svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

เลือกตั้ง66 เจาะลึก"นโยบายหาเสียง" พรรคการเมือง โดนใจกันแค่ไหน

25 มีนาคม 2566
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

"เลือกตั้ง66" กำหนดกติกา บัตรเลือกตั้งสองใบ ใบหนึ่งเลือกผู้สมัครแบบแบ่งเขตที่รัก อีกใบหนึ่งเลือกพรรคที่ชอบ น่าสนใจว่าผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งจะใช้เกณฑ์ใดในการเลือกพรรค ติดตามในโพลิทิกส์พลัส โดย"โคทม อารียา"

"ระบบเลือกตั้ง"ผสมแบบคู่ขนานที่จะใช้ในการเลือกตั้ง วันที่ 14 พฤษภาคม 2566 นั้น จะมีบัตรเลือกตั้งสองใบ ใบหนึ่งเลือกผู้สมัครแบบแบ่งเขตที่รัก อีกใบหนึ่งเลือกพรรคที่ชอบ

น่าสนใจว่าผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งจะใช้เกณฑ์ใดในการเลือกพรรค เกณฑ์การเลือกเกณฑ์หนึ่งอาจเป็นเรื่องตัวบุคคล เช่น เลือกเพราะชอบหัวหน้าพรรค หรือชอบบุคคลสำคัญที่พรรคเสนอชื่อให้รัฐสภาเลือกเป็นนายกรัฐมนตรี หรือชอบและเชื่อความสามารถของทีมเศรษฐกิจ เป็นต้น

เกณฑ์การเลือกพรรคอีกเกณฑ์หนึ่งคือชอบนโยบายด้านเศรษฐกิจ-ด้านสังคม-ด้านการเมือง ของพรรค ในเรื่องความชอบนั้น มักเป็นในเรื่องการใช้สมองประมวลข้อมูล แต่ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องของใจที่สรุปผลด้านอารมณ์ความรู้สึกนั่นเอง

แม้เหตุผลและข้อมูลอาจสำคัญน้อยกว่าเรื่องความรู้สึก แต่จะขอเสนอข้อมูลเกี่ยวกับพรรคการเมืองบ้างเล็กน้อยเพื่อประกอบการตัดสินใจ 
พรรคฝ่ายรัฐบาลปัจจุบัน

เลือกตั้ง66 เจาะลึก"นโยบายหาเสียง" พรรคการเมือง โดนใจกันแค่ไหน

"พรรคพลังประชารัฐ" ภายใต้การนำพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นหัวหน้าพรรค ได้รับเสนอเป็นแคนดิเดตนายกฯ  มีคำขวัญ "ก้าวข้ามความขัดแย้ง" ตัวอย่างนโยบายทางเศรษฐกิจ  5 ล้าน smart SMEs

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา  สมาชิกพรรครวมไทยสร้างชาติ

"พรรครวมไทยสร้างชาติ" มีนายพีระพันธุ์  สาลีรัฐวิภาค เป็นหัวหน้าพรรค เสนอชื่อ"พล.อ.ประยุทธ์" เป็นแคนดิเดตนายกฯเบอร์หนึ่ง ส่วนนายพีระพันธ์เป็นแคนดิเดตนายกเบอร์สอง มี ม.ล.ชโยทิต เป็นหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ มีคำขวัญ ทำแล้ว ทำอยู่ ทำต่อ  ตัวอย่างนโยบายหาเสียงเศรษฐกิจ   บัตรสวัสดิการ 1,000 บาท/เดือน

"พรรคภูมิใจไทย"  มี"นายอนุทิน ชาญวีรกูล" เป็นหัวหน้าพรค ได้รับเสนอชื่อเป็นแคนดิเดตนายกฯของพรรค  คำขวัญ"พูดแล้วทำ" ตัวอย่างนโยบายเศรษฐกิจ  พักหนี้ ไฟฟ้าประชาชน

"พรรคประชาธิปัตย์" มี"นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์" เป็นหัวหน้าพรรคและเป็นแคนดิเดตนายกฯ คำขวัญ สร้างงาน สร้างคน สร้างชาติ   นโยบายเศรษฐกิจ เช่น ชาวนารับ  30,000 บาท/ครัวเรือน

