เครือเนชั่น แถลงการณ์ผลการสำรวจ “เนชั่นโพล ครั้งที่ 2” ณ วันที่ 5 พฤษภาคม 2566 โดยมีจำนวนตัวอย่างมากกว่าเป้าหมายที่วางไว้ จำนวน 115,399 ตัวอย่าง แบ่งเป็น กทม.จำนวน 35,969 ตัวอย่าง และภูมิภาค 79,430 ตัวอย่าง
การสำรวจในต่างจังหวัด 367 เขต ทีมลงพื้นที่สำรวจระหว่าง 24 เมษายน - 3 พฤษภาคม และการสำรวจใน กทม. 33 เขต ทีมลงพื้นที่สำรวจระหว่าง 28 เมษายน - 3 พฤษภาคม มีค่าความคลาดเคลื่อน (error) ดังนี้ กทม.33 เขต = 3% , เขตเมืองสำคัญต่างจังหวัด 8 เขต = 5% , เขตเลือกตั้ง 359 เขต = 7%
สรุปประเด็นสำคัญจากผลเนชั่นโพล 400 เขต 18 ประการ ดังนี้
1. “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” ก้าวขึ้นมานำ “แพทองธาร ชินวัตร” ในสัดส่วนของแคนดิเดตนายกฯ ที่คนอยากให้เป็นนายกรัฐมนตรีทั่วประเทศ ซึ่งใช้เวลาเพียงสองสัปดาห์เท่านั้น จากที่เคยตามหลังอยู่ถึง 17 % จากการสำรวจเนชั่นโพลรอบแรก
2. “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” ยังเป็นอันดับ 1 ในภาคใต้ 11 จังหวัด ที่คนภาคไทยอยากให้เป็น “นายกรัฐมนตรี” รองลงมาคือ “พิธา” จาก “พรรคก้าวไกล”
ขณะที่ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ (ปัตตานี ยะลา นราธิวาส) “วันมูหะมัดนอร์ มะทา” พรรคประชาชาติ คือคนที่ประชาชนในพื้นที่นี้อยากให้เป็น “นายกรัฐมนตรี” มากที่สุด
3. จำนวนเขตที่พรรคนั้นๆ มีคะแนนนำ (ยังไม่ได้หมายถึงผู้ชนะเด็ดขาดในแต่ละเขต)
- เพื่อไทย 247 เขต
- ก้าวไกล 79 เขต
- ไม่แน่ใจ/ยังไม่ตัดสินใจ 18 เขต
- ประชาธิปัตย์ 15 เขต
- ภูมิใจไทย 12 เขต
- ประชาชาติ 12 เขต
- รวมไทยสร้างชาติ 7 เขต
- พลังประชารัฐ 5 เขต
- ชาติไทยพัฒนา 4 เขต
- ชาติพัฒนากล้า 1 เขต
รวมทั้งหมด 400 เขต
แต่เนื่องจากมีค่าความคลาดเคลื่อน (error) รายเขต ดังนี้ กทม.33 เขต = 3% , เขตเมืองสำคัญต่างจังหวัด 8 เขต = 5% , เขตเลือกตั้ง 359 เขต = 7% จึงทำให้พรรคต่างๆ ข้างต้นอาจมีจำนวนตัวเลข ส.ส. เขตเปลี่ยนไปจากค่าคลาดเคลื่อน (error) ของแต่ละเขต โดยมีแง่มุมที่น่าสนใจดังนี้
(1) พรรคฝั่งเสรีนิยมที่เป็นตัวแปร ได้แก่
1.1 “เพื่อไทย” มีโอกาสลงมาในระดับ 228 เขต
1.2 “ก้าวไกล” มีโอกาสลงมาในระดับ 52 เขต
หมายเหตุ : หมายถึงเขตที่สูสีกัน “เพื่อไทย” หรือ “ก้าวไกล” ตกเป็นอันดับ 2 ในเขตเหล่านั้นทุกเขต
(2) พรรคฝั่งอนุรักษ์นิยมที่เป็นตัวแปร หากรวมคำตอบส่วน “ไม่แน่ใจ / ยังไม่ตัดสินใจ” ที่มาเป็นอันดับ 1 ของเขตนั้นๆ ที่อาจมีเพิ่มได้ถึง 23 เขต (นับค่า error) เข้าไปในแต่ละพรรคด้วยแล้ว ดังนี้
2.1 "ประชาธิปัตย์" มีโอกาสขยับขึ้นระหว่าง 19 ถึง 42 เขต
2.2 "รวมไทยสร้างชาติ" มีโอกาสขยับขึ้นระหว่าง 13 ถึง 36 เขต
2.3 "ภูมิใจไทย" มีโอกาสขยับขึ้นระหว่าง 16 ถึง 39 เขต
2.4 พลังประชารัฐ มีโอกาสขยับขึ้นระหว่าง 6 ถึง 29 เขต
