svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

เปิดผลวิจัยการเมืองไทยยุค"ประยุทธ์"...ทรุดหนัก? 

18 มีนาคม 2566
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

"สถาบันพระปกเกล้า" พร้อมผู้บริหารได้เปิดแถลงข่าวเรื่อง "เลือกตั้ง 66 อนาคตประเทศไทย" หรือ KPI Forum เมื่อ 16 มี.ค. ที่ผ่านมา โดยมีนักวิชาการและนักวิจัยชื่อดังของสถาบันมาร่วมคาดการณ์ทิศทางการเลือกตั้งถึงจะถึงนี้

โดยงานดังกล่าวได้เผยแพร่งานวิจัยและผลสำรวจ ในหัวช้อ "มองพฤติกรรมการเลือกตั้งผ่านค่านิยมประชาธิปไตยของประชาชน ใน 2 ทศวรรษ" ซึ่งจัดทำโดย "ดร.ถวิลวดี บุรีกุล" รองเลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า และ "รัชวดี แสงมหะหมัด" นักวิชาการผู้ชำนาญการ สำนักวิจัยและพัฒนา สถาบันพระปกเกล้า

 

เปิดผลวิจัยการเมืองไทยยุค"ประยุทธ์"...ทรุดหนัก? 

 

"เนชั่นทีวี" ได้คัดมาเฉพาะประเด็นไฮไลต์ที่ส่งผลต่อการเลือกตั้ง 

 

ประเด็นที่ 1 - มุมมองต่อการเมืองและการปกครองที่ดูจะซับซ้อนจนยากจะเข้าใจ 

 

หัวข้อนี้เป็นการหยั่งเสียงประชาชนว่ามองการเมืองอย่างไร เล่นเกมการเมืองกันมากเกินไปหรือไม่ จนทำให้ประชาชนรู้สึกเข้าไม่ถึง ตามไม่ทัน และพาลคิดว่ามีลับลมคมในซ่อนอยู่ ซึ่งปรากฏว่า กลุ่มตัวอย่างถึงร้อยละ 77.8 มองว่าบริบทการเมืองในระยะหลังๆ ของรัฐบาล "พล.อ.ประยุทธ์" ดูซับซ้อน และเข้าใจยาก สูงขึ้นกว่าช่วงก่อนหน้า 

 

แต่เมื่อดูตัวเลขแล้วก็ต้องให้ความเป็นธรรมว่า การเมืองยุค พล.อ.ประยุทธ์ ยังสับสนน้อยกว่าปีที่การเมืองมีการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ เช่น การรัฐประหารปี 57 อยู่ที่ร้อยละ 81 ม็อบเสื้อแดงปี 53 อยู่ที่ร้อยละ 90.5 และรัฐประหารปี 49 ร้อยละ 88.2 

ประเด็นที่ 2 - การมีส่วนร่วมทางการเมือง

 

โดยหัวข้อดังกล่าวเป็นการหยั่งเสียง หยั่งความรู้สึก เรื่องการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชนในยุครัฐบาลต่างๆ 

 

ผลปรากฏว่า กลุ่มตัวอย่างเพียงร้อยละ 59.5 ที่มองว่า สามารถมีส่วนร่วมทางการเมืองได้ในยุครัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ซึ่งตัวเลขความเชื่อมั่นนี้ ลดต่ำลงกว่าช่วงก่อนหน้า และช่วงรัฐบาลพลเรือน 

 

ประเด็นที่ 3 - ประชาชนไม่มีอิทธิพลใดๆ ต่อการทำงานของรัฐบาล 

 

โดยหัวข้อนี้เป็นการหยั่งความรู้สึกของประชาชนว่า รู้สึกว่าตัวเองมีความสำคัญ เป็นเสียงที่ดังพอจะให้รัฐบาลได้ยินหรือไม่ 

 

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม

 

ผลปรากฏว่า กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 61.6 มองว่าตัวเองไม่มีอิทธิพลใดๆ ต่อการทำงานในช่วงรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ แม้จะไม่ได้สูงที่สุด หรือมีปัญหานี้มากที่สุดเมื่อเทียบกับยุคอื่นๆ แต่ก็ถือว่าอยู่ในเปอร์เซ็นต์ที่สูง