"พรรคชาติไทยพัฒนา"  มีนายวราวุธ  ศิลปอาชา เป็นหัวหน้าพรรค เสนอเป็นแคนดิเดตนายกฯ  คำขวัญ ว้าวไทยแลนด์   ตัวอย่างนโยบายทางเศรษฐกิจ สร้างเศรษฐกิจสีเขียว

"พรรคชาติพัฒนากล้า"  มีนายกรณ์  จาติกวณิช เป็นหัวหน้าพรรค  คำขวัญงานดี เงินดี ของไม่แพง   ตัวอย่างนโยบายทางเศรษฐกิจดี ยุติความขัดแย้ง

พรรคฝ่ายค้านในปัจจุบัน + พรรคไทยสร้างไทย

"พรรคเพื่อไทย"  มีนายแพทย์ชลน่าน  ศรีแก้ว เป็นหัวหน้าพรรค เสนอ แพทองธาร ชินวัตร และเศรษฐา  ทวีสิน ว่าที่แคนดิเดตนายกฯ มีคำขวัญ คิดใหญ่ทำใหญ่ เพื่อไทยทุกคน ตัวอย่างนโยบายเศรษฐกิจ ค่าแรงวันละ 600 ในปี 2570

อุ๊งอิ๊งค์ แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าครอบครังเพื่อไทย

"พรรคก้าวไกล" ภายใต้การนำ"นายพิธา  ลิ้มเจริญรัตน์" หัวหน้าพรรค มีหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ ศิริกัญญา คำขวัญ กาก้าวไกล ประเทศไทยไม่เหมือนเดิม  ตัวอย่างนโยบายเศรษฐกิจ เกี่ยวกับรัฐสวัสดิการ

"พรรคไทยสร้างไทย"  นำโดย"คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธ์ุ   มีคำขวัญ "สู้เพื่อคนตัวเล็ก" ผู้หญิงทุกคนต้องมีงานทำ

คุณหญิงสุดารัตน์  เกยุราพันธุ์  หัวหน้าพรรคไทยสร้างไทย จากภาพกว้างที่ให้ข้อมูลเกี่ยวกับพรรคการเมืองต่าง ๆ จะขอกล่าวถึงนโยบายในบางด้านของพรรคการเมืองบางพรรค แต่จะเว้นไม่กล่าวถึงนโยบายด้านเศรษฐกิจ ซึ่งแสดงอยู่ตามป้ายหาเสียง และสัญญาว่าจะทำให้เศรษฐกิจไทยเป็นเลิศ เช่น ให้ความยากจนหมดไป การคอร์รัปชันเบาบางลง ฯลฯ เหมือนเสกด้วยคาถา แต่สัญญาในเชิงนโยบายเศรษฐกิจที่ใช้ในการหาเสียงครั้งนี้ น่าจะใช้เงินมากมาย

เอาแค่การเทกระจาดโดยมติคณะรัฐมนตรีเมื่อไม่นานมานี้ มีการซื้อใจกันด้วยเงินประมาณ 1.3 แสนล้านบาท เพื่อเพิ่มค่าตอบแทนกำนันผู้ใหญ่บ้านคนละ 2,000 บาท รวมเป็นเงินประมาณ 6.7 หมื่นล้านบาท เพิ่มค่าตอบแทน พนักงาน อบต. กว่า 4 แสนคน รวมเป็นงบประมาณปีละ 2.5 หมื่นล้านบาท เพิ่มค่าตอบแทน อสม. กว่า 1 ล้านคนจากเดือนละ 1,000 บาท เป็น 2,000 บาท ซึ่งต้องใช้งบประมาณเพิ่มขึ้นปีละ 2.6 หมื่นล้านบาท

น่ายินดีสำหรับคนที่ได้รับเงินเพิ่ม ถ้ายุบสภาแล้ว คณะรัฐมนตรีจะอนุมัติเงินผูกพันเช่นนี้ไม่ได้ จึงอนุมัติเฉียดวันยุบสภาไม่กี่วัน ทำให้สงสัยว่าจะมีผลต่อคะแนนเสียงหรือไม่เพียงใด

