svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

"ฐากร"กุนซือศก."ไทยสร้างไทย"แนะวิธีผ่าทางตันเศรษฐกิจ หนทางรอดประเทศ

26 มีนาคม 2566
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

"ฐากร ตัณฑสิทธิ์" ประธานคณะกรรมการพัฒนาและเพิ่มประสิทธิภาพเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศ พรรคไทยสร้างไทย นำเสนอแนวทางผ่าทางตันเศรษฐกิจประเทศไทย

26 มีนาคม 2566  "นายฐากร ตัณฑสิทธิ์" ประธานคณะกรรมการพัฒนาและเพิ่มประสิทธิภาพเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศ พรรคไทยสร้างไทย ได้นำเสนอแนวทางผ่าทางตันเศรษฐกิจประเทศไทย 

"นายฐากร" กล่าวว่า  ทุกวันนี้ไม่ว่าจะหันไปทิศทางใด ทุกคนต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าอยากเห็นอนาคตของเศรษฐกิจไทยที่สดใสกว่านี้ เพราะเศรษฐกิจที่มีอนาคตหมายถึง การกินดีอยู่ดีของประชาชนคนเดินดินทุกคน ไม่ใช่เศรษฐกิจที่โตต่ำ เหลื่อมล้ำสูง แบบที่เป็นอยู่ คำถามคือ อนาคตที่ดีนั้น จะเกิดขึ้นจริงได้อย่างไร 

สิบปีที่ผ่านมา ในบทบาท เลขาธิการ กสทช. ผมทำงานคลุกคลีกับทั้งภาครัฐและภาคเอกชน โดยเฉพาะแวดวงโทรคมนาคมและเทคโนโลยีทั้งในและต่างประเทศ ประสบการณ์ทำให้ผมเห็นความหวังของเศรษฐกิจไทย นี่เป็นแรงผลักดันให้ผมตัดสินใจมาเข้าร่วมทำงานกับพรรคไทยสร้างไทย เพราะผมอยากทำให้ความหวังนั้นเป็นจริง 

ความหวังที่ว่านั้นคือการสร้างเศรษฐกิจดิจิทัล ให้เศรษฐกิจไทย มีที่ยืนอย่างแข็งแกร่งในการค้า การลงทุนโลก ซึ่งจะสร้างงาน สร้างอาชีพที่มั่นคงให้กับคนไทยจำนวนมากได้ 

แต่ก่อนที่ผมจะพูดถึงการสร้างเศรษฐกิจดิจิทัล เราต้องตั้งโจทย์ที่ชัดเจนก่อนว่า เราอยากได้เศรษฐกิจที่มีหน้าตาแบบไหน สำหรับผม เศรษฐกิจที่ดี คือ เศรษฐกิจที่โตอย่างแข็งแกร่ง โตอย่างทั่วถึง และโตอย่างยั่งยืน 

โตแรก โตอย่างแข็งแกร่ง เราต้องหาเครื่องยนต์เศรษฐกิจใหม่ที่จะขับเคลื่อนให้เศรษฐกิจไทย  โตได้สูงกว่าที่เป็นอยู่นี้ รายได้ของประชาชนมาจากเศรษฐกิจที่เติบโตดี แต่หากเศรษฐกิจโตอย่างไม่แข็งแกร่ง ทุกอย่างก็จะไปต่อไม่ได้

โตที่สอง โตอย่างทั่วถึง เราต้องสร้างระบบเศรษฐกิจ  ที่ทำให้โอกาสและรายได้กระจายไปสู่ประชาชนส่วนใหญ่  ที่ตั้งหน้าตั้งตาทำมาหากินสร้างอนาคต ไม่ใช่กระจุกตัวที่เจ้าของทุนหรือธุรกิจขนาดใหญ่ทั้งหมด นอกจากนี้ เราต้องไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง และต้องมีระบบที่ช่วยรองรับคนที่ล้ม  ให้ลุกต่อไปได้อย่างแข็งแกร่ง 

โตที่สาม โตอย่างยั่งยืน เราต้องสร้างเศรษฐกิจที่โตแบบเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ไม่เอาเปรียบคนทำงาน และมีระบบการถ่วงดุลตรวจสอบที่ดี เศรษฐกิจที่โตแบบไม่สมดุล   สุดท้ายก็จะพังครืนลง เพราะผลร้ายจากความไม่ยั่งยืนจะย้อนกลับมาทำร้ายเศรษฐกิจ ความยั่งยืนจะทำให้เราไปต่อได้และไปต่อได้ดีด้วย

