svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

"โพลลับ"เลือกตั้ง66 ปลิวว่อน หยั่งเชิง วัดกระแส "สองลุง"ประวิตร-ประยุทธ์ 

01 เมษายน 2566
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ส่อง"โพลลับ" สายความมั่นคง ดอดเช็กกระแสความนิยมช่วง"เลือกตั้ง66" โดยเฉพาะสองลุง "พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา" จากรวมไทยสร้างชาติ กับ "ลุงป้อม" พลังประชารัฐ ติดตามในอินไซต์โพลิทิกส์

"โพล"คาดการณ์ผลเลือกตั้งที่"เนชั่นทีวี"เผยแพร่ในวันนี้ เป็น "โพลลับ" ที่สำรวจ วิเคราะห์ และประเมินโดย "หน่วยข่าวหน่วยหนึ่ง" ซึ่งหน่วยข่าว หรือพูดให้ชัดคือ “หน่วยงานด้านการข่าว”

บ้านเรามีหลายหน่วย เช่น หน่วยข่าวทหาร ที่เรียกว่า "หน่วยข่าวกรองทางทหาร" ซึ่งก็มีหน่วยที่ทำหน้าที่นี้หลายหน่วย หลายพื้นที่ / หน่วยข่าวตำรวจ ก็คือ “สันติบาล” / หน่วยข่าวร่วม หรือ ศูนย์ประสานงานข่าวกรอง / และยังมีหน่วยข่าวที่แทรกอยู่ตามหน่วยงานที่ทำงานด้านความมั่นคงอีกหลายหน่วย เพราะยุคนี้ถือว่าเฟื่องฟู เนื่องจากเป็นยุคที่ "ฝ่ายความมั่นคง" (จากกองทัพ) ครองเมือง แถมครองมายาวนานเกือบ 10 ปีแล้ว 

โพลชิ้นนี้ บอกใบ้สักเล็กน้อย ที่มา "ไม่ใช่หน่วยข่าวสีเขียว" ส่วนจะเป็นสีไหน คาดเดากันเอง

"โพลลับ"ฉบับนี้ สำรวจและรายงานผล 3 ประเด็นใหญ่ๆ คือ ความนิยมของตัวว่าที่แคนดิเดตนายกฯ / ความนิยมของพรรคการเมือง (เฉพาะพรรคที่มีโอกาสได้ ส.ส.เข้าสภา) /และความนิยมของนโยบายที่แต่ละพรรคนำเสนอ เน้นนโยบายสำคัญที่ประชาชนให้ความสนใจ 

"โพลลับ"เลือกตั้ง66 ปลิวว่อน หยั่งเชิง วัดกระแส "สองลุง"ประวิตร-ประยุทธ์ 

ผลสำรวจประเด็นแรกในระดับประเทศ ความนิยมของ"ว่าที่แคนดิเดตนายกฯ" 10 อันดับแรก 

อันดับ 1 “อุ๊งอิ๊งค์” แพทองธาร ชินวัตร พรรคเพื่อไทย ร้อยละ 24.43 

อันดับ 2 "ทิม" พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ พรรคก้าวไกล ร้อยละ 21.58 

อันดับ 3 “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ พรรคพลังประชารัฐ ร้อยละ 12.58

อันดับ 4 “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ร้อยละ 9.89 

อันดับ 5 เศรษฐา ทวีสิน พรรคเพื่อไทย ร้อยละ 9.37 

อันดับ 6 "คุณหญิงหน่อย" สุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ พรรคไทยสร้างไทย ร้อยละ 8.8 

อันดับ 7 “เสี่ยหนู” อนุทิน ชาญวีรกูล พรรคภูมิใจไทย ร้อยละ 5.46 

อันดับ 8 กรณ์ จาติกวณิช พรรคชาติพัฒนากล้า ร้อยละ 1.49 

อันดับ 9 “หัวหน้าจุรินทร์” จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ พรรคประชาธิปัตย์ ร้อยละ 1.02 

อันดับ 10 “ท็อป” วราวุธ ศิลปอาชา พรรคชาติไทยพัฒนา ร้อยละ 0.39 

ที่น่าสนใจก็คือ มีคะแนนคนที่ยังไม่ตัดสินใจ ร้อยละ 4.77 ต้องลุ้นว่าจะเทไปให้ใคร 

มีข้อสังเกตที่น่าสนใจหลังจากได้เห็นผลโพลแบบนี้ 

1."พิธา" มีคะแนนนิยมเป็นอันดับ 2 ในระดับประเทศ​ ซึ่งเป็นการสรุปจากผลสำรวจรวมทุกภาค 

