svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

ถอดรหัส "ลุงป้อม" ก้าวข้ามความขัดแย้ง ตัวเลือกในสถานการณ์สุญญากาศการเมือง

28 มีนาคม 2566
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ชัดเเล้วว่าขั้ว"พรรคเพื่อไทย"เเละ"ก้าวไกล"ไม่เอาด้วยกับค่าย3ป. ที่เเบ่งเป็นพปชร.เเละรทสช. เเต่เเวดวงการเมืองมองกันว่า 310 เสียงเเลนด์สไลด์ของพท.ยากเกิดขึ้น หากไม่มีคนกลางมาดีลจับข้ามขั้วในจังหวะที่สุญญากาศการเมืองอาจเกิดขึ้นได้

สัญญาณเร่งเครื่องหาเเต้มของทุกพรรคยามนี้ยิงกันถี่ยิบกันถ้วนหน้า พรรคใดยังออกตัวช้าอาจเสียจังหวะเเละพื้นที่ข่าวเพื่อการรับรู้เเละตัดสินใจของประชาชน

พรรคหลักต่างยืนยันความพร้อมเป็นเเกนนำตั้งรัฐบาล พร้อมเป็นสร.1 มองไปยังผลโพลล์แต่ละสำนักในช่วงนี้พบว่า "พรรคเพื่อไทย" กับ"พรรคก้าวไกล" รวมทั้งแกนนำทั้งสองพรรคดังกล่าว ติดอันดับ1-2 ในการเป็นแกนนำตั้งรัฐบาลและนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 กับการเลือกตั้ง ส.ส.14 พ.ค.2566  โพลล์นี้ส่งสัญญาณให้พอจับกระแสของแต่ละพรรค กุนซือแต่ละคนต้องไปวางแผนให้ดีหากหวังจะชนะ - ได้ส.ส.มากกว่าโพลประเมิน

ปรากฏการณ์ตัดไม้ข่มนาม "แลนด์สไลด์ 310 เสียง" ของพรรคเพื่อไทย โดยไม่มีพรรคพี่พรรคน้อง-ไม่ยกเก้าอี้สร.1ให้คนอื่น หากพท.ได้เสียงเกินกึ่งหนึ่ง - กลับบ้านรับโทษในปีนี้ โดยไม่ต้องออกกฎหมายนิรโทษกรรมของ  "โทนี่ วู้ดซั่ม" เมื่อไม่กี่วันก่อน บนความเป็นจริงแล้วพบว่าการขยับจังหวะดังกล่าวของพท.นั้นนับเป็นข่าวพาดหัวทางการเมืองที่สร้างแรงสั่นสะเทือนในสองขั้วคือ"อนุรักษ์นิยม"กับ"เสรีนิยม" บนสนามเลือกตั้งให้ชัดเจนขึ้น

พิจารณากันให้ลึก พบความจริงบางด้านของ"พรรคเพื่อไทย"กับ"พรรคก้าวไกล" ว่า 400 เขตเลือกตั้ง กับ 100 บัญชีรายชื่อ "พรรคเพื่อไทย" หวังจริงๆ 240-260 เสียงให้ได้ส.ส.เกินกึ่งหนึ่งกับสิทธิพรรคอันดับหนึ่ง เนื่องจากภาคเหนือบางเขต-ภาคกลางหลายจังหวัด-ภาคอีสานหลายเขตนั้น พท.ยังเป็นรองคู่แข่ง ส่วนสนามภาคใต้ยังไม่ดีพอที่เพื่อไทยจะได้ ส.ส.เขต ขณะที่สนามกทม. วัดกันที่กระแสความนิยมของแต่ละพรรค 

ส่วน"พรรคก้าวไกล"ครั้งนี้ คือ การแข่งขันจริงที่แตกต่างจากเลือกตั้ง 24 มี.ค.2562 เพราะพื้นที่มีลุ้นคือ กทม.รวมทั้งเขต 1 และ 2 ของจังหวัดหัวเมือง รวมทั้งกวาดคะแนนบัญชีรายชื่อ

เมื่อตัวเลขขั้นต้นออกมาแบบนี้  ทำให้หลายพรรคยังมีโอกาสแชร์แต้ม แต่จะเร่งเครื่องอย่างไร รวมทั้งใช้นโนบายใดเป็นทีเด็ดทีขาดต้องจับตา

