svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

ย้อนอดีต ดูบรรยากาศ"เลือกตั้ง" ปรากฎการณ์สำคัญในวังวนเปลี่ยนผ่านการเมือง

13 พฤษภาคม 2566
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

หากกล่าวถึงระบบเลือกตั้งในปัจจุบัน คงเป็นไปไม่ได้ที่จะไม่พูดถึงระบบเลือกตั้งที่เกิดจากรัฐธรรมนูญ 2540 ซึ่งนับได้ว่าเป็นการยกเครื่องระบบเลือกตั้งครั้งใหญ่ ติดตามในโพลิทิกส์พลัส โดย สำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย สถาบันพระปกเกล้า

ย้อนอดีตดูการเลือกตั้ง (1): การเปลี่ยนแปลงจากรัฐธรรมนูญ 2540 (เลือกตั้ง 2539 / 2544/2548)

หากกล่าวถึง"ระบบเลือกตั้ง"ในปัจจุบัน คงเป็นไปไม่ได้ที่จะไม่พูดถึงระบบเลือกตั้งที่เกิดจากรัฐธรรมนูญ 2540 ซึ่งนับได้ว่าเป็นการยกเครื่องระบบเลือกตั้งครั้งใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนระบบการเลือกตั้งจากระบบ Block Voting หรือเขตเดียวหลายคน ให้กลายเป็นเขตเดียวคนเดียวหรือ First past the post ทั้งยังมีระบบเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อเพิ่มเข้ามาอีก

ยังไม่รวมถึงการเกิดขึ้นขององค์กรอิสระ ซึ่งทำให้วิธีการหาเสียงต้องเปลี่ยนไปอย่างเห็นได้ชัด เพื่อที่จะเห็นถึงความแตกต่าง ทางสำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย สถาบันพระปกเกล้าได้ทำการค้นข้อมูลผ่านหนังสือพิมพ์ จากการเลือกตั้งครั้งสุดท้ายก่อนรัฐธรรมนูญ 2540 หรือการเลือกตั้ง 2539 และการเลือกตั้งครั้งแรกของรัฐธรรมนูญ 2540 หรือการเลือกตั้ง 2544 และการเลือกตั้ง 2548

 "ดร.สติธร ธนานิธิโชติ" ผู้อำนวยการสำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย

เลือกตั้ง 2539 การเมืองก่อนรัฐธรรมนูญ 2540

แม้พรรคชาติไทยที่ชูนโยบายร่างรัฐธรรมนูญใหม่ แต่รัฐบาลพรรคชาติไทยที่นำโดย"นายบรรหาร ศิลปอาชา"นั้นเป็นรัฐบาลที่ไม่มีเสถียรภาพ และถูกโจมตีว่าล้มเหลวอย่างสิ้นเชิงในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ซึ่งขณะนั้นกำลังอยู่ในช่วงขาลง เนืองจากปัญหาฟองสบู่ ทำให้ต่อมาได้มีการอภิปรายไม่ไว้วางใจ โดยโจมตีรัฐบาลพรรคชาติไทยว่าล้มเหลวในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ และยังโจมตีอีกด้วยว่า"นายบรรหาร ศิลปอาชา"นั้นไม่มีคุณสมบติของการเป็นนายก จากประเด็นเรื่องสัญชาติ

ขณะเดียวกันพรรคร่วมรัฐบาลต่างบีบให้"นายบรรหาร"ลาออกจากการเป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่ง"นายบรรหาร"ก็ตอบโต้ด้วยการยุบสภาเลือกตั้งใหม่ จนเกิดเป็นการเลือกตั้งปี พ.ศ.2539 ขึ้น

มันเป็นเรื่องของปากท้อง กับโฆษณาเต็มหน้าหนังสือพิมพ์

ในปี พ.ศ.2540 ประเทศไทยจะผจญกับวิกฤตเศรษฐกิจ ทว่าก่อนหน้าที่ฟองสบู่จะแตก เศรษฐกิจของไทยก็เริ่มที่จะชะลอตัวลง จนเศรษฐกิจแย่ลงในเชิงเปรียบเทียบ ประเด็นเรื่องปากท้องกลายเป็นประเด็นใหญ่ พรรคการเมืองทุกพรรคต่างชูว่าตนจะเข้ามาแก้ปัญหาเศรษฐกิจ เพื่อแก้ปัญหาเรื่องปากท้อง

โดยต่างพากันซื้อโฆษณาจนเต็มหน้าหนังสือพิมพ์เพื่อโปรโมทว่าตนพร้อมที่จะเข้ามาแก้ปัญหาปากท้อง บางครั้งซื้อโฆษณาบนหน้าหนังสือพิมพ์หลายหน้า ซึ่งการซื้อหนังสือพิมพ์จะลดลงจากการมาของรัฐธรรมนูญ 2540 แม้จะไม่ได้ลงลึกไปที่นโยบายอย่างชัดเจนก็ตาม

 

การแข่งขันของ 3 ช.

นับเป็นการเลือกตั้งที่ตัวเต็งนายกรัฐมนตรีล้วนแต่มีชื่อ ช.ช้าง ไม่ว่าจะเป็น"พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ"จากพรรคความหวังใหม่ "นายชวน หลีกภัย" จากพรรคประชาธิปัตย์ และ"พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ"จากพรรคชาติพัฒนา สังคมเลยได้แต่ถามว่าแล้ว ช.ไหนจะได้เป็นนายก

ย้อนอดีต ดูบรรยากาศ"เลือกตั้ง" ปรากฎการณ์สำคัญในวังวนเปลี่ยนผ่านการเมือง

โพลผิดพลาด

ตลอดระยะเวลาตั้งแต่ยุบสภา ไปจนถึงการเลือกตั้ง โพลเกือบทุกสำนักต่างบอกกันว่า"พรรคประชาธิปัตย์"จะได้เสียงมากที่สุดในสภา และกลายเป็นพรรคที่จัดตั้งรัฐบาล แต่เมื่อผลการเลือกตั้งปรากฏออกมา กลายเป็นหักผลโพลเกือบทุกสำนัก เพราะกลายเป็นพรรคความหวังใหม่ สามารถชนะการเลือกตั้งได้เสียงมากสุดในสภา โดยได้ที่นั่งทั้งสิ้น 125 ที่นั่งจาก 393 เฉือนชนะ"พรรคประชาธิปัตย์"ที่ได้ 123 ที่นั่งไป 2 ที่นั่ง จนกลายเป็นแกนนำจัดตั้ง

จากข้างต้นจะเห็นได้ว่าผลการเลือกตั้งก่อนรัฐธรรมนูญ 2540 นั้นรับประกันถึงรัฐบาลผสมอย่างแน่นอน โดยที่พรรคใหญ่ยังได้ที่นั่งประมาณ 1 ใน 3 ของสภา และทำให้รัฐบาลไม่มีเสถียรภาพเท่าที่ควร ซึ่งปัญหาดังกล่าวจะถูกแก้ไขในรัฐธรรมนูญ 2540

เลือกตั้ง 2544 กับการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่

"นายชวน หลีกภัย"ได้ยุบสภาผู้แทนราษฎรในวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ.2543 นำมาสู่การเลือกตั้งในวันที่ 6 มกราคม พ.ศ. 2544 นับเป็นการเลือกตั้งครั้งแรกภายใต้รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 ซึ่งมีกติกาเลือกตั้งที่ต่างจากสมัยก่อนอย่างชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นเขตหนึ่งมีสส.ได้แค่คนเดียว หรือมีสส.บัญชีรายชื่อ รวมทั้งเป็นการเลือกตั้งครั้งแรกที่มีองค์กรอิสระเข้ามามีส่วนในการเลือกตั้ง

ชวน หลีกภัย อดีตนายกฯ และอดีตประธานสภา

ศึกเลือกตั้งเลือด

เนืองจากความเปลี่ยนแปลงของกฎกติกา ทำให้เขตมีขนาดเล็กลง และจำนวนสส.ต่อเขตลดลงเหลือคนเดียว ทำให้การเลือกตั้งครั้งนี้มีการเดิมพันที่สูง และนำมาสู่ความรุนแรงครั้งมโหฬาร โดยในช่วงปี 2543 – 2544 ได้มีการเกิดความรุนแรงที่น่าจะเกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งตั้งแต่การเลือกตั้งท้องถิ่นจนถึงการเลือกตั้งระดับชาติ ทั้งสิ้นกว่า 50 คดี มีตั้งแต่สิ่งปฏิกูลอย่างอุจจาระ ปืนพก อาวุธสงครามอย่าง M16 ไปจนถึงการวางระเบิดเพื่อสังหารหัวคะแนนและคู่แข่งทางการเมืองทั้งภายหลังจากจบการเลือกตั้งก็ได้เกิดความไม่พอใจผลการเลือกตั้งหลายพื้นที่ นำมาสู่การเผาสำนักงานกกต.ในหลายจังหวัด รวมไปถึงการประท้วงอีกสารพัดภายหลังการเลือกตั้ง