อีกประการหนึ่ง ในระดับเศรษฐกิจมหภาค รัฐบาลได้ตั้งเป้าหมายไว้ในยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ปัจจุบันเวลาผ่านไป 5 ปี จึงได้มีการแก้ไขปรับปรุงเป้าหมาย แต่แม้จะปรับปรุงแล้ว ก็ยากเหลือเกินที่จะทำให้ได้ผลตามนั้น เช่น ตั้งเป้าหมายว่า ระหว่างปัจจุบันถึงปี 2570, ระหว่างปี 2570 ถึง 2575, และระหว่างปี 2575 ถึง 2580  คือทุก ๆ 5  ปีจนครบระยะ 20 ปีของยุทธศาสตร์นั้น ดัชนีความยากจนจะลดลงปีละ 5 %, 10%, และ 15% ตามลำดับ ถ้าทำได้เช่นนี้ คนจนจะหมดไปในปี 2580

 

อีกเป้าหมายหนึ่งคือความโปร่งใส เป้าหมายที่ตั้งไว้คือ ภายในปี 2570 ไทยจะอยู่ในกลุ่ม 43 ประเทศที่มีดัชนีความโปร่งใสสูงเทียบกับบรรดา 180 ประเทศของโลก ห้าปีถัดไป เราจะอยู่ในกลุ่ม 32 ประเทศที่โปร่งใส เมื่อถึงปี 2580 ซึ่งเป็นปีสุดท้ายของยุทธศาสตร์ อันดับความโปร่งใสจะไม่ต่ำกว่า 20 ซึ่งนับว่ารวดเร็วมากจนจวนจะทันสิงค์โปร์ อย่าลืมว่าถ้าทำไม่ได้ตามเป้าหมายของยุทธศาสตร์ชาติ รัฐบาลจะทำผิดรัฐธรรมนูญ ผมจึงคิดว่า นโยบายเศรษฐกิจไม่ควรเป็นแค่การขายฝัน แต่ควรทำได้จริง จึงน่าจะโหวตให้
     กรณ์ จาติกวณิช  หัวหน้าพรรคชาติพัฒนากล้า

มีนโยบายบางเรื่องที่ผมคิดว่าไม่ค่อยซ้ำแบบใครและน่ารับฟัง แม้ไม่ถึงกับเชียร์นโยบายเหล่านั้นมากกว่านโยบายอื่น ๆ โดยจะขอเริ่มด้วยนโยบายของ"พรรคชาติพัฒนากล้า"

ในระดับโลก เกิดวิกฤต เช่น สงครามการค้า โรคระบาดโควิด-19 สงครามยูเครน-รัสเซีย เทคโนโลยีดิสรัปชั่น ภาวะโลกร้อน ฯลฯ ผลที่ตามมาคือการขึ้นอัตราดอกเบี้ย ภาวะเงินเฟ้อ จีดีพีโลกกลับมาไม่ 1% วันนี้โลกวุ่นวายมาก เกิดการจัดกลุ่มของประเทศมหาอำนาจใหญ่ เกิดการย้ายฐานการลงทุน วิกฤตครั้งนี้หนักมาก พรรคการเมืองจึงต้องร่วมมือกัน และการเลือกตั้งครั้งนี้ควรเป็นทางออก เพื่อให้ทุกคนมีงาน มีเงิน ของไม่แพง โดยการสร้างแพลตฟอร์มเศรษฐกิจใหม่

"พรรคชาติพัฒนากล้า"มีข้อเสนอการหาเงินใหม่ให้ประเทศ 5 ล้านล้านบาท ด้วยยุทธศาสตร์เศรษฐกิจเฉดสี ประกอบด้วย เศรษฐกิจสร้างสรรค์โดยอาศัยกองทุนซอฟต์เพาเวอร์ เศรษฐกิจวัยเก๋าเพื่อสร้างงานผู้สูงวัย เศรษฐกิจสีเทาโดยเปลี่ยนส่วยเป็นภาษี เศรษฐกิจสายเทคโดยลดภาษีสตาร์ตอัพ เศรษฐกิจสีเขียวที่สนับสนุนให้ทุกบ้านขายไฟฟ้าได้ เศรษฐกิจสายมูโดยจัดสรรงบประมาณให้จังหวัด ๆ ละพันล้านบาทเพื่อสร้างแหล่งท่องเที่ยวศักดิ์สิทธิ์ และเศรษฐกิจสีรุ้งที่เปิดกว้างต่อสาย LGBTQ และยอมรับการสมรสเท่าเทียม

หัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนาเป็นเจ้ากระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จึงมีนโยบายเกี่ยวกับภาวะโลกร้อน 6 ข้อ ซึ่งมี 2 ข้อที่น่าสนใจคือ ส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาองค์ความรู้เพื่อความยั่งยืน และการปลูกจิตสำนึกในการอนุรักษ์ นั่นคือ ต้องใช้ทั้งความรู้และจิตใจจึงจะรับมือกับวิกฤตดินฟ้าอากาศร่วมกันได้ ในเรื่องเดียวกันนี้ พรรคก้าวไกลมีนโยบายที่เป็นรูปธรรมหลายข้อ

เช่น เปิดตลาดเสรีด้านการผลิตพลังงานไฟฟ้าและส่งเสริมไฟฟ้าสะอาด ป้องกันการเผาและเปลี่ยนก๊าซเรือนกระจกเป็นรายได้ จำกัดการปล่อยมลพิษอุตสาหกรรม ให้ทุกโรงงานเปิดเผยข้อมูลสารพิษอันตรายและการปล่อยก๊าซเรือนกระจก กำจัดขยะอาหารเหลือทิ้ง และปลูกป่าแลกเงิน เพิ่มพื้นที่สีเขียว

พิธา  ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคกล้า

มีพรรคการเมืองสองพรรคที่เสนอให้ปฏิรูปองค์กรที่มีอำนาจ เหมือนกับอาสาเอากระพรวนไปผูกคอแมว ด้วยความคิดที่ว่าต้องแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ หรือด้วยความเข้าใจว่า ถ้าผู้มีอำนาจไม่เปลี่ยน แรงเฉื่อยของระบบการเมืองก็จะพากลับมาที่อำนาจนิยมและการคอร์รัปชันอยู่ดี จุดคานงัดของระบบการเมืองอยู่ที่กองทัพและที่ตำรวจใช่หรือไม่ พรรคเสรีรวมไทยมีนโยบาย “การปฏิรูปกองทัพ”

โดยระบุว่า การเมืองไทยเป็นวังวนของการเลือกตั้ง รัฐประหาร เลือกตั้งใหม่ จัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ ซึ่ง 91 ปี เกิดการรัฐประหาร 13 ครั้ง ประเทศเสียโอกาสไปมาก ดังนั้นจึงเสนอแนวทางตัดวงจรการรัฐประหาร 4 แนวทาง

แนวทางแรกไม่ให้กองทัพเข้ามายุ่งเกี่ยวกับการเมือง โดยเสนอแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 113 ที่ระบุพฤติกรรมความผิดต่อความมั่นคงของรัฐและราชอาณาจักร มีโทษจำคุกตลอดชีวิตและประหารชีวิต โดยให้เพิ่มความในมาตราดังกล่าวว่า “การรัฐประหารเป็นความผิดที่ไม่มีอายุความและไม่สามารถนิรโทษกรรมได้”

แนวทางที่ 2 กองทัพต้องมีความโปร่งใสในการบริหารงบประมาณ ทั้งเงินในและนอกงบประมาณ โดยการใช้เงินกองทัพในการจัดซื้ออาวุธยุทธโปกรณ์ต้องไม่ถูกตีตราเป็นเอกสารลับและใช้เงินนอกงบประมาณ สภาผู้แทนราษฎรต้องตรวจสอบได้

แนวทางที่ 3 เปลี่ยนกองทัพให้เล็กแต่ทันสมัย ลดจำนวนนายพลในกองทัพ ยกเลิกการเกณฑ์ทหารให้ใช้ระบบอาสาสมัคร ลดอายุประจำการเหลือ 1 ปี และเน้นใช้เทคโนโลยีแทนกำลังคน

