svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

"เมืองโบราณใต้พิภพ" ความเป็นไปอารยธรรมอู่ทอง โดย "พลเดช  ปิ่นประทีป"

18 มีนาคม 2566
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

เครือข่ายชุมชนและประชาคมวิชาการที่สุพรรณบุรี ได้เล่าให้ฟังว่ามี "เมืองโบราณอู่ทอง" ถูกฝังอยู่ใต้ผืนดินที่ชุมชนอยู่อาศัย เนื่องจากดินตะกอนและการตั้งถิ่นฐานที่ทับซ้อนกันมาหลายพันปี ติดตามในเจาะประเด็น โดย"พลเดช ปิ่นประทีป"

เครือข่ายชุมชนและประชาคมวิชาการที่สุพรรณบุรี ได้เล่าให้ฟังว่ามีเมืองโบราณอู่ทองถูกฝั่งอยู่ใต้ผืนดินที่ชุมชนอยู่อาศัย เนื่องจากดินตะกอนและการตั้งถิ่นฐานที่ทับซ้อนกันมาหลายพันปี ชาวบ้านขุดลงไปพบสิ่งของเครื่องใช้และโบราณวัตถุมากมาย

"เมืองโบราณอู่ทอง" ตั้งอยู่ในเขตอำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี จากภาพถ่ายทางอากาศพบว่าเป็นเมืองที่มีคูน้ำและคันดินล้อมรอบ ตั้งอยู่ริมลำน้ำจระเข้สามพัน ผังเมืองเป็นรูปวงรี ทอดตัวตามแนวทิศตะวันออกเฉียงเหนือไปทางตะวันตกเฉียงใต้ ขนาดความกว้างประมาณ 1 กิโลเมตร ยาวประมาณ 2 กิโลเมตร มีระดับความสูงของพื้นที่ตัวเมือง จากระดับน้ำทะเลปานกลางประมาณ 6 เมตร

การศึกษาทางโบราณคดีทราบว่าเมืองโบราณอู่ทองมีมนุษย์อยู่อาศัยตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ พบหลักฐานประเภทขวาน หินขัด ลูกปัด ภาชนะดินเผา เหล็กในสำหรับปั่นด้าย ขวานสำริด ฉมวก หอก และเครื่องมือเครื่องใช้โลหะอื่นอีกมากมาย 

ข้อมูลจากสำนักโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่ 2 สุพรรณบุรีกล่าวว่า ชุมชนในสมัยนั้นเป็นชุมชนในสังคมเกษตรกรรม เนื่องจากสภาพที่ตั้งชุมชนเป็นเขตที่ราบขั้นบันไดต่ำ และที่ราบลุ่มแม่น้ำ ทำให้สามารถทำการเพาะปลูกได้ผลดี จนชุมชนตั้งหลักแหล่งได้อย่างถาวร ประกอบกับสามารถติดต่อกับชายฝั่งทะเลได้สะดวก จึงเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้ชุมชนโบราณในบริเวณเมืองอู่ทองสามารถพัฒนาสภาพสังคมและเศรษฐกิจ จนขยายตัวเข้าสู่สังคมเมืองได้

"เมืองโบราณอู่ทอง" เป็นต้นกำเนิดประวัติศาสตร์อารยธรรมสุวรรณภูมิ ครอบคลุมพื้นที่ทั้งตำบลอู่ทอง อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี มีหลักฐานทางโบราณคดีที่สันนิษฐานได้ว่าเคยเป็นเมืองหลวงของอาณาจักรทวาราวดีและเป็นศูนย์กลางของดินแดนสุวรรณภูมิ ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของประวัติศาสตร์ ศิลปวัฒนธรรมและประเพณีของชนชาติพันธุ์ต่าง ๆ ก่อนจะหลอมรวมเป็นชาติไทยในปัจจุบัน