การเลือกตั้งผู้แทนราษฎรครั้งแรกภายใต้องค์กรอิสระ

นอกจากจะเป็นการเลือกตั้งบนหน้าประวัติศาสตร์ที่เต็มไปด้วยความรุนแรงแล้ว การเลือกตั้งในปี 2544 ยังเป็นการเลือกตั้งสส.ครั้งแรกที่มีองค์กรอิสระเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะป.ป.ช. หรือ กกต.เป็นผู้เล่นหลัก 

ในการเลือกตั้งครั้งนี้กกต.มีบทบาทในการกำกับดูแลการเลือกตั้งครั้งนี้ โดยออกระเบียบมากมายให้ผู้สมัครระวังตัวเป็นพิเศษ จนจากในการเลือกตั้งสมัยก่อนที่พรรคการเมืองทำการหาเสียงผ่านการซื้อพื้นที่บนหน้าสื่อนั้นแทบจะหมดไป 

ย้อนอดีต ดูบรรยากาศ"เลือกตั้ง" ปรากฎการณ์สำคัญในวังวนเปลี่ยนผ่านการเมือง

โดยตลอดมากกต.ต้องหัวหมุนอยู่ตลอดการเลือกตั้ง ไม่ว่าจะเป็นการจัดการการแจกเงิน หรือสิ่งของที่เข้าข่ายซื้อเสียง ไปจนถึงจัดการกับเรื่องบัตรปลอมที่ปรากฏในการเลือกตั้งครั้งนี้ ยังไม่รวมถึงรับความเสี่ยงที่ได้รับมาจากการเลือกตั้งที่เกิดความรุนแรงจนถึงการเผาสำนักงานกกต.ภายหลังการเลือกตั้งเลยทีเดียว

หากแต่ตัวเอกที่สุดของการเลือกตั้งครั้งนี้คงหนีไม่พ้น ป.ป.ช. เนื่องจากตัวเต็งอย่าง"พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร" ถูกกล่าวหาในข้อหาซุกหุ้น จากการยื่นบัญชีทรัพย์สินไม่ตรงกับความเป็นจริง ทำให้มีโอกาสที่จะไม่ได้เป็นนายกรัฐมนตรี เนื่องจากขาดคุณสมบัติ ซึ่ง "พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร" จะต่อสู้กับข้อหาดังกล่าวจนถึงปลายปี 2544 เมื่อมีคำพิพากษาของศาลรัฐธรรมนูญว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร "บกพร่องโดยสุจริต"

ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ

รุ่งอรุณของ"ไทยรักไทย" กำเนิดพรรคใหญ่ของการเมืองไทย

ผลของการเลือกตั้งปี พ.ศ.2544 นั้นจบลงด้วยชัยชนะของ"พรรคไทยรักไทย" พร้อมกับปรากฏการณ์ที่"พรรคไทยรักไทย"ได้เสียงเกือบจะถึงกึ่งหนึ่งของสภา นับเป็นชัยชนะถล่มทลาย ชนิดที่ไม่เคยเกิดขึ้นในประวัติศาสตร์การเมืองไทย เปิดทางให้เกิดการก่อตั้งรัฐบาลพลเรือนที่มีเสถียรภาพอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน 

เลือกตั้ง 2548 การชนะอย่างถล่มทลายชนะตั้งแต่ยังไม่เลือกตั้ง

แม้จะผจญกับปัญหานานานัปการตลอดสมัย ทั้งถูกโจมตีจากทั้งนักวิชาการ สื่อ และพรรคฝ่ายค้าน แต่ในการเลือกตั้ง 2548 สังคมต่างมองว่าพรรคไทยรักไทยยังไงก็ชนะเลือกตั้งครั้งนี้ แล้วน่าจะได้เสียงเกินกว่าครึ่งหนึ่งของสภา ตั้งรัฐบาลพรรคเดียวได้สำเร็จ และก็เป็นเช่นนั้นจริงๆ 

ในการการเลือกตั้งวันที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2548 "พรรคไทยรักไทย" สามารถสร้างประวัติศาสตร์กลายเป็นพรรคการเมืองที่มีที่นั่งมากที่สุดในสภา โดยชนะเลือกตั้งได้จำนวนสส.ถึง 377 คน ก่อนที่จะเหลือ 375 จากการโดนใบแดง

แม้จะมีคำกล่าวหาว่า"พรรคไทยรักไทย"ประสบความสำเร็จในการเลือกตั้งครั้งนี้ส่วนหนึ่งเป็นเพราะพรรคนั้นได้ทำการซื้อมุ้งการเมืองเข้ามาในพรรค แต่บรรยากาศการเลือกตั้งในขณะนั้นก็ช่วยตอบคำถามว่าทำไม"พรรคไทยรักไทย"ที่ได้รับเสียงต่อต้านมาตลอดถึงได้ที่นั่งในสภามากขนาดนั้นได้

นโยบายประชานิยม ในอดีตสู่ปัจจุบัน

ผลงานขายตัวเอง

ตลอดสี่ปีของรัฐบาล"พรรคไทยรักไทย" พรรคไทยรักไทยประสบความสำเร็จในการดำเนินนโยบายเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะนโยบายเลืองชื่ออย่าง 30 บาทรักษาทุกโรค  กองทุนหมู่บ้าน หนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ ปลดหนี้ IMF นโยบายจัดการกับยาเสพติด ไปจนถึงนโยบายเล็กๆ น้อยอีกจำนวนมาก โดยในเดือนพฤศจิกายนรัฐบาลไทยรักไทยได้จัดนิทรรศการโปรโมทผลงานตัวเองชื่อว่า "เหลียวหลังแลหน้าจากรากหญ้าสู่รากแก้ว" โดยในงานมีทั้งนิทรรศการและการจัดแสดงสินค้า

ทั้งหมดแม้"พรรคไทยรักไทย"จะโดนโจมตีทั้งเรื่องมนุษยธรรม คอรัปชั่น ไปจนถึงบอกว่าไทยรักไทยจะเป็นเผด็จการรัฐสภาหากได้สส. 300 ที่นั่ง แต่ผลงานของพรรคไทยรักไทยก็นับว่าได้ใจคนจำนวนมากโดยเฉพาะชาวบ้านคนรากหญ้า

ปัญหาเยอะโอกาสก็เยอะ

ครม.ทักษิณ 1 นั้นผจญกับวิกฤตจำนวนมาก แม้แต่ช่วงก่อนการเลือกตั้งในระยะเวลา 2-3 เดือน รัฐบาลไทยรักไทยก็ต้องผจญกับปัญหาสามจังหวัดชายแดนใต้ที่เกิดเหตุความรุนแรงรายวัน ชนิดที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร (ยศขนาดนั้น) เกือบจะยกเลิกการไปประชุมเอเปค 2004 ทั้งตอนปลายเดือนธันวาคม พ.ศ.2547 ก่อนเลือกตั้งเดือนกว่าๆ ก็มีปัญหาสึนามิ หากแต่พรรคไทยรักไทยก็ยังสามารถรับมือกับสถานการณ์นั้นได้ และสามารถแก้ปัญหาเฉพาะหน้า พลิกวิกฤตเป็นโอกาสในการประชาสัมพันธ์ตัวเอง จนตลอดสามเดือนก่อนการเลือกตั้ง รัฐบาลไทยรักไทยก็ยังมีพื้นที่บนหน้าสื่อตลอด และเพิ่มคะแนนความนิยมของตัวเองไปในตัว

ย้อนอดีต ดูบรรยากาศ"เลือกตั้ง" ปรากฎการณ์สำคัญในวังวนเปลี่ยนผ่านการเมือง

ผลงานมี ที่ขาดไม่ได้คือพีอาร์

รัฐบาลไทยรักไทยเลือกที่จะโปรโมทตัวเองในฐานะรัฐบาลของคนรากหญ้าโดยแท้ แม้ว่านโยบายหลายๆ อย่างของ"ไทยรักไทย"ไม่ได้ตอบสนองคนรากหญ้าก็ตาม 

โดย"พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร"และครอบครัวมีภาพลักษณ์เป็นที่เข้าถึงง่าย ไม่มากพิธีรีตอง ถึงขนาดที่ก่อนการเลือกตั้งไม่นานมีข่าว"คุณหญิงพจมาน ชินวัตร"ถูกขโมยกระเป๋ากลางร้านอาหารหรู ซึ่งก็แสดงออกผ่านทางทัวร์นกขมิ้น ไปจนถึงรายการนายกคุยกับประชาชน ทั้งเมื่อเกิดวิกฤต"พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร"และคณะรัฐมนตรีก็พร้อมที่จะลงพื้นที่ไปดูปัญหาในทันที

