svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

ส่องยุทธวิธีพรรคการเมือง"สร้างคะแนนนิยม"พิชิตศึก"เลือกตั้ง2566"

25 มีนาคม 2566
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

เชื่อว่า"เลือกตั้ง66" แต่ละ"พรรคการเมือง"งัดยุทธวิธีที่ใช้ในการสร้างคะแนนนิยมอย่างหลากหลาย โดยผ่านการคิดวิเคราะห์ให้ตอบโจทย์ความต้องการผู้มีสิทธิลงคะแนน ยุทธวิธีที่ว่านั้นเป็นอย่างไร ติดตามใน"เจาะสนามเลือกตั้ง66"

ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ยุทธวิธีที่"พรรคการเมือง"ทั้งในประเทศไทยและในประเทศประชาธิปไตยทั่วโลกนำมาใช้เพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วมกับกิจกรรมรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง และลงคะแนนเสียงให้พรรคและหรือผู้สมัครรับเลือกตั้งของพรรคในท้ายที่สุดนั้นมีค่อนข้างหลากหลาย

ตั้งแต่การใช้อัตลักษณ์และอุดมการณ์ชาตินิยม การรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งแบบเข้าถึงตัวบุคลและผ่านสื่อต่างๆ การนำเสนอนโยบายหรือโครงการ การจูงใจผ่านการแบ่งสันปันส่วน (ผลประโยชน์) ในรัฐบาลด้วยเหตุผลทางการเมือง (pork-barrel) หรือแม้กระทั่งการใช้ประโยชน์จากความสัมพันธ์เชิงอุปถัมภ์ในรูปแบบต่างๆ (clientelism/patronage)

การเลือกใช้ยุทธวิธีต่างๆ เหล่านี้ของ"พรรคการเมือง"ขึ้นอยู่กับบทบาทของผู้นำพรรคและกลไกการตัดสินใจของพรรคการเมืองซึ่งอาจอยู่ในรูปตัวบุคคล คณะบุคคล หรือที่ประชุมสมาชิก ในการเลือกพื้นที่เป้าหมาย (เช่น เขตเลือกตั้ง) สำหรับการสร้างคะแนนนิยมจากประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง รวมถึงการเลือกแนวทางที่พรรคจะใช้เพื่อบรรลุผลตามเป้าหมายในการชนะการเลือกตั้งของพรรคนั้นๆ   

ในหลายกรณี ผู้นำพรรคและกลไกการตัดสินใจของพรรคการเมืองจะเป็นผู้เลือกว่าผู้มีสิทธิเลือกตั้งกลุ่มใดคือเป้าหมายของพรรค และจะใช้ยุทธวิธีใดในการสร้างคะแนนนิยมจากผู้มีสิทธิเลือกตั้งเหล่านั้น โดยการดำเนินการตามยุทธวิธีที่เลือกนี้ พรรคการเมืองอาจเลือกที่จะแสวงหาความร่วมมือหรือการสนับสนุนจากผู้มีสิทธิเลือกตั้งทุกกลุ่ม หรือเลือกเฉพาะกลุ่มที่มีผลประโยชน์ แนวทางหรือจุดยืนทางการเมืองบางอย่างใกล้เคียงกัน หรืออาจจะเลือกเฉพาะกลุ่มที่มีอัตลักษณ์ทางภาษา อาชีพ หรือเชิงพื้นที่ที่สอดคล้องกับพรรคของตนอย่างเคร่งครัดก็ได้ 

ส่องยุทธวิธีพรรคการเมือง"สร้างคะแนนนิยม"พิชิตศึก"เลือกตั้ง2566"

นอกจากนี้ พรรคการเมืองอาจใช้วิธีการจัดหาสิ่งของเครื่องใช้ ส่งเสริมอาชีพการงาน หรือผลประโยชน์อื่นใดให้แก่ชุมชนเพื่อจูงใจให้ประชาชนให้การสนับสนุนแก่พรรค รวมถึงอาจใช้คุณสมบัติส่วนตัวของผู้นำพรรคหรือผู้สมัครรับเลือกตั้งในนามพรรคที่ประชาชนชื่นชอบเป็นจุดขายก็ได้ เช่น ความซื่อสัตย์สุจริต ความสามารถในการทำงาน ความเคร่งครัดในศีลธรรมจรรยา การมีอัตลักษณร่วมกับผู้มีสิทธิเลือกตั้งในเรื่องเชื้อชาติ ชนชั้น การนับถือศาสนา ตลอดจนความคิดเกี่ยวกับการปกครองและสังคม เป็นต้น 