ดินแดนที่เป็นประเทศไทยในปัจจุบัน มีชุมชนเก่าแก่ไม่น้อยกว่าภูมิภาคอื่นของโลก การพัฒนาขึ้นเป็นบ้านเมืองเริ่มเมื่อประมาณ 2,500 ปี เกิดจากการติดต่อกับกลุ่มคนจากดินแดนภายนอกที่อยู่ห่างไกลทางด้านตะวันตก และดินแดนใกล้เคียง เช่น จีน เวียดนาม กัมพูชา อินเดีย อินโดนีเซีย พม่า ฯลฯ สภาพสังคมจึงเริ่มเปลี่ยนจากระดับหมู่บ้านมาเป็นสังคมเมืองที่มีหัวหน้าปกครอง รุ่งเรืองจากการค้าขายและรับศาสนาจากดินแดนภายนอก จนกลายเป็นเมืองสำคัญในภูมิภาค

"เมืองโบราณใต้พิภพ" ความเป็นไปอารยธรรมอู่ทอง โดย "พลเดช  ปิ่นประทีป"
การที่อยู่ใกล้ทะเล มีการติดต่อกับต่างประเทศได้ มีการเติบโตและขยายตัวอย่างรวดเร็ว กลุ่มคนที่อยู่ในภาคกลางขยายตัวลงสู่ที่ราบลุ่ม สร้างบ้านสร้างเมืองขึ้นตามที่ราบลุ่มแม่น้ำต่าง ๆ โดยแหล่งที่มีความรุ่งเรืองมากที่สุดคือบริเวณลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา เกิดบ้านเมืองหนาแน่น นอกจากจะเป็นที่ราบเหมาะสำหรับปลูกข้าวเลี้ยงคนจำนวนมากแล้ว ยังเป็นแหล่งติดต่อกับโลกภายนอกทางทะเลได้อย่างสะดวก และในที่สุดจึงเกิดเป็นรัฐเล็ก ๆ มีเจ้าขึ้นปกครองบ้านเมืองในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาในยุคนั้น ยังไม่ได้รวมกันเป็นอาณาจักรที่มีราชธานีที่ใดที่หนึ่งเป็นศูนย์กลาง

แต่มีสภาพเป็นรัฐเล็ก ๆ รวมกันเป็นกลุ่มลักษณะคล้ายกับสหพันธรัฐ โดยเมืองอู่ทองเป็นเมืองสำคัญเมืองหนึ่งที่เป็นศูนย์กลางการติดต่อทั้งภายในและภายนอก เมื่อมีคนอาศัยอยู่อย่างต่อเนื่อง จึงพัฒนาตนเองจากระดับหมู่บ้านเข้าสู่สังคมเมือง (Urban Society) ซึ่งมีความเจริญ และมีความซับซ้อนทางสังคมมากขึ้น กระทั่งกลายเป็นเมืองศูนย์กลางทางวัฒนธรรมเมืองหนึ่งในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา 

จากหลักฐานประเภทโบราณวัตถุ สถานที่พบในช่วงเวลาดังกล่าว ทราบว่าเมืองโบราณอู่ทอง ได้มีการติดต่อสัมพันธ์กับดินแดนแถบโพ้นทะเล โดยเฉพาะอินเดีย จนทำให้นักวิชาการหลายท่านเชื่อว่า เมืองโบราณอู่ทอง อาจจะเป็นเมือง "สุวรรณภูมิ" ที่พระเจ้าอโศกมหาราชได้ส่งพระโสณะเถระและพระอุตระเถระมาเผยแพร่พุทธศาสนา ในราวพุทธศตวรรษที่ 3

จากการรับอิทธิพลทางวัฒนธรรมของอินเดียอย่างมาก ทำให้ช่วงพุทธศตวรรษที่ 11-12 ได้เกิดวัฒนธรรมที่ผสมผสานกันระหว่างรูปแบบวัฒนธรรมท้องถิ่นกับวัฒนธรรมที่มาจากกลุ่มชนภายนอกขึ้นในแถบนี้ วัฒนธรรมนี้มีจุดเด่นอยู่ที่รูปแบบทางศิลปกรรมเฉพาะตัว มีการใช้ภาษามอญร่วมกัน และการนับถือพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาหลัก 
เชื่อกันว่า วัฒนธรรมทวารวดีมีศูนย์กลางความเจริญตั้งอยู่บริเวณเขตที่ราบภาคกลางของประเทศไทย ซึ่งมีเมืองหลัก ได้แก่ นครชัยศรี (นครปฐม) คูบัว (ราชบุรี) และอู่ทอง(สุพรรณบุรี)
 

logoline