นอกจากการประชาสัมพันธ์งานในรัฐบาลแล้ว "พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร" ยังมีพื้นที่สื่ออื่นๆ ที่ไม่ใช่แค่ผลงานจากรัฐบาล ด้วยการที่ "พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร" แสดงตัวว่าเป็นแฟมิลี่แมนทำให้ "พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร" สามารถมีข่าวในเรื่องชีวิตส่วนตัว เป็นการโปรโมทตัวเองไปในตัว

นั่นทำให้ในการเลือกตั้ง พ.ศ.2548 แม้"พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร" และรัฐบาลไทยรักไทยจะถูกโจมตีสารพัด และเผชิญปัญหานับไม่ถ้วน แต่"พรรคไทยรักไทย"ก็สามารถชนะได้อย่างถล่มทลายเป็นแลนด์สไลด์ครั้งประวัติศาสตร์

ย้อนอดีตดูการเลือกตั้ง (2): เปลี่ยนกติกา ย้อนกลับไปสู่การ เมืองก่อนรัฐธรรมนูญ 40 (2549 / 2550)

ระบบเลือกตั้ง 2540 นับเป็นระบบเลือกตั้งที่ทำให้"พรรคไทยรักไทย" เข้มแข็งถึงจุดที่ไม่มีใครสามารถโค่นล้มได้ นั่นทำให้เพื่อที่จะสามารถแข่งขันกับ"ไทยรักไทย"ได้ คู่แข่งทางการเมืองของ"ไทยรักไทย"จึงหาทางเปลี่ยนกติกาการเลือกตั้งเพื่อให้ไทยรักไทยอ่อนแอลง

ด้วยการนี้สำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย สถาบันพระปกเกล้าจึงขอพาย้อนไปดูการเลือกตั้งในอดีต ในช่วงที่เกิดความพยายามเปลี่ยนระบบจากเขตเดียวคนเดียวกลับไปเขตเดียวหลายคนอีกครั้ง

เลือกตั้ง 2549 (โมฆะ): เลือกตั้งครั้งสุดท้ายภายใต้กติการัฐธรรมนูญ 2540

แม้"พรรคไทยรักไทย"จะชนะการเลือกตั้ง พ.ศ.2548 อย่างถล่มทลาย โดยได้ที่นั่งถึง 375 ที่นั่งจากทั้งหมด 500 ที่นั่งในสภา แต่รัฐบาลไทยรักไทยหรือครม.ทักษิณ 2 กลับต้องผจญกับปัญหาต่างๆ ตั้งแต่ข้อวิจารณ์ เล็กๆ น้อยๆ อย่างความเชื่อเรื่องโชคลาง ไปจนถึงการบริหารของ"พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร"ที่โดนโจมตีว่ามีลักษณะเป็นอำนาจนิยมและเอื้อประโยชน์ให้กับพวกพ้องทั้งจากนักการเมือง NGO และสื่อ ทั้งถึงพรรคไทยรักไทยจะมีที่นั่งมากที่สุดถึง 375 ที่นั่ง แต่"พรรคไทยรักไทย"ก็ยังมีปัญหาเรื่องมุ้งการเมืองภายในพรรค ซึ่งเพิ่มจำนวนมากขึ้นในช่วงระหว่างที่"พรรคไทยรักไทย"เป็นรัฐบาลก่อนเลือกตั้ง พ.ศ.2548

หากแต่ถึงจะถูกโจมตี และเผชิญปัญหาสารพัด ทั้งภายใน ภายนอก แต่ปัญหาทั้งหมดก็เหมือนมดกัดแสบๆ คันๆ แต่ไม่ได้กระทบกับเสถียรภาพรัฐบาล แต่เรื่องเล็กๆ น้อยๆ เหล่านี้จะสะสมกลายเป็นปัญหาใหญ่ เมื่อในวันที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2549 ได้เกิดการขายหุ้นชินคอร์ปของตระกูลชินวัตร-ดามาพงศ์ ซึ่งถูกวิจารณ์จากทั้งสื่อและนักการเมืองว่าเป็นการซื้อขายที่จงใจเลี่ยงกฎหมายเพื่อที่จะไม่เสียภาษี นับว่าเป็นการแสวงหาประโยชน์ส่วนตัว จนทำให้เกิดเป็นวิกฤตการณ์ทางการเมือง เกิดการยื่นชื่อถอดถอน"นายกรัฐมนตรี" และเกิดการขยายตัวของกลุ่มผู้ชุมนุมต่อต้านรัฐบาลซึ่งได้เริ่มก่อตัวขึ้นมาตั้งแต่ปลายปี พ.ศ.2548 จนเกิดเป็นกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย

จนสุดท้ายเพื่อที่จะฝ่าวิกฤตดังกล่าว "พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร"ได้ตัดสินใจยุบสภาเพื่อคืนอำนาจให้ประชาชนตัดสินใจแก้ปัญหาทางการเมืองครั้งนี้ผ่านการเลือกตั้ง

ไม่ถึง 50% จะไม่ขอเป็นนายก

อาจบอกได้ว่าการเลือกตั้งครั้งนี้เป็นการเลือกตั้งเพื่อที่จะหาคำตอบว่า ประชาชนยังคงไว้ใจให้ "พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร" ยังควรจะเป็นผู้นำรัฐบาลต่อไปหรือไม่ หากประชาชนเชื่อมั่นในรัฐบาลไทยรักไทยหมายความว่าความชอบธรรมของ"พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร"ที่ถูกสั่นคลอนจากกรณีขายหุ้นชินคอร์ปจะกลับมาอีกครั้ง เพื่อการนั้น "พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร" ได้ประกาศในการปราศรัยทื่ท้องสนามหลวงว่าหากพรรคไทยรักไทยมีสส.ไม่ถึง 50% จะไม่ขอเป็นนายก

ย้อนอดีต ดูบรรยากาศ"เลือกตั้ง" ปรากฎการณ์สำคัญในวังวนเปลี่ยนผ่านการเมือง

ฝ่ายค้านบอยคอตการเลือกตั้ง

ทันทีที่ "พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร"ตัดสินใจยุบสภาพรรคฝ่ายค้าน 3 พรรคได้แก่"พรรคประชาธิปัตย์" "พรรคชาติไทย" และ"พรรคมหาชน"ได้ออกแถลงการณ์คว่ำบาตรการเลือกตั้งครั้งนี้โดยการไม่ส่งผู้สมัคร สส.ลงเลือกตั้ง ทำให้ในเขตจำนวนมาก จะมีผู้สมัครจากพรรคไทยรักไทยเพียงพรรคเดียวลงเลือกตั้ง และต้องได้เสียงจากผู้ลงคะแนนเสียง 20% เพื่อที่จะได้เป็นสส.

โดยฝ่ายค้านได้ยื่นเงื่อนไขที่จะลงเลือกตั้งในครั้งนี้เป็นการที่"พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร" ต้องให้สัตยาบันว่าจะมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งก็ถูกตีตกทันที ก่อนที่"พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร"จะเสนอให้ฝ่ายค้านมารวมจัดตั้งกลายเป็นรัฐบาลแห่งชาติซึ่งก็ถูกปฏิเสธโดยพรรคฝ่ายค้านทันทีเช่นกัน

สุดท้ายการเลือกตั้งครั้งนี้จึงเป็นการเลือกตั้งที่มีพรรคใหญ่เข้าร่วมแค่พรรคไทยรักไทย พรรคเดียว โดยที่ฝ่ายค้านแม้จะไม่ได้ลงเลือกตั้ง แต่ก็ยังคงมีเวทีปราศรัยอยู่เป็นระยะ

จุดเริ่มการเมืองเสื้อสี

"นายสนธิ ลิ้มทองกุล"แต่ก่อนเป็นสื่อผู้สนับสนุนหลักของพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร กระทั่งรายการเมืองไทยรายสัปดาห์ถูกระงับการออกอากาศเนืองจากวิพากษ์รัฐบาล จนกลายเป็นตัวตั้งตัวตีในการเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาล โดยมีการจัดรายการเมืองไทยรายสัปดาห์สัญจร แต่ก็ไม่ได้สร้างผลกระทบต่อรัฐบาลเสียเท่าไหร่ นอกจากจะเป็นการเปิดให้กลุ่มต่อต้านรัฐบาล"พ.ต.ท.ทักษิณ" ได้มีพื้นที่รวมตัวกัน 

กระทั่งหลังจากข่าวการขายหุ้นชินคอร์ป ทำให้กระแสต่อต้านจุดติด และมีผู้ชุมนุมเพิ่มจำนวนมากขึ้น ก่อนจะร่วมมือเป็นแนวร่วมกับกลุ่มต่อต้านอีกหลายกลุ่ม จนเกิดเป็นพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ในวันที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2549

