svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

ถอดรหัส "รัฐบาลแห่งชาติ" แบบไทยๆ หรือว่ารับแผนแดนไกลสลับขั้ว?

02 มิถุนายน 2566
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

โมเดล "รัฐบาลแห่งชาติ" ถูกจุดพลุขึ้นมาอีกครั้งจาก ส.ว.อาวุโสท่านหนึ่ง ในทางทฤษฎี " รัฐบาลแห่งชาติ" กำลังหมายถึง...และนำไปสู่อะไร... ติดตามใน"โพลิทิกส์พลัส"

จู่ๆ ข้อเสนอ"รัฐบาลแห่งชาติ" ผุดขึ้นผ่านไอเดีย "จเด็ด  อินสว่าง" สมาชิกวุฒิสภา ท่ามกลางการประเมินสถานการณ์ว่า ในการโหวตสนับสนุน "นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์" เป็นนายกฯนั้น อาจไม่ประสบความสำเร็จ ฉะนั้นสมควรให้มีการยกเว้นรัฐธรรมนูญบางมาตรา จัดตั้ง"รัฐบาลแห่งชาติ"  

การโยนข้อเสนอ" รัฐบาลแห่งชาติ" ดังกล่าวดูจะทำให้บรรดานักกฎหมายออกมาให้ความเห็นอย่างกว้างขวาง ไม่ว่าจะเป็นทั้งฝ่ายรัฐบาลเดิมและฝ่ายสนับสนุนว่าที่รัฐบาลใหม่ เห็นสอดคล้องต้องกันว่า ทำไม่ได้ เป็นการขัดรัฐธรรมนูญ และนั่นอาจหมายถึงการยึดอำนาจ! 

วิษณุ  เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี

"ทำไม่ได้​ ยกเว้นไม่ได้ เพราะรัฐธรรมนูญมี 200 กว่ามาตรา จะไปยกเว้นได้อย่างไร​ แต่สมัยที่พระยามโนปกรณ์นิติธาดา​ ดำรงตำแหน่ง​เป็นนายกรัฐมนตรี​ ท่านเคยยกเว้น ​แต่นั่นคือการยึดอำนาจ"

"วิษณุ เครืองาม" รองนายกฯ กล่าวถึงข้อเสนอของนายจเด็ด เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2566 

ปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า

เช่นเดียวกับ "นายปิยบุตร  แสงกนกกุล"  เลขาธิการคณะก้าวหน้า  ให้สัมภาษณ์"เนชั่นทีวี"เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2566  ว่า  " ไม่ทราบว่า ส.ว.ท่านนี้จะเสนอช่องทางไหนถ้าเสนอโดยงดเว้น รธน.บางมาตรา ทำไม่ได้แน่นอน เพราะผิดรธน. ชัดเจน และอาจเข้าข่ายล้มล้างการปกครองด้วย"

 

หากส่องโมเดล "รัฐบาลแห่งชาติ" ตามที่ถูกจุดพลุขึ้นมาอีกครั้งในทางทฤษฎี "รัฐบาลแห่งชาติ" หมายถึง...

- เป็นรัฐบาลที่ทุกพรรคการเมืองมาร่วมกันบริหารประเทศ ไม่มีฝ่ายค้าน 

- บางคนเรียก "รัฐบาลเสียงข้างมากพิเศษ" เพื่อสะท้อนความเป็นเอกภาพและการเป็นตัวแทนของประชาชนทุกฝ่าย

- ระยะเวลาการบริหารอาจจะสั้นหรือยาวก็ได้ ขึ้นกับสถานการณ์ ฉะนั้นรัฐบาลแห่งชาติบางรัฐบาลอาจเป็น "รัฐบาลเฉพาะกาล" ได้ด้วยเหมือนกัน

8 แกนนำพรรคการเมือง  นำโดยพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ร่วมลงนาม จัดตั้งรัฐบาล

- เงื่อนไขสำคัญคือ ต้องดึงทุกพรรคการเมืองมาร่วมกันบริหาร โดยไม่มีฝ่ายค้าน เพื่อนำพาประเทศฝ่าวิกฤติขัดแย้งทางการเมืองอย่างรุนแรง 

- พรรคการเมืองเห็นพ้องต้องกันที่จะจับมือกันแก้ไขปัญหาโดยไม่แยกพวกแยกฝ่ายอีกต่อไป 

- ในประวัติศาสตร์การเมืองไทยยังไม่เคยมี "รัฐบาลแห่งชาติ"

- สถานการณ์ที่จะทำให้เกิด "รัฐบาลแห่งชาติ" ต้องวิกฤตจริงๆ เช่น เกิดสงครามขนาดใหญ่ จึงพักการแข่งขันทางการเมืองเอาไว้ก่อน แล้วตั้งรัฐบาลร่วมกันเพื่อบริหารประเทศ หรือสถานการณ์ที่มีความขัดแย้งทางการเมืองอย่างรุนแรง โมเดล "รัฐบาลแห่งชาติ" ก็ช่วยได้เช่นกัน

จากนิยามของ "รัฐบาลแห่งชาติ" นำมาถอดรหัสข้อเสนอจุดพลุของท่าน ส.ว.ได้แบบนี้ 

1.ดูตามนิยามทางทฤษฎีรัฐศาสตร์ของ "รัฐบาลแห่งชาติ" จะเห็นได้ว่า รัฐบาลประเภทที่ไม่มีฝ่ายค้าน สะท้อนนัยแห่ง "ความปรองดองแห่งชาติ" จึงควรตั้งรัฐบาลลักษณะนี้ขึ้นในห้วงเวลาที่ประเทศเผชิญวิกฤตอย่างรุนแรงเท่านั้น 

