svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

"ก้าวไกล-เพื่อไทย" ปมต่อรอง"ประธานสภา"สู่ "เก้าอี้รมต."ใครคือผู้กำหนดเกม

26 พฤษภาคม 2566
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

แม้"ก้าวไกล"ผ่านด่านแรกจากการจับมือ 7 พรรคร่วมลงนาม"MOU" จัดตั้งรัฐบาล แต่ยังต้องเผชิญด่านสองช่วงชิงเก้าอี้"ประธานสภา" ชนิดประกาศจุดยืนยอมถอยไม่ได้อีกแล้ว หรือว่าจะถูกกำหนดเกมให้ไปวัดดวงกันในสภาฯ ติดตาม เมฆาในวายุ

ส่อแววหม้ายขันหมากหรือไม่ สำหรับ "พรรคก้าวไกล" หลังจากควงแขน 8 พรรค ลงนามใน"MOU" จัดตั้งรัฐบาลเมื่อไม่กี่วันก่อนแต่สถานการณ์ผ่านมาถึงวันนี้ต้องเจอแรงปะทะรอบใหม่จากการต่อรองเก้าอี้ครม.และตำแหน่ง"ประธานสภา"  โดยที่ "พรรคสีส้ม"ยืนยันนอนยันไม่ยกให้"พรรคเพื่อไทย" 

ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา "พรรคเพื่อไทย" เก็บอาการใช้ความนิ่งสยบความเคลื่อนไหว ปล่อยให้ "ก้าวไกล" เดินเกมลุยถั่วอย่างไม่เกรงใจใคร ทั้งเอ่ยอ้างมาจากเสียงข้างมาก อ้างต้องเดินหน้าทำภารกิจตามที่สัญญากับแฟนคลับ แก้กฎหมาย 45 ฉบับภายใน 100 วัน แบบยิงลูกโดดชิงกระแส

จนมาถึงกรณี "ก้าวไกล" ประกาศชัด ตำแหน่งประมุขฝ่ายนิติบัญญัติ ต้องเป็นของ"พรรคก้าวไกล"เพื่อทำภารกิจสามข้อหลัก "แก้รธน. ปฏิรูปสภาโปร่งใส เชื่อมโยงการทำงานสภาเยาวชน" ซึ่งดูเหมือนจะเป็นการรับลูกจากคนนอกพรรค อย่าง "ปิยบุตร แสงกนกกุล"  อดีตเลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ที่ถูกยุบพรรค ออกมาโพสต์ข้อความ  "ตำแหน่งประธานสภา ไม่ปล่อยให้พรรคใดเด็ดขาด" อันเป็นผลจากโพสต์ก่อนหน้า แสดงความไม่พอใจ "ก้าวไกล" ยอมปรับแก้ไขถ้อยความในเอ็มโอยู ตัดประเด็น"นิรโทษกรรม" และ "การแก้ไขมาตรา 112"  

"ก้าวไกล-เพื่อไทย" ปมต่อรอง"ประธานสภา"สู่ "เก้าอี้รมต."ใครคือผู้กำหนดเกม

"พายุสีส้ม" มีพลังแรงจัด เริ่มซัดถล่มไปยังว่าที่พรรคร่วมรัฐบาล 7 พรรคให้อยู่ในมุมที่ไม่สามารถต่อรองอะไรได้  พยายามอ้างกระแส 14 ล้านเสียงเศษ นั่นเป็น"ฉันทามติ"เลือกให้ ก้าวไกล" เป็นแกนนำรัฐบาล อ้างว่าประชาชนต้องการปลดแอกเข้าสู่ยุคประชาธิปไตยหลังอยู่ในยุค 3ป.มาเก้าปี

การเดินเกมมุทะลุดุดัน ประกาศกร้าวขอยึด"เก้าอี้ประธานสภา" ผ่านการบงการคนนอกพรรค กดดันคนในพรรคย้ำแล้วย้ำอีกทุกสามเวลาหลังอาหาร ให้ต้องเป็นไปตามแรงกดปุ่มซ้ายหันขวาหัน 