ย้อนอดีต ดูบรรยากาศ"เลือกตั้ง" ปรากฎการณ์สำคัญในวังวนเปลี่ยนผ่านการเมือง

เมื่อเกิดการยุบสภาในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2549 "กลุ่มพันธมิตรเพื่อประชาธิปไตย"ก็ยังทำการชุมนุมต่อต้าน"พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร" ต่อไป โดยมีทั้งการชุมนุมปักหลัก การเคลื่อนขบวนไปยังสถานที่สำคัญต่างๆ จนถึงช่วงวันเลือกตั้ง ไม่ว่าจะเป็นถนนราชดำเนิน ถนนสีลม งานกาชาด และสยามพารากอน

หากแต่ขณะเดียวกันกลุ่มผู้สนับสนุน"พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร"ก็ไม่น้อย หน้า โดยได้มีกองเชียร์คอยให้ดอกไม้และกำลังใจ"พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร" ทุกครั้งที่ลงพื้นที่ และมีการปักหลักชุมนุมที่สวนจุตจักรโดยกลุ่มคาราวานคนจนเพื่อแสดงพลังสนับสนุน"พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร" โดยมีทั้งการชุมนุมหน้าสำนักงานหนังสือพิมพ์ผู้จัดการที่เป็นปากเป็นเสียงให้กับกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ไปจนถึงชุมนุมต่อต้านไม่ให้แนวร่วมของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยเข้าพื้นที่ 

ไทยรักไทยยังคงความนิยม แต่เสียงโหวตโนก็เยอะอยู่ดี

ด้วยการที่"พรรคไทยรักไทย"เป็นพรรคใหญ่พรรคเดียวที่ส่งสส.ลงในการเลือกตั้งวันที่ 2 เมษายน พ.ศ.2549 ทำให้เป็นที่สนใจกันว่าไทยรักไทยจะได้สส.ครบทุกที่ จนมีจำนวนสส.ครบ 500 คนเพื่อจะทำการเปิดประชุมสภาหรือไม่ และในวันเลือกตั้งเขตเลือกตั้งจำนวนมากโดยเฉพาะภาคใต้ พรรคไทยรักไทยไม่สามารถได้สส.ได้ เพราะผู้สมัครได้เสียงจากผู้มาใช้สิทธิ์ไม่ถึง 20% จนต้องเลือกตั้งใหม่ ขณะเดียวกันแม้ว่าพรรคไทยรักไทยจะชนะถล่มทลายได้เสียงเกิน 50% แต่ก็มีเสียงโหวตโนถึงกว่า 30% และมีหลายหน่วยที่เกิดเหตุฉีกบัตรเลือกตั้งขึ้น

วิกฤตยังดำเนินต่อไปจน"พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร"ได้ประกาศเว้นวรรคทางการเมือง ไม่ขอเป็นนายกรัฐมนตรีในการเลือกตั้งครั้งนี้

ย้อนอดีต ดูบรรยากาศ"เลือกตั้ง" ปรากฎการณ์สำคัญในวังวนเปลี่ยนผ่านการเมือง

ศาลรัฐธรรมนูญตัดสิน การเลือกตั้งเป็นโมฆะ

ภายใต้บรรยากาศที่จะมีการเลือกตั้งซ่อมในหลายเขต ศาลรัฐธรรมนูญได้รับคำร้องให้พิจารณาให้การเลือกตั้งปี พ.ศ.2549 เป็นโมฆะ โดยในวันที่ 8 พฤษภาคม พ.ศ.2549 ศาลรัฐธรรมนูญได้ตัดสินให้การเลือกตั้งในวันที่ 2 เมษายน พ.ศ.2549 ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญด้วยคะแนน 8 ต่อ 6 โดยตุลาการ 6 คนจาก 8 ที่ลงมติให้การเลือกตั้งครั้งนี้ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญเพราะ 1. การกำหนดระยะเวลาในการเลือกตั้งไม่เป็นธรรม และ 2. การจัดคูหาทำให้การลงคะแนนไม่เป็นความลับ ส่วนผู้พิพากษาอีก 2 คนที่ตัดสินให้ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญนั้นให้เหตุผลในข้อสองเพียงอย่างเดียว

การตัดสินครั้งนี้ทำให้การเลือกตั้งถูกเลื่อนออกไปเป็นเดือนตุลาคม พ.ศ.2549 และพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรได้กลับมาในเวทีทางการเมืองอีกครั้ง ด้วยเหตุผลว่าห่วงบ้านเมือง
    
จากเหตุที่"พรรคไทยรักไทย"เข้มแข็งมากภายใต้กติกาของรัฐธรรมนูญ 2540 ทำให้มีการพยายามแก้ไขกฎกติกาการเลือกตั้ง จนเกิดมาเป็นระบบการเลือกตั้งของรัฐธรรมนูญ 2550 เพื่อที่จะทำให้ไทยรักไทยหรือพรรคที่จะขึ้นมาเป็นทายาทไม่สามารถชนะการเลือกตั้งได้อย่างถล่มทลายได้อีก

เลือกตั้ง 2550

หลังจากเผชิญกับวิกฤตการณ์การเมืองจนการเลือกตั้ง 2 เมษายน 2549 กลายเป็นโมฆะ แล้วต้องเลื่อนการจัดการเลือกตั้งไปเป็นวันที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2549 เมื่อการเลือกตั้งไม่สามารถแก้ปัญหาทางการเมืองได้จนการเมืองมาถึงทางตัน ทำให้เกิดการรัฐประหารนำโดย"พลเอกสนธิ บุญยรัตกลิน" ผบ.ทบ.ในขณะนั้นทำการยึดอำนาจรัฐประหารด้วยเหตุผลหลักๆ เป็นเรื่องของการแตกแยก การครอบงำทางการเมือง และความหมิ่นเหม่ต่อการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ

ด้วยสัญญาที่ว่าจะคืนระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขให้กลับสู่มือประชาชนชาวไทยในเวลา 1 ปี ทำให้รัฐบาลจากการรัฐประหารได้รีบเร่งเขียนรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และได้ทำประชามติในวันที่ 19 สิงหาคม 2550 ก่อนที่จะเริ่มเข้าสู่กระบวนการเลือกตั้งหลังจากนั้น โดยที่ผู้ร่างรัฐธรรมนูญได้มีการปรับแก้กติกาการเลือกตั้งให้พรรคพลังประชาชนที่เป็นพรรคสืบทอดจากไทยรักไทยเสียเปรียบมากยิ่งขึ้นหลังจากที่ครั้งก่อนสามารถชนะได้อย่างถล่มทลาย

เขตใหญ่กว่าเดิม

ตั้งแต่การเลือกตั้งปี 2544 เป็นต้นมาประเทศไทยใช้ระบบการเลือกตั้งสส.คนเดียวต่อหนึ่งเขต แต่สำหรับการเลือกตั้งครั้งนี้กติกาสำหรับการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตได้ย้อนกลับไปก่อนรัฐธรรมนูญซึ่งใช้ระบบ Block Voting หรือเขตเดียวจะมีสส.หลายคน โดยเขตเลือกตั้งในการเลือกตั้งลักษณะนี้จะเป็นเขตใหญ่ มีสส.จำนวนสูงสุด 3 คน โดยพรรคจะส่งผู้สมัครลงในแต่ละเขตเป็นทีม มีเลขติดกัน และใช้ป้ายหาเสียง หาเสียงพร้อมกันทั้งทีมโดยจากประวัติศาสตร์ระบบการเลือกตั้งเช่นนี้จะทำให้เป็นการยากที่จะทำให้เกิดรัฐบาลพรรคเดียว

หากแต่ขณะเดียวกันสส.แบบสัดส่วนก็ได้เปลี่ยนกติกาโดยไม่ใช่ประเทศเป็นเขตเลือกตั้ง แต่ใช้วิธีการคำนวณคะแนนจากกลุ่มจังหวัด 8 กลุ่ม แต่ละกลุ่มมีสส.แบบสัดส่วนได้ 10 คน

การเลือกตั้งสองขั้ว

ผลจากการเมืองเสื้อสีที่เริ่มขึ้นในปี 2549 ทำให้ประเทศไทยอยู่ในสภาวะสองขั้วอย่างเห็นได้ชัด โดยที่มี"ทักษิณ ชินวัตร"เป็นประเด็นหลักของความขัดแย้ง โดยได้มีการหยิบวาทกรรมคนดี กับวาทกรรมกินบ้านกินเมืองมาใช้ในบรรดาผู้สนับสนุนการเลือกตั้ง

