svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

"นิติพล"ถอดบทเรียนซีเซียม-137 รัฐล่าช้า-ไร้แผน คลี่คลายได้เพราะโชคดี

25 มีนาคม 2566
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

"นิติพล ก้าวไกล" ถอดบทเรียน สารซีเซียม-137 รัฐแก้ไขล่าช้า ไม่มีแผนรับมือหากสถานการณ์วิกฤต อัดคลี่คลายได้เพราะโชคดี

25 มีนาคม 2566 นายนิติพล ผิวเหมาะ อดีต ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ สัดส่วนสิ่งแวดล้อม พรรคก้าวไกล กล่าวถึงกรณีซีเซียม-137 ที่หายจากที่กักเก็บและถูกนำไปหลอมในโรงงานรีไซเคิล ว่าในเรื่องผลกระทบ เท่าที่ติดตามใกล้ชิด สถานการณ์น่าจะปลอดภัยแล้ว แต่เรื่องนี้จำเป็นที่จะต้องมีการถอดบทเรียนเพื่อไม่ให้เกิดซ้ำอีกในอนาคต เพราะเหตุการณ์แบบนี้เคยเกิดมาแล้ว ไม่ใช่ครั้งแรก

นายนิติพล กล่าวต่อว่า ต้องยอมรับว่าสารกัมมันตรังสีถูกนำมาใช้ประโยชน์ในอุตสาหกรรมหรือทางการแพทย์ในบ้านเรามานานแล้ว ประโยชน์มีมากมายแน่นอน แต่สิ่งที่เรายังทำได้ไม่รอบคอบพอคือการวางมาตรการรับมือวิกฤตในกรณีสารหลุดจากการควบคุม เพราะไม่ว่ากรณีโคบอลต์-60 เมื่อกว่ายี่สิบปีที่แล้ว หรือกรณีซีเซียม-137 ในปัจจุบัน ภาพการรับมือที่เห็นคือสภาพสับสนแบบเดียวกันเดียวกันไม่มีผิดเพี้ยน ซึ่งสารเหล่านี้เมื่อหลุดจากการควบคุมสามารถสร้างผลกระทบได้มหาศาล แม้เพียงปริมาณน้อยนิดก็อาจทำให้ถึงแก่ชีวิตได้ ที่สำคัญคือตกค้างยาวนานและสามารถกระจายออกไปส่งผลกระทบได้ไกลๆ 

"จากกรณีโคบอลต์-60 มาถึง ซีเซียม-137 เราจะเห็นสิ่งที่เหมือนๆกันคือความสับสนในการให้ข่าว พูดคนละทีสองทีเหมือนพยายามปกปิดปัญหา อีกทั้งยังมีความล่าช้าในการแจ้งเตือนดังที่โดนแซวว่าเหตุเกิดวันอาทิตย์ ข้าราชการหยุด จะเริ่มให้ข่าวอะไรต้องรอวันจันทร์ ทั้งที่เรื่องเกี่ยวกับชีวิตคนรอไม่ได้"

นายนิติพล กล่าวอีกว่า ที่แย่กว่านั้นก็คือรัฐบาลนี้ที่แทบไม่เห็นบทบาทอะไร ทั้งที่กรณีนี้สามารถกลายเป็นภัยพิบัติทางกัมมันตรังสีได้เลย หากมีปฏิกริยาตอบสนองแรกไม่ดีพอ แต่พวกเขากลับทำเฉยเหมือนเป็นเรื่องเล็กๆ ปล่อยให้กลไกทั่วไปทำงานไปอย่างล่าช้า สารหายไปตั้งแต่ต้นเดือนมีนาคม กระบวนการติดตามเหมือนทำไปเรื่อยๆ เจอไม่เจอก็ได้ พอเจอแล้วในโรงงานรีไซเคิลก็อ้อมแอ้มๆตอบว่า ยังไม่โดนหลอม สุดท้ายพอโดนจี้มากๆจึงค่อยยอมรับว่าโดนหลอมไปแล้ว

โชคดีที่คราวนี้สารหลุดไปไม่มาก และถูกหลอมในโรงงานระบบปิด ไม่อย่างนั้นผลคงเป็นอีกอย่างหนึ่ง เพราะการบริหารแบบนี้ไม่นำไปสู่การป้องกันความเสี่ยงใดๆให้ประชาชนได้เลย ผ่านมากว่ายี่สิบปี เทียบกันกับกรณี โคบอลต์-60 สารกัมมันตรังสีหลุดเข้าสู่โรงงานแปรรูปรีไซเคิลเหมือนกัน วิธีรับมือเหมือนกัน ต่างกันแค่ดวง เพราะคราวโคบอลต์- 60 โชคไม่ดี มีคนซวยคือซาเล้งที่คิดว่าเป็นถังเหล็กทั่วไป แต่พอเอาไปแยกส่วนแล้วโดนสารต่อๆกัน มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 3 รายหลังสัมผัสโดนราวสองเดือน ต่อมาคาดว่าน่าจะมีผู้ได้รับผลกระทบสืบเนื่องทางสุขภาพเกือบสองพันคน บางคนเป็นมะเร็งแต่ไม่สามารถเรียกร้องความรับผิดชอบจากใครได้ เพราะผลกระทบจากรังสีเป็นเรื่องระยะยาวพิสูจน์ยาก

นายนิติพล ย้ำว่า กรณีซีเซียม-137 ถือว่าโชคดีมากที่สารถูกนำไปรีไซเคิลในโรงงานสมัยใหม่ สารจึงตกผลึกกลับมาในรูปฝุ่นแดง ไม่ฟุ้งกระจายไปทางอากาศ ดิน หรือน้ำ ไม่อย่างนั้นเหตุการณ์แบบโคบอลต์-60 คงอาจเกิดซ้ำรอยได้ ทั้งนี้ เรื่องการจัดการสารกัมมันตรังสีที่นำมาใช้ประโยชน์ รัฐบาลไม่ทราบก็ไม่เป็นไร เพราะเป็นเรื่องของหน่วยงานเฉพาะต้องดูแล แต่ที่มีปัญหามากๆ คือเมื่อมีการหลุดหายรั่วไหล ไม่ว่าจะมากหรือน้อย รัฐบาลกลับไม่สามารถประเมินและตระหนักถึงความร้ายแรงของปัญหาได้ เรื่องนี้ถือเป็นความน่ากลัวมาก 

"จริงอยู่ที่ประชาชนไม่ตื่นตระหนกเป็นเรื่องดี แต่การที่รัฐบาลไม่ตระหนักเพราะประเมินปัญหาไม่ถูก มีแต่ความล่าช้า และสับสนถือเป็นเรื่องที่อันตรายมากในสถานการณ์แบบนี้ เพราะอันตรายจากสารกัมมันตรังสีอาจรุนแรงกว่าที่คิดและเราอาจไม่ได้โชคดีแบบนี้ได้ทุกครั้ง" นายนิติพล ระบุ

 

logoline