31 พฤษภาคม 2566 ที่พรรคประชาธิปัตย์ นายชวน หลีกภัย อดีตประธานรัฐสภา และประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงคุณสมบัติของประธานสภาฯว่า ขึ้นอยู่กับมติของที่ประชุม เพราะตามปกติพรรคการเมืองที่ได้เสียงข้างมาก จะได้เป็นประธานสภาฯ แตกต่างจากครั้งที่แล้ว ซึ่งตนได้ทำหน้าที่เป็นประธานสภาฯ เนื่องจากพรรคร่วมรัฐบาลเต็มใจ และไม่หักโควต้ารัฐมนตรีของพรรค ซึ่งเหตุผลที่รับทำหน้าที่ เพราะเห็นว่า ก่อนการเลือกตั้งเมื่อปี 2562 ไม่มีสภาฯมา 5 ปี จึงรับหน้าที่เป็นประธานสภาฯ แม้มีการประเมินว่าสภาฯอยู่ได้เพียง 1 - 2 ปี แต่ด้วยความร่วมมือจากสมาชิก ทำให้สามารถอยู่จนครบวาระ 4 ปี
โดยพรรคที่มีเสียงข้างมาก ก็จะได้รับตำแหน่งประธานสภาฯ และนายกรัฐมนตรี แต่เมื่อรายละเอียดพรรคที่มีเสียงใกล้เคียงกับรัฐบาลจะได้เป็นฝ่ายค้าน เช่น กรณีพรรคความหวังใหม่ที่มีคะแนนห่างจากพรรคประชาธิปัตย์ไม่มากช่วงหนึ่ง คือ 125 กับ 123 เสียง แต่ทั้ง 2 พรรคไม่ได้ร่วมรัฐบาลกัน
ดังนั้นพรรคความหวังใหม่จะตั้งประธานสภาฯ และนายกรัฐมนตรีเอง โดยมีพรรคประชาธิปัตย์เป็นฝ่ายค้าน จึงไม่มีประเด็นการต่อรองตำแหน่ง แต่ในกรณีที่มีการถกเถียงคะแนนของพรรคที่มาร่วมรัฐบาล มีความใกล้เคียงกัน คือ 151 กับ 141 จึงเป็นประเด็นใหม่ ที่ถูกพรรคเพื่อไทยนำมาต่อรอง และมองว่าไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะคะแนนไม่ห่างกันมาก
ส่วนที่จะใช้ตำแหน่งประธานสภาฯ ทำประโยชน์ให้พรรคตัวเองนั้น นายชวน กล่าวว่าเป็นเรื่องเข้าใจผิด และบอกให้ไปศึกษารัฐธรรมนูญและข้อบังคับสภาฯว่า ประธานสภาฯมีหน้าอะไรบ้าง ไม่เหมือนสมัยก่อนที่ประสภาฯ สามารถเปลี่ยนชื่อนายกรัฐมนตรีได้ แต่ปัจจุบันสภาฯเลือกใคร ประธานสภาฯไม่สามารถทำอย่างอื่นได้ และมีหน้าที่เสนอขึ้นทูลเกล้าฯเท่านั้น
เพราะโดยทั่วไปตามข้อกำหนด ประธานสภาฯต้องเป็นกลาง แม้เป็นกรรมการบริหารพรรคอยู่ก็ต้องลาออก และต้องเข้าใจกฎหมาย จะทำอะไรตามอำเภอใจไม่ได้ แม้แต่จะถ่วงเวลาก็ไม่ได้ เพราะแต่ละเรื่องมีกำหนดเวลาไว้อยู่แล้ว
นายชวน กล่าวถึงเรื่องคุณสมบัติและความเหมาะสมว่า ขึ้นอยู่กับแต่ละฝ่ายที่จะเสนอ แต่ไม่ขอวิจารณ์เรื่องความเหมาะสม
นอกจากนี้ นายชวน ยังกล่าวถึงกรณีที่พรรคก้าวไกล เสนอกฎหมายยกเลิกมาตรา 112 ว่า เป็นการนำเสนอข้อมูลที่คลาดเคลื่อน พร้อมชี้แจงว่า การทำหน้าที่ของประธานสภาฯและรองประธาน มีการแบ่งหน้าที่กัน โดยนายสุชาติ ตันเจริญ รองประธานสภาฯ คนที่1 รับผิดชอบ ร่าง พ.ร.บ.ที่เสนอเข้ามายังสภาทุกฉบับ โดยไม่ได้ผ่านประธานสภาฯ
ขณะที่ นายศุภชัย โพธุ์สุ รองประธานสภาฯ คนที่ 2 จะดูเรื่องญัตติและกระทู้ถาม ดังนั้นร่างกฎหมายที่พรรคก้าวไกลเสนอ จะมีนายสุชาติเป็นผู้ดูแล และจากการปรึกษาฝ่ายกฎหมายของสภาฯพบว่า ขัดรัฐธรรมนูญ แต่ยังให้ผ่านกระบวนการประสานงาน ที่ประกอบด้วยฝ่ายกฎหมายทุกฝ่ายของสภาฯ อีกครั้ง แต่ทุกคนยังมีความเห็นสอดคล้องกันว่า ขัดรัฐธรรมนูญ ทำให้นายสุชาติไม่ได้บรรจุในวาระ และส่งกลับไปยังพรรคก้าวไกลเพื่อให้แก้ไข
ดังนั้น จึงยืนยันได้ว่า ไม่มีการกลั่นแกล้ง เพราะมาไม่ถึงตนเอง แต่จากที่พิจารณามองว่า นายสุชาติ ใช้ดุลยพินิจถูกแล้ว จึงขอให้เข้าใจเรื่องนี้ว่า ที่มาวิจารณ์หรือตำหนิอาจจะไม่ทราบข้อเท็จจริง