ซื้อเสียงกระจาย

เรียกได้ว่าเป็นการเลือกตั้งที่ข่าวการซื้อเสียงแพร่สะพัดไปทั่ว ทั้งที่ซื้อด้วยเงินจริงๆ และซื้อเป็นสิ่งของ โดยจากรายงานของศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่าการยอดขายเครื่องดื่มแอลกอฮอลคึกคักรับเลือกตั้ง ส่วนหนึ่งน่าจะเป็นผลจากการที่หัวคะแนนและผู้สมัครต่างแห่กันไปซื้อเหล้า และเมื่อเขตเลือกตั้งยิ่งใหญ่ ก็ทำให้มีการลงทุนมากยิ่งขึ้นไปอีก    

การสังเกตการณ์จากต่างประเทศ

ภายหลังจากการรัฐประหารทำให้ประเทศตะวันตกหลายประเทศได้ส่งผู้สังเกตุการณ์เข้ามาสังเกตุการณ์เลือกตั้งในประเทศครั้งนี้เนืองจากกลัวว่าการเลือกตั้งจะไม่สุจริต ไม่โปร่งใส และไม่เป็นธรรม

ป๋าเปรมบอกให้เลือก “คนดี”

ในวันที่ 21 ธันวาคม 2550 หรือสองวันก่อนที่จะมีการเลือกตั้ง พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ได้ให้สัมภาษณ์ว่าขอให้คนไทยออกไปใช้สิทธิเลือกตั้งเยอะๆ พร้อมกับมองว่าการเลือกตั้งจะไม่นำมาซึ่งความวุ่นวาย พร้อมเน้นย้ำว่านายกคนใหม่จะต้องกลายเป็นคนดี 
    
ผิดโพล (อีกแล้ว)

ในช่วงโค้งสุดท้ายก่อนการเลือกตั้งได้มีการทำโพลสำรวจว่าประชาชนจะเลือกใคร โดยกรุงเทพโพลพบว่าในสส.แบบบัญชีรายชื่อ ผู้ตอบแบบสอบถามจะเลือกพรรคประชาธิปัตย์ถึง 34.2% ขณะที่พรรคพลังประชาชนจะมีคนเลือก 31.9% ทั้งผู้ตอบแบบสอบถามยังคิดว่านายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะดูจะเหมาะสมกับการเป็นนายกรัฐมนตรีถึง 34.8% ขณะที่นายสมัคร สุนทรเวชมีคนเห็นว่าเหมาะสมกับการเป็นนายกรัฐมนตรี 28%

ผลการเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการออกมาโดยพรรคพลังประชาชนได้สส.ทั้งสิ้น 228 คนจากที่นั่งในสภา 480 ที่นั่ง ขณะที่พรรคประชาธิปัตย์ได้ 166 คน ส่งผลให้พรรคพลังประชาชนตั้งรัฐบาลได้สำเร็จ ก่อนที่จะเผชิญกับวิกฤตทางการเมืองจนเกิดการเปลี่ยนขั้วรัฐบาลในปี 2551

ในแง่หนึ่งแม้พลังประชาชนจะชนะเลือกตั้ง แต่ระบบ 2550 ก็นับว่าประสบความสำเร็จในการทำให้พรรคตระกูลไทยรักไทยไม่สามารถชนะขาดได้เสียงครึ่งหนึ่งของสภาได้สำเร็จ

แฟ้มภาพ ม็อบ กปปส.
    
ย้อนอดีตดูการเลือกตั้ง (3): เลือกตั้งเสื้อสี (2554/ 2557)

ระหว่างปี 2550 ถึงปี 2554 ประเทศไทยแทบจะเผชิญกับการชุมนุมทางการเมืองขนาดใหญ่ระดับปิดเมือง ปีละครั้ง โดยในปี 2551 มีการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยมาขับไล่รัฐบาลพลังประชาชน ขณะที่ปี 52 กับปี 53 ก็มีการชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการ เพื่อขับไล่พรรคประชาธิปัตย์ และต่อมาในปี 56 – 57 ก็มีการชุมนุมของ"กลุ่มกปปส." การเลือกตั้งในช่วงนี้อาจจะกล่าวได้ว่าเป็นการเลือกตั้งในช่วงที่การเมืองเป็นการเมืองเสื้อสี ซึ่งสังคมไทยแบ่งออกเป็น 2 ขั้วอย่างชัดเจน สำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย สถาบันพระปกเกล้าขอพาย้อนอดีตไปดูการเลือกตั้งในช่วงดังกล่าวนี้

เลือกตั้ง 2554: เพื่อไทยชนะเลือกตั้งอีกแล้ว

หลังจากการยุบ"พรรคพลังประชาชน"ในปี 2551 จน"นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์"หลุดจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ทำให้สส.จากพรรคพลังประชาชนบางส่วน ได้หันไปเข้ากับพรรคประชาธิปัตย์หลังจากมีการยุบพรรค และชูนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะเป็นนายกรัฐมนตรีขึ้น

การขึ้นมาของ"อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ"ทำให้ความขัดแย้งที่แบ่งออกเป็นสองขั้วอยู่แล้ว แตกแยกมากยิ่งขึ้น โดยได้มีกลุ่มผู้สนับสนุนทักษิณ ชินวัตรออกมาชุมนุมซึ่งกลุ่มดังกล่าวจะรู้จักกันในชื่อกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติหรือนปช. โดยมีเป้าหมายเพื่อขับไล่รัฐบาลของ"นายอภิสิทธิ์ เวชาชีวะ" ซึ่งนปช.ได้มีการชุมนุมในเดือนเมษายน 2552 ก่อนที่จะแยกย้ายกลับไป แล้วทำการชุมนุมอีกครั้งในปี 2553 ซึ่งในช่วงระหว่างการชุมนุมของนปช."นายอภิสิทธิ์"ได้มีการเจรจากับผู้ชุมนุมเรื่องการยุบสภา แต่ไม่สามารถยุบสภาได้ทันทีตามที่นปช.เรียกร้อง

ก่อนที่สุดท้ายการชุมนุมจะจบลงด้วยเหตุนองเลือดจากการสลายการชุมนุมที่ทางรัฐบาลเรียกว่าการกระชับพื้นที่หากแต่เนืองจากเป้าหมายหนึ่งของรัฐบาลร่วมนี้นั้นคือ การแก้ไขกฎหมายเลือกตั้ง ซึ่งเมื่อรัฐบาลของ"อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ"สามารถแก้ไขกฎหมายเลือกตั้งได้สำเร็จ โดยกลับไปใช้ระบบเขตเดียวคนเดียว และเพิ่มจำนวนสส.บัญชีรายชื่อ ก็ถูกพรรคร่วมบีบให้ทำการยุบสภาเลือกตั้งใหม่อีกครั้ง ซึ่งเป็นการเลือกตั้งบนความขัดแย้งของประเทศไทยที่แตกเป็นสองเสี่ยงมาเกือบจะสิบปีได้แล้ว    

เพื่อไทยจะชูใครเป็นนายก

ก่อนที่จะมีการยุบสภา เพื่อไทยนั้นยังคงวุ่นอยู่กับการเคาะตัวชูโรงที่จะกลายเป็นนายกรัฐมนตรีของพรรค โดยมีคนที่แสดงตัวว่าอยากจะเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีอย่าง"นายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ" ดาวสภาของพรรคกับ"นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร" น้องสาวแท้ๆ ของพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร สุดท้ายเพื่อไทยเลือกที่จะให้"นางสาวยิ่งลักษณ์"เป็นตัวชูโรงในการเลือกตั้งครั้งนี้ ซึ่งหากชนะ"นางสาวยิ่งลักษณ์"จะนับว่าเป็นนายกฯ หญิงคนแรกของประเทศไทย

หัวใจคือการปรองดอง
 

จากความเผชิญการชุมนุมใหญ่ติดๆ กันที่ยาวนานติดกันถึง 5 ปี ทำให้สังคมไทยอยู่ในสภาวะเบื่อหน่าย และเริ่มมีการพูดถึงเรื่องปรองดองมากยิ่งขึ้น โดยที่ทั้งสองพรรคใหญ่ต่างชูนโยบายเพื่อความปรองดองของตัวเอง โดยพรรคเพื่อไทยได้ชูนโยบายในลักษณะแก้ไขไม่แก้แค้น ขณะที่พรรคประชาธิปัตย์นั้นมีแนวทางการปรองดองในแบบของตัวเองซึ่งแตกต่างจากพรรคเพื่อไทย

รณรงค์โหวต NO

ในการเลือกตั้ง 2554 ได้มีการรณรงค์ครั้งใหญ่ เป็นป้ายหาเสียงไปทั่วท้องถนนคือ ป้ายรณรงค์โหวต NO โดยป้ายเป็นรูปสัตว์นานาชนิดใส่ชุดสูท แทนภาพนักการเมือง หากแต่ไม่ได้รับการตอบรับเท่าที่ควร

