svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

เปิดสูตรคำนวณ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ ศึกเลือกตั้ง 66

24 มีนาคม 2566
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

เปิดสูตรคำนวณ "ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์" ศึกเลือกตั้ง 66 ข้อแตกต่างจากเลือกตั้งเมื่อปี 62 ส่วน "ส.ส.ปัดเศษ" หวังลุ้นเข้าสภา แต่อำนาจต่อรองอาจน้อยลงในการจัดตั้งรัฐบาลครั้งหน้า

หากพลิกดูกติกาเลือกตั้ง 66 พรป.ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2566 หรือ กฎหมายเลือกตั้ง ที่เป็นระบบ “บัตรสองใบ” ที่แยกบัตร ส.ส. เขต และบัญชีรายชื่อออกจากกันปรับสัดส่วนให้มี ส.ส. เขต 400 คน และส.ส.บัญชีรายชื่อ 100 คน แตกต่างกับการเลือกตั้งปี 62 ที่เป็นระบบบัตรเลือกตั้งใบเดียว

อดีตการคำนวณสัดส่วน ส.ส.บัญชีรายชื่อ ซับซ้อน เป็นที่ถกเถียงมากกว่า คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เคยเปลี่ยนสูตรคำนวณมาแล้วในปี 62 กฎหมายเลือกตั้งฉบับใหม่ ตีเส้นวางกรอบขั้นตอนการคำนวณไว้ชัดเจน

เมื่อขั้นตอนการคำนวณ ส.ส. บัญชีรายชื่อ กฎหมายเลือกตั้งฉบับใหม่จะใช้ระบบ Mixed Member Majoritarian หรือ MMM หรือระบบที่คนนิยมเรียกว่า “ระบบคู่ขนาน” (Parallel System) เนื่องจากเป็นระบบการจัดสรรที่นั่ง ส.ส. เขต และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ แบบแยกขาดออกจากกัน โดยมาตรา 96 ของกฎหมายเลือกตั้ง กำหนดขั้นตอนการคำนวณสัดส่วน ส.ส.บัญชีรายชื่อ 3 ขั้นตอน

1. ให้รวมผลคะแนนทั้งหมดที่ทุกพรรคการเมืองได้รับจากการเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อทั้งประเทศ หารด้วย 100 ผลลัพธ์ที่ได้ คือ “คะแนนเฉลี่ยต่อ ส.ส.บัญชีรายชื่อหนึ่งคน”

2. ให้นำคะแนนรวมจากการเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อที่แต่ละพรรคการเมืองได้รับ หารด้วยคะแนนเฉลี่ยต่อ ส.ส.บัญชีรายชื่อหนึ่งคน ผลลัพธ์ที่ได้ “เฉพาะส่วนที่เป็นจำนวนเต็ม” คือจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองนั้น พึงได้รับ

3. ถ้าจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อที่แต่ละพรรคได้รับรวมกันไม่ครบ 100 คน กฎหมายเลือกตั้งระบุไว้ชัดว่า ให้ “พรรคการเมืองที่มีผลลัพธ์ที่เป็นเศษโดยไม่มีจำนวนเต็ม” และ “พรรคการเมืองที่มีเศษหลังการคำนวณ“ ตามข้อ 2) ข้างต้น พรรคใดเป็นหรือมีเศษจำนวนมากที่สุด ให้ได้รับจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่ออีก 1 คนเรียงตามลำดับ จนกว่าจะมีจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองทั้งหมดได้รับรวมกันครบ 100 คน

“กกต.” เปิดตัวเลขผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 2566 ข้อมูล ณ วันที่ 22 มีนาคม 2566 ทั่วประเทศมีจำนวน 52,287,045 คน ดังนั้นพรรคการเมืองที่ส่ง ส.ส. บัญชีรายชื่อได้คะแนนรวมทั้งหมด แล้วหารด้วย 100 ย่อมเท่ากับคะแนนเฉลี่ยต่อ ส.ส. บัญชีรายชื่อหนึ่งคน ที่จะปรากฎขึ้นหลังการประชาชนทั้งหมดเข้าคูหาใช้สิทธิเลือกตั้ง จะเท่ากับ........ เสียง ประมาณ 3 แสนกว่าคน

ทว่าวิธีการคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อสำหรับการเลือกตั้งปี 2566 จะมีความแตกต่างกับระบบการเลือกตั้งภายใต้รัฐธรรมนูญ 2540 ตรงที่รัฐธรรมนูญ 2540 ได้กำหนด “คะแนนขั้นต่ำของพรรคที่จะได้ ส.ส. บัญชีรายชื่อ” ไว้ที่ร้อยละ 5 ของคะแนนรวมทั้งประเทศ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปรากฏการณ์ “ส.ส.ปัดเศษ” หรือ ส.ส. จากพรรคที่ได้คะแนนน้อยกว่า “คะแนนเฉลี่ยต่อ ส.ส.บัญชีรายชื่อหนึ่งคน”

สำหรับการคำนวณสัดส่วน ส.ส.บัญชีรายชื่อตามกฎหมายเลือกตั้งปี 2566 ไม่ใช่เรื่องใหม่ของประวัติศาสตร์การเมืองไทย เนื่องจากเป็นสูตรคำนวณเดียวกับการเลือกตั้งปี 2554 ภายใต้รัฐธรรมนูญ 2550 (ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม) โดยกฎหมายเลือกตั้งในขณะนั้น ไม่ได้ระบุไว้ชัดเจนเท่ากับกฎหมายฉบับปัจจุบัน

อดีต ส.ส. ปัดเศษมีลุ้นเข้าสภา แต่อาจสำคัญน้อยลงในการจัดตั้งรัฐบาล ในปี 2566 ปรากฏการณ์ “ส.ส.ปัดเศษ” ในที่นี้หมายถึง ส.ส.จากพรรคที่ได้คะแนนเสียงน้อยกว่าคะแนนเฉลี่ยต่อ ส.ส.บัญชีรายชื่อหนึ่งคน ยังสามารถเกิดขึ้นได้ แต่มีแนวโน้มว่า บรรดา ส.ส.ปัดเศษ เหล่านี้ จะมีความสำคัญในการจัดตั้งรัฐบาลน้อยลง เมื่อเทียบกับการเลือกตั้งปี 2562 เนื่องจาก ส.ส. ปัดเศษแม้จะเกิดขึ้นได้ แต่ก็เกิดขึ้นได้ยากกว่าปี 2562 มาก

ในที่สุดแล้วคะแนนเสียงที่พรรคการเมืองนั้นได้รับจะต้องแตะ “หลักแสน” หรือประมาณ 3 แสนกว่า ต่างกับปี 2562 ที่มีพรรคการเมืองที่ได้รับเพียง 35,099 เสียง ก็สามารถมี ส.ส. บัญชีรายชื่อแล้ว เมื่อ ส.ส.ปัดเศษ เกิดได้ยากขึ้นมีจำนวนน้อยลง โอกาสที่จะเกิดเหตุการณ์แบบปี 2562 ที่เหล่า ส.ส.ปัดเศษ 11 คน มีอำนาจต่อรองเพื่อเข้าร่วมกับพรรครัฐบาล คงเกิดได้ยากขึ้นบนสมรภูมิเลือกตั้ง 66

logoline