การขับเคลื่อนดังกล่าว กลายเป็นตัวเร่งปฏิกิริยา ไปถึง"พรรคเพื่อไทย" ที่แม้ฉากหน้ามีคนระดับแกนนำออกมาจูบปากกันอย่างดิบดีก็ตาม แต่อย่าลืมว่า "เพื่อไทย" มีเหล่าขุนพลมากความสามารถเคลื่อนไหวทั้งในโลกโซเชียล และบนสนามการเมืองแบบเห็นหน้าเห็นตาตัวเป็นๆ ไม่ว่าจะเป็นสายพิราบ สายฮาร์ดคอร์  สายเจรจาตบจูบลูบหลัง จำเป็นต้องเคลื่อนไหวแบบปูพรม ประกาศจุดยืนต่อ"เก้าอี้ประธานสภา" 

เป็นจุดยืนออกสู่สาธารณะว่า "ตำแหน่งประธานสภา" ควรเป็นของเพื่อไทยด้วยเช่นเดียวกัน แถมใช้กลยุทธ์การสื่อสารทางโลกโซเชียลให้เห็นถึงความสำคัญของตำแหน่ง "ประธานสภาฯ" 

ปรับกลยุทธ์สื่อสารให้เป็นไปในแบบมีวุฒิภาวะเมื่อเห็น"ก้าวไกล" เปิดจุดอ่อน จากการนำเสนอเหตุผลทำไม"ประธานสภา"ต้องเป็นของก้าวไกล เพื่อทำ 3 ภารกิจสำคัญของพรรค

ตัวอย่าง หักล้างแบบมีวุฒิภาวะ ดังปรากฎ แผ่นป้ายข้อความ "ประธานสภาเป็นของประชาชนทุกคน"   

 

ก้าวไกล ปล่อยข้อความออกมาก่อนด้วย การระบุภารกิจของประธานสภา ก้าวไกล ทำสามภารกิจ

26 พ.ค.66 พรรคเพื่อไทย จัดทำข้อความ ประธานสภา เป็นของประชาชนทุกคน

บ่งบอกให้เห็น ความเจนจัดในการเดินเกมการเมืองของ"พรรคเพื่อไทย"เหนือ "พรรคก้าวไกล"อยู่หลายขุม  เป็นการเดินเกมผ่านไพ่ในมือหลายใบ เลือกที่จะนำมาใช้ตามจังหวะเวลา สถานการณ์ที่ฝ่ายตรงข้ามกำลังเปิดช่องเพลี่ยงพล้ำ  

เช่นเดียวกับ การเดินเกมจากกระแสภายนอก ผ่าน"โทนี วู้ดซัม" กดแสดงความเห็นรีทวิตในทวิตเตอร์ของ"ดวงฤทธิ์  บุนนาค"หนึ่งในพิธีกรของกลุ่มแคร์ที่โพสต์ดุเดือดเกี่ยวกับกระแสข่าวต่อรองเก้าอี้หลักๆและพยายามแซะให้พรรคสีแดงถอนตัวจากพรรคสีส้มบวกกับกระแสกองเชียร์สีส้มและสีแดงที่เริ่มดุกันแล้วบนโลกออนไลน์ จนตอนนี้# มีกู ไม่มี...หรือ#มี..ไม่มีกู กันว่อนไปทั่ว

หรือแม้แต่ในวันที่ 28 พฤษภาคม แฟนคลับ"พรรคสีแดง"ส่งข้อความ นัดหมาย บุกอาคารโอเอไอทาวเวอร์ เรียกร้องให้"เพื่อไทย"ถอนตัวจากการทำหน้าที่ว่าที่เจ้าสาวที่ไม่เรียกสินสอดใดๆบนเรือเหล็กสีส้ม

"ก้าวไกล-เพื่อไทย" ปมต่อรอง"ประธานสภา"สู่ "เก้าอี้รมต."ใครคือผู้กำหนดเกม

ขณะเดียวกัน การโต้ตอบระหว่าง "นายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว" หัวหน้าพรรคเพื่อไทยกับ "น.ต.ศิธา ทิวารี" เลขาธิการ"พรรคไทยสร้างไทย"เกี่ยวกับการเสียมารยาทของ "ผู้พันปุ่น" ในการสอบถามแกนนำ 6 พรรค เน้นไปที่หัวหน้า "พรรคเพื่อไทย" เรื่องเสนอให้มีการลงนามใน ADVANDE MOU ว่าจะจับมือกันทั้ง 6 พรรคในการทำหน้าที่ฝ่ายค้านและรัฐบาลไปตลอดหรือไม่