โพลเพื่อไทยชนะขาดทุกโพล

แม้จะมีการเปลี่ยนกติกาการเลือกตั้งแล้ว แต่เพื่อไทยก็ยังดูจะได้เปรียบพรรคอย่างประชาธิปัตย์อยู่หลายขุม โดยจากโพลทุกสำนัก"พรรคเพื่อไทย"ล้วนแต่ได้รับความนิยมเหนือ"พรรคประชาธิปัตย์" ขณะที่ที่นั่งของ"พรรคประชาธิปัตย์"มีจำนวนเท่าๆ เดิมหรืออาจจะลดลงด้วย
    
เวทีปราศรัย 23 มิถุนายน 2554 ของปชป.ที่ราชประสงค์

ในวันที่ 23 มิถุนายน 2554 "ประชาธิปัตย์"ได้เลือกที่จะตั้งเวทีปราศรัยที่ราชประสงค์ โดยบอกว่าจะก้าวข้ามความขัดแย้ง หากแต่ขณะเดียวกันก็อยากจะให้รู้สึกว่าพื้นที่นี้เป็นพื้นที่ที่เกิดเหตุการณ์ชุมนุมเกิดขึ้น โดยนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะต้องการที่จะแสดงให้เห็นว่ากลุ่มคนเลือกพรรคเพื่อไทยไม่ใช่คนกลุ่มเดียวในประเทศ และเชิญชวนให้คนเลือกประชาธิปัตย์ในวันเลือกตั้ง

แม่นเหมือนตาเห็น ทักษิณทายว่าประชาธิปัตย์ได้ไม่เกิน 160

หลายเดือนก่อนการเลือกตั้ง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรได้ทำการโฟนอินเข้ามาร่วมประชุมกับพรรคเพื่อไทยโดยได้มีการกล่าวว่าพรรคประชาธิปัตย์จะได้ไม่เกิน 160 ที่นั่ง เพราะว่าตลอดมาพรรคนี้ก็ไม่เคยได้เกิน 160 ที่นั่งอยู่แล้ว ผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการ พรรคประชาธิปัตย์ได้ที่นั่งทั้งสิ้น 159 ที่นั่ง ส่วนพรรคเพื่อไทยได้ทั้งสิ้น 265 ที่นั่ง กลายเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล

เลือกตั้ง 2557 (โมฆะ): ขนคนไปปิดหน่วย ต่อต้านการเลือกตั้ง

จากความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในช่วงเกือบสิบปี ทำให้เกิดแนวคิดเรื่องการปรองดองเกิดขึ้น ซึ่งรัฐบาลเพื่อไทยที่นำโดย"นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร"ก็ได้เตรียมตัวจะออกกฎหมาย พรบ.นิรโทษกรรมเพื่อนิรโทษให้ทุกคนที่มีส่วนเกี่ยวข้องทางการเมืองทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นฝ่ายไหน (ซึ่งรวมถึงทักษิณ ชินวัตรและอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะด้วย) พรบ.ดังกล่าวสร้างความไม่พอใจให้ทั้งกลุ่มคนเสื้อแดงบางกลุ่มที่ต้องการเห็นผู้ออกคำสั่งในการสลายการชุมนุมอย่าง"อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ"รับโทษ และสร้างความไม่พอใจให้กับกลุ่มคนต้านทักษิณ ที่ต้องการจะเห็น"ทักษิณ ชินวัตร"กลับมารับโทษที่ประเทศไทย จนเกิดเป็นการเปลี่ยนรูปโปรไฟล์ของผู้ใช้เฟซบุ๊คจำนวนมากในการต่อต้านพรบ.นิรโทษกรรมฉบับเหมาเข่ง โดยต่อมาการชุมนุมจะกลายเป็นการชุมนุมขับไล่รัฐบาล"ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร" จนสุดท้ายในเดือนธันวาคม 2556 นางสาวยิ่งลักษณ์ก็ตัดสินใจยุบสภา ให้ประชาชนเป็นคนตัดสินใจในการแก้ปัญหา

ปฏิรูปก่อนหรือปฏิรูปหลังเลือกตั้ง

แม้จะมีการเลือกตั้ง แต่กลุ่มผู้ชุมนุมที่ในขณะนั้นเรียกตัวเองว่ากปปส.ได้ทำการแสดงความไม่เห็นด้วย และพยายามที่จะทำให้การเลือกตั้งไม่สำเร็จ โดยบอกว่าหากจะมีการเลือกตั้งนั้นจำเป็นต้องมีการปฏิรูปเสียก่อน โดยแกนนำของกปปส.หลายคนเป็นคนของพรรคประชาธิปัตย์ ทำให้พรรคประชาธิปัตย์คว่ำบาตรการเลือกตั้งครั้งดังกล่าวเหมือนที่เคยคว่ำบาตรในการเลือกตั้งปี 2549 ขณะที่ทางพรรคเพื่อไทยก็ได้รับลูกว่าประเทศไทยจำเป็นต้องมีการปฏิรูป หากแต่ต้องเป็นการปฏิรูปหลังเลือกตั้ง โดยผู้สนับสนุนใช้วิธีการแสดงออกผ่านการชุมนุมจุดเทียนเพื่อแสดงว่าตนสนับสนุนการเลือกตั้ง

ข้อเสนอของกปปส.นั้นจะนำมาสู่การปิดหน่วยเลือกตั้งโดยผู้ชุมนุมเพื่อที่จะทำให้การเลือกตั้งล้มเหลว

ปิดหน่วยไม่ให้เลือก

เพื่อที่จะทำให้การปฏิรูปก่อนการเลือกตั้งสำเร็จ ขั้นแรกก็คือ ต้องทำให้ไม่มีการเลือกตั้งเสียก่อน โดยกปปส.ได้ทำการส่งผู้ชุมนุมไปชุมนุมปิดหน่วยเลือกตั้งตั้งแต่มีการลงคะแนนล่วงหน้า และในวันจริง ส่งผลให้ต่อมาศาลรัฐธรรมนูญตัดสินให้การเลือกตั้งครั้งนี้ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญเพราะไม่สามารถจัดการเลือกตั้งให้แล้วเสร็จภายในหนึ่งวันได้

เมื่อการเลือกตั้งไม่ใช่ทางออก และประเทศไทยถูกบีบให้มาถึงทางตัน ทำให้กองทัพได้ออกมา แล้วได้ทำการรัฐประหารในวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 โดยทำการปฏิรูปก่อนการเลือกตั้งสมใจกปปส.ถึงกว่า 4 ปี

ย้อนอดีตดูการเลือกตั้ง (4): การเลือกตั้ง 2562 การเลือกตั้งสุดแปลกบนหน้าประวัติศาสตร์

ในการเลือกตั้งทั้งหมดที่ผ่านมาในประวัติศาสตร์ การเลือกตั้ง 2562 อาจจะกล่าวได้ว่าเป็นการเลือกตั้งที่ชุลมุนที่สุด สร้างความประหลาดใจให้หลายกลุ่มมากที่สุด และนักการเมืองก็ต้องพากันกลับคำพูดแทบไม่ทัน ในการนี้สำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย สถาบันพระปกเกล้าจึงขอพาย้อนไปทบทวนให้เห็นการเลือกตั้งในปี 2562

แฟ้มภาพ  การยึดอำนาจโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ก.ย.57

การเลือกตั้ง 2562: การเลือกตั้งชุลมุน

ภายหลังการรัฐประหาร 2557 คสช. ได้ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ที่ต่อมาจะได้ชื่อว่ารัฐธรรมนูญ 2560 โดยได้มีการทำประชามติพ่วงคำถามให้สว.สามารถโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีร่วมกับสส.ได้ในช่วง 5 ปีแรก ด้วยกฎการเลือกตั้งที่แตกต่างไปจากครั้งก่อนๆ เช่น บัตรเลือกตั้งที่แต่ละเขตเลขผู้สมัครในพรรคเดียวกันจะไม่เหมือนกัน หรือบัตรเลือกตั้งมีใบเดียว แต่ใช้คำนวณคะแนนทั้งสส.เขตและบัญชีรายชื่อ ไปจนถึงสว.มีสิทธิเลือกนายกรัฐมนตรี ทำให้แม้จะครองเสียงข้างมากในสภาล่างได้ แต่ก็ไม่ได้รับประกันว่าจะได้นายกรัฐมนตรีเพราะต้องมีเสียงถึง 376 เสียงเพื่อที่จะได้เก้าอี้นายกรัฐมนตรีมาครอบครอง ทำให้ทุกพรรคการเมืองต่างงัดไม้เด็ดสารพัดออกมาเพื่อที่จะชนะการเลือกตั้งครั้งนี้

