svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

“รัฐบาลทักษิณ 2” และ “รัฐบาลยิ่งลักษณ์” กับ อาถรรพ์แลนด์สไลด์ ?

08 พฤษภาคม 2566
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ย้อนดูสถิติการเลือกตั้งของ "รัฐบาลทักษิณ 2" กับ "รัฐบาลยิ่งลักษณ์" ที่ได้ ส.ส. ในระดับแลนด์สไลด์ แต่สุดท้ายต้องปิดฉากลง จากการรัฐประหาร

“แลนด์สไลด์ทั้งแผ่นดิน” คือยุทธศาสตร์ที่ “พรรคเพื่อไทย” ประกาศไว้ตั้งแต่ก่อนการเลือกตั้ง เพราะอย่างที่รู้ๆ กัน ลำพังชนะเลือกตั้ง ได้ ส.ส. มากที่สุด แต่อาจไม่ได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล ดังเช่นในการเลือกตั้งปี 2562 ที่ผ่านมา แม้ “พรรคเพื่อไทย” จะได้ ส.ส. เป็นอันดับ 1 แต่สุดท้ายกลับต้องกลายไปเป็นฝ่ายค้าน

ดังนั้นในการเลือกตั้งครั้งนี้ สำหรับ “พรรคเพื่อไทย” ที่ตั้งเป้าต้องเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลให้ได้ จึงหายใจเข้า หายใจออกเป็น “แลนด์สไลด์” ตลอด ด้วยประเมินแล้วว่า “แลนด์สไลด์” คือคำตอบที่จะทำให้บรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้

แต่เมื่อย้อนดูสถิติการเลือกตั้งที่ผ่านมา ในกรณีของ “พรรคเพื่อไทย” หรือย้อนไปยังสมัยที่ยังเป็น “พรรคไทยรักไทย” ก็พบสถิติที่น่าสนใจ ดังนี้

เลือกตั้ง ปี 2544 : รัฐบาลทักษิณ 1 : เกือบแลนด์สไลด์ อยู่ได้ครบวาระ

เป็นการเลือกตั้งครั้งแรกตามรัฐธรรมนูญ ปี 2540 และ “พรรคไทยรักไทย” ก็สร้างปรากฏการณ์เกือบแลนด์สไลด์ ได้ ส.ส. ทั้งสิ้น 248 คน จากจำนวน ส.ส. ทั้งหมด 500 คน ส่งผลให้ “ทักษิณ ชินวัตร” ได้เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 23 ของประเทศไทย และรัฐบาลทักษิณ 1 ก็สามารถอยู่ได้จนครบวาระ 4 ปี

“รัฐบาลทักษิณ 2” และ “รัฐบาลยิ่งลักษณ์” กับ อาถรรพ์แลนด์สไลด์ ?

เลือกตั้ง ปี 2548 : รัฐบาลทักษิณ 2 : แลนด์สไลด์ แต่อยู่ได้แค่ปีกว่าๆ ถูกรัฐประหาร

ด้วยความสำเร็จของ "รัฐบาลทักษิณ 1" โดยเฉพาะการแก้ปัญหาปากท้อง และเศรษฐกิจที่เติบโตขึ้นอย่างชัดเจน ทำให้ในการเลือกตั้งปี 2548 “พรรคไทยรักไทย” ก็ได้สร้างปรากฏการณ์ “แลนสไลด์ทั้งแผ่นดิน” ได้ ส.ส. สูงถึง 377 คน ทิ้งห่างอันดับ 2 “พรรคประชาธิปัตย์” ที่ได้ ส.ส. 96 คน ชนิดไม่เห็นฝุ่น

ซึ่งจากชัยชนะอย่างอย่างล้นหลามดังกล่าว ทำให้ “พรรคเพื่อไทย” จัดตั้งรัฐบาลพรรคเดียวได้เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ ถึงแม้จะชนะอย่างท่วมท้น แต่ “รัฐบาลทักษิณ 2” ก็อยู่ได้แค่ปีกว่าๆ โดยในวันที่ 9 กันยายน 2549 ได้ถูก คมช. ซึ่งมี “พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน” เป็นหัวหน้าคณะ ทำการรัฐประหาร ขณะที่ “ทักษิณ” เดินทางไปประชุมที่ต่างประเทศ

“รัฐบาลทักษิณ 2” และ “รัฐบาลยิ่งลักษณ์” กับ อาถรรพ์แลนด์สไลด์ ?

