svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

"เก้าอี้ประธานสภา" สำคัญไฉน เป็นปัญหาเล็กตามที่"พิธา" กล่าวอ้างจริงหรือ

26 พฤษภาคม 2566
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

"เพื่อไทย -ก้าวไกล" ต่างยกเหตุผลช่วงชิง"เก้าอี้ประธานสภา" มาครอบครอง ขณะที่"พิธา ลิ้มเจริญรัตน์" ออกโรงสยบความขัดแย้ง อ้างปัญหา"ประธานสภา" เป็นเรื่องเล็ก โดยข้อเท็จจริง เป็นเรื่องเล็กจริงหรือ

"...เรื่องประธานสภา ที่เกิดขึ้นทั้งหมดในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมานี้ เป็นเรื่องความเห็นไม่ตรงกันของพรรคร่วมรัฐบาลที่เล็กมากถ้าหากเทียบกับภารกิจที่ประชาชนมอบความไว้วางใจให้พวกเรามา..."

"พิธา ลิ้มเจริญรัตน์" โพสต์ข้อความ เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2566

ภายหลังเสร็จสิ้นพิธีลงนาม"MOU" จัดตั้งรัฐบาล ผ่านไปเพียงไม่กี่วัน   การปะทะทางความคิดรอบใหม่ ระหว่างสองพรรค "ก้าวไกล" และ "เพื่อไทย" ก็เกิดขึ้นด้วยการต่างฝ่ายต่างแถลง ยืนยันนอนยันต้องการ"เก้าอี้ประธานสภา" ครอบครอง 

กระทั่งล่าสุด เมื่อวันที่ 26 พ.ค.2566 "พิธา ลิ้มเจริญรัตน์" หัวหน้าพรรคก้าวไกล ต้องออกมาสยบศึก ด้วยการโพสต์ข้อความทำนองว่า ปมปัญหา "ประธานสภา" เป็นเรื่องเล็ก ผมขอให้เรื่องตำแหน่งประธานสภานี้ ให้พรรคร่วมรัฐบาลกลับไปพูดคุยกันผ่านตัวแทนแต่ละพรรคในวงเจรจาจะดีที่สุด"

26 พ.ค. 66 พิธา ลิ้มเจริญรัตน์  หัวหน้าพรรคก้าวไกล ออกมาโพสต์ข้อความระบุว่า ปัญหาประธานสภาเป็นเรื่องเล็ก

การที่ "พิธา" อ้างว่าปัญหา"ประธานสภา" เป็นเรื่องเล็ก เหมือนพยายามลดกระแสความขัดแย้งของสองพรรคใหญ่ในพรรคร่วมรัฐบาลเท่านั้นเอง 

เพราะโดยข้อเฺท็จจริงทางการเมือง ใครจะมานั่งเป็น"ประธานสภา" ท่ามกลางสถานการณ์ที่"พรรคก้าวไกล"ชนะเลือกตั้งได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล พร้อมดึงดันแนวคิดผลักดันการแก้ไขรธน. แก้ไขประมวลกฎหมายอาญา"มาตรา 112"  ดูจะต้องเตรียมรับเผือกร้อนพร้อมลวกมือ อย่างนี้ก็ไม่ใช่เรื่องเล็ก และถ้าเป็นเรื่องเล็กจริง เหตุใดยังเจรจากันไม่ลงตัว หรือ "ก้าวไกล" ทำไมยอมถอยเรื่องเล็กแบบนี้ไม่ได้ 

ฉะนั้นจึงต้องกลับมาชำแหละกันสักหน่อย "เก้าอี้ประธานสภา" มีความสำคัญไฉน 

-รัฐธรรมนูญไทยตั้งแต่หลังฉบับปี 2534 เป็นต้นมา กำหนดให้ประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นประธานรัฐสภา 

***จึงเป็นผู้ที่นำชื่อนายกฯขึ้นทูลเกล้าฯ (เคยมีเสนอคนละชื่อกับที่พรรคการเมืองเสนอ จนแต่งชุดขาวรอเก้อกันมาแล้ว) 

 