พรรคทหารกลับมาแล้ว

พรรคทหารนั่นมีมาตลอดในประวัติศาสตร์การเมืองไทยสมัยใหม่ ไม่ว่าจะพรรคเสรีมนังคศิลาในการเลือกตั้ง 2500 พรรคสหประชาไทยในการเลือกตั้งปี 2512 หรือพรรคสามัคคีธรรมในการเลือกตั้งปี 2535 ในการเลือกตั้งครั้งนี้ก็เช่นกัน ทางคสช.ได้เข้าสู่กระบวนการเลือกตั้ง ผ่านพรรคพลังประชารัฐ โดยได้เสนอชื่อพลเอกประยุทธิ์ จันทร์โอชาเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ทั้งนี้ยังมีพรรคอื่นที่ทำการชูพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาเป็นนายกรัฐมนตรี เช่น พรรครวมพลังประชาชาติไทย

จะหยุดการสืบทอดอำนาจหรือจะไปต่อ

ประเด็นสำคัญที่กลายเป็นกระแสในการเลือกตั้ง 2562 นั้นก็คือ การเลือกตั้งเพื่อที่จะเลือกว่าประเทศไทยหยุดการสืบทอดอำนาจของคสช.ที่จะเกิดขึ้นในการเลือกตั้ง 62 หรือไม่ ทำให้เกิดเป็นสองฝั่งอย่างชัดเจนได้แก่ พรรคที่เรียกกันว่าพรรคประชาธิปไตย คือพรรคที่มีท่าทีต่อต้านคสช. พรรคในกลุ่มนี้ที่โดดเด่นจะได้แก่ "เพื่อไทย" และพรรคในเครืออย่าง"ไทยรักษาชาติ" "เพื่อชาติ" "อนาคตใหม่" "เสรีรวมไทย" และ"ประชาชาติ" ขณะที่พรรคที่สนับสนุน"พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา"นั้น หลักๆ จะมีแค่"พลังประชารัฐ" และ"รวมพลังประชาชาติไทย" ส่วนพรรคอย่าง"ภูมิใจไทย" "ชาติไทยพัฒนา" และ"ชาติพัฒนา"ไม่ได้ออกตัว โดย"ภูมิใจไทย"มีจุดยืนที่ขอผลักดันนโยบายกัญชาเสรีเป็นหลัก

เพื่อไทยแตกแบงค์

ภายใต้กติกาของรัฐธรรมนูญ 2560 ที่มุ่งจะจำกัดอำนาจของพรรคใหญ่ทำให้เพื่อไทยกลายเป็นพรรคที่เสียเปรียบมากที่สุดกลายเป็นพรรคใหญ่อย่างเพื่อไทย เพื่อที่จะได้ชัยชนะในกำมือเพื่อไทยได้ทำการแยกพรรคออกมา โดย"เพื่อไทย"ได้ส่งสส.ไปทั้งสิ้นเพียง 250 เขตเลือกตั้ง ส่วน"ไทยรักษาชาติ"ซึ่งเป็นพรรคในเครือของเพื่อไทยส่งผู้สมัครสส.ทั้งสิ้น 100 เขต ขณะเดียวกัน"เพื่อไทย"ก็ชูเรื่อง ลงคะแนนให้เพื่อไทยเขตละ 70,000 เสียงเพื่อที่นำคะแนนไปคำนวณสส.ปาร์ตี้ลิสต์ต่อไป แต่เพื่อรับประกันชัยชนะทำให้พรรคในเครือเพื่อไทยได้ตัดสินใจครั้งใหญ่ที่สุดในการเลือกตั้ง 2562

แคนดิเดตนายกไทยรักษาชาติ

ในวันที่ 8 ก.พ.2562 พรรคไทยรักษาชาติได้ทำการเสนอชื่อแคนดิเดต นายกรัฐมนตรีของพรรคเป็น"ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนฯ มหิดล" ซึ่งสร้างเสียงฮือฮาในวงสังคมเป็นอย่างมาก หากแต่ในคืนนั้นได้มีพระราชโองการจากรัชกาลที่ 10 ให้ "พระมหากษัตริย์และพระบรมราชวงศ์ทุกพระองค์ ทรงดำรงสถานะอยู่เหนือการเมือง" จนนำมาสู่มติให้ยุบพรรคไทยรักษาชาติ โดยกกต. ก่อนที่จะถูกตัดสินโดยศาลรัฐธรรมนูญในวันที่ 7 มีนาคม 2562 นับเป็นเพียง ก่อนการเลือกตั้งเพียง 17 วันเท่านั้น นั่นทำให้พรรคในเครือเพื่อไทยเสียโอกาสแข่งขันไปกว่า 100 เขตในทันที

ย้อนอดีต ดูบรรยากาศ"เลือกตั้ง" ปรากฎการณ์สำคัญในวังวนเปลี่ยนผ่านการเมือง

ฟ้ารักพ่อ อนาคตใหม่ออกตัว

พร้อมๆ กับการเปิดตัวทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนฯ ในฐานะแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของไทยรักษาชาติ ในโลกออนไลน์ซึ่งกลายเป็นพื้นที่แข่งขันอีกแห่งซ้อนทับโลกนอกโซเซียล กระแสอีกกระแสก็กำลังจะขึ้นมา ในวันที่ 9 ก.พ.2562 ซึ่งเป็นวันที่มีการแข่งขันฟุตบอลประเพณีจุฬา-ธรรมศาสตร์ 2562 ได้เกิดกระแสโซเซียลขึ้น เมื่อ"นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ"หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ได้เข้าร่วมในกิจกรรมดังกล่าวโดยใส่เสื้อเชียร์ธรรมศาสตร์ โดยได้มีการจับมือกับ"ชัชชาติ สิทธิพันธุ์"หนึ่งในสามแคนดิเดตนายกรัฐมนนตรีจากพรรคเพื่อไทยที่กลายเป็นอินเตอร์เน็ตมีมตั้งแต่ช่วงปี 2557

แม้ชื่อของ"ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ"จะปรากฏสู่โลกโซเซียลมานานพอสมควร ไม่ว่าจะในฉายาไพร่หมื่นล้าน หรือจากไวรัล #ช่วยธนาธรตั้งชื่อพรรค แต่กระแสที่เกิดจากงานฟุตบอลประเพณีจุฬา-ธรรมศาสตร์ 2562 นี้ส่งชื่อธนาธรให้โด่งดังมากยิ่งขึ้น ภายใต้ #ฟ้ารักพ่อ ซึ่งเป็นการหยิบเอาประโยคจากละครดอกส้มสีทองมาใช้ จนพรรคอนาคตใหม่กลายเป็นพรรคที่มีกระแสในโซเซียลตลอดการเลือกตั้ง 2562

ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ อดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ที่ถูกยุบพรรค

Strategic Vote

จากความร้อนแรงของ"พรรคอนาคตใหม่"ในโลกโซเซียล ทำให้เกิดการกระทบกระทั่งกับพรรคที่มีท่าทีไม่เอา"พลเอกประยุทธ์" ซึ่งพรรคที่มีศักยภาพเป็นอันดับสองก็หนีไม่พ้นพรรคอนาคตใหม่ ซึ่งนำมาสู่การเสนอแนวคิดโหวตเชิงยุทธศาสตร์ในโลกอินเตอร์เน็ตคือ ให้โหวตเตอร์ของพรรคฝั่งประชาธิปไตยทุ่มโหวตไปที่พรรคเพื่อไทยพรรคเดียว เพราะมีแนวโน้มชนะมากที่สุด แต่ดูจะไม่ค่อยเป็นผลเสียเท่าไหร่


"ประชาธิปัตย์"ประกาศไม่เอา"พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา"

ในช่วงโค้งสุดท้ายพรรคประชาธิปัตย์ที่ได้ชื่อว่าเป็นพรรคอนุรักษ์นิยมได้ออกแคมเปญสุดท้ายว่าจะไม่เอา"พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา"เป็นนายกรัฐมนตรี และจะชู"นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ"เป็นนายก ซึ่งสร้างเสียงฮือฮาให้กับทุกกลุ่ม

สัญญา ณ ลานโพธิ์

ในอาทิตย์สุดท้าย ทางช่อง Workpoint ได้ทำการจัดเวทีดีเบตที่ลานโพธิ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยได้เชิญแคนดิเดตนายกจาก 5 พรรคการเมืองได้แก่ "คุณหญิงคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์"จากพรรคเพื่อไทย "นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ"จากพรรคอนาคตใหม่ "นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ"จากพรรคประชาธิปัตย์ "นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ" พรรคชาติพัฒนา และ"นายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ"จากพรรคเศรษฐกิจใหม่

โดยในตอนท้ายของเวทีดีเบต"นายชนะชัย ประมวลทรัพย์" ประธานสภานักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิตได้ขอให้ตัวแทนจากพรรคการเมืองทั้งห้าพรรคได้ให้สัญญากับประชาชนที่ลานโพธิ์ว่าจะไปแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 เพื่อที่ประเทศจะไม่ถูกผูกติดกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และหยุดยั้งการสืบทอดอำนาจของคสช. โดยทั้ง 5 พรรคการเมืองให้สัญญาร่วมกันที่ตรงนั้น