และแนวทางที่ 4 เสนอย้ายที่ตั้งกองทัพและหน่วยงานในสังกัดทั้งหมดออกนอกพื้นที่กรุงเทพมหานคร โดยให้ไปใช้สถานที่ของกองทัพในต่างจังหวัดแทน เพื่อนำพื้นที่ดังกล่าวไปใช้เป็นสวนสาธารณะแหล่งเรียนรู้ในสังคม หรือจัดทำเป็นแหล่งพาณิชย์นำรายได้สู่รัฐ
พรรคก้าวไกลเสนอนโยบายปฏิรูปกองทัพ ดังนี้ 

– ทำให้รัฐบาลพลเรือนอยู่เหนือกองทัพ 
– หยุดการแทรกแซงทางการเมืองโดยกองทัพ 
– ลดขนาดกองทัพ ลดจำนวนนายพล
– คุ้มครองทหารชั้นผู้น้อย
– คืนธุรกิจกองทัพให้รัฐบาล
– คืนที่ดินกองทัพให้ประชาชน
– ยกเลิกเกณฑ์ทหาร 

ขณะเดียวกัน "พรรคก้าวไกล"เสนอนโยบายการปฏิรูปตำรวจ โดยจะปรับโครงสร้างตำรวจให้ยึดโยงกับประชาชน ในระดับประเทศ จะมีคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) ที่คอยป้องกันการใช้เส้นสาย ทำให้ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ต้องทำงานอยู่ในสายตาประชาชนตลอดเวลา ในระดับจังหวัด จะมีคณะกรรมการนโยบายความปลอดภัยสาธารณะจังหวัด ซึ่งองค์กรท้องถิ่นและภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม สามารถลงมติว่าจะเห็นชอบนายตำรวจที่ ก.ตร. ตั้งขึ้นมาเป็นผู้บังคับการจังหวัดนั้น ๆ หรือไม่ และช่วยประเมินคุณภาพการทำงานของตำรวจในจังหวัด

ในเรื่องการตรวจสอบ "พรรคก้าวไกล" เสนอให้มีคณะกรรมการรับเรื่องร้องเรียนที่เป็นอิสระแยกจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) อย่างเด็ดขาด ทำงานไต่สวนข้อเท็จจริงเกี่ยวกับตำรวจ โดยขึ้นตรงต่อรัฐสภาและมีกระบวนการคัดเลือกที่โปร่งใส ยึดโยงกับประชาชน เพื่อขจัดปัญหาประโยชน์ทับซ้อนของตำรวจที่อาจช่วยเหลือกันเอง

นอกจากนี้ ยังเสนอให้นายตำรวจชั้นประทวนที่จบการศึกษาปริญญาตรี ได้สิทธิเลื่อนยศเป็นชั้นสัญญาบัตร เปิดรับคนทุกเพศเข้าเรียนนายร้อยตำรวจ ผลักดันให้มีตำรวจหญิงทุกโรงพัก เพื่อเป็นพื้นที่อุ่นใจสำหรับเหยื่อผู้ถูกคุกคามทางเพศ ยกเลิกการบังคับตำรวจตัดผมเกรียน เปลี่ยนการฝึกสอนตำรวจเหมือนแบบทหาร มาเป็นการอบรมด้านสิทธิมนุษยชน และคุณค่าของการอยู่ร่วมกันในสังคม

พล.ต.อ.เสรีพิศุทธิ์ เตมียาเวส หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย

"พรรคเสรีรวมไทย"มีนโยบายปฏิรูปตำรวจเพื่อประชาชน กู้วิกฤตศรัทธาตำรวจอาชีพ ผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ โดยการแก้ไข พ.ร.บ.ตำรวจ พ.ศ. 2565 รวมทั้งให้คณะกรรมการข้าราชการตำรวจต้องมาจากการเลือกตั้ง, ข้าราชการตำรวจชั้นประทวนต้องจบปริญญาตรี, แยกงานป้องกันออกจากงานปราบปรามโดยเด็ดขาด และปรับปรุงงบประมาณและสวัสดิการให้เพียงพอในการปฏิบัติหน้าที่

นโยบายด้านการเมืองที่สำคัญคือการกระจายอำนาจ พรรคการเมืองหลายพรรคมีนโยบายในเรื่องนี้

