svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

"พปชร.-รทสช." ไม่ร่วมลงนาม จรรยาบรรณหาเสียง-สัญญาพรรคการเมืองต่อปชช.

29 มีนาคม 2566
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

"พปชร.-รทสช." ไม่ตอบรับลงนาม "จรรยาบรรณการหาเสียงเลือกตั้ง" และ"สัญญาที่พรรคการเมืองขอให้ไว้แก่ประชาชน"

29 มีนาคม 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่โรงแรมเซ็นทรา บาย เซ็นทารา ศูนย์ราชการและคอนเวนชันเซ็นเตอร์แจ้งวัฒนะ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)ได้จัด พิธีลงนาม "จรรยาบรรณการหาเสียงเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2566" และ"สัญญาที่พรรคการเมืองขอให้ไว้แก่ประชาชน พ.ศ. 2566"โดยภาคีเพื่อรัฐธรรมนูญประชาธิปไตย ภาคประชาสังคม องค์กรสื่อ และสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง รวมถึงตัวแทนพรรคการเมืองมาร่วมลงนามจรรยาบรรณฯ ครั้งนี้

แสวง บุญมี เลขาฯกกต.

นายแสวง บุญมี เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง กล่าวเปิดงานว่า การร่วมมือนามในจรรยาบรรณฯ ครั้งนี้ถือว่าเป็นนิมิตอันดี ที่แสดงให้เห็นถึงความเห็นพ้องต้องกันของพรรคการเมือง ที่จะทำให้การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ให้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม และยังเป็นการวางรากฐานของกระบวนการติดตาม ตรวจสอบการเลือกตั้ง โดยภาคประชาสังคม ซึ่งสอดคล้องกับภารกิจของ กกต.ที่เห็นว่าประชาธิปไตยเป็นของประชาชนทุกคนในชาติ ทุกคนจึงต้องเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมือง เพื่อธำรงรักษาและทำให้ประชาธิปไตยงอกงามต่อไป

การลงนามครั้งนี้ หวังว่า พรรคการเมืองและว่าที่ผู้สมัครรับเลือกตั้ง จะยึดมั่นในจรรยาบรรณการหาเสียงที่ได้ลงนามร่วมกัน เพื่อสร้างสรรค์ให้การเลือกตั้งเป็นไปโดยสุจริต ตามมุ่งหมายของรัฐธรรมนูญ

จากนั้น ผู้แทนจากพรรคการเมืองร่วมกันอ่าน"จรรยาบรรณหาเสียงเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2566" และผู้แทนจากพรรคการเมือง พร้อมด้วยสักขีพยานร่วมลงนามในจรรยาบรรณฯ

สำหรับเนื้อหาของจรรยาบรรณฯ คือ

เพื่อให้การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้เแทนราษฎรเป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม คณะกรรมการการเลือกตั้งต้องปฏิบัติต่อพรรคการเมืองทุกพรรค และผู้สมัครรับเลือกตั้งทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน

พรรคการเมืองที่ลงนาม ในจรรยาบรรณการหาเสียงเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรฉบับนี้ ขอให้คำมั่นสัญญาว่า จะเคารพการตัดสินใจของประชาชน ผ่านการเลือกตั้งที่สุจริตและเที่ยงธรรม และจะรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง ทั้งทางกายภาพและทางสื่อสังคมออนไลน์ โดยปฏิบัติตามหลักการที่เห็นพ้องต้องกัน ดังต่อไปนี้

     1.เคารพและปฏิบัติตามบทบัญญัติและเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ กฎหมายเลือกตั้ง กฎหมายพรรคการเมือง ตลอดจนระเบียบ ประกาศ และคำสั่งของคณะกรรมการการเลือกตั้ง

     2.ไม่กระทำการใด ๆ ที่ทุจริตต่อการเลือกตั้งและที่เป็นการซื้อเสียงทั้งทางตรง และทางอ้อม รวมทั้งไม่ใช้กลไกหรือทรัพยากรของรัฐ เพื่อประโยชน์ในการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งหรือเพื่อให้ได้มาซึ่งคะแนนเสียงเลือกตั้ง

     3.รณรงค์หาเสียงเลือกตั้งอย่างสร้างสรรค์ ใช้สันติวิธี คำนึงถึงความละเอียดอ่อนและความหลากหลายทางเพศภาวะ ไม่ข่มขู่ คุกคาม หรือสร้างความหวาดกลัว ปฏิเสธและประนามการใช้ความรุนแรง ตลอดจนยืนยันว่า จะไม่รบกวนการรณรงค์หาเสียงของพรรคการเมืองอื่น ๆ

"พปชร.-รทสช." ไม่ร่วมลงนาม จรรยาบรรณหาเสียง-สัญญาพรรคการเมืองต่อปชช.