ใครคือเป้าหมายในการสร้างคะแนนนิยมจากประชาชนในช่วงเลือกตั้งของพรรคการเมือง คุณลักษณะส่วนบุคคลและคุณลักษณะร่วมของผู้มีสิทธิเลือกตั้งแบบใดที่มีผลต่อการลงทุนลงแรงของพรรคการเมืองในการสร้างคะแนนนิยมจากประชาชนในช่วงเลือกตั้ง และอะไรคือผลที่เกิดขึ้น (ทั้งโดยตั้งใจและไม่ตั้งใจ) กับผู้มีสิทธิเลือกตั้งและผลการเลือกตั้งโดยภาพรวมจากการเลือกใช้ยุทธวิธีต่างๆ ในการสร้างคะแนนนิยมของพรรคการเมือง

คำอธิบายต่อคำถามเหล่านี้เกี่ยวข้องโดยตรงกับการทำความเข้าใจว่าผู้มีสิทธิเลือกตั้งมีแบบแผนพฤติกรรมการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งอย่างไร และแบบแผนพฤติกรรมการลงคะแนนเสียงนั้นมีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกับระบบพรรคการเมืองและบทบาทในการระดมพลังทางการเมืองของพรรคการเมืองอย่างไร 

การศึกษาในกรณีประเทศประชาธิปไตยก้าวหน้าในยุโรปตะวันตกและอเมริกาเหนือจำนวนมาก พบว่า ผู้มีสิทธิเลือกตั้งมีพฤติกรรมการลงคะแนนเสียงตามอุดมการณ์ (ideological voting) ซึ่งหมายรวมถึง การตัดสินใจเลือกพรรคการเมืองหรือผู้สมัครรับเลือกตั้งตามอุดมการณ์ที่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งเข้าใจว่าสอดคล้องกับตน 

อย่างไรก็ตาม อุดมการณ์เช่นว่านั้นไม่จำเป็นต้องเป็นอุดมการณ์ทางการเมืองตามความหมายที่มีการนิยามกันในทางวิชาการ แต่อาจเป็นเพียงอุดมการณ์ตามความเข้าใจของผู้มีสิทธิเลือกตั้งแต่ละคนที่อาจมองว่าตัวเองมีอุดมการณ์แบบเสรีนิยม (liberal) อนุรักษ์นิยม (conservative) หรือเป็นแบบกลางๆ (moderate) ก็ได้  

ยุทธวิธีในการสร้างคะแนนนิยมจากประชาชนในช่วงเลือกตั้งที่พรรคการเมืองเลือกใช้จึงเป็นผลของการประเมินผู้มีสิทธิเลือกตั้งว่ามีอุดมการณ์ทางการเมืองแบบใด และพรรคการเมืองจะใช้วิธีการใดในการสร้างความรู้สึกผูกพันใกล้ชิดหรือความรู้สึกเป็นพวกเดียวกันจนผู้มีสิทธิเลือกตั้งเหล่านั้นยอมตัดสินใจลงคะแนนให้พรรคหรือผู้สมัครรับเลือกตั้งของพรรค  

ส่องยุทธวิธีพรรคการเมือง"สร้างคะแนนนิยม"พิชิตศึก"เลือกตั้ง2566"

นอกจากการลงคะแนนเสียงตามอุดมการณ์ซึ่งมีแบบแผนค่อนข้างแน่นอนและสามารถคาดการณ์ได้ในระยะยาวแล้ว ในการศึกษาอีกจำนวนไม่น้อยทั้งในประเทศที่มีประชาธิปไตยก้าวหน้าและประเทศที่ประชาธิปไตยยังไม่หยั่งรากฝังลึกนักกลับพบว่า ผู้มีสิทธิเลือกตั้งมีพฤติกรรมการลงคะแนนเสียงตามนโยบาย (policy voting) ซึ่งหมายถึงการลงคะแนนเสียงที่เน้นไปที่การตัดสินใจลงคะแนนโดยการพิจารณาจากนโยบายตามที่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งต้องการ (policy preference) 