เลือกตั้งปี 2550 : "รัฐบาลสมัคร" กับ "รัฐบาลสมชาย" เกือบแลนด์สไลด์ อยู่ไม่ครบเทอม แพ้เกมในสภา

หลังจากรการรัฐประหาร ปี 2549 “พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์” ก็ได้เป็นนายกรัฐมนตรี ก่อนประกาศใช้รัฐธรรมนูญ ปี 2550 และจัดให้มีการเลือกตั้งช่วงปลายปี 2550

โดย “พรรคไทยรักไทย” ได้ถูกยุบพรรค และได้กลายร่างมาเป็น “พรรคพลังประชาชน” ซึ่งมี “สมัคร สุนทรเวช” เป็นหัวหน้าพรรค ซึ่งในการเลือกตั้งครั้งดังกล่าว “พรรคพลังประชาชน” ก็เกือบแลนด์สไลด์ สามารถกวาด ส.ส. ได้ถึง 233 คน ส่งผลให้ “สมัคร สุนทรเวช” ได้เป็นนายกรัฐมนตรี

ต่อมา “สมัคร” ก็ถูกสอยจากเก้าอี้นายกฯ จากกรณีทำรายการอาหารระหว่างดำรงตำแหน่ง (สร้างความฉงนให้กับคนทั้งประเทศ) รัฐบาลจึงโหวตให้ “สมชาย วงศ์สวัสดิ์” น้องเขยของ “ทักษิณ” ขึ้นเป็นนายกฯ

แต่  “รัฐบาลสมชาย” ก็อยู่ได้ไม่นาน เมื่อศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบ “พรรคพลังประชาชน” ในช่วงปลายปี 2551 ส่งผลให้กรรมการบริหารพรรค ต้องยุติการทำหน้าที่ ส.ส.  

แม้ต่อมา ส.ส. “พลังประชาชน” ที่รอดพ้นการถูกตัดสิทธิ์ จะย้ายเข้าสังกัด “พรรคเพื่อไทย” ที่ได้มีเตรียมการไว้ก่อนหน้านี้แล้ว แต่ด้วยจำนวน ส.ส. ของพรรคที่ลดลงเป็นจำนวนมาก บวกกับเกมการเมือง “งูเห่า ภาค 2” ที่ “กลุ่มเพื่อนเนวิน” ย้ายขั้วหันไปหนุนฝ่ายตรงข้าม ส่งผลให้ “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ได้ขึ้นเป็นนายกฯ

“รัฐบาลทักษิณ 2” และ “รัฐบาลยิ่งลักษณ์” กับ อาถรรพ์แลนด์สไลด์ ?

เลือกตั้งปี 2554 : รัฐบาลยิ่งลักษณ์ แลนด์สไลด์ แต่อยู่ได้แค่ 2 ปีกว่าๆ ถูกรัฐประหาร

การเลือกตั้งปี 2554 “พรรคเพื่อไทย” ก็ได้สร้างปรากฏการณ์ “แลนด์สไลด์” อีกครั้ง ได้ ส.ส. 265 คน ส่งผลให้ “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” น้องสาวของ “ทักษิณ” ขึ้นเป็นนายกฯ

แต่ถึงกระนั้นก็ตามที “รัฐบาลยิ่งลักษณ์” ก็อยู่ได้แค่ 2 ปีกว่าๆ ถูก “คสช.” ที่มี “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” เป็นหัวหน้าคณะ ทำการยึดอำนาจรัฐประหาร ในวันที่ 22 พฤษภาคม ปี 2557 ซ้ำรอย "รัฐบาลทักษิณ 2" ที่ได้รับการเลือกตั้งถล่มทลายในระดับแลนด์สไลด์ แต่สุดท้ายก็ปิดฉากลง ด้วยน้ำมือของผู้นำกองทัพ

เลือกตั้งปี 2562 : รัฐบาลประยุทธ์ 2

ในการเลือกตั้งปี 2562 ภายใต้รัฐธรรมนูญปี 2560 ที่มีการเปลี่ยนกฎกติกาต่างๆ มากมาย แม้ “พรรคเพื่อไทย” จะได้ ส.ส. มากที่สุด แต่สุดท้ายแล้วก็ต้องไปเป็นฝ่ายค้าน

แต่สำหรับการเลือกตั้งปี 2566 ที่กำลังจะถึงนี้ ที่มีการเปลี่ยนกติกาจากบัตรใบเดียว เป็นบัตร 2 ใบ รวมถึงวิธีการคำนวณ ส.ส. บัญชีรายชื่อ ที่ค่อนข้างเอื้อพรรคขนาดใหญ่ ทำให้ “พรรคเพื่อไทย” หมายมั่นปั้นมือว่า จะต้อง “แลนด์สไลด์” ให้จงได้ ต้องได้ ส.ส. เกิน 250 คนขึ้นไป เพื่อใช้ความชอบธรรมตรงนี้กดดัน ส.ว. ไม่ให้โหวตสวนมติประชาชน

แม้การแลนด์สไลด์ 2 ครั้งก่อนหน้านี้ ทั้ง “รัฐบาลทักษิณ” และ “รัฐบาลยิ่งลักษณ์” จะต้องปิดฉากจากการรัฐประหาร แต่ “พรรคเพื่อไทย” ก็ไม่หวั่น ขอเดินตามความฝัน ขอสร้างสถิติแลนด์สไลด์ ครั้งที่ 3 ต่อไป  

“รัฐบาลทักษิณ 2” และ “รัฐบาลยิ่งลักษณ์” กับ อาถรรพ์แลนด์สไลด์ ?

