svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

เปิด 9 กลโกงเลือกตั้งแบบบ้านๆ แต่ระดับขั้นแอดวานซ์

28 เมษายน 2566
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

รูปแบบการโกง-การซื้อเสียง ก็มีพัฒนาการไปตามค่าเงิน และความเจริญของเทคโนโลยี รวมถึงความ "หน้าโบกปูนซีเมนต์" ของเหล่าบรรดาพรรคการเมือง 

ล่าสุด "เนชั่นทีวี" ได้ให้ทีมข่าวทั่วประเทศรวบรวมกลโกงแบบบ้านๆ ซึ่งทั้งหมดนี้มีแทบทุกพื้นที่ ไม่เว้นแม้แต่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยกะเทาะออกมาได้ ดังนี้

รูปแบบที่ 1 "จ่ายหัวละ 2,000 บาท" 

ซึ่งตัวเลขนี้ถือว่าสูง เพราะปกติจะซื้อกันหัวละ 500-1,000 บาท ฉะนั้นการซื้อถึง 2,000 บาท ต้องมีการเก็บบัตรประชาชน โดยจ่ายมัดจำ 1,000 บาท พร้อมส่งมอบบัตรประชาชน และวันเลือกตั้งมารับบัตรไปลงคะแนน จ่ายอีก 1,000 บาท ก่อนเข้าคูหา

เปิด 9 กลโกงเลือกตั้งแบบบ้านๆ แต่ระดับขั้นแอดวานซ์

โดยวิธีการนี้ ถ้ายังแพ้ ก็ถือว่าเจ๊า จบกันไป แต่การเลือกตั้งหนนี้จึงมีการคิดวิธีเพื่อตลบหลัง ป้องกันผิดพลาด ซึ่งวิธีการ คือ ประกาศรับแค่ 30,000 ชื่อ เหมือนเปิดประมูล เปิดให้สมัคร จูงใจว่ารับแค่ 30,000 คน บัตรประชาชน 30,000 ใบ ภายในวันที่กำหนดเท่านั้น เมื่อครบก็ปิดรับ อ้างว่าได้เสียงพอแล้ว

อย่างไรก็ตาม ปกติ 30,000 คะแนนในเขตที่ผู้สมัครจำนวนมาก ก็น่าจะชนะแล้ว หรืออาจเป็นไปได้ว่าผู้สมัครมีเสียงจัดตั้งอีกจำนวนหนึ่ง จึงจ่ายเงินซื้อเฉพาะจำนวนเสียงที่ขาด เสียงที่ต้องการเท่านั้น

โดยวิธีการแบบนี้ทำให้นักการเมืองและทีมงานที่จ่ายเงิน จะพอรู้ว่าคนที่รับเงินไป จะลงคะแนนให้หรือไม่ ถ้าแพ้ ก็พอรู้ว่าใครโกง อยู่พื้นที่ไหน หมู่บ้านไหน เพราะรู้หมดว่าเสียงหายที่หน่วยไหน เนื่องจากจำนวนที่เก็บบัตรและแจกเงิน เป็นจำนวนที่แน่นอน ทำบัญชีเอาไว้เลย

ปัจจุบัน ถ้าจ่ายระดับ 2,000 บาท ต้องเก็บบัตรประชาชนเท่านั้น เพราะถ้าให้แค่หัวคะแนน หรือผู้ใหญ่บ้าน กำนัน ไปจดชื่อ ชาวบ้านก็จะให้ชื่อทุกพรรค และรับทุกทาง บางคนมีชื่อถึง 4 พรรค รับพรรคละ 500 บาท ก็ 2,000 บาทแล้ว แต่อาจไม่เลือกใครเลยก็ได้ ซึ่งเป็นวิธีการที่ตรวจสอบไม่ได้ ทำให้เข้าทำนอง "ตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ" 

เปิด 9 กลโกงเลือกตั้งแบบบ้านๆ แต่ระดับขั้นแอดวานซ์


รูปแบบที่ 2 "รับของฟรีที่ร้านค้า หรือร้านชำประจำหมู่บ้าน" 

วิธีการ ผู้สมัครและหัวคะแนน ประกาศให้ชาวบ้านลงชื่อ เพื่อไปเลือกช้อปสินค้าที่ร้านค้าในหมู่บ้าน หรือร้านค้าของเครือข่าย ในวงเงิน 300-1,000 บาทต่อคน เมื่อครบเดือน หรือครบเวลา ก็จะมีผู้สมัคร หรือหัวคะแนนไปเคลียร์เงินกับร้านค้า

ซึ่งรูปแบบนี้มีทั้งเก็บบัตรประชาชน และไม่เก็บบัตรประชาชน แต่ส่วนใหญ่จะไม่เก็บบัตร เนื่องจากเป็นวิธีการซื้อใจ ซื้อความพึงพอใจกันในระยะยาว 


 

