คำถาม 4 : การได้ยินข่าวลือเกี่ยวกับการเลือกตั้งของประชาชน ในช่วง 6 สัปดาห์ของการหาเสียง

ผลสำรวจ : ตัวอย่าง ร้อยละ 30.92 ระบุว่า จำนวนมากกว่า 20 ข่าว รองลงมา ร้อยละ 22.29 ระบุว่า จำนวน 1-5 ข่าว  ร้อยละ 16.26 ระบุว่า จำนวน 6-10 ข่าว ร้อยละ 13.66 ระบุว่า ไม่เคยได้ยินเลย ร้อยละ 10.15 ระบุว่า จำนวน 11-15 ข่าว และร้อยละ 6.72 ระบุว่า จำนวน 16-20 ข่าว

ขยายความ : ข่าวลือบนโลกไซเบอร์เกิดขึ้นได้เสมอและยิ่งในช่วงการเลือกตั้งอย่างน้อยผู้ที่ได้รับข่าวสารผ่านอินเทอร์เน็ตมักจะได้รับข่าวลือทางการเมืองรวมทั้งข้อมูลเท็จเพิ่มเติมจากข่าวลือที่เคยได้รับตามปกติอย่างไม่ต้องสงสัย  สอดคล้องกับผลสำรวจ ซึ่งมี ความเอนเอียงไปทางเคยได้ยินข่าวลือมากถึง 86.69 เปอร์เซ็นต์ ( ร้อยละ 30.92 จำนวนมากกว่า 20 ข่าว ร้อยละ 22.29 จำนวน 1-5 ข่าว ร้อยละ 16.26 จำนวน 6-10 ข่าว ร้อยละ 10.15 จำนวน 11-15 ข่าว และร้อยละ 6.72 จำนวน 16-20 ข่าว) ในขณะที่ ความเอนเอียงไปในทางไม่เคยได้ยินข่าวลือมีเพียง 13.66 เปอร์เซ็นต์ (ร้อยละ 13.66 ระบุว่า ไม่เคยได้ยินเลย)

ประชาธิปไตยบนโลกไซเบอร์ คือประชาธิปไตยที่มีความเปราะบางต่อการถูกโน้มน้าวหรือเบี่ยงเบนเพื่อหวังผลทางการเมืองโดยใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วย ทั้ง การใช้บัญชีปลอมร่วมกับการใช้ บอท (Bot :โปรแกรมอัตโนมัติที่ใช้สร้างข้อความสั้นๆและการสนทนาบนโซเชียลมีเดีย) ในการแทรกแซงการเลือกตั้งผ่านแพลตฟอร์มต่าง ๆ จนกระทั่งอาจเปลี่ยนแปลงผลทางการเมืองได้ไม่มากก็น้อย สิ่งเหล่านี้คือความท้าทายต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง ที่จะต้องตระหนักและใช้กรณีที่เกิดขึ้นจากการเลือกตั้งที่ผ่านมาเป็นกรณีศึกษา เพื่อรับมือกับการใช้โซเชียลมีเดียทางการเมืองในการเลือกตั้งในครั้งต่อ ๆ ไป


อ้างอิง

1.https://nidapoll.nida.ac.th/survey_detail?survey_id=634

2.ทักษิณกับพรรคก้าวไกล https://www.naewna.com/politic/731478

3.The Hype Machine โดย Sinan Aral

4.There are no facts โดย  Mark Shepard

5.Computational propaganda โดย Samuel C.Woolley และ Philip N.Howard

6.https://www.bangkokbiznews.com/lifestyle/670284

logoline