ย้อนอดีต ดูบรรยากาศ"เลือกตั้ง" ปรากฎการณ์สำคัญในวังวนเปลี่ยนผ่านการเมือง

เลือกความสงบ จบที่ลุงตู่

เช่นเดียวกับหลายพรรคการเมืองทั่วไป "พลังประชารัฐ"ได้ทำการออกแคมเปญจำนวนมาก ไม่ว่าจะนโยบายจำนวนมากอย่างการขึ้นค่าแรง มารดาประชารัฐ การยกเว้นภาษี แต่เพิ่มจำนวนเงินขึ้นไปอีก หากแต่ในบรรดาแคมเปญเหล่านั้นแคมเปญที่โด่งดังที่สุดคงหนีไม่พ้นโวหาร "เลือกความสงบ จบที่ลุงตู่" ซึ่งแปะตามป้ายหาเสียงในขณะนั้น

แต่งก่อนเลือก

ในวันที่ 22 มีนาคม 2562 ได้มีการจัดงานมงคลสมรสระหว่าง"แพทองธาร ชินวัตร"กับ"ปิฎก สุขสวัสดิ์"ที่ฮ่องกงซึ่งในงานได้มีแขกคนดังจำนวนมาก ทั้งนักการเมืองจากพรรคไทยรักษาชาติที่โดนยุบพรรคในวันที่ 7 มีนาคม 2562 รวมไปถึงทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนฯ ก็ได้เป็นแขกในงานแต่งงานครั้งนี้ด้วยเช่นกัน โดยในงาน"ทักษิณ ชินวัตร"ได้ประกาศเหตุผลที่ลูกสาวอย่างแพทองธารมาแต่งงานวันนี้เนืองจากวันที่ 23 มีนาคม โรงแรมไม่ว่าง แต่จะจัดงานวันที่ 24 ก็ไม่ได้เพราะพรรคเพื่อไทยชนะแน่นอน เดี๋ยวห้องโรงแรมไม่พอจะรับแขกภาพงานแต่งงานนี้เผยแพร่ไปในโซเซียลมีเดีย ทั้งเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ และในกลุ่มไลน์หลายกลุ่มก่อนการเลือกตั้ง
    
ผลการเลือกตั้ง กับปัญหาบัตรเขย่ง

การลงคะแนนของการเลือกตั้ง 62 นั้นเป็นไปโดยราบรื่น กระทั่งผลการนับคะแนนเริ่มเผยแพร่ออกมาสู่สาธารณะผ่านสื่อทำให้ทุกคนล้วนแต่ประหลาดใจกันถ้วนหน้า ในแง่หนึ่งเป็นเพราะผลคะแนนพรรค การเมืองที่ผิดคาด แต่อีกแง่หนึ่งเป็นเพราะว่าคะแนนที่ปรากฏบนสื่อสาธารณะมีความแปลกประหลาด บางเขตผู้ชนะตำแหน่งสส.มีคะแนนมากกว่าผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้ง จนคนต่างสงสัยว่าการเลือกตั้งนี้มีความโปร่งใสเป็นธรรมจริงหรือไม่

ย้อนอดีต ดูบรรยากาศ"เลือกตั้ง" ปรากฎการณ์สำคัญในวังวนเปลี่ยนผ่านการเมือง

ขณะเดียวกันกกต.ก็อธิบายปัญหานั้นเกิดจากบัตรเขย่งหรือไปลงทะเบียนรับสิทธิแล้วแต่เกิดการสละสิทธิก่อนที่จะเลือก นอกจากนั้นแล้วการคำนวณสส.บัญชีรายชื่อก็สร้างความสงสัยต่อประชาชน จนสส.ของบางพรรคจำนวนลดลง และทำให้พรรคเล็กที่ไม่น่าจะได้สส.ได้สส.แบบบัญชีรายชื่อ สส.กลุ่มนี้ถูก

เรียกว่าสส.ปัดเศษ

ถึงอย่างไรก็ตามการเลือกตั้ง 62 ไม่มีผู้ชนะขาด ทำให้บรรยากาศการจัดตั้งรัฐบาลชุลมุนไม่ต่างจากบรรยากาศการเลือกตั้งที่สับสนวุ่นวาย พรรคเพื่อไทยแม้จะสามารถได้เสียงสส.เป็นอันดับ 1 โดยได้ไปถึง 136 ที่นั่ง แต่ก็ไม่มากพอจะจัดตั้งรัฐบาล แม้จะรวมกับพรรคที่ต่อต้านการสืบทอดอำนาจทั้งหมด เพราะไม่มีเสียงสว.ในมือ

ขณะเดียวกันพรรคพลังประชารัฐที่ได้สส.อันดับสองคือ 116 ที่นั่ง (แต่ได้รับการสนับสนุนจากสว.ที่ถูกตั้งจากคสช.) ก็ได้ทำการจัดตั้งรัฐบาลโดยมีพรรคร่วมรัฐบาลถึง 19 พรรค นับเป็นรัฐบาลที่มีพรรคร่วมมากที่สุดทำลายสถิติรัฐบาลของม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมชที่มีพรรคร่วม 16 พรรค ส่วนพรรคการเมืองที่ให้สัญญาว่าจะไม่เลือกพลเอกประยุทธ์เป็นนายกทั้งหลายต่างพากันกลับข้างอย่างรวดเร็ว "นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ" หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ได้ทำการลาออกจากตำแหน่งทุกตำแหน่งของพรรค เพื่อที่จะเปิดทางให้พรรคประชาธิปัตย์ร่วมรัฐบาล

ด้วยข้ออ้างว่าเป็นความเห็นของ"นายอภิสิทธิ์"แต่ผู้เดียวไม่ใช่มติพรรค ขณะที่พรรคเศรษฐกิจใหม่ก็ใช้วิธีให้สส.เกือบทุกคนเข้าร่วมรัฐบาลยกเว้นนายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณที่ประกาศว่าตนอยู่ฝ่ายประชาธิปไตย ส่วนพรรคภูมิใจไทยนั้นแม้จะไม่ได้มีแถลงการณ์โดยตรง แต่สส.หลายท่านก็ได้หาเสียงว่าจะไม่โหวตพลเอกประยุทธ์เป็นนายก ทำให้เกิดเหตุ “เสี่ยโต้ง” นายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ สส.ศรีสะเกษของพรรคภูมิใจไทยงดออกเสียง เพราะสัญญากับประชาชนไว้ว่าจะไม่สืบทอดอำนาจเลือกพลเอกประยุทธ์ เป็นนายก นายสิริพงศ์ เป็นสส.คนเดียวของภูมิใจไทยและฝั่งรัฐบาลที่งดออกเสียง ทำให้การเลือกนายก"พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา" ได้เสียงจากทั้งสองสภาไปทั้งสิ้น 500 เสียง ขณะที่นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจจากแนวร่วมฝ่ายค้านได้เสียงโหวตจากสภาไปทั้งหมด 244 เสียง ทั้งหมดเป็นเสียงจากพรรคฝ่ายค้าน

นั่นกลายเป็นจุดเริ่มต้นของครม.ประยุทธ 2 ซึ่งจะเป็นรัฐบาลที่ต้องเผชิญปัญหาทั้งการแพร่ระบาดของโควิด รวมทั้งคลื่นความไม่พอใจสารพัดจากประชาชนที่ระเบิดออกมาเป็นชุมนุมทางการเมืองในช่วงสมัย 4 ปีของรัฐบาล

ถ้าได้ 70 ที่นั่งจะแก้ผ้าวิ่งรอบชิบูย่า

ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยเกียวโต ที่มีท่าทีต่อต้านการรัฐประหาร เคยเป็นผู้สนับสนุนพรรคอนาคตใหม่ กระทั่งเกิดเหตุการณ์กระทบกระทั่งจากเนืองจากเรื่องสมาชิกวง BNK48 ได้มีส่วนรวมในรายการเดินหน้าประเทศไทย ทำให้ปวินที่แสดงท่าทีไม่เห็นด้วยกับท่าทีดังกล่าว ได้ปะทะกับสมาชิกพรรคอนาคตใหม่ จนปวินกลายเป็นตัวตั้งตัวตีในการกล่าวโจมตีพรรคอนาคตใหม่ไปในที่สุด ในวันที่ 24 มีนาคม 2562 ซึ่งเป็นวันเลือกตั้ง ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ ได้โพสต์เฟซบุ๊คส่วนตัวว่า "ถ้าอนาคตใหม่ได้ 70 ที่นั่ง ดิชั้นจะขอแก้ผ้าวิ่งตรกแยกชิบูย่าสิบรอบค่ะ" 

ผลการเลือกตั้งอนาคตใหม่ได้ที่นั่งไปทั้งสิ้น 81 ที่นั่ง แต่ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ก็ไม่ได้แก้ผ้าวิ่งตามที่สัญญาไว้อยู่ดี

logoline