16 เมษายน 2566 ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจของประชาชน เรื่อง “ศึกเลือกตั้ง 2566 ครั้งที่ 2” ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 3-7 เมษายน 2566 จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปี จำนวน 2,000 หน่วยตัวอย่าง
ผลสำรวจของนิด้าโพล เรื่อง ศึกเลือกตั้ง 2566 ครั้งที่ 2 พบว่า บุคคลที่ประชาชนจะสนับสนุนให้เป็นนายกฯ สูงสุด คือ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร แคนดิเดตนายกจากพรรคเพื่อไทย คิดเป็น 35.7%
รองลงมาคือ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แคนดิเดตนายกฯ จากพรรคก้าวไกล คิดเป็น 20.25% ,พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แคนดิเดตนายกฯจากพรรครวมไทยสร้างชาติ คิดเป็น 13.6%, นายเศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดตนายกฯจากพรรคเพื่อไทย คิดเป็น 6.05% , คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ แคนดิเดตนายกฯจากพรรคไทยสร้างไทย คิดเป็น 4.15%
ทั้งนี้ เมื่อเทียบกับผลสำรวจเรื่องดังกล่าวในครั้งแรก เมื่อ 19 มีนาคม 2566 พบว่า อันดับของแคนดิเดตนายกฯ ของแต่ละพรรคไม่มีการเปลี่ยนแปลง แต่ที่น่าสังเกตคือ เปอร์เซ็นต์ของผู้ตอบแบบสำรวจให้คะแนนกับ น.ส.แพทองธาร ลดลง 2.5% คะแนนของพล.อ.ประยุทธ์ ลดลง 2.05% ขณะที่ของนายพิธา มีคะแนนเพิ่มขึ้น 4.5% เช่นเดียวกับคะแนนของ นายเศรษฐา มีคะแนนเพิ่มขึ้น5.35%
ขณะเดียวกันนิด้าโพล ยังสำรวจถึงพรรคการเมืองที่ประชาชนจะเลือกให้เป็น ส.ส. แบบแบ่งเขต พบว่า สูงสุด ระบุให้ พรรคเพื่อไทย คิดเป็น 47.20%
รองลงมา คือ พรรคก้าวไกล คิดเป็น 21.20%, พรรครวมไทยสร้างชาติ คิดเป็น 10.80%,พรรคประชาธิปัตย์ คิดเป็น 4.75%, พรรคภูมิใจไทย คิดเป็น 3.75%, พรรคเสรีรวมไทย คิดเป็น 2.15%
ทั้งนี้ เมื่อเทียบกับผลสำรวจเรื่องดังกล่าวในครั้งแรก เมื่อ 19 มีนาคม 2566 พบว่า คะแนนของพรรคเพื่อไทย ลดลง 2.55% เช่นเดียวกับคะแนนของพรรครวมไทยสร้างชาติ ลดลง 0.95%, พรรคประชาธิปัตย์ ลดลง 0.65% ทั้งนี้พบว่าคะแนนของพรรคก้าวไกล เพิ่มขึ้น 3.8%, พรรคภูมิใจไทย เพิ่มขึ้น 1.05%
นิด้าโพล ยังสอบถามถึงพรรคการเมืองที่ประชาชนจะเลือกให้เป็น ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ พบว่า สูงสุด ระบุเป็น พรรรคเพื่อไทย คิดเป็น 47%
รองลงมา คือ พรรคก้าวไกล คิดเป็น 21.85%, พรรครวมไทยสร้างชาติ คิดเป็น 11.40%, พรรคประชาธิปัตย์ คิดเป็น 4.50%, พรรคภูมิใจไทย คิดเป็น 3%, พรรคเสรีรวมไทย คิดเป็น 2.65%
เมื่อเทียบกับผลสำรวจเรื่องดังกล่าวในครั้งแรก เมื่อ 19 มีนาคม 2566 พบว่า พรรคเพื่อไทย มีคะแนนที่ลดลง 2.85% เช่นเดียวกับพรรครวมไทยสร้างชาติ ลดลง 0.75%, พรรคประชาธิปัตย์ ลดลง 0.45%, พรรคเสรีรวมไทย ลดลง 0.2%
ขณะที่พรรคที่มีคะแนนเพิ่มขึ้น ได้แก่ พรรคก้าวไกล เพิ่มขึ้น 4.7%, พรรคภูมิใจไทย เพิ่มขึ้น 0.45%.