-"ประธานสภา" คือ ผู้ที่มีอำนาจบรรจุร่างกฎหมายเข้าสู่วาระการประชุม และมีอำนาจชี้ขาดบางกรณีที่มีการรวบรวมชื่อ ส.ส. ส.ว. หรือสมาชิกรัฐสภา เพื่อส่งองค์กรอิสระ (ศาลรัฐธรรมนูญ / ป.ป.ช.) วินิจฉัยในประเด็นที่รัฐธรรมนูญกำหนด เช่น ความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของร่าง พ.ร.บ.ต่างๆ / ประเด็นมาตรฐานจริยธรรม เป็นต้น 

"เก้าอี้ประธานสภา" สำคัญไฉน เป็นปัญหาเล็กตามที่"พิธา" กล่าวอ้างจริงหรือ

***สามารถใช้แท็กติก ดึงเรื่อง ชะลอเรื่อง หรือเร่งบางเรื่องก็ได้ทั้งหมด เช่น (กรณีต้องการดึงเวลา) ก็สั่งให้ไปตรวจสอบลายเซ็นที่เซ็นไม่เหมือน หรือไปสอบถามว่า ลายเซ็นที่เซ็นมานี้ เต็มใจเซ็นหรือไม่ เจ้าตัวรู้หรือไม่ ฯลฯ 

-"ประธานสภา" ตามประเพณีการเมืองทั่วโลก ไม่เฉพาะประเทศไทย ต้องเชี่ยวชาญงานสภา เคยเป็น ส.ส.มาแล้วหลายสมัย ทำงานในสภามาพอสมควร มีบารมีระดับหนึ่ง มีความรอบรู้ทางกฎหมาย แม่นข้อบังคับการประชุม เพราะต้องคุมเกมสภาให้ได้ ซึ่งไม่ใช่งานง่าย

"จุดนี้เองที่พรรคเพื่อไทยใช้เป็นแต้มต่อ และอ้างเป็นเหตุผลว่า บุคลากรของพรรคเพื่อไทยเหมาะสมกว่าก้าวไกลในตำแหน่งประธานสภา เนื่องจากมี ส.ส.ที่คร่ำหวอดมากกว่า และเป็น ส.ส.มาหลายสมัย แตกต่างจากพรรคก้าวไกล ที่ส่วนใหญ่เป็น ส.ส.หน้าใหม่ หรือแค่สมัยที่ 2 

มีข่าวพรรคเพื่อไทย วางตัว "นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว" เป็นประธานสภา ซึ่งถ้าเป็นความจริง ก็ต้องยอมรับว่ามีคุณสมบัติเด่นกว่าคนที่"ก้าวไกล"เตรียมไว้ ซึ่งมีข่าวว่าอาจจะเป็น "ชัยธวัช ตุลาธน" ซึ่งเป็น ส.ส.สมัยแรก และอาจเป็นเหตุให้พรรคการเมืองต่างๆ หันไปโหวตหนุน"นพ.ชลน่าน" ได้แบบอ้างได้เต็มปาก 

ชวน  หลีกภัย  อดีตประธานสภา ที่ได้รับการยอมรับ จากแวดวงการเมือง ทั้งวัยวุฒิและคุณวุฒิ

หลายคนอาจจะอ้าง"ชวน หลีกภัย" เป็นประธานสภาสมัยแรก เมื่อปี 2529 ตอนนั้นก็ยังเป็นนักการเมืองหนุ่ม แต่จริงๆ "ชวน" เป็น ส.ส.มาแล้ว 5 สมัย (เลือกตั้งบ่อย) เป็น ส.ส.สมัยแรกเมื่อปี 2512 / และขณะเป็นประธานสภา อายุ 48 ปี / คุณสมบัติเหมาะสม เพราะเรียนจบกฎหมาย แม่นข้อบังคับ และลีลา ลูกล่อลูกชนไม่เป็นรองใคร ได้รับการยอมรับอย่างมาก กระทั่งได้เป็นประธานสภาสมัยที่ 2 เมื่อปี 62-66 ที่ผ่านมา

-"ประธานสภา"บางท่านที่อาจจะไม่ค่อยได้รับการยอมรับจากสมาชิก และถูกบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์การเมือง ก็เช่น 

"สมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์" (ส.ส.ขอนแก่น) ประธานสภาจากพรรคเพื่อไทย ในยุครัฐบาลคุณยิ่งลักษณ์ 