-  พรรคชาติไทยพัฒนามีนโยบายสนับสนุนงบประมาณให้องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ปีละ 10 ล้านบาท และมีนโยบายการพัฒนาพื้นที่ที่เหมาะสมและประชาชนต้องการให้มีการปกครองท้องถิ่นแบบพิเศษ

-  พรรคประชาชาติ มีนโยบายความเท่าเทียมกันของโอกาส คนที่อยู่ในเมืองและคนที่อยู่ในชนบท ถือว่าเท่าเทียมกันในโอกาส ซึ่งการกระจายอำนาจสู่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนความเท่าเทียมกันนี้ โดยให้ชุมชนเป็นศูนย์กลาง การกระจายงบประมาณและการกระจายอำนาจจะทำให้ชัยชนะและสันติสุขอยู่ที่ท้องถิ่นและครอบครัว 

-  พรรคประชาธิปัตย์ได้ประกาศนโยบายการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นมากว่า 70 ปี เพื่อให้ประชาชนมีความเข้มแข็งโดยนำผู้ที่ทราบถึงปัญหามาแก้ปัญหา ไม่ใช่นำผู้คนจากส่วนกลางไปแก้ปัญหาให้ท้องถิ่น ประชาชนมีความต้องการแตกต่างกัน การบริหารและแก้ปัญหาจากส่วนกลางไม่สามารถแก้ได้ทั้งหมด

-  พรรคก้าวไกลเสนอนโยบายดังนี้

ก) จัดให้มีประชามติยกเลิกราชการส่วนภูมิภาค โดยไม่มีใครตกงาน-เสียประโยชน์

ข) เลือกตั้งนายกจังหวัด ทุกจังหวัดทั่วประเทศ, เลือกตั้งนายกเขต ทุกเขตใน กทม. ข้าราชการทุกสังกัดมีศักดิ์และสิทธิ์เท่ากัน โยกย้ายก้าวหน้าได้

ค) ในด้านงบประมาณ จะเพิ่มงบจังหวัดจัดการตนเองทุกปี และให้ท้องถิ่นมีช่องทางหารายได้ใหม่ เช่น กู้เงิน-ออกพันธบัตร-ตั้งบริษัท-จัดเก็บภาษี

ง) ในด้านบริการสาธารณะ ให้ท้องถิ่นจัดทำได้ทั้งหมด เช่น ดูแลถนน-คูคลอง-แหล่งน้ำ-การขนส่ง-สิ่งแวดล้อม-การพิสูจน์สิทธิที่ดิน-โรงงาน-โรงแรม-สถานบริการ ฯลฯ ทั้งนี้ ยกเว้นงานด้าน ทหาร-ศาล-เงินตรา

- พรรคเพื่อไทยเสนอให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดในจังหวัดที่มีความพร้อม จะลดอำนาจของราชการส่วนภูมิภาค และเพิ่มอำนาจให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เช่น ในปี 2570 พรรคเพื่อไทยตั้งเป้ากระจายอำนาจจากโรงพยาบาลของรัฐไปยังท้องถิ่นในรูปแบบองค์การมหาชน หรือกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน

- ในระหว่างที่สมัครเป็นสมาชิกพรรครวมไทยสร้างชาติ นายโกวิทย์ พวงงามได้เสนอต่อหัวหน้าพรรคให้

ก) เพิ่มเงินอุดหนุนให้แก่ท้องถิ่น (อปท.) เป็นสัดส่วนร้อยละ 35 ในปีงบประมาณ 2567

ข) เพิ่มหน้าที่และอำนาจให้แก่ท้องถิ่น และลดความซ้ำซ้อนระหว่างส่วนราชการกับท้องถิ่น

ค) เร่งรัดจัดให้มีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) รูปแบบพิเศษในพื้นที่เมืองที่มีศักยภาพ เช่น เมืองท่องเที่ยว เมืองชายแดน เมืองที่เป็นเกาะ เป็นต้น

ง) เร่งรัดปรับปรุงระเบียบบริหารราชการบุคคลของข้าราชการท้องถิ่น และพนักงานท้องถิ่น ให้มีศักดิ์ศรีเทียบเท่าข้าราชการ โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เหมือน ก.พ. 