ขณะที่พรรคชาติไทยพัฒนา มีโอกาสขยับขึ้นระหว่าง 4 ถึง 27 เขต
หมายเหตุ : หมายถึงว่าพรรคนั้น ๆ ต้องช่วงชิงเขตที่ “ไม่แน่ใจ / ยังไม่ตัดสินใจ” มาเป็นของตนให้ได้
4. “พรรคก้าวไกล” คือ “ตัวตึงการเลือกตั้งระบบเขต” ในครั้งนี้อย่างแท้จริง จากผลสำรวจโพลรอบนี้ถือเป็นการผงาดขึ้นมาในระบบเขตของพรรคก้าวไกลในทุกภูมิภาค พบว่า “พรรคก้าวไกล” สามารถเจาะเขตของพรรคเพื่อไทยในภาคเหนือและภาคอีสานได้หลายเขต เจาะเขตภาคใต้ของพรรคประชาธิปัตย์และรวมไทยสร้างชาติได้บางเขต
5. การเมืองบนฐานวัฒนธรรมยังมีบทบาทนำในพื้นที่พิเศษกลุ่ม 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เนื่องจากพบว่าพรรคประชาชาติสามารถขยายผลในการครองเขตเลือกตั้งเกือบทุกพื้นที่
6. เกิดปรากฏการณ์ “ทฤษฎีเสาไฟฟ้าหัก และเสาโทรเลขเสียบแทน” แม้ว่าเสาโทรเลขเคยเตี้ยกว่าเสาไฟฟ้าก็ตาม แต่เมื่อเสาไฟฟ้าหักลง ในเชิงเปรียบเทียบเสาโทรเลขจึงดูสูงกว่า ซึ่งในภาคใต้ 11 จังหวัด พบว่า เขตที่พรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทยแซงพรรคฝั่งอนุรักษ์นิยมนั้น (ส่วนใหญ่เป็นพรรคก้าวไกล) จะเป็นเขตที่ฝั่งอนุรักษ์นิยมตัดกันเองจำนวนมาก
โดยเฉพาะการตัดฐานเสียงกันระหว่าง “พรรคประชาธิปัตย์” และ “พรรครวมไทยสร้างชาติ” อาจกล่าวได้ว่าแนวโน้มจากผลโพลพบว่า “พรรคขั้วอนุรักษ์นิยมเดิม” แม้จะมีความนิยมสูงมากในพื้นที่ แต่เมื่อแข่งกันเองจึงตัดฐานเสียงกันและกัน ทำให้สัดส่วนฐานเสียงแตกกันกระเจิง
“พรรคก้าวไกล” ที่มีความนิยมเพิ่มขึ้นมาจึงพลิกแซงนำในหลายเขต แต่ถ้าหากนับรวมฐานเสียงฝั่งอนุรักษ์นิยมรวมกันทั้งหมด ยังมีมากกว่าฝั่งเสรีนิยมรวมกัน ประมาณสองเท่าตัวในพื้นที่ 11 จังหวัดภาคใต้
7.การสำรวจเนชั่นโพลครั้งที่ 2 นี้ พบปรากฏการณ์บ้านใหญ่ฝั่งอนุรักษ์นิยมกุมขมับทั่วไทย ประสบภาวะล่มสลาย มีเพียงบางแห่งที่ฝ่ากระแสมาได้ อาทิ พะเยายกจังหวัด สุพรรณบุรี เป็นต้น
8. เมืองหลวงพรรคการเมืองสำคัญ ถูกตีแตกทุกแห่ง อาทิ “บุรีรัมย์” ของภูมิใจไทย “เชียงใหม่” ของเพื่อไทย “สงขลา” ของประชาธิปัตย์ “สุพรรณบุรี” ของชาติไทยพัฒนา เป็นต้น ซึ่งแสดงถึงความเป็นเจ้าของพื้นที่หนึ่งเดียวในจังหวัดนั้นๆ ที่ครอบครองมายาวนานเริ่มสั่นคลอน
9. พื้นที่ 33 เขตใน “กรุงเทพมหานคร” มีเพียงสองพรรคที่ครอบครองการนำในพื้นที่ ได้แก่ “เพื่อไทย” และ “ก้าวไกล” โดย “พรรคเพื่อไทย” มีสัดส่วนในการเป็นพรรคนำของเขต มากกว่าก้าวไกล
10. กลุ่มคนที่ไม่ตัดสินใจเลือก ส.ส.ระบบเขตเลือกตั้ง ลดลงอย่างมากในการสำรวจโพลรอบสองเมื่อเทียบกับการเก็บข้อมูลเนชั่นโพลรอบแรก โดยลดลงเหลือ 8.62% จากเดิมราวๆ 32 % เป็นไปตามทฤษฎีการเลือกตั้งที่ยิ่งใกล้วันเลือกตั้ง ผู้ลงคะแนนจะยิ่งมีความชัดเจนในการตัดสินใจ แต่ในแง่ความมั่นคงในการตัดสินใจเลือก ยังมีโอกาสเปลี่ยนแปลงได้จนถึงวันลงคะแนนจริง