นโยบายดังกล่าวจะถูกนำเสนอมาจากพรรคการเมืองแต่ละพรรคหรือผู้สมัครรับเลือกตั้งแต่ละคนในการเลือกตั้งแต่ละครั้ง ดังนั้น ผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่ลงคะแนนเสียงตามนโยบายนี้สามารถตัดสินใจลงคะแนนเสียงโดยพิจารณาจากนโยบายในการเลือกตั้งแต่ละครั้งได้โดยอิสระ ไม่จำเป็นต้องตัดสินใจเหมือนหรือเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับการเลือกตั้งครั้งก่อนๆ รวมถึงการเลือกตั้งในคราวต่อๆ ไปด้วย 

การลงคะแนนเสียงตามนโยบายนี้แม้จะเป็นการลงคะแนนด้วยการใช้เหตุผล (rational) หรืออาจเรียกว่า "การลงคะแนนเสียงตามเหตุผล (rational voting)" แต่ก็เป็นเพียงการใช้เหตุผลในการตัดสินใจตามสถานการณ์หรือความต้องการในระยะสั้น จึงเป็นการยากที่จะสามารถคาดการณ์แบบแผนที่ชัดเจนได้ 

ยุทธวิธีในการสร้างคะแนนนิยมจากประชาชนในช่วงเลือกตั้งที่พรรคการเมืองเลือกใช้จึงเป็นผลจากการวิเคราะห์และประเมินสถานการณ์หรือความต้องการของผู้มีสิทธิเลือกตั้งในการเลือกตั้งแต่ละครั้งเป็นคราวๆ ไป และเลือกใช้วิธีการนำเสนอนโยบายหรือแนวทางการแก้ไขปัญหาที่สอดคล้องกับสถานการณ์และความต้องการในช่วงเวลาที่มีการเลือกตั้งครั้งนั้นๆ เพื่อให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งตัดสินใจลงคะแนนให้แก่พรรคหรือผู้สมัครรับเลือกตั้งในนามพรรคตน 

อย่างไรก็ตาม ผู้มีสิทธิเลือกตั้งอาจจะมิได้มีพฤติกรรมการลงคะแนนเสียงตามอุดมการณ์หรือลงคะแนนเสียงตามนโยบาย (เหตุผล) เสมอไป การศึกษาอีกจำนวนหนึ่ง พบว่า ผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวนมากมีพฤติกรรมการลงคะแนนเสียงในแบบที่เรียกว่าเป็นการ "เลือกเชิงยุทธศาสตร์ (strategic voting)" หมายความว่า ผู้มีสิทธิเลือกตั้งมิได้ลงคะแนนเสียงตามความต้องการที่แท้จริงหรือลงคะแนนให้แก่ตัวเลือกที่ชอบมากที่สุดทุกครั้ง แต่การลงคะแนนแต่ละครั้งเกิดจากกระบวนการคิดที่เกี่ยวเนื่องกับการตัดสินใจและการคาดเดาผลลัพธ์ โดยผู้มีสิทธิเลือกตั้งจะทำการชั่งน้ำหนักหรือคาดคะเนผลประโยชน์ที่ได้รับจากการลงคะแนนให้แก่ตัวเลือกหนึ่งๆ ท่ามกลางตัวเลือกที่มีอยู่ในการเลือกตั้งครั้งนั้นๆ  

ส่องยุทธวิธีพรรคการเมือง"สร้างคะแนนนิยม"พิชิตศึก"เลือกตั้ง2566"

ในความหมายนี้ จึงมีความเป็นไปได้ว่าผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่มีพฤติกรรมการลงคะแนนเสียงเชิงยุทธศาสตร์จะไม่ได้เลือกพรรคการเมืองหรือผู้สมัครรับเลือกตั้งที่ตนชื่นชอบมากที่สุด เนื่องจากเมื่อชั่งน้ำหนักดูแล้วพรรคหรือผู้สมัครที่ตนชื่นชอบที่สุดนั้นไม่มีโอกาสชนะการเลือกตั้ง แต่อาจเป็นการลงคะแนนให้แก่พรรคการเมืองหรือผู้สมัครรับเลือกตั้งใดก็ตามที่มีผลทำให้พรรคการเมืองหรือผู้สมัครรับเลือกตั้งที่ตนไม่ชอบมากที่สุดไม่ชนะการเลือกตั้งแทนก็ได้  

