26 พฤษภาคม 2566 "นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์" หัวหน้าพรรคก้าวไกล และแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรค พร้อม ส.ส.ด้านแรงงาน นำโดย "นายเซีย จำปาทอง" ว่าที่ ส.ส.บัญชีรายชื่อ เข้าร่วมประชุมพบปะเครือข่ายสหภาพแรงงาน และผู้ใช้แรงงานในอุตสาหกรรมต่างๆ ทั้งหมด 45 องค์กร กว่า 200 คน เพื่อแลกเปลี่ยนพูดคุยเรื่องนโยบายแรงงาน ที่สำนักงานเทศบาลบางเสาธง จ.สมุทรปราการ
โดยนายพิธา กล่าวว่า การเซ็น MOU ของพรรคร่วมรัฐบาลทั้งหมด 8พรรค ในข้อที่ 19 เป็นการคุ้มครองสิทธิแรงงานรวมถึงให้ความเป็นธรรมในการจ้างงาน สามารถทำให้ค่าแรงสอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น เพราะเป็นสิ่งที่พรรคก้าวไกลตั้งแต่จัดตั้งมาสมัยอดีตอนาคตใหม่ ทั้งก่อนหาเสียง ระหว่างหาเสียง หรือหลังหาเสียง จะบรรจุความเดือดร้อน และปัญหาของแรงงานเข้าไปอยู่ใน MOU จัดตั้งรัฐบาลเรียบร้อยแล้ว
"สาเหตุที่มาหาทุกคนวันนี้ก็เพื่อมาสื่อสาร เรื่องการทำตามสัญญากับพี่น้องประชาชน ที่จะทำเป็นแบบแพ็กเก็จไม่ใช่เรื่องใดเรื่องหนึ่ง และการเดินหน้าพบปะพูดคุยกับหลายฝ่าย ผมไปที่สภาอุตสาหกรรม และวันนี้ไปพบเยาวชนและสัปดาห์หน้าจะไปพบหอการค้า ภาคการท่องเที่ยว และ SME เพื่อจะให้เห็นภาพรวมทั้งหมดถึงความจำเป็นในการต่อสู้เพื่อพี่น้องแรงงานทุกสหภาพ ให้เห็นถึงความจำเป็นการขึ้นค่าแรงถึง 450 บาท เพราะหลายฝ่ายอาจจะไม่เข้าใจคิดว่าเหรียญมีอยู่ด้านเดียว แต่ที่จริงมีสองด้าน เพราะน้องจากดูแลพี่น้องแรงงานแล้ว ก็ต้องดูแลพี่น้อง SME ด้วย" นายพิธา กล่าว
หัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าวต่อว่า เหรียญมี 2 ด้านที่พรรคก้าวไกลต้องดูแลแรงงาน และ SME คู่ขนาน เช่น รัฐบาลช่วยอุดหนุนประกันสังคม 6 เดือนแรก, ผลกระทบจากค่าแรงที่ขึ้นสามารถลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่า 2 ปี,
ขณะเดียวกัน ย้ำว่ามองทั้งระบบ ยังมีมาตรการลดภาษีจาก 20% เป็น 15% หรือจาก 15% เป็น 10% หรือ หวย SME หากซื้อของมีใบเสร็จ ครบ500 บาท จะเป็นหวยรัฐบาล ซึ่งสิ่งที่กล่าววันนี้ (26พ.ค.) เป็นสิ่งที่พูดต่อหน้าแรงงานและสื่อมวลชน และเวลาที่พูดเรื่องค่าแรง หลายคนก็จะกังวลใจว่าจะตกงาน ซึ่งยืนยันว่า ไม่ใช่ เพราะมองทั้งระบบ และดูแลให้เห็นว่าเหรียญมีสองด้านอย่างไร ก็ต้องแก้ไขให้แรงงานสองด้านฉันนั้น และยืนยันว่าเป็นไปได้ เพราะจะทำให้เศรษฐกิจโตและลดความเหลื่อมล้ำไปด้วย
ส่วนการขึ้นค่าแรง 450 บาทนั้น ไม่ได้ขึ้นกันเอง แต่เป็นการนำเอาตัวเลขค่าเงินเฟ้อ อัตราเติบโตทางเศรษฐกิจ ซึ่งที่ขึ้น 450 บาท ไม่ได้นั่งเทียนเขียน และไม่ได้เอามาไว้หาเสียงอย่างเดียว และเขียนอย่างยุติธรรมที่สุดที่ทุกคนควรจะได้ตัวเลขนี้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังเสร็จสิ้นการหารือนานกว่า 1ชั่วโมง นายพิธา ได้ให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมว่า ค่าแรงต้องดูทั้งระบบไม่ใช่แค่ค่าแรงอย่างเดียว มีเรื่องค่าแรง เรื่อง SME ไปในตัว บางทีคุยกันเรื่องค่าแรงอย่างเดียว แต่ไม่ได้คุยเคื่องแพคเกจที่ช่วยเหลือ SME จึงต้องเดินหน้าในการพูดคุยเหมือนที่ไปพบกับภาคอุตสาหกรรมต่างๆ
ขณะเดียวกัน และจะเดินหน้าคุยกับหอการค้าและสภานายจ้างต่อไป เพื่อให้เห็นภาพทั้งองคาพยพ และจะแก้ปัญหาให้เป็นครั้งสุดท้ายได้อย่างไร เพราะหากต่อไปแก้ไขเรื่องพ.ร.บ.แรงงานได้ ค่าแรงจะขึ้นอัตโนมัติทุกปี ตามค่าเงินเฟ้อ หรืออัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ และขึ้นน้อยๆ ขึ้นบ่อยๆ ไม่ใช่นานๆ ขึ้นทีแบบปัจจุบัน ซึ่งจะสามารถทำให้บริหารได้ทั้งแรงงานและบริษัท
เมื่อถามถึงกรณีที่สภาหอการค้าไทย ให้ความเห็นว่าอาจมีการย้ายฐานการผลิตในกลุ่ม SME หากมีการปรับขึ้นค่าแรง นายพิธา ระบุว่า จะต้องมีการพูดคุยกัน เพราะยังไม่เห็นว่ามีข้อกังวลใจเรื่องใดบ้าง โดยมองว่าการจะเลือกประเทศใดเป็นฐานผลิต เรื่องค่าแรงเป็นสิ่งที่สำคัญ แต่ไม่ใช่ทุกอย่าง แต่ต้องเลือกว่าประเทศนั้นมีบุคลากรที่พร้อมหรือไม่ มีการคอรัปชั่นเยอะหรือไม่ มีระบบภาษีอย่างไร มีตลาดในประเทศเยอะพอหรือไม่ มีภาษีในการส่งออกหรือไม่ เพราะเท่าที่ได้พูดคุยกับนักธุรกิจ การย้ายฐานการผลิตมี 8-9 ปัจจัย เรื่องค่าแรงเป็นเพียงแค่ 1 เรื่อง จึงต้องคุยกะนในองคาพยพใหญ่
"ผมย้ำว่าค่าแรง 450 บาท จะสามารถปรับขึ้นได้ภายใน 100 วันแรกของการเป็นรัฐบาล และขณะนี้ยังมีเวลาที่เหลืออยูก่อนที่จะจัดตั้งรัฐบาล จึงต้องเดินหน้าพูดคุยทั้งในไทยและต่างประเทศ" นายพิธา ระบุ