11. นับเป็นการวางยุทธศาสตร์ที่ผิดพลาดของ “ฝั่งอนุรักษ์นิยม” ที่ไม่สามารถสมานสามัคคีทางยุทธศาสตร์เลือกตั้งตั้งแต่แรกเริ่ม แต่มุ่งแข่งขันกันเอง จนทำให้ภาพรวมจำนวน ส.ส.ระบบเขตได้รับผลกระทบอย่างหนัก ปรากฏชัดเจนจากการที่ภาคใต้ 11 จังหวัด คะแนนตัดกันเองระหว่าง ปชป. รทสช. พปชร. หลายเขต
12. จากทิศทางเนชั่นโพลทั้งรอบ 1 และรอบ 2 ไม่มีปาฏิหาริย์ให้กับพรรคอื่น “พรรคเพื่อไทย” นำโด่งชนะเลือกตั้งแบบถล่มทลายในวันที่ 14 พฤษภาคมนี้ แม้ว่าพรรคก้าวไกลจะมาแรงในช่วงท้ายก็ตาม
13. มีหลายเขตจำนวนมากในต่างจังหวัดที่คะแนนอันดับ 1 และ 2 หรือ 3 ห่างกันไม่เกิน 7 % ตามค่าความคลาดเคลื่อน (error) ในการสำรวจโพลรอบนี้ นั่นหมายความถึงช่วงโค้งสุดท้ายในอีก 11 วันที่เหลือ สามารถพลิกผันได้ทุกเมื่อในเขตเหล่านี้
14. ข้อสังเกตจากทีมลงพื้นที่ พบว่ามีคนจำนวนมากให้ข้อมูลในระดับที่มีนัยสำคัญว่า ยังมีเวลาอีกหลายวันกว่าจะถึงวันเลือกตั้ง จึงรอดูก่อนว่าใครให้มากกว่า ดังนั้นปัจจัยธนกิจการเมือง (money politics) ยังปรากฏอยู่ในการเลือกตั้งครั้งนี้ และอาจเป็นตัวแปรหนึ่งในการเปลี่ยนเกมชิงความได้เปรียบช่วงโค้งสุดท้าย
15. วันสิ้นสุดในการสำรวจโพลจนถึงวันเลือกตั้งมีช่วงเวลามากถึง 11 วัน ซึ่งเป็นระยะเวลายาวนานเพียงพอที่พรรคการเมืองต่างๆ จะวางยุทธศาสตร์แก้เกมส์เพื่อดึงคะแนนเสียงสู่พรรคตนและเปลี่ยนผลคะแนนได้ จึงขึ้นกับว่าพรรคใดจะทำได้ดีกว่ากันในช่วงสัปดาห์สุดท้าย
และเมื่อสังเกตจากกระแสพรรคก้าวไกลช่วงก่อนสงกรานต์ และหลังสงกรานต์ยังสามารถเปลี่ยนจากหลังมือเป็นหน้ามือ โดยใช้เวลาเพียงไม่ถึงสองสัปดาห์ ดังนั้น ช่วงโค้งสุดท้ายของการเลือกตั้งจึงมีช่วงเวลายาวนานเพียงพอในการปรับกลยุทธ์งัดทีเด็ดในการหาเสียงของพรรคต่างๆ
16. แนวโน้มฐานเสียงข้ามขั้วเริ่มมีบ้างแล้วจากการสำรวจโพลรอบสอง ซึ่งอาจซ้ำรอยปรากฏการณ์ “ชัชชาติแลนด์สไลด์” เมื่อปีที่แล้ว เพียงแต่ไม่ได้ตกอยู่กับพรรคใดพรรคหนึ่งเด็ดขาด แต่เป็นลักษณะขั้วใหญ่แทนคือปรากฏการณ์เสรีนิยมแลนด์สไลด์
17.ถ้าทิศทางและปัจจัยเงื่อนไขยังเป็นไปตามเนชั่นโพลรอบสองนี้ ไม่มีปัจจัยพิเศษอย่างอื่นแทรกแซงในช่วงที่เหลือ อาจจะได้เห็นพรรคก้าวไกลได้ ส.ส.เขตยกจังหวัดเกิดขึ้นครั้งแรก
18.สรุปแนวโน้มจากเนชั่นโพลรอบสอง
- แนวโน้มเป็นความพ่ายแพ้ของฝ่ายอนุรักษ์นิยมโดยสิ้นเชิง
- ขั้วฝ่ายเสรีนิยมก้อนใหญ่มีฐานเสียงที่เติบโตขึ้นจากเดิมในช่วงโค้งสุดท้าย
- รัฐบาลหน้า ฝั่งเสรีนิยมมีโอกาสตั้งรัฐบาลรวมกันเกิน 300 เสียง (ถ้าสามารถรวมกันได้จริง)
สรุปผลการสำรวจทั้งหมด เนชั่นโพล
คนไทยเลือกพรรคใดมากที่สุด เปรียบเทียบเปอร์เซ็นต์ทั้งหมด
อันดับ 1 เพื่อไทย / ส.ส.เขต 38.48 % / ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ 39.83 %
