svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

"ดร.สติธร"ชี้เฟิร์สอิมเพรสชั่นคือปัจจัยให้คนกาคะแนนเลือกส.ส.

16 มีนาคม 2566
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

"สติธร ธนานิธิโชติ"เผยการเมืองบ้านใหญ่มีส่วนทำพรรคการเมืองประสบความสำเร็จในศึกเลือกตั้ง 66 ใครกระแสมากกว่าก็เป็นฝ่ายชนะ ชี้ "เฟิร์สอิมเพรสชั่น" คือปัจจัยของประชาชนในการเลือกผู้สมัคร แย้ม"เวทีดีเบต-ปราศรัย"จุดหักเหก่อนวันเลือกตั้ง

16 มีนาคม 2566 "ดร.สติธร ธนานิธิโชติ" ผู้อำนวยการสำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย สถาบันพระปกเกล้า กล่าวถึงกติกาใหม่กับพฤติกรรมหาเสียงและการลงคะแนนการเลือกตั้ง ว่า การเลือกตั้งที่ผ่านมารอบ 20 ปี มีการเปลี่ยนกติกาทุกรอบ และการเลือกตั้งรอบนี้เปรียบเหมือนความรู้สึกการเลือกตั้งปี 2544 กลับมาอีกครั้ง ซึ่งในกติกาเลือกตั้งพรรคไหนก็มีโอกาสในสนามเลือกตั้ง ไม่ว่าจะเป็นพรรคใหญ่ พรรคกลาง หรือพรรคขนาดเล็ก  

 

ดร.สติธร ธนานิธิโชติ ผู้อำนวยการสำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย สถาบันพระปกเกล้า

 

ทั้งนี้ โดยเฉพาะเรื่องของผลลัพธ์การเลือกตั้งปี 2562 เรื่องบ้านใหญ่ มีส่วนเข้ามาทำให้พรรคการเมืองจำนวนไม่น้อยประสบความสำเร็จ ซึ่งทำให้การเลือกตั้งรอบนี้ บัตร 2 ใบ ยังคงอาศัยการเมืองที่มีฐานเสียงในพื้นที่บ้านใหญ่ นักธุรกิจในท้องถิ่นเข้าผนึกกำลังกับพรรคการเมือง จึงเห็นปรากฏการณ์การดึง ส.ส.เก่า กลุ่มบ้านใหญ่ เป็นคิกออฟแรกของพรรคการเมือง และหนักหน่วงมากกว่าครั้งก่อน 

 

ขณะเดียวกัน ยอมรับว่ากลุ่มการเมืองบ้านใหญ่เข้าร่วมงานกับพรรคเพื่อไทย ทำให้มีโอกาสมุ่งสู่เป้าหมายเเลนส์สไลด์ และบ้านใหญ่จำนวนไม่น้อยในปัจจุบัน เป็นผลผลิตจากระบบพรรคการเมืองใหญ่ 2 พรรคในยุค 2540 และ 2550 เช่น ในขณะนี้ผู้สมัครพรรคเพื่อไทยที่ชนะเลือกตั้งมา 4-5 สมัย สถาปนาตัวเป็นบ้านใหญ่กันหมดในภาคอีสานและภาคเหนือ และจะเกิดปรากฏการณ์ส่งทายาททางการเมืองในหลายจังหวัด และหลายคน ครองพื้นที่การเมืองท้องถิ่น และหลายคนก็เติบโตในทางธุรกิจในพื้นที่ ก็มีความเป็นบ้านใหญ่เช่นกันในจังหวัดนั้นๆ 

"แต่วันนี้พรรคการเมืองที่ไปเอาบ้านใหญ่ ที่ไม่ได้อยู่ขั้วพรรคใหญ่อย่างพรรคเพื่อไทย ก็ต้องคำนึงถึงจุดนี้ว่าบ้านใหญ่ก็มีฐาน แต่พรรคการเมืองก็มีกระแส ไปเติมให้บ้านใหญ่หรือไม่ จะสร้างกระแสอย่างไรเพื่อไปเติมคะแนนให้บ้านใหญ่ จะเติมในเรื่องเชิงนโยบายอย่างไร จะเติมในเรื่องทรัพยากรอย่างไร ให้มีความได้เปรียบ เมื่อถึงเวลาชิงในพื้นที่ ต่างคนก็มีความเป็นบ้านใหญ่อยู่ในตัว ใครกระแสมากกว่าก็จะเป็นคนชนะ" ดร.สติธร กล่าว 

 

ส่วนโอกาสแลนด์สไลด์ของพรรคเพื่อไทย เมื่อประเมินจากผลสำรวจความนิยมนั้น จะต้องดูว่าเป็นโพลของใคร ซึ่งวันนี้ (16มี.ค.) พรรคเพื่อไทยอาจจะอ้างโพลหน่วยงานของภาครัฐแห่งหนึ่ง ในขณะเดียวกันความเป็นหน่วยงานความมั่นคงของรัฐ อาจจะประเมินพรรคเพื่อไทยในแบบเกรงกลัว เมื่อผลสำรวจสูสีก็อาจจะยกให้พรรคเพื่อไทยไว้ก่อน

 

"ดร.สติธร"ชี้เฟิร์สอิมเพรสชั่นคือปัจจัยให้คนกาคะแนนเลือกส.ส.