ตอนนี้สื่อหลายสำนักนำเสนอโผรายชื่อว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ 100 อันดับกันแล้ว น่าคิดว่า"แคนดิเดตนายกฯ"สามคนของพรรคเพื่อไทยนั้น สองคนแรก คือ "แพทองธาร ชินวัตร" กับ"เศรษฐา ทวีสิน" น่าจะไม่ลงสมัครส.ส.บัญชีรายชื่อ


ถอดรหัส "ลุงป้อม" ก้าวข้ามความขัดแย้ง ตัวเลือกในสถานการณ์สุญญากาศการเมือง

โดยอ้างว่าฝ่ายบริหาร (รัฐมนตรี/นายกรัฐมนตรี) ไม่จำเป็นต้องเป็นส.ส. รวมทั้งหนึ่งในสองแคนดิเดตของ"พรรครวมไทยสร้างชาติ" คือ "พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา" ตอนนี้ไม่พบรายชื่อ 1 ใน 100 ว่าที่ผู้สมัครส.ส.บัญชีรายชื่อเช่นกัน ส่วนพรรคอื่น ๆ หัวหน้าพรรคปรากฏชื่อในโผว่าที่ผู้สมัครส.ส.บัญชีรายชื่อ 100 อันดับรวมทั้งยังยืนยันเป็นแคนดิเดตนายกฯเพียงหนึ่งเดียวของพรรคเหล่านั้น

ท่ามกลางคำถาม "ทำไมลุงตู่ เสี่ยนิด และอุ๊งอิ๊งค์ ไม่สวมเสื้อว่าที่ผู้สมัครส.ส.บัญชีรายชื่อ" 

แม้จะอ้างว่ารัฐธรรมนูญไม่ได้บัญญัติไว้ว่าสร.1 ต้องมาจากส.ส.ก็ตาม เมื่อมองในเชิงกลุยทธ์ 1 ส.ส.บัญชีรายชื่อต้องอาศัย 3.5 แสนคะแนน โดยคะแนนเหล่านี้ไม่ใช่น้อยที่แต่ละพรรคจะสะสมได้หากแกนนำพรรคในรายชื่อข้างต้นไม่ลงสมัคร จะเปิดพื้นที่ให้แกนนำคนอื่น ๆได้ลุ้นแทน

ขณะที่หลายคนมองข้ามไปในการแข่งขันครั้งนี้ ระหว่าง"ขั้วอนุรักษ์นิยม" "เสรีนิยม"คือ แข่งขันกันชัดจนลืมความเป็นไปได้ว่าแต่ละพรรคนั้นยากยิ่งที่จะสร้างปราฏการณ์ 377 เสียงของพรรคไทยรักไทยเมื่อปี 2548 ให้เกิดขึ้นอีกครั้ง ดังนั้นการจับจังหวะหลังรู้ผลคะแนนเลือกตั้งว่า พรรคใดบ้างที่พอจะแตะมือเป็นรัฐบาลผสมชุดใหม่ และแกนนำพรรคใดที่พอจะมีบารมีเพื่อเป็นตัวกลางประสาน

ภาพที่ปรากฎ ขณะนี้ "เพื่อไทย"และ"ก้าวไกล"ที่เป็นตัวแทนขั้วเสรีนิยม แกนนำแถวหน้าของสองพรรคนี้ยากที่จะไปคุยกันกับขั้วตรงข้ามให้รู้เรื่อง ส่วน"ลุงตู่"นั้น ชัดเจนแล้วว่ายากยิ่งกว่าหากจะให้"ลุงตู่" ลงไปตั้งวงสนทนากับคนการเมืองในการเจรจาต่อรองและไม่มีทางเป็นไปได้หาก"ลุงตู่" จะต้องคุยกับเพื่อไทยและก้าวไกล

แบบนี้ประเมินคร่าวๆได้ว่า สองขั้วดังกล่าว เคมีไม่ตรงกันและไม่น่าจะรวมตัวกันได้เป็นแน่แท้ เมื่อถึงจังหวะนั้นการเมืองจะถึงทางตันหรือไม่ 