หรือแม้แต่ นโยบายต่างๆ ที่แต่ละพรรคหาเสียงกันไว้ ไล่เรียงนโยบาย 23 ข้อและแนวปฏิบัติ 5 ข้อที่เป็นหลักการ ลงนามกันไว้ เอาเข้าจริงจะทำได้กี่ข้อกันแน่

บวกกับการรับหน้าที่เจ้าภาพในการประสานส.ว.อีก 64 เสียงในชั้นต้นเพื่อให้มาร่วมลงมติสร.1ให้ "พิธา ลิ้มเจริญรัตน์" ก้าวเข้าสู่ทำเนียบรัฐบาลให้ได้ ตอนนี้ทราบกันทั่วเมืองแล้วว่า โอกาสที่สภาสูงจะเทคะแนนสนับสนุน ให้นายกรัฐมนตรีคนที่ 30 จากพรรคสีส้ม มีไม่เกิน 20 คน

ยังต้องจับตาการพิจารณาการถือหุ้นสื่อของ "ทิม พิธา" จากมุมมองของ"กกต."ว่าจะผิดกฎหมายหรือไม่ตรงนี้มีผลทำให้ว่าที่รัฐนาวาสีส้มสั่นคลอนไม่มากก็น้อย 

จากสมการตัวเลข 313  ส.ส.ของ 8 พรรค ที่ต้องการส.ว. 250 คนในสัดส่วน 64 คะแนนมาโหวตรับรอง"พิธา" คล้ายว่าจะเดินหน้าเข้าสู่ทางตันไปเรื่อยๆ เวลาที่ทอดออกไป แทบไร้สัญญาณบวก ผสมโรงความขัดแย้งของพรรคสีส้ม151 เสียงกับพรรคสีแดง 141 เสียง จึงพร้อมรอวันปะทุ

"ฉะนั้น คำยืนยันรักกันดี จึงเป็นแค่วาทกรรม เพื่อสร้างบรรยากาศทางการเมืองให้เหมือนว่ากำลังเป็นไปด้วยดี ทั้งๆที่ฉากหลังนั้นเต็มไปด้วยการต่อรองที่ยังไม่ลงตัว "

หากพิจารณาจากไทม์ไลน์การตั้งรัฐบาลใหม่ตามที่ "วิษณุ เครืองาม" รองนายกรัฐมนตรีแจกแจง  ขณะที่ 188  ส.ส.จากพรรคร่วมเรือเหล็ก"ลุงตู่" ยังนิ่งเฉย สภาพการณ์แบบนี้ ไม่ค่อยเกิดขึ้นบนกระดานการเมืองเท่าใดนัก

กูรูการเมืองหลายคน ถอดรหัสออกมาว่า หม้ายขันหมากสีส้มมีเค้าลางเป็นไปได้สูงขึ้นเรื่อยๆ  เนื่องจากข้อมูลวงในแจ้งว่า วันนี้หน้าที่ดีล ส.ว.เป็นภารกิจของ "พรรคสีส้ม" อย่างเป็นทางการ และทราบว่าใครบางคนที่มีบทบาทลับของ"พรรคสีส้ม"พยายามล็อบบี้ส.ว.แต่ยังแทบไร้สัญญาณตอบรับกับจำนวนเสียงที่"พรรคสีส้ม"ต้องการ

เสียงแว่วจากคนวงใน"พรรคสีแดง" ทราบว่าคีย์แมนเบอร์หนึ่งของพรรคที่ชี้เป็นชี้ตายบนถนนการเมืองพร้อมสั่งให้พรรคสีแดงถอนสมอจากเทียบขึ้นเรือสีส้มหาเงื่อนไขในการตกลงเก้าอี้ครม. ประธานสภาผู้แทนฯไม่ลงตัว โดยมีการเช็กชื่อและจำนวนส.ส.ของแปดพรรคกันแล้วว่า ใคร พรรคใด ยืนมุมใดบ้าง  

ตัวเลขคณิตศาสตร์การเมือง พรรคก้าวไกล 151 ส.ส. พรรคเพื่อไทย 141 ส.ส.พรรคประชาชาติ 9 ส.ส. พรรคไทยสร้างไทย 6 ส.ส. พรรคเพื่อไทรวมพลัง 2 ส.ส. พรรคเสรีรวมไทย พรรคเป็นธรรม และพรรคพลังสังคมใหม่ พรรคละ 1 ส.ส.