2."บิ๊กป้อม" มีคะแนนนิยมดีกว่า "บิ๊กตู่"” และไม่ใช่แค่เบียด แต่ห่างกันถึง 3% 

3. "เศรษฐา ทวีสิน" เปิดตัวหลัง “บิ๊กตู่” แต่คะแนนกำลังแรงขึ้นมา และแซง"คุณหญิงสุดารัตน์" 

4. คะแนน"อนุทิน" ไม่แย่อย่างที่หลายฝ่ายคาดคะเน 

5."หัวหน้าจุรินทร์" ค่อนข้างมีปัญหากับทุกโพล 

"โพลลับ"เลือกตั้ง66 ปลิวว่อน หยั่งเชิง วัดกระแส "สองลุง"ประวิตร-ประยุทธ์ 

ผลสำรวจประเด็นที่ 2 คะแนนนิยมต่อนโยบายของพรรคการเมือง   เป็นผลสำรวจระดับประเทศเช่นกัน คัดมา 10 อันดับแรก 

อันดับ 1 นโยบายค่าแรงขึ้นต่ำ 600 บาท ปริญญาตรี 25,000 บาท พรรคเพื่อไทย 

อันดับ 2 ยกระดับ 30 บาทรักษาทุกโรค พรรคเพื่อไทย 

อันดับ 3 เครื่องาฉยรังสีมะเร็งฟรีทุกจังหวัด ศูนย์ฟอกไตฟรีทุกอำเภอ พรรคภูมิใจไทย 

อันดับ 4 เพิ่มสิทธิบัตรสวัสดิการแห่งรัฐพลัส เป็น 1,000 บาทต่อเดือน และสิทธิเบิกฉุกเฉิน 10,000 บาทต่อคน พรรครวมไทยสร้างชาติ

อันดับ 5 นโยบายบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 700 บาทต่อเดือน พรรคพลังประชารัฐ 

อันดับ 6 ตรวจสุขภาพฟรี รักษาฟรี โดยใช้บัตรประชาชนใบเดียว พรรคประชาธิปัตย์ 

อันดับ 7 แจกเงินคนท้องเดือนละ 10,000 บาท เป็นเวลา 5 เดือน จนกว่าจะคลอด และเงินช่วยดูแลบุตรอีกเดือนละ 3,000 บาท จนอายุ 6 ขบวน พรรคพลังประชารัฐ​

อันดับ 8 พักหนี้ 3 ปี หยุดต้น ปลดดอกเบี้ย คนละไม่เกิน 1 ล้านบาท พรรคภูมิใจไทย 

อันดับ 9 เรียนฟรีถึงปริญญาตรี สาขาที่ตลาดต้องการ พรรคประชาธิปัตย์ 

อันดับ 10 ปลดล็อกท้องถิ่น พรรคก้าวไกล 

มีข้อสังเกตเรื่องคะแนนนิยมต่อนโยบายของพรรคการเมืองต่างๆ เพิ่มเติม ดังนี้ 

1.คะแนนนิยมเป็นเปอร์เซ็นต์ที่แต่ละพรรคได้รับ จากแต่ละนโยบาย ยังไม่ห่างกันมาก และ 10 อันดับแรกนี้ ยังรวมกันไม่ถึง 100% แสดงว่านโยบายอื่นยังมีโอกาสลุ้น และนโยบายที่อยู่ลำดับรองๆ อาจมาแรงแซงโค้งได้ ถ้าพรรคเจ้าของนโยบายเร่งประชาสัมพันธ์อย่างมียุทธศาสตร์ 

2.พรรคการเมืองหลักๆ มีนโยบายติดท็อปเท็น พรรคละ 2 นโยบาย ทั้งเพื่อไทย ภูมิใจไทย พลังประชารัฐ และประชาธิปัตย์ ส่วนรวมไทยสร้างชาติ กับก้าวไกล ติดท็อปเท็นแค่พรรคละ 1 นโยบาย 

3.นโยบายที่ประชาชนชื่นชอบ ยังเป็นนโยบายแนวประชานิยม ลด-แลก-แจก-แถม จึงไม่แปลกที่พรรคการเมืองจะมุ่งนำเสนอนโยบายลักษณะนี้ ไม่เน้นเนื้อหาเชิงรายละเอียด หรือวิธีปฏิบัติ 

ข้อมูลทั้ง 2 ชุดนี้หน่วยงานผู้ทำสำรวจ เพิ่งสรุปเมื่อไม่ถึง 1 สัปดาห์ที่ผ่านมา

ส่วนผลสำรวจประเด็นที่ 3 คือ คะแนนนิยมของพรรคการเมือง ซึ่งจะส่งผลต่อการลงคะแนนของประชาชนในส่วนของ “บัตรปาร์ตี้ลิสต์” หรือ “บัตรเลือกพรรค” 