ที่ผ่านมา ผมทำงานเพื่อสนับสนุนภาคเอกชนให้ขยายโครงสร้างและโครงข่ายพื้นฐานทางดิจิทัลให้กับประเทศให้มากที่สุดอย่างต่อเนื่อง จนความพยายามดังกล่าวของเราประสบความสำเร็จ ทำให้ประเทศไทยเป็นประเทศแรกในภูมิภาค อาเซียน ที่มีการเปิดให้บริการ 5G เกิดขึ้นในปี 2563 

"นายฐากร ตัณฑสิทธิ์" ประธานคณะกรรมการพัฒนาและเพิ่มประสิทธิภาพเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศ พรรคไทยสร้างไทย

เทคโนโลยีดิจิทัลกำลังเป็นตัวแปรสำคัญที่จะกำหนดอนาคตของเศรษฐกิจต่างๆ ทั่วโลก  ไม่เว้นแม้แต่เศรษฐกิจไทย เทคโนโลยีดิจิทัลยังสามารถพัฒนาไปได้อีกมาก และหลายๆ ประเทศกำลังหาทาง วางบทบาทของตัวเองในยุคการเปลี่ยนผ่านของเทคโนโลยีนี้  หากประเทศไทยเรากำหนดยุทธศาสตร์ให้ประเทศได้เร็วและดี เศรษฐกิจและประชาชนจะได้รับประโยชน์อย่างมหาศาลจากการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี เกษตรกรมีรายได้เพิ่ม เพราะเทคโนโลยีช่วยลดต้นทุนแต่เพิ่มผลผลิต การสร้างศูนย์ประวัติคนไข้กลาง (Patient Record Center) เพื่อต่อยอดการรักษาพยาบาลจาก 30 บาท เป็น 30 บาท plus โดยเพิ่มประสิทธิภาพของการรักษาให้สะดวก รวดเร็วและเข้าถึงได้ง่าย ตลอดจนนำไปสู่การใช้งบประมาณในการรักษาพยาบาลที่ลดลงแต่มีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น นำไปสู่การใช้บัตรประชาชนใบเดียวรักษาได้ทุกที่ นอกจากนี้ เทคโนโลยีดิจิทัลยังเปิดช่องทางทำธุรกิจใหม่ๆ ได้อีกอย่างมากมาย

หัวใจของการสร้างเศรษฐกิจดิจิทัลอยู่ที่ 3 คำ คือ ประชาชน เอกชน และภาครัฐ ในวันนี้ผมขอเล่าให้ฟังว่าพรรคไทยสร้างไทยมีแผนสร้างเศรษฐกิจดิจิทัลอย่างไรบ้าง
    
ลำดับแรก คือ ประชาชน เราจะสนับสนุนให้คนไทยมีทักษะที่เข้ากับเศรษฐกิจยุคดิจิทัล คือ ทักษะการคำนวณและภาษาที่เข้มแข็ง ไม่ด้อยกว่าประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ เสริมด้วยทักษะการพัฒนาโปรแกรมต่างๆ ตลอดจนความคล่องตัวในการปรับตัวตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลง สิ่งที่เราทำได้เลย คือ โครงการพัฒนาทักษะดิจิทัลระดับชาติ ผ่าน online learningให้กับประชาชนทุกคนเรียนฟรี เราสามารถร่วมมือ (partner) กับ แพลตฟอร์ม (platform) การเรียนรู้ระดับโลก เช่น Coursera ซึ่งเสนอคอร์สจำนวนมากที่มีมาตรฐานระดับนานาชาติ รวมทั้งร่วมมือกับสถาบันการศึกษาต่างๆ ที่กระจายอยู่ทั่วประเทศเป็นศูนย์พัฒนาทักษะสำหรับผู้เรียนที่ต้องการเรียนตัวต่อตัว (in-person training) หรือผู้ที่ไม่สามารถเรียนจากบ้านได้ โครงการนี้จะกระจายโอกาสการเข้าถึงทักษะจำเป็นให้คนไทยไม่ว่าจะยากดีมีจน หรืออาศัยอยู่ที่ใดก็ตาม ก็สามารถใช้งานแพลตฟอร์มนี้ได้ โดยไม่มีค่าใช้จ่าย หากทำเช่นนี้ได้สำเร็จ “เราจะไม่มีแค่ค่าแรงขั้นต่ำ600บาทเท่านั้น เรายังจะมีค่าตอบแทนตามทักษะ ที่ไม่มีเพดานกำหนดไว้ด้วย”