รูปแบบที่ 3 "ช้อปฟรี กินฟรี" 

วิธีการนี้ จะคล้ายๆ กับรูปแบบที่ 2 แต่รูปแบบที่ 2 เป็นการกำหนดยอดรายหัวของชาวบ้านที่มาลงชื่อ ว่าสามารถหยิบของได้เท่าไหร่ ส่วนใหญ่เป็นสิ่งของอุปโภค ไม่ใช่อาหาร หรือเครื่องดื่ม แล้วพอครบเวลา หัวคะแนนก็มาเคลียร์ค่าใช้จ่ายกับร้านค้า ยอดรายหัวมากหรือน้อย ขึ้นกับความใจถึงของผู้สมัคร

แต่รูปแบบที่ 3 นี้ เป็นการนำเงินไปวางไว้ที่ร้านเลย แล้วให้ชาวบ้านไปกินฟรี ส่วนมากเป็นร้านข้าว ร้านกาแฟ ร้านน้ำชา โดยชาวบ้านที่ไปกินฟรี ดื่มฟรี ต้องลงชื่อไว้กับหัวคะแนน แต่ไปกินเท่าไหร่ก็ได้ โดยไม่เกินวงเงินรวมที่ผู้สมัครวางไว้กับร้าน

รูปแบบนี้เป็นการโชว์ความใจกว้างเช่นกัน ไม่ค่อยเก็บบัตรประชาชน แต่ประชาชนจะชื่นชอบ และไปลงคะแนนให้ 

รูปแบบที่ 4 "เลือกตั้งล่วงหน้าทิพย์" 

วิธีการ หลังจากปิดลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้า จะมีบุคคลอ้างว่าเป็นเจ้าหน้าที่ ผู้มีอำนาจเกี่ยวกับการเลือกตั้ง บางคนก็มีตำแหน่งในระดับอำเภอ ประกาศให้มีการลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้าเพิ่มเติม เพื่อนำยอดไปเตรียมไว้ทำบัตรปลอม ใส่คะแนนแทนคนที่ไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้า ทั้งที่ลงทะเบียนแล้ว หรือไม่ ก็สร้างหลักฐานเท็จว่ามีการลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้าจำนวนมากกว่าจำนวนจริง แล้วนำรายชื่อกลุ่มหลังไปสวมสิทธิ โดยคนกลุ่มหลังนี้ไม่ต้องไปเลือกตั้งจริง 

วิธีการนี้ต้องมีเจ้าหน้าที่ กกต. รู้เห็น ช่องทางการเลือกตั้งล่วงหน้า มีช่องโหว่ให้ทุจริตได้ง่าย และหลายขั้นตอน แถมตรวจสอบยาก สามารถทำข้อมูลย้อนหลังให้ตรงกันได้

รูปแบบที่ 5 "จ้างจับโกง จ้างดิสเครดิต" 

วิธีการ จ้างชาวบ้านในพื้นที่ รอรับเงินซื้อเสียง หรือตามดูพฤติกรรมของนักการเมืองฝ่ายตรงข้าม แล้วแอบถ่ายรูปนำมาเป็นหลักฐาน ในการร้องเรียนคู่แข่ง ทั้งร้องเรียนทุจริตเลือกตั้ง และการกระทำผิดกฎหมายเลือกตั้งกรณีอื่นๆ ตลอดจนร้องเรียนเรื่องพฤติกรรม เช่น ชู้สาว เป็นผู้มีอิทธิพล เพื่อลดความน่าเชื่อถือ ฯลฯ

รูปแบบที่ 6 "แจกอ้างเทศกาล" 

วิธีการ ฉวยโอกาสช่วงเทศกาล สวมรอยแจกของ แต่จริงๆ เป็นการซื้อเสียง โดยมีข้อมูลที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ผู้สมัครจากพรรคใหญ่ แต่ไม่ค่อยมีกระแสบางคน แจกของช่วงเดือนรอมฎอนเดือนเดียว หมดเกือบ 10 ล้านบาท

เปิด 9 กลโกงเลือกตั้งแบบบ้านๆ แต่ระดับขั้นแอดวานซ์

การแจกช่วงเทศกาล เช่น รอมฎอน ทุกภาคส่วนแจกหมด ทำให้ไม่ถูกจับจ้อง เช่น แจกอินทผาลัม ทุกหน่วยงานก็แจกชาวบ้าน ก็ไปแฝงแจก แต่แถมเงินในกล่องไปด้วย เป็นต้น 

รูปแบบที่ 7 "แบ่งแยกแล้วปกครอง" 