-    ในส่วนของ"พรรคพลังประชารัฐ" มีการเสนอบันได 4 ขั้นคือ

ก) การกระจายการตัดสินใจให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ลดการกำกับจากส่วนกลาง และภูมิภาคให้น้อยลง

ข) การเพิ่มงบประมาณใหม่ให้ อปท. จาก 29.6 % เป็น 35 %

ค) มีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ สำหรับท้องถิ่นที่มีการเติบโตด้านเศรษฐกิจ เช่น ภูเก็ต แม่สอด เกาะสมุย และ

ง) เพิ่มอำนาจการเก็บภาษีใหม่ ๆ เช่น ภาษีการพักอาศัย ภาษีท่องเที่ยว ภาษีการพัฒนาพื้นที่พิเศษเฉพาะ

นอกจากนี้ ให้ท้องถิ่นเพิ่มบทบาทในด้านการส่งเสริมการท่องเที่ยว ไปจนถึงเรื่องการสร้างโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อนำรายได้ใหม่เข้าสู่ท้องถิ่น
นโยบายสุดท้ายที่จะขอนำเสนอในบทความนี้คือความเท่าเทียมทางเพศภาวะ อันที่จริงมีหลายพรรคที่มีข้อเสนอในเรื่องนี้ แต่จะขอยกตัวอย่างเพียง 2 พรรค ดังนี้

-    พรรคก้าวไกลเสนอ

ก) ผ้าอนามัยไม่เก็บ VAT แจกฟรีในโรงเรียน

ข) ปฏิรูปการสอนเพศศึกษา ส่งเสริมความเสมอภาคทางเพศ

ค) ให้มีตำรวจหญิงทุกสถานี

ง) ปรับปรุงกฎหมายต่อต้านความรุนแรงทางเพศ

จ) รับรองการสมรสเท่าเทียม คู่รักทุกเพศแต่งงานกันได้

ฉ) รับรองทุกเพศสภาพให้ใช้คำนำหน้าตามสมัครใจ ยุติการตั้งครรภ์ไม่เกิน 12 สัปดาห์ รับยาฟรี ทุก รพ.สต. , สิทธิลาคลอด 180 วัน พ่อแม่แบ่งกันได้, ศูนย์เลี้ยงเด็กใกล้บ้าน, ห้องปั๊มนมในที่ทำงาน ด้วยการเพิ่มงบประมาณให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) นำไปบริหารจัดการเกี่ยวกับการดูแลเด็กเล็กในรูปแบบที่เหมาะสมกับพื้นที่ของตน, และตรวจมะเร็งฟรี ไม่ต้องรอหมอสั่งใน Package ตรวจสุขภาพประจำปีฟรี, ตรวจคัดกรองฟรีสำหรับมะเร็ง 5 ชนิดที่พบบ่อยในหญิงไทย

- ข้อเสนอเชิงนโยบายของพรรคไทยสร้างไทยมีดังนี้ ก) เพิ่มจำนวน ส.ส. ผู้หญิงในสภา ข) ตั้ง “ศูนย์พัฒนาศักยภาพผู้หญิง Woman Care” ในอำเภอ 878 อำเภอทั่วประเทศไทย เพื่อให้ผู้หญิงทุกคนมีงานทำ มีอาชีพที่มั่นคง ค) จัดตั้งกองทุนสำหรับแม่เลี้ยงเดี่ยว ปัจจุบันมีแม่เลี้ยงเดี่ยวประมาณ 370,000 คน ซึ่งมากกว่าพ่อเลี้ยงเดี่ยว 4 เท่า 

ถ้าอ่านบทความนี้จบ ท่านพอตัดสินใจเลือกพรรคใดได้แล้วหรือยัง หรือจะหาข้อมูลต่อไปก็ยิ่งดี อย่างไรก็ตาม ขอให้ไปใช้สิทธิ์ของท่านในวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 เพื่อทำสถิติร่วมกันให้ถึง 80 % อนาคตอยู่ที่การตัดสินใจของเรา อย่าให้ใครก็ตามมาตัดสินใจแทน  

logoline