ข้อมูลในส่วนนี้ เราได้มาแบบแยกภาค จึงขอนำเสนอในส่วนภาคอีสานก่อน  เพราะน่าจะเป็นภาคชี้ขาดว่าเพื่อไทยจะได้จัดตั้งรัฐบาลหรือไม่  

เริ่มจากภาคอีสาน ประเมินคะแนนปาร์ตี้ลิสต์ 10 อันดับแรก จากจำนวนประชากรทั้งภาคที่ กกต.ประกาศ คือ 17,505,727 คน 

อันดับ 1 พรรคเพื่อไทย ร้อยละ 48.5 

อันดับ 2 พรรคภูมิใจไทย ร้อยละ 13.7 

อันดับ 3 พรรคก้าวไกล ร้อยละ 11.8 

อันดับ 4 พรรคพลังประชารัฐ ร้อยละ 7.85 

อันดับ 5 พรรครวมไทยสร้างชาติ ร้อยละ 7.1 

อันดับ 6  พรรคไทยสร้างไทย ร้อยละ 4.45 

อันดับ 7 พรรคประชาธิปัตย์ ร้อยละ 3.1 

อันดับ 8 พรรคเสรีรวมไทย ร้อยละ 2.40 

อันดับ 9 พรรคชาติไทยพัฒนา ร้อยละ 0.90 

อันดับ 10 พรรคชาติพัฒนากล้า ร้อยละ 0.20 

เป็นที่น่าสังเกตว่า พรรคเพื่อไทยได้คะแนนนิยมในบัตรปาร์ตี้ลิสต์ เกือบจะเกินครึ่ง คือร้อยละ 48.5 ขณะที่พรรคภูมิใจไทยตามมาห่างๆ เท่านั้น 

ต้องบอกว่าคะแนนนี้ไม่ผูกพัน หรือ” ไม่แปรผันตรง” กับการประเมินผลการเลือกตั้งในระบบแบ่งเขต เพราะ “ข่าวข้นคนข่าว” ได้ข้อมูลการสำรวจและประเมินผลรายเขต 20 จังหวัดภาคอีสาน พบว่า 

พรรคเพื่อไทย น่าจะได้ ส.ส.มาเป็นอันดับ 1 ราวๆ 94 ที่นั่ง

พรรคภูมิใจไทย น่าจะได้ ส.ส.มาเป็นอันดับ 2 ราวๆ 26 ที่นั่ง 

พรรคพลังประชารัฐ น่าจะได้ ส.ส.มาเป็นอันดับ 3 ราวๆ 4 ที่นั่ง 

พรรคไทยสร้างไทย กับ ชาติพัฒนากล้า น่าจะได้ ส.ส.มาเป็นอันดับ 4 คือ ราวๆ 3 ที่นั่ง ทั้ง 2 พรรค 

ขณะที่พรรคชาติไทยพัฒนา ประชาธิปัตย์ และพรรคก้าวไกล น่าจะได้ ส.ส.เขต ในอีสาน พรรคละ 1 ที่นั่ง 

ส่วนพรรครวมไทยสร้างชาติ น่าจะไม่ได้ ส.ส.อีสานเลยแม้แต่เขตเดียว 

"โพลลับ"เลือกตั้ง66 ปลิวว่อน หยั่งเชิง วัดกระแส "สองลุง"ประวิตร-ประยุทธ์ 

สำหรับจังหวัดที่พรรคเพื่อไทยมีแนวโน้มได้ ส.ส.ยกจังหวัด จากการประเมินและสำรวจของ “หน่วยข่าวหน่วยนี้” ก็คือ 

กาฬสินธุ์ (6) / นครพนม (4) / บึงกาฬ (3) / มหาสารคาม(6)  / มุกดาหาร (2) / ยโสธร (3) / สกลนคร (7) / หนองคาย (3) / หนองบัวลำภู (3) / อุดรธานี (10) 

จังหวัดที่พรรคภูมิใจไทยมีแนวโน้มได้ ส.ส.ยกจังหวัด คือ บุรีรัมย์ (10) 

จังหวัดที่ฟาดฟันกันหลายพรรค ได้แก่ 

ขอนแก่น (11) เบียดกันระหว่างเพื่อไทย ภูมิใจไทย ก้าวไกล 

ชัยภูมิ (7) เบียดกันระหว่าง เพื่อไทย ภูมิใจไทย ไทยสร้างไทย 

นครราชสีมา (16) เบียดกันระหว่าง เพื่อไทย ชาติพัฒนากล้า พลังประชารัฐ ภูมิใจไทย 

ร้อยเอ็ด (8) ชาติไทยพัฒนาอาจเบียดแทรกเข้ามาได้ที่เขต 1 ที่เหลือเพื่อไทยมีสิทธิกวาด 

