svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

ยาหอมรุ่น"ลุงตู่"โปรยแบบนี้-ประชาชนรู้เท่าทัน!

18 มีนาคม 2566
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ถือเป็นข่าวดีสำหรับแวดวงคนการเมืองท้องถิ่น หลังคณะรัฐมนตรีปรับเพิ่มเงินค่าตอบแทนให้ แต่ก็ถูกตั้งคำถามว่าเป็นนโยบาย "เทกระจาด" ชนิด ลด-แลก-แจก-แถม ที่ "ลุงตู่" รวมถึงรัฐบาล พร้อมใจกันจัดให้ช่วงปลายสมัย เพื่อส่งผลบวกต่อคะแนนนิยมเลือกตัั้ง 66 จริงหรือ? 

หลังจาก ครม. มีมติ เมื่อวันที่ 14 มี.ค. เห็นชอบหลักการร่างระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยเงินค่าตอบแทนนายกองค์การบริหารส่วนตำบล รองนายกองค์การบริหารส่วนตำบล ประธานสภาองค์การบริหารส่วนตำบล รองประธานสภาองค์การบริหารส่วนตำบล สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบล เลขานุการนายกองค์การบริหารส่วนตำบล และเลขานุการสภาองค์การบริหาร ส่วนตำบล (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....  โดยให้จ่ายค่าตอบแทนตามบัญชีอัตราค่าตอบแทนใหม่ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2566 เป็นต้นไป

 

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม

 

เมื่อมาดูเหล่าบรรดาผู้ได้รับค่าตอบแทน ประกอบด้วย   

 

-ขึ้นเงินเดือน อบต. มีคนได้ประโยชน์ราวๆ 2-3 แสนคน 

 

-เพิ่มค่าป่วยการ อสม.​ อสส. มีคนได้ประโยชน์ราวๆ 1.4 ล้านคนทั่วประเทศ 

 

-ขึ้นเงินเดือนกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน แพทย์ประจำตำบล และสารวัตรกำนัน เกือบ 3 แสนคนทั่วประเทศ 

 

รวมคนได้ประโยชน์ราวๆ 2 ล้านคน ไม่นับครอบครัว บุตร ภรรยา สามี พ่อแม่ของคนเหล่านี้ หลายคนคิดว่า "พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา" น่าจะได้คะแนนอย่างหนาแน่น เพิ่มเป็นล้านๆ คะแนน

โดย "ทีมข่าวภูมิภาค เนชั่นทีวี" สอบถามความเห็นทั้งของ อบต. กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และ อสม. ที่ได้รับประโยชน์จากนโยบาย "เทกระจาด" ช่วงปลายรัฐบาล ปรากฏว่าคำตอบที่ได้ อาจทำให้รัฐบาล "มีหนาวกลางแดด" 

 

ยาหอมรุ่น"ลุงตู่"โปรยแบบนี้-ประชาชนรู้เท่าทัน!

 

1.เสียงจาก กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน  สมาชิกอบต. และ อสม. ภาพรวมหลายพื้นที่ทั่วประเทศ 

 

-โดยรวมรู้สึกดีใจ และ มองว่ารัฐบาลนี้มีอำนาจเบ็ดเสร็จ สามารถทำอะไรได้จริงตามที่ต้องการ 

 

-แต่เงินที่บอกว่าจะได้ จะได้จริงหลังเลือกตั้ง หลังงบผ่านในปีถัดไป ทำให้ชัดเจนว่าเป็นการหาเสียง

 

-เมื่อสอบถามถึงความเต็มใจที่จะลงคะแนนให้พรรครวมไทยสร้างชาติ หรือ "พรรคลุงตู่" แทบทุกคนบอกว่า "ขอคิดดูก่อน" หรือไม่ก็ตอบตรงๆเลยว่า "ไม่ขอเลือก"

 

2.สอบถามรายบุคคล 

 

อสม. ในพื้นที่ ยะลา และ ปัตตานี ต่างตอบเป็นเสียงเดียวกัน คือ รู้สึกดีใจที่มีการเพิ่มเงินให้ เนื่องจากคนทำงานตรงนี้ไม่มีเงินเดือน มีเพียงเบี้ยเลี้ยง แต่รู้สีก "งง" และสงสัยว่า ทำไมต้องให้มีผลเดือน ต.ค. เพราะเป็นช่วงหลังเลือกตั้ง ดังนั้น ไม่ต่างจากหาเสียง

 

นอกจากนี้ ยังมีเสียงสะท้อนที่ตรงกัน คือ ถ้าให้เลือกรัฐบาลนี้กลับมาอีก "ก็คงไม่แล้ว เพราะทหารบริหารประเทศไม่เป็น เศรษฐกิจแย่ คนเดือดร้อน ไม่ฟังเสียงชาวบ้านเลย อีกทั้ง ที่ผ่านมารู้สึกว่าด้อยค่าประชาชนมาก ทหารเขาคิดแบบทหาร" 

 

ส่วนอีกด้านหนึ่ง อย่าง สมาชิก อบต. ยะลา ให้ความเห็นว่า "ดีใจเรื่องปรับเงินค่าตอบแทน ใครบ้างไม่เอา เศรษฐกิจแย่ขนาดนี้ แต่ถ้าจะให้เลือก ขอคิดดูก่อนว่าจะเลือกไหม เพราะทุกวันนี้ชาวบ้านเดือดร้อน อยากได้ของใหม่ๆ บ้าง อยากเปลี่ยนของใหม่บ้าง 8 ปีแล้ว เบื่อแล้ว" 

 

ขณะที่ กำนันรายหนึ่ง "ใจผมอยู่พรรคประชาธิปไตย ได้เงินเพิ่มก็ดีใจ แต่ก็เห็นชัดว่ามันเป็นยาหอมที่ต้องการหาเสียง ฝ่ายเผด็จการสืบทอดอำนาจ ผมคิดว่าพอแล้ว ไม่เลือกแน่นอน" 

ยาหอมรุ่น"ลุงตู่"โปรยแบบนี้-ประชาชนรู้เท่าทัน!

 

3.เสียงที่สะท้อนแปลว่าอะไร?

 

เรื่องนี้สอนให้รู้ว่า ประชาชนยุคนี้รู้เท่าทันนักการเมือง และผลประโยชน์ที่เขาได้ คือ สิ่งที่ต้องได้อยู่แล้ว จึงไม่ได้มองเป็นบุญคุณต้องทดแทน

 

ฉะนั้น การปรับค่าจ้าง ค่าตอบแทน หรือสวัสดิการช่วงใกล้เลือกตั้ง ที่เรียกว่า "เทกระจาด" อาจไม่ได้ทำให้คะแนนเสียงเป็นไปอย่างที่ผู้มีอำนาจคาดหวังเสมอไป

logoline