นอกจากกรณี “ทักษิณแอนด์เดอะแก๊ง” แล้ว จากการสำรวจประวัติศาสตร์ "การเลือกตั้ง ส.ส." ในประเทศไทยที่ผ่านมา ก็พบข้อมูลที่น่าสนใจว่า พรรคที่ชนะเลือกตั้ง ได้ ส.ส. เกินครึ่ง ต่างมีเหตุให้ต้องลงเอยคล้ายๆ กัน นั่นก็คือ ถูกรัฐประหาร  

โดยระบบสภาผู้แทนราษฎร หรือ ส.ส. ของไทยในอดีต จะมี ส.ส. 2 ประเภท ได้แก่ ส.ส. ประเภทที่ 1 เป็น ส.ส. ที่มาจากการเลือกตั้ง ส่วน ส.ส. ประเภทที่ 2 เป็น ส.ส. ที่มาจากการแต่งตั้ง ซึ่งกำหนดให้มีจำนวนเท่าๆ กัน

แต่ก็มีบางช่วง ส.ส. ประเภทที่ 2 ได้ถูกยกเลิก ก่อนถูกนำกลับมาใช้อีก จนกระทั่งเกิดการรัฐประหารในเดือนตุลาคม 2501 ประเทศไทยได้ว่างเว้นการเลือกตั้งไปกว่าสิบปี และการเลือกตั้งครั้งต่อมาในปี 2512 จนถึงปัจจุบัน รัฐธรรมนูญก็กำหนดให้ ส.ส. ต้องมาจากการเลือกตั้งทั้งหมด

การเลือกตั้ง ส.ส. เพิ่มเติม เดือนสิงหาคม ปี 2489 : “พล.ร.ต.ถวัลย์” เป็นนายกฯ ก่อนถูกรัฐประหาร

ใน “การเลือกตั้ง ส.ส. เพิ่มเติม สิงหาคม ปี 2489" ซึ่งเป็นการเลือกตั้งเฉพาะ 47 จังหวัด กำหนดจำนวน "ส.ส.เลือกตั้ง" ไว้ 82 คน ผลปรากฎว่า “พรรคแนวรัฐธรรมนูญ” ของ “พล.ร.ต.ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์” ได้ ส.ส. 57 คน เกินครึ่งหนึ่งในการเลือกตั้งครั้งนั้น

โดยระหว่างที่ “พล.ร.ต.ถวัลย์” ดำรงตำแหน่งนายกฯ ได้ถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจ แม้รัฐบาลจะได้เสียงโหวตสนับสนุน แต่ด้วยแรงกดดันอย่างหนัก ทำให้ “พล.ร.ต.ถวัลย์” ตัดสินใจลาออกจากตำแหน่งนายกฯ ก่อนจะได้รับการเสนอชื่อกลับมาเป็นนายกฯ อีกครั้ง

แต่กระนั้นก็ตามที รัฐบาล “พล.ร.ต.ถวัลย์” ก็ถูกรัฐประหาร ในวันที่ 8 พฤศจิกายน ปี 2590 ซึ่งคณะรัฐประหารดังกล่าว มี “จอมพลผิน ชุณหะวัณ” (พ่อของ พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ) เป็นผู้นำ

การเลือกตั้ง ส.ส. ในปี 2491 : “พ.ต.ควง”เป็นนายกฯ ถูก “รัฐประหารเงียบ” บังคับให้ลาออกจากตำแหน่งนายกฯ

"การเลือกตั้ง ส.ส. ในปี 2491" ได้กำหนดจำนวน “ส.ส. เลือกตั้ง” ไว้ที่ 99 คน โดย “พรรคประชาธิปัตย์” ได้ ส.ส. 53 คน ส่งผลให้ “พ.ต.ควง อภัยวงศ์” หัวหน้าพรรค ได้เป็นนายกฯ แต่ต่อมาก็ถูก “คณะรัฐประหาร” ชุดเดียวกับที่ทำการยึดอำนาจ “พล.ร.ต.ถวัลย์” เมื่อปี 2490  บีบบังคับให้ “พ.ต.ควง” ลาออกจากตำแหน่งนายกฯ

การเลือกตั้ง ส.ส. เดือนกุมภาพันธ์ ในปี 2500 : “จอมพล ป.” ถูก “จอมพลสฤษดิ์” ยึดอำนาจ

"การเลือกตั้ง ส.ส. ในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2500" ได้กำหนดจำนวน “ส.ส. เลือกตั้ง” ไว้ที่ 160 คน โดย “พรรคเสรีมนังคศิลา” ที่มี “จอม ป. พิบูลสงคราม” เป็นผู้นำ ได้ ส.ส. มากที่สุด จำนาน 85 ที่นั่ง ก่อนจะถูก “จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์” ทำการยึดอำนาจ ในเดือนตุลาคม ปี 2500

พรรคใดบ้าง ที่เคยแลนด์สไลด์ในการเลือกตั้ง

อ้างอิง

การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2491

สภาผู้แทนราษฎรไทย ชุดที่ 5

พลเรือตรี ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์

รายชื่อนายกรัฐมนตรีไทย

การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2491

รัฐประหารในประเทศไทย พ.ศ. 2491

การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2500

logoline