svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

ไทยเสี่ยงถูกขึ้น"บัญชีดำ" เหตุยื้อร่างกม.แลกเปลี่ยนข้อมูลภาษีระหว่างปท.

05 มีนาคม 2566
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

การไม่สามารถผ่าน"กฎหมายแลกเปลี่ยนข้อมูลภาษีระหว่างประเทศ" ได้ตามกรอบเวลา ส่งผลให้ไทยเสี่ยงถูกขึ้น"บัญชีดำ"ในฐานะเป็นแหล่งหลบเลี่ยงภาษีและการฟอกเงิน ติดตามในเจาะประเด็นร้อน โดย "รศ.อนุสรณ์ ธรรมใจ"

"รศ. ดร. อนุสรณ์ ธรรมใจ" อดีตกรรมการนโยบายและกำกับการบริหารหนี้สาธารณะ กระทรวงการคลัง แสดงความห่วงใยว่า กฎหมายทางการเงินและการคลังหลายฉบับจะถูกแช่แข็งยาวจนกว่าจะได้รัฐบาลใหม่ ต้องรอให้คณะรัฐมนตรีใหม่มายืนยันร่างกฎหมายแล้วจึงเสนอเข้าพิจารณาในรัฐสภาอีกครั้งหนึ่ง อาจทำให้รัฐบาลขาดแหล่งรายได้สำคัญรวมทั้งแนวทางการกำกับสินทรัพย์ดิจิทัล

 

นอกจากนี้ ส่งผลต่อการที่ประเทศไทยอาจถูกขึ้นบัญชีดำหรือแบล็กลิสต์กรณีไม่สามารถผ่านกฎหมายแลกเปลี่ยนข้อมูลภาษีระหว่างประเทศของกรมสรรพากรมาบังคับใช้ในปีนี้

 

กฎหมายทางการเงินการคลังหลายฉบับไม่สามารถผ่านรัฐสภามาบังคับใช้ได้ทันทำให้ประเทศสูญเสียโอกาสในการปฏิรูปตลาดทุนและตลาดเงิน กฎหมายทรัสต์เพื่อธุรกรรมในตลาดทุน กฎหมายประกันชีวิต กฎหมายการกำกับธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล 

"รศ. ดร. อนุสรณ์ ธรรมใจ" กล่าวต่อว่า ประเทศไทยนั้นเป็นสมาชิกของ Global Forum on Transparency and Exchange of Information for Tax Purpose เพื่อส่งเสริมบทบาทของประเทศไทยในกรอบความร่วมมือขององค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (Organization for Economic Co-operation and development : OECD) เป็นการยืนยันเจตนารมณ์ของไทยที่พร้อมจะร่วมมือกับ OECD ในการป้องกันการหลบหลีกหรือหลีกเลี่ยงภาษีและมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลทางภาษีเป็นไปตามมาตรฐานสากลเช่นเดียวกับประเทศอื่นๆ

การไม่สามารถผ่านกฎหมายแลกเปลี่ยนข้อมูลภาษีระหว่างประเทศได้ตามกรอบเวลาปีนี้ ไม่เป็นผลดีต่อไทย

ในหลักการของตัวกฎหมายจะมีทั้งการแลกเปลี่ยนข้อมูลแบบร้องขอเพื่อสกัดการหลบเลี่ยงภาษี และ ข้อมูลทางการเงินแบบอัตโนมัติเพื่อสกัดการฟอกเงิน การไม่สามารถผ่านกฎหมายได้ตามกรอบเวลาเนื่องจากรัฐสภาไม่สามารถจัดการประชุมได้ตามเป้าหมายและอาจมีการยุบสภาเร็วๆนี้ จะทำให้ธุรกรรมหลีกเลี่ยงภาษีผ่านการทำธุรกรรมการเงินและการลงทุนระหว่างประเทศเกิดขึ้นต่อไป

โดยเฉพาะการทำธุรกรรมทางธุรกิจอยู่ในรูปออนไลน์และในรูปดิจิทัล การไม่มีฐานข้อมูลเพียงพอทำให้เกิดความยุ่งยากในการบริหารนโยบายภาษีและการจัดเก็บภาษีให้ถูกต้องและเป็นธรรมได้ อาจมีการเก็บภาษีซ้ำซ้อน หรือ หลบเลี่ยงภาษีได้

 

นอกจากนี้อาจเกิดธุรกรรมหลบเลี่ยงภาษีและเกี่ยวข้องกับการฟอกเงินได้ การถูกขึ้นบัญชีดำ ในระยะสั้น อาจส่งผลกระทบต่อการทำธุรกรรมระหว่างประเทศจะมีขั้นตอนยุ่งยากขึ้นตั้งแต่การพิสูจน์ทราบลูกค้า (Customer Due Diligence-CDD) หรือ ธุรกรรมบางอย่างอาจถูกระงับการใช้หากมีข้อมูลไม่สมบูรณ์ทำให้กระทบการต่อความลื่นไหลของการค้าการลงทุนและการทำธุรกรรมการเงินระหว่างประเทศได้ ทำให้ต้องใช้เวลาในการทำธุรกรรมมากขึ้น เอกสารเพิ่มมากขึ้น ต้องใช้เวลาในการทำธุรกรรมต่างๆเพิ่มขึ้น   


ส่วนเรื่องการเก็บภาษีขายหุ้น หัวหน้าทีมเศรษฐกิจรัฐบาลนี้ คือ พล.อ. ประยุทธ์ สั่งให้ระงับเพราะเกรงเสียคะแนนนิยมในหมู่นักลงทุนในตลาดหุ้นและธุรกิจหลักทรัพย์แต่ทำให้ประเทศสูญเสียรายได้จากภาษีการขายหุ้นไปไม่ต่ำกว่า 20,000-30,000 ล้านบาท ทำให้แผนการหารายได้ของกระทรวงการคลังสะดุด เพิ่มความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจต่อไป ตลาดหลักทรัพย์ได้เติบโตขึ้นอย่างมาก