- สงคราม หรือหลังสงคราม

- ความขัดแย้งขนาดใหญ่ ถึงขั้นฆ่าฟัน สูญเสียเลือดเนื้อ 

2.เมื่อ ส.ว.บางท่านเสนอตั้ง "รัฐบาลแห่งชาติ" ในสถานการณ์ที่บ้านเมืองไม่ได้วิกฤติระดับนั้น จึงทำให้เกิดคำถามถึง "เจตนาที่แท้จริง" ของการออกมาเสนอโมเดลรัฐบาลแบบนี้ 

- แพ้เลือกตั้ง จึงพยายามหาทางให้พวกตัวเองยังรักษาอำนาจได้ต่อไป หรือแชร์อำนาจจากฝ่ายชนะ

- แนวคิดเผด็จการ ไม่ยอมรับผลเลือกตั้ง เสพติด-ยึดติดอำนาจ ไม่ยอมรับความพ่ายแพ้ 

3.แต่หากมองอีกด้านหนึ่ง ยังมี "รัฐบาลแห่งชาติ" แบบไทยๆ ที่อาจเรียกได้ว่า "รัฐบาลเสียงข้างมากพิเศษ" เพื่อผ่าทางตันทางการเมือง 

- รัฐบาลแบบนี้มีบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน คือ พ.ศ.2560 มาตรา 272 วรรค 2 

- มาตรา 272 เป็นมาตราอันลือลั่นของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ นั่นก็คือการเปิดช่องให้ ส.ว.ร่วมโหวตเลือกนายกฯ 

- ที่ผ่านมาเคยมีการเคลื่อนไหวแก้ไขปลดล็อกมาตรานี้เพียงมาตราเดียว แต่ไม่ผ่านการพิจารณาของรัฐสภา 

แต่ประเด็นการให้ ส.ว.โหวตเลือกนายกฯ เป็นเพียงวรรคเดียวของมาตรา 272 เท่านั้น คือ วรรคแรก แต่ยังมีวรรค 2 ว่าด้วยการตั้ง "รัฐบาลเสียงข้างมากพิเศษ" ด้วย นั่นก็คือ 

OO กรณีที่ไม่อาจแต่งตั้งนายกฯ จากบัญชีแคนดิเดตที่พรรคการเมืองเสนอได้ 

OO ให้สมาชิกของทั้งสองสภารวมกัน (ต้องมีทั้ง ส.ส. และ ส.ว.) จำนวนไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา (376 เสียง จาก 500 เสียง) เข้าชื่อเสนอต่อประธานรัฐสภา 

OO ขอให้รัฐสภามีมติยกเว้นเพื่อไม่ต้องเสนอชื่อนายกฯ จากบัญชีแคนดิเดต = เสนอชื่อนายกฯคนนอกได้ 

OO ประธานรัฐสภาจัดประชุมรัฐสภาโดยพลัน ถ้ามีมติไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 (500 เสียงจาก 750 เสียง) ก็ให้เสนอชื่อนายกฯคนนอกได้

OO ขั้นตอนการเสนอชื่อนายกฯคนนอก (หรือคนในบัญชีแคนดิเดตก็ยังได้ และเสียง ส.ส.ของพรรคนั้นไม่ต้องถึง 25 เสียงก็ได้) และการลงมติ กลับมาใช้เสียงข้างมาก 376 เหมือนเดิม

นี่คือช่องทางการตั้ง "รัฐบาลเสียงข้างมากพิเศษ" หรือ "รัฐบาลแห่งชาติแบบไทยๆ" ที่มีบัญญัติอยู่ในรัฐธรรมนูญ โดยไม่ต้องมีวิกฤติระดับสงคราม หรือความขัดแย้งรุนแรง แค่หานายกฯจากบัญชีแคนดิเดตไม่ได้ ก็ไปช่องทางนี้ได้แล้ว 

ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี

4. น่าสนใจเป็นอย่างยิ่งว่า ช่วงก่อนเลือกตั้งที่มีข่าว "ดีลลับดูไบ" เพื่อไทยจับมือพลังประชารัฐ กวาดแลนด์สไลด์ และตั้งรัฐบาลเสียงข้างมากพิเศษ เพื่อดึงเสียง ส.ว.สนับสนุน ก็มีการพูดถึงช่องทางตามมาตรา 272 วรรค 2 เพื่อหาความชอบธรรม พา "คนแดนไกล" กลับบ้าน โดยใช้ "นายกฯคนกลาง" ที่ไม่ใช่คนของพรรคเพื่อไทย เพื่ออ้างความปรองดอง และลดแรงต้าน

น่าคิดว่า การที่ ส.ว.บางท่านออกมาเสนอ"รัฐบาลแห่งชาติ" เพื่อให้สอดรับกับ "ดีลลับสลับขั้ว" ที่โยงถึง "ฮ่องกง-สิงคโปร์-ลังกาวี-บ้านป่าฯ-บ้านคลองสามวา" หรือไม่ เพื่อให้การ "สลับขั้ว" มีทางออกที่สวยงาม "พรรคเพื่อไทย"ไม่ได้กลายเป็นผู้ร้าย และฝ่ายสองลุงก็ยังได้บทบาทส่งท้าย สร้างความปรองดองให้ประเทศ และสกัด"พรรคก้าวไกล"เป็นฝ่ายค้าน ไม่ให้มีอำนาจไปในตัว

logoline