     4.ปฏิเสธและไม่สนับสนุนการกระทำใด ๆ ที่ปลุกเร้าความเกลียดชังและความรุนแรง หรือใส่ร้ายด้วยความเท็จให้ผู้อื่นเสื่อมเสียชื่อเสียง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการข่มขู่ การกระทำที่หยาบคาย การใช้ข่าวปลอม การลดทอนคุณค่าเชิงอัตลักษณ์และการเผยแพร่ข้อมูลด้วยกลวิธีที่หลอกลวง อันทำให้เกิดความเข้าใจผิดหรือความได้เปรียบทางการเมือง

     5.ธำรงไว้ซึ่งความน่าเชื่อถือของพรรคการเมือง ในฐานะสถาบันการเมืองที่สำคัญโดยนำเสนอนโยบาย ที่มาจากการมีส่วนร่วมของสมาชิกและประชาชน และรับผิดชอบต่อนโยบายที่เสนอนั้น

ส่วน"สัญญาที่พรรคการเมืองขอให้ไว้แก่ประชาชน พ.ศ. 2566" มีเนื้อหาคือ

     1.จะเข้าร่วมจัดตั้งรัฐบาล ก็ต่อเมื่อมีเสียงสนับสนุนรวมกันเกินกว่ากึ่งหนึ่ง ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร โดยไม่ร่วมจัดตั้งรัฐบาลกับกลุ่มของพรรคการเมือง ที่มีเสียงรวมกันไม่ถึงกึ่งหนึ่งของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

     2.เมื่อร่วมกันจัดตั้งรัฐบาล จะนำนโยบายที่แต่ละพรรคใช้ในการหาเสียง มาบูรณาการกันอย่างจริงจัง และให้ความสำคัญแก่นโยบายร่วมกันนี้ 

     3. จะร่วมมือกับทุกพรรคการเมือง ในการดำเนินการให้มีการออกเสียงประชามติ เพื่อถามประชาชนว่า เห็นด้วยกับการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ที่ร่างโดยสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชนหรือไม่

     4.จะสนับสนุนให้กระบวนการพูดคุยสันติภาพ ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นวาระแห่งชาติภายใต้กรอบของรัฐธรรมนูญ เพื่อให้บรรลุข้อตกลงของการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ ด้วยความเคารพซึ่งกันและกัน

     5.จะดำเนินนโยบายการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น โดยให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและองค์กรชุมชน มีอำนาจการตัดสินใจ ในเรื่องของท้องถิ่นเพิ่มขึ้น อย่างมีนัยสำคัญ และจะพิจารณาโอนงาน งบประมาณ และบุคลากรจากราชการส่วนกลางและส่วนภูมิภาคไปสู่ราชการส่วนท้องถิ่นมากขึ้นอย่างเพียงพอ

     6.จะส่งเสริมสิทธิมนุษยชน และส่งเสริมการรวมกลุ่มของประชาชน ลคความเหลื่อมล้ำในทุกด้านโดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจ โดยมีนโยบายการดูแลผู้ด้อยโอกาสและผู้สูงอายุ รวมทั้งการสร้างแรงจูงใจในการออม และสนับสนุนให้แรงงานนอกระบบทุกกลุ่ม รวมถึงลูกจ้างส่วนราชการและลูกจ้างทำงาน เข้าสู่ระบบการประกันสังคม อย่างครอบคลุมและทั่วถึง

นอกจากนี้ ยังมีการเปิดตัวการติดตามตรวจสอบกระบวนการเลือกตั้ง โดยภาคประชาสังคมและสื่อมวลชน จากเครือข่ายประชาชนสังเกตการณ์การเลือกตั้ง, เครือข่ายสื่อมวลชนและภาคประชาชน ด้านการตรวจสอบข่าวลวง และภาคประชาสังคมด้านการติดตามนโยบายของพรรคการเมือง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การร่วมลงนามวันนี้(29 มี.ค.) มีพรรคการเมืองเข้าร่วม 31 พรรค ส่วนพรรคพลังประชารัฐ และพรรครวมไทยสร้างชาติ ไม่ได้ตอบรับคำเชิญ

"พปชร.-รทสช." ไม่ร่วมลงนาม จรรยาบรรณหาเสียง-สัญญาพรรคการเมืองต่อปชช.

logoline