ยุทธวิธีในการสร้างคะแนนนิยมจากประชาชนในช่วงเลือกตั้งที่พรรคการเมืองเลือกใช้จึงเป็นเรื่องที่พรรคการเมืองจะต้องทำการวิเคราะห์เพื่อทราบถึงประโยชน์สูงสุดที่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งแต่ละกลุ่มคาดหวังในการเลือกตั้งแต่ละครั้ง และเลือกใช้วิธีการสร้างคะแนนนิยมที่มุ่งทำให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งเกิดความเชื่อมั่นว่าการลงคะแนนให้แก่พรรคหรือผู้สมัครรับเลือกตั้งในนามพรรคตนแล้วจะก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดตามที่ผู้สิทธิเลือกตั้งเหล่านั้นคาดหวังไว้ 

ทั้งนี้ สาเหตุสำคัญประการหนึ่งที่มีอิทธิพลต่อการลงคะแนนเชิงยุทธศาสตร์ของผู้มีสิทธิเลือกตั้งคือระบบเลือกตั้งซึ่งเป็นปัจจัยที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อการเลือกยุทธวิธีในการสร้างคะแนนนิยมจากประชาชนในช่วงเลือกตั้งของพรรคการเมืองด้วย 

การลงคะแนนเสียงตามอุดมการณ์ นโยบาย หรือเชิงยุทธศาสตร์อาจถูกมองว่าเป็นแบบแผนพฤติกรรมการลงคะแนนของผู้มีสิทธิเลือกตั้งในประเทศประชาธิปไตยก้าวหน้ามากกว่าประเทศประชาธิปไตยเกิดใหม่และประเทศที่ประชาธิปไตยยังไม่หยั่งรากฝังลึก การศึกษาจำนวนมากในประเทศสองกลุ่มหลัง (ซึ่งรวมถึงประเทศไทยด้วย) พบว่า พฤติกรรมการลงคะแนนของผู้มีสิทธิเลือกตั้งอยู่ภายใต้อิทธิพลของการใช้ประโยชน์จากความสัมพันธ์เชิงอุปถัมภ์ในการสร้างคะแนนนิยมจากประชาชนในช่วงเลือกตั้งของพรรคการเมืองหรืออาจเรียกว่าเป็นการสถาปนา "ระบบอุปถัมภ์ทางการเมือง"ขึ้นมา

ในความหมายนี้ ยุทธวิธีที่พรรคการเมืองและผู้สมัครรับเลือกตั้งนำมาใช้ในการสร้างคะแนนนิยมจากประชาชนในช่วงเลือกตั้งจึงครอบคลุมถึงยุทธวิธีที่มีลักษณะเป็นการจัดหาสิ่งที่เป็นผลประโยชน์ส่วนตนหรือผลประโยชน์แก่ชุมชน เช่น เงิน สิ่งของเครื่องใช้ สิ่งปลูกสร้าง สาธารณูปโภค โครงการพัฒนา ฯลฯ เพื่อแลกกับการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งให้แก่พรรคการเมืองหรือผู้สมัคร และยังรวมถึงการซื้อเสียง (vote buying)  และการสร้างเครือข่ายความสัมพันธ์ระหว่างพรรคการเมือง (นักการเมือง) กับผู้มีสิทธิเลือกตั้งในรูปแบบผู้อุปถัมภ์กับผู้ใต้อุปถัมภ์ (patron-client relationships) เพื่อเป็นกลไกในการหาเสียงเลือกตั้งด้วย

เชื่อกันว่า การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในปี 2566 ที่กำลังจะมาถึงนี้ พรรคการเมืองต่างๆ จะมีการเลือกใช้ยุทธวิธีในการสร้างคะแนนนิยมที่หลากหลาย โดยยุทธวิธีที่นำมาใช้นั้นเกิดจากการคิดวิเคราะห์เพื่อให้สอดคล้องกับการตัดสินใจลงคะแนนของผู้มีสิทธิเลือกตั้งชาวไทย ไม่ว่าจะเป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่ลงคะแนนตามอุดมการณ์ ลงคะแนนเพราะนโยบาย ลงคะแนนเชิงยุทธศาสตร์ หรือแม้แต่ลงคะแนนภายใต้อิทธิพลของระบบอุปถัมภ์ทางการเมือง

ดังนั้น พรรคการเมืองที่จะประสบความสำเร็จในการเลือกตั้งรอบนี้ คือ พรรคที่ "ตีโจทย์แตก" และ อ่านใจผู้มีสิทธิเลือกตั้งได้แบบ "ถูกที่ถูกเวลา" และ "ไม่ผิดฝาผิดตัว"

logoline