เลย (4) เบียดกันระหว่าง เพื่อไทย กับภูมิใจไทย 

ศรีสะเกษ (9) เบียดกันระหว่าง ภูมิใจไทย กับ เพื่อไทย แข่งขันรุนแรงมาก 

สุรินทร์ (8) เบียดกันระหว่าง ภูมิใจไทย กับเพื่อไทย

อำนาจเจริญ (2) เบียดกันระหว่างภูมิใจไทย กับเพื่อไทย 

อุบลราชธานี (11) เบียดกันระหว่าง เพื่อไทย ภูมิใจไทย ประชาธิปัตย์ ไทยสร้างไทย 

สนาม กทม.ชี้ขาดแลนด์สไลด์ 

มีข้อสังเกตเพิ่มเติมหลังจากได้เห็นผลสำรวจจากโพลลับ ดังนี้ 

1.ถ้าผลสำรวจและประเมินของ “หน่วยข่าวหน่วยนี้” ใกล้เคียงกับความเป็นจริง โอกาสที่พรรคเพื่อไทยจะแลนด์สไลด์ คือได้ ส.ส.ทั้งประเทศพรรคเดียวเกิน 250 เสียง มีความก้ำกึ่ง อาจจะเป็นไปไม่ได้ มากกว่าเป็นไปได้ 

ย้อนกลับไปเมื่อการเลือกตั้งปี 54 ปีที่พรรคเพื่อไทยแลนด์สไลด์ ได้ ส.ส.รวม 2 ระบบ 265 คน (เขต 204 ปาร์ตี้ลิสต์ 61) พรรคเพื่อไทยได้ ส.ส.อีสาน 104 จาก 126 เขต คิดเป็นร้อยละ 85.5 / ขณะที่ภูมิใจไทยได้ 13 ที่นั่งเท่านั้น 

แต่หากเลือกตั้งปี 66 เพื่อไทยได้ ส.ส.อีสาน 94 ที่นั่ง จาก 133 ที่นั่ง จะคิดเป็นสัดส่วนเพียงร้อยละ 70 / ถ้าภาคอื่นๆ เพื่อไทยยังทรงๆ เหมือนปี 54 ก็มีแนวโน้มไม่แลนด์สไลด์ แม้จะปริ่มน้ำ / โดยเฉพาะในภาคใต้ ซึ่งปี 54 เพื่อไทยไม่ได้เลยแม้แต่เก้าอี้เดียว / และการเลือกตั้งปี 66 ก็มีแนวโน้มเป็นแบบนั้น

2.ตัวชี้ขาดว่าจะแลนด์สไลด์ จะอยู่ที่ กทม. เพราะในการเลือกตั้งปี 54 เพื่อไทยได้มาแค่ 9 ที่นั่ง จาก 36 ที่นั่ง คิดเป็นร้อยละ 25 เท่านั้น / ขณะที่ประชาธิปัตย์กวาดไปถึง 27 ที่นั่ง หรือ ร้อยละ 75 

แน่นอนว่า เลือกตั้งหนนี้ ประชาธิปัตย์คงไม่ฟื้นกลับมาเป็นแชมป์ เพราะปี 62 ได้ 0 / แต่ก้าวไกลก็กำลังมาแรง ทั้งคะแนนนิยมพรรค และคะแนนนิยมในตัวพิธา 

ถ้าเพื่อไทยทำได้แบบประชาธิปัตย์ในปี 54 หรือพรรคอื่นๆ ที่ไม่ใช่เพื่อไทย แชร์เก้าอี้ ส.ส.กทม. ไปได้จำนวนมาก / โอกาสที่เพื่อไทยจะแลนด์สไลด์ ก็จะยากยิ่งขึ้น 

3.พรรคภูมิใจไทยมีโอกาสเข้าป้ายเป็นพรรคอันดับ 2 สูงกว่าพรรคอื่น เพราะแนวโน้มความนิยมยังดี และมี ส.ส.เขตที่แข็งแกร่งในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะในภาคอีสาน ประกอบกับประชาชนชื่นชอบนโยบายประชานิยมเชิง “สุขภาพ” ของพรรคภูมิใจไทย 

พรรคที่จะได้รับผลกระทบจากการเติบโตของภูมิใจไทย คือพรรคสายอนุรักษ์นิยมด้วยกัน เพราะกลุ่มเป้าหมายเป็น “ผู้สูงวัย” ซึ่งต้องการนโยบายแนวดูแลสุขภาพ สวัสดิการถ้วนหน้า เบี้ยยังชีพ เบี้ยคนชรา ซึ่งนโยบายเหล่านี้ ภูมิใจไทยเสนอค่อนข้างโดดเด่น ใกล้ตัว และแตกต่างจากพรรคอื่นในกลุ่มเดียวกัน

logoline