ลำดับที่สอง คือ เอกชน เราจะสนับสนุนให้เกิดการลงทุน นวัตกรรม และการจ้างงานผ่านสองช่องทางด้วยกัน

●   ช่องทางแรก คือ การสร้าง cluster ธุรกิจดิจิทัล เพื่อสนับสนุนให้เกิดการแลกเปลี่ยนความรู้ การแข่งขันและนวัตกรรม โดยดึงดูดธุรกิจทั้งไทยและต่างชาติ ให้มีการลงทุนเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยมีศักยภาพและความพร้อมสำหรับธุรกิจใหม่ๆ ได้อีกมากในหลายภาคส่วน เช่น ภาคการเกษตร ภาคบริการ และการลงทุนในพลังงานทดแทน เป็นต้น ประเทศไทยมีจุดแข็งด้านที่ตั้งและโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ที่พร้อม เช่น ระบบอินเตอร์เน็ตความเร็วสูง ระบบการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ที่มีประสิทธิภาพ หากเราเตรียมทักษะของคนให้พร้อม ผ่อนคลายกฎระเบียบต่างๆ ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมทั้ง  มีมาตรการทางภาษี ผมเชื่อว่าจะสามารถดึงดูดทั้งธุรกิจขนาดใหญ่และ Tech Start-up มาลงทุนในไทยได้ไม่น้อย

ช่องทางที่สอง คือ การจัดตั้งกองทุนเศรษฐกิจดิจิทัลชุมชน เพื่อสนับสนุนให้เกิดธุรกิจดิจิทัลในระดับหมู่บ้าน โดยจัดทำในรูปแบบการร่วมทุนระหว่างภาครัฐและเอกชนอย่างที่หลายประเทศกำลังเริ่มทำกัน ในระยะแรก รัฐร่วมลงทุนในธุรกิจที่มีศักยภาพของชุมชน และช่วยอำนวยความสะดวกด้านกฎระเบียบต่างๆ  เมื่อธุรกิจประสบความสำเร็จภาครัฐอาจจะขายหุ้นคืนให้ผู้ประกอบการนั้นๆ หรือรับเงินปันผลในระยะยาว เพื่อให้ผู้ประกอบการดิจิทัล สามารถดำเนินการได้ด้วยตัวเอง และนำเงินที่รัฐได้จากธุรกิจดิจิทัลที่ประสบความสำเร็จกลับมาเข้ากองทุน เพื่อหมุนเวียนสร้างธุรกิจดิจิทัลรายใหม่ๆ ต่อไป โดยกองทุนนี้จะใช้งบจัดตั้งประมาณในครั้งแรก 15,000 ล้านบาท โดยกระจายให้กับหมู่บ้าน 75,032 หมู่บ้านทั่วประเทศ เฉลี่ย ประมาณ 2 แสนบาทต่อหมู่บ้าน ซึ่งเงินจำนวนดังกล่าว มาจากการประสานความร่วมมือจากผู้ให้บริการแพลตฟอร์มระดับโลกที่ใช้โครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมของประเทศและเปิดให้บริการในเมืองไทย โดยที่ไม่เป็นการผลักภาระให้ประชาชนและไม่เป็นภาระงบประมาณของรัฐ แต่หากมีความจำเป็นว่าเงินดังกล่าวไม่เพียงพอ ก็อาจจะมีการระดมทุนผ่านช่องทางการออกพันธบัตรรัฐบาล 

ทั้งนี้ กลไกของการบริหารกองทุนเศรษฐกิจดิจิทัลชุมชน จะมีคณะกรรมการบริหารกองทุนกลางซึ่งมีหน้าที่เพียงจัดสรรเงินให้กับกองทุนดิจิทัลชุมชนในแต่ละหมู่บ้านเพื่อเป็นผู้อนุมัติ เพื่อตอบสนองความต้องการและใช้สินค้าและบริการชุมชนนั้นๆ โดยองค์ประกอบของคณะกรรมการฯ จะปลอดจากระบบราชการส่วนกลาง เป็นอิสระ เพื่อความคล่องตัวและรวดเร็วในการบริหารจัดการ