วิธีการ สร้างกระแสแตกแยกในชุมชน เพื่อคนในชุมชนแบ่งเป็น 2 ฝ่าย จะเกิดการแข่งขันกัน และจริงจังกับการหาคะแนน เพื่อเอาชนะอีกฝ่าย นักการเมืองก็ได้ประโยชน์ แถมบางพื้นที่มีแอดวานซ์ เปิดวงพนันขันต่อ มีเงินติดปลายนวมให้อีก บางพื้นที่พนันกันหลักล้านหรือหลายล้าน ผู้สมัครบางคนมั่นใจ ลงเงินเล่นด้วย บางคนชนะ ส.ส. แถมได้เงินพนัน แต่บางคนแพ้ ส.ส. แต่ได้เงินปลอบใจก็มี ส่วนชาวบ้านซวย ศัตรูเพิ่ม แถมเสียตังค์ (พนัน) ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้มีการสร้างกระแสแยกศาสนา พุทธเลือกพุทธ มุสลิมเลือกมุสลิม 

รูปแบบที่ 8 "เกหนัก หักคอ"

วิธีการ เป็นพฤติกรรมของพรรคทุนหนา รอดูโค้งสุดท้าย กลุ่มก้อนหัวคะแนนของพรรคใด เก็บบัตรประชาชนและมีคะแนนในมือมากกว่า ก็จะเข้าไปซื้อตัดยอด ตัดหน้ากลุ่มนี้เลย โดยจ่ายแพงกว่า บังคับให้มาเลือกตนแทน 

ซึ่งประเด็นนี้ เกิดกับบางพรรค บางพื้นที่ที่เดิมพันสูง แพ้ไม่ได้ เช่น คู่แข่งจ่าย 2,000 บาทต่อหัว พอใกล้ๆ วันลงคะแนน ประกาศจ่าย 4,000 บาท เป็นต้น 

รูปแบบที่ 9 "ซื้อมักน้อย?" 

วิธีการ กติกาบัตร 2 ใบ บางพื้นที่ พรรค ก.แพ้แน่ๆ ก็ไม่รู้จะเสียเงินไปทำไม ก็หันไปจ่าย เพื่อซื้อให้ลงคะแนนบัตรใบที่ 2 คือ บัตรพรรค หรือบัตรปาร์ตี้ลิสต์ให้แทน 

ไม่ต้องไปซื้อตรงกับประชาชน แต่จ่ายที่หัวคะแนน หรือคนคุมคะแนน ส.ส.เขตของแต่ละพรรค เกเงินทับลงไปเพื่อให้ไปเลือกบัตรปาร์ตี้ลิสต์ของพรรค ก. ซึ่งเป็นคนละพรรคกับที่จะเลือกกาให้ ส.ส.เขต 

ทั้งนี้ สมมติทำแบบนี้ ตั้งเป้าเขตละ 10,000 คะแนน 35 เขต ก็ได้ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ 1 คน ถ้าซื้อแต้มละ 100 บาท ก็ใช้เงินเขตละ 1 ล้านบาท หากซื้อ 35 ล้านบาท ก็ได้ปาร์ตี้ลิสต์ 1 คน อาจจะจ่ายต่ำกว่าซื้อ ส.ส.เขต 1 คน + เงินหาเสียง ซื้อเสียง ค่าป้าย และอื่นๆ 

คะแนนบัตรใบที่ 2 แต่ละพรรคไม่ค่อยเน้น เพราะมุ่งเอาชนะที่เขตเป็นหลัก ทำให้เป็นช่องโหว่สำหรับบางพรรคที่เดินเกมนี้ 

ทั้งหมด คือ 9 รูปแบบกลโกงแบบแอดวานซ์ ที่ "เนชั่นทีวี" เก็บข้อมูลมาฝาก ให้ประชาชนผู้รักประชาธิปไตยได้รู้เท่าทันเกม การซื้อเสียงแบบบ้านๆ ไม่รวมซื้อเสียงในเขตเมือง เขตชุมชน หรือในเขตเทศบาล

ที่มีการให้ตั้ง "วิสาหกิจชุมชน" หรือตั้งองค์กรภาคประชาชนบังหน้า จากนั้นก็ผันเงินเข้าไป ทำทีเป็นดำเนินกิจการวิสาหกิจชุมชน แต่จริงๆ แล้วแทบไม่มีการผลิตใดๆ จริง แต่เอาเงินไปแบ่งกัน ซึ่งเป็นเงินซื้อเสียงอีกรูปแบบหนึ่ง 

ยิ่งไปกว่านั้น ก็จัดโครงสร้างบุคคลใน "วิสาหกิจชุมชน" เป็นเหมือนโครงสร้างแชร์ลูกโซ่ ให้ออกไปหาสมาชิก แต่ไม่มีของไปให้ขาย เพียงแต่พรรคการเมืองจะผันเงินไปให้เป็นรายได้ เมื่อถึงเวลาก็มาลงคะแนนให้ ตัวองค์กรก็จะยังอยู่ต่อไป เตรียมรับงานซื้อเสียงเลือกตั้งระดับอื่นๆ ต่อไป ซึ่งถือเป็นโครงข่ายของพรรคที่สร้างความแข็งแกร่งถึงระดับฐานราก

logoline