svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

เส้นทาง “รัฐบาลก้าวไกล” จะไปถึงจุดหมายหรือไม่ ?

ยังคงต้องลุ้นกันต่อไป สำหรับการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ โดยกรณีของ “พรรคก้าวไกล” การชนะเลือกตั้งถือว่าเป็นเรื่องที่ยากแล้ว แต่การจัดตั้งรัฐบาลให้สำเร็จ ก็ต้องถือว่า เป็นเรื่องที่ยากลำบาก... กว่าหลายเท่า

ปฏิเสธไม่ได้ว่า การเลือกตั้งในครั้งนี้ ไม่ใช่เป็นเพียงชัยชนะของ “พรรคก้าวไกล” เท่านั้น แต่ยังเป็นชัยชนะที่ยิ่งใหญ่ของ “ฝั่งเสรีนิยม” ที่เหมือนกับเป็นการตะโกนให้รู้ว่า ประชาชนต้องการ “ความเปลี่ยนแปลง”

แต่ถึงกระนั้นก็ตามทีด้วยเงื่อนไขของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ที่ให้สิทธิ ส.ว. ในการร่วมโหวตเลือกนายกฯ โดยผู้ที่เป็นนายกฯ ต้องได้รับเสียงสนับสนุนเกินกึ่งหนึ่งของทั้ง 2 สภา นั่นก็คือ 376 เสียงขึ้นไป ซึ่งในปัจจุบัน “พรรคก้าวไกล” ได้รับเสียงสนับสนุนอย่างเป็นทางการแล้ว 313 เสียง จาก 8 พรรคการเมือง ยังขาดอีก 63 เสียง

บวกกับกรณีที่ “เรืองไกร ลีกิจวัฒนะ” ผู้สมัคร ส.ส. บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ยื่นเรื่องให้ กกต. ตรวจสอบคุณสมบัติของ “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” ว่าเข้าข่ายถือหุ้นสื่อหรือไม่ ซึ่งเคสนี้เคยทำให้ “ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” อดีตแคนดิเดตนายกฯ ของพรรคอนาคตใหม่ ต้องสิ้นสุดสมาชิกภาพ ส.ส. มาแล้ว เส้นทางการเป็นนายกฯ คนที่ 30 ของ “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” จึงไม่ใช่เรื่องง่ายๆ นัก

และแม้ว่าที่ผ่านมา “พรรคเพื่อไทย” จะยืนยันอย่างหนักแน่น ไม่ตั้งรัฐบาลแข่งกับ “พรรคก้าวไกล” อีกทั้งพร้อมให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ เพื่อให้ “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” เป็นนายกฯ คนที่ 30

แต่หาก “พรรคก้าวไกล” ไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้สำเร็จ “พรรคเพื่อไทย” ในฐานะที่ได้คะแนนเป็นอันดับ 2 ก็มีความชอบธรรมในการจัดตั้งรัฐบาล ทำให้ในเวลานี้ได้มีการพูดถึงสูตรจัดตั้งรัฐบาลอื่นๆ อีกหลากหลายโมเดล

เส้นทาง “รัฐบาลก้าวไกล” จะถึงจุดหมายหรือไม่ ?

เริ่มต้นจากสูตรซอฟต์ๆ ก่อน เป็นสูตร 8 พรรคเดิม + “พรรคภูมิใจไทย” ที่มี ส.ส. 70 คน โดยจะสลับให้ “พรรคเพื่อไทย” เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล ซึ่งจะได้ ส.ส. รวม 383 เสียง ปิดสวิตช์ ส.ว. ลงได้อย่างเบ็ดเสร็จ แต่คาดว่า ถ้าเป็นสูตรนี้ “พรรคก้าวไกล” อาจถอนตัว จึงทำให้โอกาสเป็นไปได้ยาก

ซึ่งสูตรข้างต้นมีที่มาจากการเดินทางไปฮ่องกงของ “อนุทิน ชาญวีรกูล” หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย โดยมีการตั้งข้อสงสัยว่า ได้นัดแนะไปดีลตั้งรัฐบาลกับคนแดนไกลหรือเปล่า ? แต่ทั้งสองก็ได้ออกมาปฏิเสธแล้ว ไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด

ส่วนอีกสูตรหนึ่งที่กำลังถูกพูดถึงเป็นอย่างมาก นั่นก็คือ การรวมร่าง “พรรคพลังประชารัฐ” เข้ากับ “พรรคเพื่อไทย” ซึ่งค่อนข้างพิสดาร ล้ำจินตนาการ ออกแนวแฟนตาซี แต่สำหรับการเมืองไทย อะไรๆ ก็เกิดขึ้น

เส้นทาง “รัฐบาลก้าวไกล” จะถึงจุดหมายหรือไม่ ?

