svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

"ก้าวไกล" แจง 3 วาระ ในฐานะประธานสภาผู้แทนราษฎร

24 พฤษภาคม 2566
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

"ก้าวไกล" แจง 3 วาระ ในฐานะประธานสภาผู้แทนราษฎร ผลักดันกฎหมายก้าวหน้า แก้รัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยราบรื่น สร้างรัฐสภาโปร่งใส ย้ำทำการเมืองไม่ใช่เพื่อตำแหน่ง แต่ต้องการเปลี่ยนแปลง

24 พฤษภาคม 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เฟซบุ๊กเพจของพรรคก้าวไกล ได้โพสต์ประเด็น 3 วาระที่พรรคก้าวไกล ต้องการผลักดันในฐานะ “ประธานสภาผู้แทนราษฎร” โดยระบุว่า พรรคก้าวไกลเดินทางบนเส้นทางการเมือง ไม่ใช่เพื่อตำแหน่งหรืออำนาจ แต่เพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลง มี 3 วาระที่สำคัญมากของพรรคก้าวไกลที่เราจำเป็นต้องใช้สถานะ “ประธานสภาผู้แทนราษฎร” ในการผลักดัน

     วาระแรก: เพื่อผลักดันกฎหมายที่ก้าวหน้า

ตลอด 4 ปี ของสภาผู้แทนราษฎรภายใต้รัฐบาลประยุทธ์ 2 มีกฎหมายถูกเสนอเข้าสู่สภามากกว่า 478 ฉบับ แต่มีกฎหมายที่ผ่านสภาไปเพียงแค่ 78 ฉบับ เท่านั้น เฉลี่ยกฎหมาย 1 ฉบับใช้เวลาในการพิจารณากว่า 310 วัน และในจำนวนกฎหมาย 78 ฉบับที่ผ่าน เกือบทั้งหมดเป็นกฎหมายของ ครม. มีกฎหมายของ ส.ส. ซีกรัฐบาลผ่านเพียง 4 ฉบับเท่านั้น และไม่มีกฎหมายของภาคประชาชนที่ผ่านสภาเลย ทำให้เกิดสภาวะที่กฎหมายที่บังคับใช้อยู่ไม่สอดคล้องกับสภาพสังคม ไม่สามารถแก้ไขปัญหาในปัจจุบัน และไม่รองรับความท้าทายใหม่ๆ ได้ดีเท่าที่ควร

"ก้าวไกล" แจง 3 วาระ ในฐานะประธานสภาผู้แทนราษฎร

กฎหมายส่วนใหญ่จาก 400 ฉบับที่ตกไป ไม่ใช่เพราะผู้แทนราษฎรไม่เห็นชอบ แต่กลับตกไปด้วยสาเหตุอื่น ไม่ว่าจะเป็น กฎหมายที่รอบรรจุระเบียบวาระแต่ไม่ถูกหยิบขึ้นมาพิจารณา 180 ฉบับกฎหมายที่ถูกประธานสภาวินิจฉัยว่าเป็นร่างกฎหมายการเงิน และนายกรัฐมนตรีปัดตกไม่นำเสนอเข้าสู่สภา 85 ฉบับ

มีกฎหมายที่สภาพิจารณาและถูกปัดตกไปจริงๆ เพียง 45 ฉบับเท่านั้น เท่ากับว่าร่างกฎหมายที่ถูกนำเสนออีก 355 ฉบับ ถูกปัดตกไปด้วยกระบวนการที่ไม่มีประสิทธิภาพ และให้อำนาจดุลพินิจแก่ประธานสภาและนายกรัฐมนตรีเพียงแค่คนใดคนหนึ่ง กลับมีอำนาจมากกว่าเจตจำนงของผู้แทนประชาชนที่เหลือ

ในสัญญาประชาคมที่พรรคก้าวไกลให้ไว้กับประชาชนในการเลือกตั้งครั้งนี้ มีกฎหมายอย่างน้อย 45 ฉบับของพรรคก้าวไกลที่ต้องผ่านสภาผู้แทนราษฎร เป็นกฎหมายการเมือง 11 ฉบับ กฎหมายสิทธิเสรีภาพ 8 ฉบับ กฎหมายปฏิรูปที่ดิน 8 ฉบับ กฎหมายปฏิรูประบบบริหารราชการ 8 ฉบับ กฎหมายบริการสาธารณะ 4 ฉบับ กฎหมายเศรษฐกิจ 4 ฉบับ กฎหมายสิ่งแวดล้อม 2 ฉบับ กฎหมายแรงงาน 2 ฉบับ กระบวนการนิติบัญญัติที่ก้าวหน้าจำเป็นอย่างยิ่งในการทำให้กฎหมายเหล่านี้ได้รับการพิจารณาอย่างมีประสิทธิภาพ

     วาระที่สอง: เพื่อผลักดันให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยเดินหน้าอย่างราบรื่น

การแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อเปิดทางไปสู่การร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เป็นวาระสำคัญ และถูกระบุไว้ใน MOU ของพรรคร่วมรัฐบาล การทำภารกิจนี้ให้ลุล่วง จะต้องผ่านการประชุมสภาหลายครั้ง และจะมีการอภิปรายอย่างกว้างขวางในเนื้อหาที่มีความแหลมคม จำเป็นอย่างยิ่งที่ประธานสภาต้องมีเจตจำนงแน่วแน่ในการอำนวยการประชุมให้เดินหน้าไปอย่างราบรื่น เป็นที่ยอมรับของสมาชิกสภาทุกฝ่าย และนำไปสู่การร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้

"ก้าวไกล" แจง 3 วาระ ในฐานะประธานสภาผู้แทนราษฎร

     วาระที่สาม: ก้าวไกลจะผลักดันหลักการ “รัฐสภาโปร่งใส” และ “ประชาชนมีส่วนร่วม” ให้เกิดขึ้นจริงในประเทศไทย