ลำดับที่สาม คือ ภาครัฐ เราจะทำให้ภาครัฐมีบทบาทสำคัญ 4 อย่าง 

หนึ่ง คือ การวางยุทธศาสตร์เศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศ เพื่อสนับสนุนให้ประชาชนและธุรกิจได้ประโยชน์สูงสุด ประเทศไทยสามารถเป็นจุดเชื่อมระหว่างตะวันออกและตะวันตก ภาครัฐจะต้องสร้างความสัมพันธ์ในระดับนโยบายกับนานาชาติ เพื่อให้เศรษฐกิจดิจิทัลไทยสอดรับกับการเปลี่ยนแปลงของกระแสโลก 

สอง รัฐจะต้องร่วมมือกับเอกชนสร้างเศรษฐกิจดิจิทัลโดยเฉพาะในช่วงเริ่มต้น ไม่ใช่เป็นเพียงผู้ออกและบังคับใช้กฎเกณฑ์เท่านั้น แต่จะต้องมีการปรับปรุงและพัฒนากฏ ระเบียบเพื่อไม่ให้เป็นอุปสรรคในการทำงานร่วมกับเอกชน และยกเลิกกฏหมาย กฏ ระเบียบที่ไม่จำเป็น และล้าสมัยอันเป็นอุปสรรคในการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล

สาม รัฐจะต้องเปลี่ยนแปลงรูปแบบการให้บริการประชาชน ไม่ว่าจะเป็นด้านสุขภาพ การศึกษา หรือกฎระเบียบขั้นตอนต่างๆ ให้อยู่ในรูปแบบของดิจิทัล เพื่อให้สะดวกรวดเร็ว ลดค่าใช้จ่ายและตอบโจทย์ประชาชนมากขึ้น 
● สุดท้าย จะต้องใช้เทคโนโลยีเป็นเครื่องมือให้ประชาชนสามารถตรวจสอบถ่วงดุลภาครัฐได้ เช่น เปิดช่องทางให้ประชาชนสามารถร้องเรียน หรือให้ความเห็น ข้อเสนอแนะกลับมาได้สะดวกมากขึ้น รวมทั้งมีนโยบายที่ชัดเจนเพื่อป้องกันข้อมูลดิจิทัลของประชาชนไม่ให้รั่วไหล 

"คนรุ่นผม  คงจำกันได้ เราเรียนและทำงานในช่วงที่เศรษฐกิจไทยเปลี่ยนผ่านจากภาคการเกษตรมาเป็นภาคอุตสาหกรรม ก่อนเกิดวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 เศรษฐกิจไทยเคยเติบโตได้สูงที่สุดประเทศหนึ่งในโลก ความยากจนช่วงนั้นลดลง คนลืมตาอ้าปากได้ บรรยากาศในสังคมเต็มไปด้วยความหวัง  ความสุข และพร้อมจะก้าวไปข้างหน้าอย่างมั่นคง" 

ผมเชื่อมั่นเป็นอย่างยิ่งว่า สิ่งที่ผมนำเสนอในนามของพรรคไทยสร้างไทยในครั้งนี้ จะทำให้เราได้เห็นการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจที่จะหวนกลับมายิ่งใหญ่อย่างในอดีตอีกครั้ง แต่คราวนี้จะเป็นในรูปแบบของเศรษฐกิจดิจิทัลที่จับต้องได้ 

ถ้าเราจับโอกาสนี้ไว้ให้ดี ไม่ปล่อยให้หลุดมือไป เศรษฐกิจที่โตดี โตทั่วถึง โตยั่งยืน ก็อยู่ไม่ไกลเกินเอื้อม เราพร้อมที่จะใช้ประสบการณ์ที่มี พร้อมทำงานร่วมกับคนรุ่นใหม่ เพื่อสนับสนุนคนรุ่นใหม่ให้เป็นกำลังสร้างอนาคตของชาติ เพื่อสร้างอนาคตไทยต่อไป

วันนี้ เวลาไม่รอใครแล้ว ถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องร่วมกันสร้างความหวัง โอกาส และความกินดีอยู่ดี  ให้คนไทยกลับคืนมาอีกครั้ง ผมจะทำให้เศรษฐกิจดิจิทัลเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประชาชนทุกคนอย่างเท่าเทียม เพื่อสร้างให้เศรษฐกิจไทยเข้มแข็ง สร้างความยั่งยืนให้กับประเทศไทย เรามั่นใจ “เราทำได้ และทำในทันที เพื่อส่งมอบประเทศไทยที่ดีกว่าให้กับลูกหลานของเราต่อไป”

logoline