อันดับ 2 ก้าวไกล / ส.ส.เขต 28.03 % / ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ 29.18 %
อันดับ 3 ยังไม่ตัดสินใจ / ส.ส.เขต 8.67 % / ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ 7.45 %
อันดับ 4 รวมไทยสร้างชาติ / ส.ส.เขต 6.80 % / ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ 7.09 %
อันดับ 5 ภูมิใจไทย / ส.ส.เขต 5.62 % / ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ 4.84 %
อันดับ 6 ประชาธิปัตย์ / ส.ส.เขต 4.30 % / ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ 3.97 %
อันดับ 7 พลังประชารัฐ / ส.ส.เขต 3.65 % / ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ 3.18 %
อันดับ 8 ประชาชาติ / ส.ส.เขต 1.45 % / ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ 1.48 %
อันดับ 9 ไทยสร้างไทย / ส.ส.เขต 0.97 % / ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ 0.99 %
อันดับ 10 เสรีรวมไทย / ส.ส.เขต 0.79 % / ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ 0.82 %
เนชั่นโพล ครั้งที่ 2 คนไทยอยากให้ใครเป็นนายกฯ
อันดับ 1. พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ 29.37%
2. แพทองธาร ชินวัตร 27.55%
3. เศรษฐา ทวีสิน 13.28 %
4. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา 8.85%
5. ยังไม่ตัดสินใจ 5.35 %
6. อนุทิน ชาญวีรกูล 4.05%
7. จุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ 2.49%
8. พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ 2.38 %
9. ยังหาคนที่เหมาะสมไม่ได้ 1.66 %
10. วันมูหะมัดนอร์ มะทา 1.56 %
11. คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ 1.23%
12. พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส 1.11 %
13. วราวุธ ศิลปอาชา 0.50 %
14. กรณ์ จาติกวณิช 0.38 %
เนชั่นโพล ครั้งที่ 2 คน กทม. อยากได้ใครเป็นนายกฯ
อันดับ 1 พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ 38.59 %
อันดับ 2 แพทองธาร ชินวัตร 31.54 %
อันดับ 3 เศรษฐา ทวีสิน 10.76%
อันดับ 4 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา 7.22%
อันดับ 5 จุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ 2.59%
อันดับ 6 ยังไม่ติดสินใจ 2.32 %
อันดับ 7 คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ 2.02 %
อันดับ 8 พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ 1.36 %
อันดับ 9 ยังหาคนเหมาะสมไม่ได้ 1.14 %
อันดับ 10 อนุทิน ชาญวีรกูล 1.04 %
อันดับ 11 พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส 0.83 %
อันดับ 12 กรณ์ จาติกวณิช 0.13 %
อันดับ 13 วราวุธ ศิลปอาชา 0.12%
อันดับ 13 น.ต.ศิธา ทิวารี 0.12 %
- อื่นๆ 0.22%