โดยสูตรดังกล่าว “บิ๊กป้อม - พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ” จะต้องยอมสละสิทธิ์ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ พอ กกต. ประกาศรับรอง ส.ส. "กรรมการบริหารพรรค" ก็จะมีมีมติยุบพรรค หลังจากนั้น ส.ส. 41 คนก็เข้าสังกัด “พรรคเพื่อไทย” (โมเดลเดียวกับไพบูลย์ นิติตะวัน ยุบพรรคประชาชนปฏิรูป แล้วเข้าสังกัดพรรคพลังประชารัฐ) ก็จะทำให้ "พรรคเพื่อไทย" มี 182 เสียง กลายเป็นพรรคอันดับ 1 ทันที

และหากสามารถรวมเสียง ส.ส. ได้เกิน 250 ก็หมดห่วงเรื่อง ส.ว. ไปได้เลย อันเนื่องมาจากคอนเนคชั่นของ “บิ๊กป้อม” (ปรับโหมดไปคุมเกมอยู่เบื้องหลัง) กับ ส.ว. จำนวนหนึ่ง ทำให้โอกาสได้เสียงโหวตจากทั้ง 2 สภา เกิน 376 เสียง มีความเป็นไปได้ค่อนข้างสูง

แต่ถ้ามาทางเวย์นี้ แน่นอนว่า “พรรคก้าวไกล” จะถอนตัว ทำให้ต้องฟอร์มทีมรัฐบาลกันใหม่ เปิดโอกาสให้ “พรรครัฐบาลเดิม” ไม่ว่าจะเป็น “ภูมิใจไทย” , "ประชาธิปัตย์" ฯลฯ สามารถเข้าร่วมในสูตรนี้ ซึ่งลำพังแค่ 3 พรรค ก็ได้ ส.ส. 276 คน เกินครึ่งของ ส.ส. ทั้งสภาแล้ว   

โดยสาเหตุที่ต้องมีการเดินเกมอย่างพิสดาร (ถ้าจะเล่นสูตรนี้) ก็เนื่องมาจากการที่ “พรรคเพื่อไทย” ปฏิเสธเรื่องดีลลับจัดตั้งรัฐบาลกับ “พลังประชารัฐ” ก่อนการเลือกตั้ง และถูกบีบให้ประกาศว่า จะไม่ร่วมรัฐบาลกับ “พลังประชารัฐ” ระหว่างการหาเสียง

ดังนั้นเมื่อไม่มี “บิ๊กป้อม” ไม่มี “พรรคพลังประชารัฐ” แล้ว “พรรคเพื่อไทย” ก็สามารถอ้างได้ว่า ไม่ได้ผิดสัจจะที่ให้ไว้กับประชาชน

แต่สมมติว่า การรวมร่างดังกล่าวเกิดขึ้นจริง เชื่อเถอะว่า คนส่วนใหญ่รับไม่ได้อย่างแน่นอน เพราะไม่ต่างอะไรกับการหลอกลวงประชาชน และจะสร้างตราบาปติด “พรรคเพื่อไทย” ไปตลอดกาล ซึ่ง “พรรคเพื่อไทย” ก็ได้ออกมายืนยันแล้วว่า โมเดลดังกล่าวไม่มีทางเกิดขึ้นได้อย่างเด็ดขาด เป็นเพียงจินตนาการ ไม่สามารถเป็นจริงได้ในทางการเมือง

ส่วนโมเดล “รัฐบาลก้าวไกล” ในวันนี้ ก็ยังคงต้องลุ้นกันต่อไป โดยกรณีของ “พรรคก้าวไกล” การชนะเลือกตั้ง ถือว่าเป็นเรื่องที่ยากแล้ว แต่การจัดตั้งรัฐบาลให้สำเร็จ ต้องนับว่าเป็นเรื่องที่ยากลำบาก...กว่าหลายเท่า  

เส้นทาง “รัฐบาลก้าวไกล” จะถึงจุดหมายหรือไม่ ?