ตรงนี้ต้องรอการรับรองสถานภาพส.ส.อย่างเป็นทางการจาก"กกต."(ตัวเลขอาจเปลี่ยนแปลงอีกครั้ง) แต่สมการการเมืองยามนี้ที่ "พรรคสีแดง" วางไว้ว่า หาก"พรรคสีส้ม"ไม่ปรับพฤติกรรมยึดมั่นถือมั่นแสดงความเป็นเด็กดื้อ ยืนหนึ่งบนหลักการแบบไม่ยอมใครในการเจรจาต่อรองเก้าอี้      

คาดว่า "พรรคสีส้ม"จะเหลือ"พรรคไทยสร้างไทย" "พรรคเป็นธรรม"รวมเป็นพันธมิตรการเมืองด้วยยอดรวม 158 ส.ส. ส่วน"พรรคสีแดง" จะมี"เพื่อไทย" เป็นแกนนำร่วมกับ"พรรคประชาชาติ" "พรรคเพื่อไทยรวมพลัง" "พรรคเสรีรวมไทย"และ"พรรคพลังสังคมใหม่"  รวม 154 ส.ส. แยกออกไป

"ก้าวไกล-เพื่อไทย" ปมต่อรอง"ประธานสภา"สู่ "เก้าอี้รมต."ใครคือผู้กำหนดเกม

สภาพการณ์แบบนี้ สอดรับซุ่มเสียง "อดิศร เพียงเกษ" ที่เปรียบเป็นไพ่อีกใบในเพื่อไทยเดินเกม  โยนไอเดียล่าสุด อาจเสนอชื่อว่า"ประธานสภา"ชิงกับ"พรรคสีส้ม" ถึงตรงนั้น จะเป็นเครื่องตัดสินเช็กคะแนนในสภา 500 ที่นั่ง พร้อมยืนอยู่ฝั่งไหนกันแน่  และจะเป็นสัญญาณไปถึงเอ็มโอยู ที่จับมือกันอย่างดิบดี มีอยู่จริงหรือไม่ 

นาทีนี้ ไล่เรียงจำนวนส.ส. "พรรคสีส้ม"น่าจะมีมากกว่า"พรรคสีแดง" จำนวน 4 เสียง พบว่า เหตุที่พรรคของ "คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธ์ุ" ต้องยืนกับพรรคสีส้มเพราะ "พรรคสีแดง"ไม่ต้อนรับพรรค"คุณหญิงหน่อย"ตั้งแต่"คุณหญิงหน่อย"แยกตัวไปตั้งอาณาจักรของตัวเอง

ส่วน"พรรคเป็นธรรม" แทบไม่มีผลบนกระดานการเมืองในยามหน้า แต่ 154 เสียงที่"พรรคสีแดง"น่าจะรวบไว้ในมือ หากไปบวกกับ 188 ส.ส.(ในบางส่วน) บนปีกรัฐบาลชุดที่แล้ว

ทั้งกระแสข่าวคีย์แมนบางคนในพรรคสีแดงแอบเจรจาลับๆกับขั้วอำนาจเดิมไว้เป็นรันเวย์สำรอง มองแล้ว"พรรคสีส้ม"ดื้อดึงทั้งบนนโยบายพรรค/การเจรจาเก้าอี้/การควบคุมแฟนคลับและสมาชิกพรรคในการแสดงออกทางการเมืองที่เสมือนเป็นสายส่อฟ้า

ในเมื่อ"พรรคสีส้ม" ภายใต้การนำของ " พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ " อีกสถานะหนึ่งก็คือ หัวขบวนแถวสอง (ถ่ายเลือดจากพรรคอนาคตใหม่ ) ต้องการยึดมั่นถือมั่นตามเกมที่ให้คนนอกพรรคกำหนด

ยิ่งจะทำให้หนทางสู่เก้าอี้นายกฯตีบตัน คล้ายกับว่า มิตรการเมืองอาจไม่หลงเหลือในห้วงชิงเกมแห่งอำนาจไว้ในมือ 
 

logoline