"สมศักดิ์" ตอนแรกเป็นประธานสภา เล่นบทเข้ม ใช้ค้อนประธานปรามสมาชิกหลายครั้ง จนได้ฉายาว่า “ขุนค้อน” 

สมศักดิ์  เกียรติสุรนนท์  อดีตประธานสภา ได้รับฉายา ขุนค้อนดูไบ

แต่ต่อมาเมื่อมีการเสนอกฎหมายแนวๆ เอื้อประโยชน์ให้พรรคที่ตนสังกัด และ "คนแดนไกล" และร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยความปรองดอง / ก็ปฏิบัติหน้าที่และชี้ขาดแบบไม่ได้รับการยอมรับจากสมาชิก / เช่น วินิจฉัยว่า "คำวินิจฉัยประธานถือเป็นที่สิ้นสุด ส่วนจะผิดหรือถูกเป็นอีกเรื่องหนึ่ง" 

เหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นหลายครั้งจนเคยถูกโห่ไล่ ขว้างปาสิ่งของ และมี "ส.ส.ประชาธิปัตย์"ไปแย่งเก้าอี้ประธาน ล้อมกรอบไม่ให้ขึ้นนั่งบัลลังก์ เรียกว่าเป็นเหตุการณ์ปั่นป่วนแบบที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน 

สุดท้าย "สมศักดิ์" ได้ฉายาใหม่ว่า "ค้อนปลอม ตราดูไบ"  แต่แน่นอนว่าเสียงวิจารณ์เหล่านี้ คุณสมศักดิ์ก็ปฏิเสธ และชี้แจงว่าเป็นเกมการเมืองดิสเครดิตจากฝ่ายตรงข้าม

"เก้าอี้ประธานสภา" สำคัญไฉน เป็นปัญหาเล็กตามที่"พิธา" กล่าวอ้างจริงหรือ
 

ปิดท้ายด้วยเกร็ดความรู้ ขั้นตอนการเลือกประธานสภา

แต่ละฝ่าย คือ ฝ่ายรัฐบาล กับฝ่ายค้าน จะซาวเสียงในฝ่ายตัวเองก่อนว่าจะเสนอใครชิงประธาน และรองประธาน อีก 2 คน เมื่อฝ่ายรัฐบาลเสนอ ฝ่ายค้านจะเสนอประกบ (ขณะเลือกยังไม่มีฝ่ายรัฐบาล และฝ่ายค้าน เพียงแต่ดูจำนวนเสียงในสภาที่จับขั้วกัน) ส่วนขั้นตอนการลงมติ เป็นการลงคะแนนลับ (***เป็นช่องทางให้ผลพลิกได้ ก้าวไกลต้องระวังมากๆ) 

ยกตัวอย่างปี 62 ตำแหน่งประธานสภาฯ

"พลังประชารัฐ"  เสนอ "ชวน หลีกภัย" ปชป.  ได้รับคะแนน  258 คะแนน

"พรรคประชาชาติ" เสนอ"สมพงษ์ อมรวิวัฒน์" เพื่อไทย ได้รับคะแนน  235 คะแนน

รองประธานสภาฯ คนที่ 1

พลังประชารัฐ เสนอ "สุชาติ ตันเจริญ" พปชร.  ได้รับคะแนน  248 คะแนน

เพื่อไทย เสนอ "น.ส.เยาวลักษณ์ วงษ์ประภารัตน์" อนาคตใหม่  ได้รับคะแนน  246 คะแนน

รองประธานสภาฯ คนที่ 2

พลังประชารัฐ เสนอ "ศุภชัย โพธิ์สุ" ภูมิใจไทย  ได้รับคะแนน 256 คะแนน

พรรคเพื่อชาติ  เสนอ"ประสงค์ บูรณ์พงศ์" เสรีรวมไทย ได้รับคะแนน  239 คะแนน

ส่วนปี 2554 ฝ่ายที่รวมเสียงข้างมากเสนอชุดเดียว (คือ พรรคเพื่อไทย) ฝ่ายประชาธิปัตย์ไม่เสนอใครประกบ จึงไม่มีการลงคะแนนลับ

logoline