ประเด็นนี้ “เนชั่นทีวี” ตรวจสอบรัฐธรรมนูญมาตรา 88-89 ซึ่งบัญญัติเอาไว้เกี่ยวกับการเสนอชื่อ “แคนดิเดตนายกฯ” ของพรรคการเมือง
มาตรา 88 บัญญัติให้สิทธิ์พรรคการเมืองที่ส่งผู้สมัครรับเลือกตั้ง สามารถเสนอชื่อแคนดิเดตนายกฯได้ไม่เกิน 3 ชื่อ โดยต้องเสนอชื่อต่อ กกต. ก่อนปิดการรับสมัครรับเลือกตั้ง (พรรคการเมืองจะไม่เสนอก็ได้)
มาตรา 89 กำหนดหลักเกณฑ์เอาไว้
1.ต้องมีหนังสือยินยอมของบุคคลซึ่งได้รับการเสนอชื่อ
2.ผู้ได้รับการเสนอชื่อต้องเป็นผู้มีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามที่จะเป็นรัฐมนตรีตามมาตรา 160 และไม่เคยทำหนังสือยินยอมให้พรรคการเมืองอื่นในการเลือกตั้งคราวเดียวกัน
วรรคต่อมาของมาตรา 89 ต้องขีดเส้นใต้ “การเสนอชื่อบุคคลใดที่มิได้เป็นไปตามวรรคหนึ่ง ให้ถือว่าไม่มีการเสนอชื่อบุคคลนั้น”
ส่วนมาตรา 160 ว่าด้วยคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามการเป็นรัฐมนตรี ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 89 นั้น มีทั้งหมด 8 ข้อด้วยกัน
ข้อ 6 เขียนชัดว่า รัฐมนตรีต้องไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 98
ย้อนไปดูมาตรา 98 บัญญัติถึงลักษณะต้องห้ามของบุคคล ไม่ให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส. มีทั้งหมด 18 ข้อ
ข้อ 3 คือ เป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใดๆ
***ซึ่งก็คือลักษณะต้องห้าม ที่คุณเรืองไกร ยื่นคำร้องต่อ กกต. ให้ตรวจสอบสิทธิการสมัครรับเลือกตั้งของคุณพิธานั่นเอง เนื่องจากมีหลักฐานการครอบครองหุ้นไอทีวีมาตั้งแต่ปี 2551
ประเด็นก็คือ ถ้าเรื่องนี้ศาลรัฐธรรมนูญชี้ว่าคุณพิธาผิด คือมีลักษณะต้องห้าม ไม่สามารถลงสมัคร ส.ส.ได้ เพราะถือหุ้นสื่อ ก็จะไม่มีคุณสมบัติการเป็น “แคนดิเดตนายกฯ” ด้วย ซึ่งนั่นก็แปลว่า พรรคก้าวไกลไม่ได้เสนอชื่อคุณพิธาเป็นแคนดิเดตนายกฯนั่นเอง (ตามบทบัญญัติในมาตรา 89 วรรค 2)
เมื่อก้าวไกลไม่มีแคนดิเดตนายกฯ ก็ไม่มีชื่อให้เสนอ หรือหากยังฝืนเสนอ ส.ว.ก็ไม่ต้องโหวต (รวมทั้ง ส.ส.ด้วย) ก็ผลทางกฎหมาย เสมือนหนึ่งว่าไม่เคยเสนอชื่อ นี่คือความหมายที่อาจารย์วิษณุต้องการสื่อนั่นเอง
ฉะนั้นอย่าว่า แต่จะเป็นนายกฯได้ แต่พรรคก้าวไกลเสมือนหนึ่งไม่เคยเสนอแคนดิเดตนายกฯที่ชื่อ “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” เลยด้วยซ้ำ!