 

ประเด็นที่ 4 - ความพอใจต่อการบริหารประเทศของนายกฯคนปัจจุบัน 

 

สำหรับผลสำรวจนี้ทำมาทุกรัฐบาล ทุกนายกฯ ตั้งแต่ปี 2544 ปรากฏว่าในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ความพึงพอใจตกต่ำที่สุด เหลือเพียงร้อยละ 19.2 ในปี 2565 ส่วนหนึ่งอาจมาจากปัญหาโรคระบาดโควิดและปัญหาเศรษฐกิจที่รุมเร้า

 

ขณะที่ บางยุคความเชื่อมั่นพุ่งไปถึงร้อยละ 90.4 ซึ่งเป็นช่วงต้นของรัฐบาล "ทักษิณ ชินวัตร" พรรคไทยรักไทย และแม้แต่หลังการรัฐประหารปี 57 เอง รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ก็เคยได้คะแนนความเชื่อมั่นถึงร้อยละ 90.2 เพียงแต่หลังจากนั้นก็ลดต่ำลงอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะดิ่งหัวลงในช่วงโควิด และวิกฤติเศรษฐกิจ 

ประเด็นที่ 5 - ความคาดหวังต่อประชาธิปไตยในมุมมองของคนไทยมีมากขึ้น 

 

พบว่าผลสำรวจเมื่อ 10 ปีที่แล้ว คือ ปี 2555 คนไทยมองว่าการปกครองของไทยเป็นแบบกึ่งกลางระหว่างประชาธิปไตยกับเผด็จการ คือ ให้คะแนนที่ 5.02 จากคะแนนเต็ม 10 ส่วนปัจจุบันอยู่ที่ 6.92 ความเป็นประชาธิปไตยมีมากขึ้นกว่า 10 ปีที่แล้ว แต่ก็ยังไม่มากนัก และคาดหวังว่าในปี 10 ปีข้างหน้า คือปี 2575 อยากให้ประชาธิปไตยพุ่งไปถึง 8.3 เต็ม 10 นี่คือทิศทางของประเทศที่น่าจะฝืนกระแสนี้ยากแล้ว 

 

เปิดผลวิจัยการเมืองไทยยุค"ประยุทธ์"...ทรุดหนัก? 

 

ประเด็นที่ 6 - ความไว้วางใจกับบุคคลที่เข้ามาเป็นรัฐบาล 

 

ถือเป็นการหยั่งเสียงประชาชนในแง่ความไว้วางใจที่มีต่อรัฐบาลในแต่ละห้วงเวลา

 

โดยปรากฏว่ากลุ่มตัวอย่างเพียงร้อยละ 46.4 ที่ไว้วางใจรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ซึ่งต่ำที่สุดตลอด 20 ปี ตั้งแต่ปี 2544 เป็นต้นมา และถือว่าสอบตกเรื่องความไว้วางใจ 

 

ประเด็นที่ 7 - การเลือก ส.ส.แบบแบ่งเขต ในปี 54 กับปี 62 

 

เป็นการสอบถามการตัดสินใจเลือกพรรคการเมืองในการเลือกตั้ง ว่าการลงคะแนนปี 62 เปลี่ยนพรรคไปจากการเลือกตั้งปี 54 หรือไม่ ซึ่งผลปรากฏว่า ภาพรวมกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 56 บอกว่าเลือกพรรคเดิม แต่มีถึงร้อยละ 44 ที่เลือกพรรคใหม่ โดยพื้นที่ที่เลือกพรรคใหม่มากที่สุด คือ กทม. 

 

ประเด็นที่ 8 - ปัจจัยที่มีผลต่อการเลือกตั้ง 66 

 

เปิดผลวิจัยการเมืองไทยยุค"ประยุทธ์"...ทรุดหนัก? 

 

ได้แก่ โซเชียลมีเดีย / ข้อมูลข่าวสาร / การสื่อสาร / ช่องว่างระหว่างวัย / กลยุทธ์ทางการเมือง / และกติกาเลือกตั้งแบบบัตร 2 ใบ ตามลำดับ

logoline