ถอดรหัส "ลุงป้อม" ก้าวข้ามความขัดแย้ง ตัวเลือกในสถานการณ์สุญญากาศการเมือง

ดังนั้น การหาโซ่ข้อกลางเชื่อมต่อข้ามสะพานความขัดแย้ง จะบอกว่า ไม่จำเป็น  ไม่มีไม่เป็นไร ก็คงไม่ใช่ เพราะการเมืองทั่วโลกต้องมีตัวกลางในการประสานความลงตัวทั้งหน้าฉากและหลังฉาก

จึงต้องหันสปอตไลท์กลับมาส่อง "พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ" หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ที่ใช้นโยบายก้าวข้ามความขัดแย้ง แม้บางฝ่ายมองว่ายากเกิดขึ้น แต่ทำไม "ลุงป้อม" ยังตั้งใจสลายความขัดแย้งนี้ลงให้ได้... 

"หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ"ลงพื้นที่หาเสียงจ.เชียงราย เมื่อหลายวันแม้หลายคนมองว่าจ.เชียงราย  โอกาสของพปชร.ไม่น่าจะมีลุ้นแต่เมื่อสังเกตมวลชนที่มาพบ"ลุงป้อม" ในช่วงบ่ายท่ามกลางอากาศเดือนมีนาคมนั้นแน่นขนัดบวกกับการวิดีโอคอลไปยังคนหลากกลุ่ม โดยเฉพาะเยาวชน-นักศึกษาที่นับเป็น Generation Z (ผู้ที่เกิดปี 2540-2555 หรือมีช่วงอายุ 11-26 ปี ) นับเฉพาะผู้ที่มีสิทธิ์เลือกตั้ง 18-26 ปี มีจำนวนทั้งสิ้น 7,670,354 คน ที่หลายฝ่ายมองว่าน่าจะเทแต้มให้ขั้วเสรีนยิมบางพรรค แต่เมื่อ"ลุงป้อม" วีโอคอลไปยังคนกลุ่มนี้ กลับไม่พบกระแสต้านตามที่หลายฝ่ายประเมิน

รวมทั้งการเปิดพื้นที่ให้ตัวแทนกลุ่มสามนิ้ว เช่น 24ม.ค.2565  "อั่ว" จุฑาทิพย์ ศิริขันธ์ แกนนำแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม อดีตประธานสหภาพนักเรียน นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนท.) โพสต์ข้อความระบุว่า "เราตกใจมาก ๆที่"พล.อ.ประวิตร"จับไหล่เรา เป้าหมายของเราคือการไปถ่ายรูปชู 3 นิ้ว เพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยต่อหน้าเผด็จการ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นไม่โอเคมาก"

23 มี.ค.66 ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล "มายด์" แกนนำกลุ่มคณะราษฎร 2563ขอสัมภาษณ์"ลุงป้อม"

โดย"จุฑาทิพย์"ไปประท้วง"ลุงป้อม"ในการหาเสียงเลือกตั้งซ่อมส.ส.กทม.เขตจตุจักร-หลักสี่ หรือล่าสุด 23 มี.ค.2566 ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล "มายด์" แกนนำกลุ่มคณะราษฎร 2563 ที่มาขอสัมภาษณ์ได้ซักถาม"ลุงป้อม" โดยที่มายด์ยอมรับว่าการพูดคุยกับ"ลุงป้อม"ส่งสัญญาณที่ดีในระดับหนึ่งและแปลว่า "ลุงป้อม"รู้เจตนาของเยาวชนเหล่านี้ แต่มองคนเหล่านี้ว่าคือลูกหลานที่มีอะไรไม่เข้าใจก็มาคุยกัน

หาก"ลุงป้อม" ได้โอกาสและจังหวะในการคุยกันขั้นต้นตามวิถีวัฒนธรรมอันดีของไทยนั้น อะไรที่ว่ายากและเป็นไปไม่ได้นั้น "ลุงป้อม"น่าจะมองมุมกลับและอาศัยบารมีที่สะสมไว้ เพื่อหาพื้นที่สื่อสารแบบจับเข่าคุยกัน

"ลุงป้อม"หาจังหวะคุยกับกลุ่มต้านและคนรุ่นใหม่ได้เรื่อยๆ และผ่ากระแสนี้ไปได้ โอกาสที่จะได้เป็นผู้จัดการรัฐบาลชุดที่ 30 เก้าอี้สร.1 มีสิทธิลุ้น

logoline