“รัฐสภาโปร่งใส” หรือ Open Parliament จะเกิดขึ้นจริงได้หรือไม่ อยู่ที่ประธานรัฐสภา พรรคก้าวไกลประกาศเจตจำนงแน่วแน่ว่าจะทำให้รัฐสภาไทยโปร่งใสมากที่สุดเท่าที่จะเป็นได้ เพื่อประโยชน์ของพี่น้องประชาชนในการมีส่วนร่วมและตรวจสอบกระบวนการนิติบัญญัติ โดยเริ่มจากสิ่งที่ง่ายที่สุด

3.1 ถ่ายทอดสดการประชุมกรรมาธิการทุกคณะ ให้พี่น้องประชาชนติดตามได้ หรือหากไปไกลกว่านั้น ก็เป็นการรายงานบันทึกการออกเสียงลงมติต่างๆ ของผู้แทนราษฎรทุกคน โดยนำเสนอข้อมูลอย่างเป็นระบบ เข้าถึงง่าย และรวดเร็ว เพื่อให้พี่น้องประชาชนติดตามการทำงานของผู้แทนของตนได้อย่างสะดวก ว่าในแต่ละประเด็น ผู้แทนของตนเองได้ลงมติออกเสียงไปอย่างไรบ้าง

3.2 ส่งเสริมการทำงานของสำนักงบประมาณรัฐสภา (Parliamentary Budget Office หรือ PBO) ในการทำหน้าที่อย่างเต็มที่ เพื่อตรวจสอบและวิเคราะห์การใช้งบประมาณแผ่นดินของหน่วยงานองค์กรต่างๆ เพื่อให้งบประมาณทุกบาททุกสตางค์นั้นจะถูกใช้ไปเพื่อประโยชน์สูงสุดของพี่น้องประชาชน

3.3 ตั้งสภาเยาวชน หรือ Youth Parliament (ซึ่งอาจต่อยอดจากสภาเด็กและเยาวชนที่มีอยู่) ที่ขึ้นตรงกับสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร โดยกำหนดให้สมาชิกสภาเยาวชนทุกคนมาจากการเลือกตั้งของเยาวชนทั่วประเทศ และกำหนดให้ข้อเสนอใดที่สภาเยาวชนลงมติเห็นชอบ ถูกบรรจุเป็นวาระที่รัฐสภาต้องรับไปพิจารณาต่อโดยอัตโนมัติ ด้วยสถานะเทียบเท่ากับร่างกฎหมายที่ประชาชน 10,000 คน สามารถร่วมกันลงชื่อเสนอสู่สภาได้ภายใต้กฎหมายปัจจุบัน

พรรคก้าวไกลต้องการให้ผู้แทนราษฎรของเราดำรงตำแหน่งประธานสภา ไม่ใช่เพื่อตำแหน่ง แต่เราต้องการอำนาจเข้าไปเปลี่ยนแปลงรัฐสภาไทยให้สามารถออกกฎหมายที่เป็นประโยชน์ สามารถแก้ไขปัญหาให้พี่น้องประชาชนได้จริง และเป็นรัฐสภาที่เปิดเผย โปร่งใส ตรวจสอบได้ และส่งเสริมให้ประชาชนมีส่วนร่วม ทำให้ระบอบประชาธิปไตยเข้มแข็ง

ทั้งนี้ก่อนหน้านี้ พรรคเพื่อไทย โดยนพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทยได้ออกมากล่าวถึง นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า 

ออกมาส่งสัญญาณถึงพรรคก้าวไกลว่า ตำแหน่งนี้ ต้องเป็นของคนพรรคก้าวไกลว่า ถือเป็นความเห็นทั่วไป ตนเองมองว่าเป็นการทำให้บรรยากาศของการทำงานร่วมกัน หรือเจรจาพูดคุยกันถึงเป้าหมายการเลือกนายกรัฐมนตรี ในที่ประชุมร่วมของรัฐสภานั้น ถูกกดดัน หรือปิดช่องไม่ให้มีการพูดคุยกัน ซึ่งดูแล้วไม่ค่อยเป็นผลบวก

ตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎร ควรจะเป็นของพรรคเสียงข้างมากหรือไม่ อยู่ที่การตกลงพูดคุยกัน และอยู่ที่ความเหมาะสมรวมถึงไม่ขอวิพากษ์ พรรษาทางการเมือง ของ ส.ส.พรรคก้าวไกล หากมานั่งในตำแหน่งนี้ แต่มั่นใจว่าคนที่ได้รับเลือกจากพี่น้องประชาชนมาย่อมมีความรู้ความสามารถ มีวุฒิภาวะ ส่วนจะทำงานให้สอดคล้องเหมาะสมหรือไม่ ก็อยู่ที่การปฎิบัติงานของเขา

"ก้าวไกล" แจง 3 วาระ ในฐานะประธานสภาผู้แทนราษฎร

ขณะที่นายรังสิมันต์ โรม ก็ออกมาย้ำว่า อันที่จริงก็เหมือนกับที่ นายชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรค เคยกล่าวเอาไว้ว่า เรื่องของตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นตำแหน่งที่พรรคก้าวไกล อยากรักษาประเพณีที่เคยทำกันมา ซึ่งในอดีตหากไม่นับรวมเมื่อปี 2562 จะพบว่า พรรคการเมืองที่ชนะการเลือกตั้งเป็นลำดับที่ 1 จะขอตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎรด้วย เพื่อผลักดันกฎหมายต่างๆ พรรคก้าวไกลยืนยันว่า ตำแหน่งดังกล่าว ทางพรรคก้าวไกลต้องขอเอาไว้เอง 

logoline