 

ดร.สติธร กล่าวต่อว่า หรือการประเมินจากคนในพื้นที่ และด้วยนามสกุลคนของพรรคเพื่อไทยอาจจะคุ้นเคยกับคนในพื้นที่มากกว่า ก็อาจจะประเมินว่าพรรคเพื่อไทยได้เปรียบในเขตนั้น แต่ในทางข้อเท็จจริงต้องไปทำโพลอย่างละเอียด โดยไปถามตัวบุคคล และช่วงเวลาผลโพล ที่จะสะท้อนคะแนนเสียง ชี้ว่าเป็นช่วงหลังลงสมัครรับเลือกตั้ง เนื่องจากประชาชนจะได้เห็นตัวเลือก 

ส่วนการเลือกตั้ง 2566 หากเน้นเรื่องของอิทธิพลบ้านใหญ่จะสะท้อนถึงการจัดตั้งรัฐบาลครั้งหน้า ว่ามีมุ้งใหญ่ ในพรรคเดียวกันมีอำนาจต่อรองในทางการเมือง ว่าการเลือกตั้งปี 2562 ทำให้เกิดปรากฎการณ์มุ้งใหญ่ ใครรวม ส.ส.ได้เยอะ คนนั้นมีอำนาจต่อรองตำแหน่งรัฐมนตรี และการเลือกตั้ง 2566 พรรคการเมืองจึงคิดสูตรพรรคกลาง ที่รวมกับขั้วการเมืองไหนก็ได้ และไม่ต้องตั้งเป้าเยอะ แค่พอมีอำนาจต่อรอง แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับผลการเลือกตั้ง ซึ่งหากผลออกมาไม่ใช่ ก็อาจกลับไปเป็นการเมืองแบบปี 2544 ที่พรรคการเมืองกลับมามีโอกาสต่อรอง เหนือกลุ่มเล็ก 

 

ดร.สติธร ธนานิธิโชติ ผู้อำนวยการสำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย สถาบันพระปกเกล้า

 

สำหรับผลโพลที่นำโด่ง อาจสืบเนื่องมาจากการสำรวจแบบรวมๆ ในความหมาย คือ ในวันนี้ "น.ส.แพรทองธาร ชินวัตร" หัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย โดดเด่น หรือพรรคเพื่อไทยโดดเด่น แต่เมื่อถึงเวลาเลือกตั้งจริง ความโดดเด่นแบบภาพรวม คะแนนจะไปปรากฏอยู่ที่บัตรบัญชีรายชื่อ ส่วนแบ่ง 100 ที่นั่ง ในขณะที่โพลที่ทำรายเขต จะสะท้อนว่าใน 400 เขต ใครจะได้ที่นั่งและพรรคไหนจะได้เท่าไหร่ 

 

ส่วนโค้งสุดท้ายปัจจัยที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง คือ ช่วงวันรับสมัครในสัปดาห์แรก ที่เริ่มรู้ว่าใครเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้ง แล้วกระแสของใครมา ตอนนี้กระแสก็จะเป็นเช่นนั้น และระหว่างทางการหาเสียงเลือกตั้ง จะมีจุดหักเห ที่จะเปลี่ยนเกมได้ เช่น เวทีปราศรัย เวทีดีเบต แต่สุดท้ายหากไม่มีอะไรพลิกฟ้า พลิกแผ่นดิน ตอนจบจะจบแบบช่วงต้น หมายถึงประชาชนประทับใจจากอะไรที่เห็น ณ วันที่ทุกอย่างเริ่มชัดเจน ก็อาจจะตัดสินใจได้เลยตั้งแต่วินาทีนั้น เช่นกันผลตัดสินใจเข้าคูหา เป็นเฟิร์สอิมเพรสชั่น 

 

ส่วนการเลือกตั้งปี 2562 มีเหตุการณ์เรื่องยุบพรรคการเมือง ก็เกิดกระแส ไปที่พรรคอนาคตใหม่ "ฟ้ารักพ่อ" เป็นตัวเริ่มกระแส ก็ไปยาว และผลที่ออกมา จากข้อมูลที่มีอยู่ คือ ตอนที่มีการเปิดตัว มีการทำโพล พรรค ได้ร้อยละ 16- 17 แล้วเมื่อผลการเลือกตั้งออกมาก็ปรากฏว่าได้ร้อยละ 17 เช่นเดียวกันกับ "นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์" ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ที่มีกระแสนิยมดีตั้งแต่วันรับสมัคร โดยเห็นว่ากระแสของผู้คนในการตัดสินใจทางการเมืองในปัจจุบันมีลักษณะเป็นเช่นนี้ 


 

logoline