 

โดยมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (Market Capitalization) เพิ่มขึ้นถึง 22 เท่าจาก 30 ปีก่อน ภาครัฐจึงไม่มีความจำเป็นใดๆในทางนโยบายเพื่อพัฒนาตลาดทุนด้วยการไม่เก็บภาษีอีกต่อไป

การจัดเก็บภาษีขายหุ้นนอกจากเป็นแหล่งรายได้ของรัฐแล้วยังเป็นสร้างความเป็นธรรมในระบบภาษีอีกด้วย เพราะการเสียภาษีในรูปภาษีธุรกิจเฉพาะนั้น

ปัจจุบัน ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ธุรกิจประกัน ธุรกิจธนาคารพาณิชย์ก็ต้องเสียทั้งหมดไม่ได้รับการยกเว้นแต่อย่างใด และภาษีขายหุ้นก็ได้รับการยกเว้นมา 30 ปีแล้ว   

อย่างไรก็ตาม หากต้องการลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ การเก็บภาษีในตลาดทุนควรเป็นการเก็บภาษีเพิ่มในลักษณะการจัดเก็บภาษีจากกำไรการขายหุ้น (Capital Gain Tax) น่าจะมีประสิทธิภาพมากกว่าการจัดเก็บภาษีจากธุรกรรมการขาย (Financial Transaction Tax) แม้นว่า การจัดเก็บภาษีจากกำไรการขายหุ้นอาจมีความยุ่งยากในการจัดเก็บและต้นทุนในการจัดเก็บสูงกว่าบ้างก็ตาม 

 

"รศ. ดร. อนุสรณ์ ธรรมใจ" อดีตกรรมการนโยบายและกำกับการบริหารหนี้สาธารณะ กระทรวงการคลัง กล่าวต่อว่า อย่าเพิ่งดีใจกับการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจมากนัก เพราะมีสัญญาณไม่สู้ดีนักจากตัวเลขการส่งออกที่หดตัวลงมากแม้นรายได้ท่องเที่ยวดีขึ้นก็ตาม การชะลอตัวลงของภาคส่งออกไม่ได้เพียงสะท้อนปัญหาการชะลอตัวลงของประเทศคู่ค้า แต่สะท้อนว่า สินค้าส่งออกไทยขาดเทคโนโลยีและนวัตกรรมในสร้างมูลค่าเพิ่มและยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขัน

 

ช่วงที่ผ่านมาการเติบโตและการขยายตัวทางเศรษฐกิจยังคงเป็นเพียงเปลือกนอก หรือ การเติบโตที่ขับเคลื่อนด้วยทรัพยากร (Resource driven growth) ขาดการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมภายในภาคการผลิตและภาคบริการ การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจหรือการเติบโตจึงเป็นเพียงมายา ความรุ่งเรืองรอบใหม่เช่นในทศวรรษ 2530 และ ครึ่งหลังของทศวรรษ 2540 อันเป็นผลจากการเพิ่มขึ้นของปัจจัยทุนและแรงงานยากจะเกิดขึ้นได้อีก หากไม่ทำให้เกิดผลิตภาพ (Productivity) ที่สูงขึ้นจากเทคโนโลยีและนวัตกรรม

 

รัฐบาลไทยและภาคเอกชนไทยให้ความสำคัญกับการสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีและการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์น้อยเกินไป แต่กลับพึ่งพาเทคโนโลยีการนำเข้า ไม่มีการส่งออกสินค้าที่ใช้ทักษะแรงงานฝีมือชั้นสูงมากนัก ภาคส่งออกจึงมีความอ่อนไหวไปตามความผันผวนของค่าบาทและตลาดโลกสูง โครงสร้างทางการเงินของภาคครัวเรือน ภาคเอกชน ภาครัฐ มีสัดส่วนของหนี้ต่อทุนและรายได้ในระดับสูง มีความเปราะบางในภาวะดอกเบี้ยขาขึ้นอย่างยิ่ง

 

นอกจากนี้ อัตราส่วนทุนต่อผลิตผลเพิ่ม (Incremental Capital Output; ICOR) สูงเกินไปเช่นเดียวกับช่วงก่อนเกิดวิกฤติปี 2540 ซึ่งสะท้อนถึง ประสิทธิภาพของการลงทุนอยู่ในระดับต่ำถึงต่ำมาก เช่น ICOR เท่ากับ 3.5 หมายความว่า ประเทศลงทุน 3 หน่วยจะส่งผลให้ผลิตผลเพิ่มขึ้น 1 หน่วย

 

ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุด คือ การทุ่มเงินลงทุนจำนวนมากทั้งระบบราง ระบบทางด่วนและถนนซ้ำซ้อนกันมากมายไปยังพื้นที่ EEC ซึ่งระบบขนส่งเหล่านี้ก็แข่งขันกันเอง อาจเกิดปัญหาความยั่งยืนทางการเงินและไม่เกิดความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์และมี อัตราส่วนทุนต่อผลิตผลเพิ่ม หรือ ICOR สูง งบประมาณมหาศาลที่ก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานระบบรางมีการกระจุกตัวในบางพื้นที่เกินความพอดี ระบบรางกระจุกตัวอยู่ในกรุงเทพฯ

 

แต่จังหวัดใหญ่ๆในภูมิภาคแทบไม่มีระบบขนส่งมวลชนระบบราง การลงทุนส่วนหนึ่งควรถูกเกลี่ยมาลงทุนทางด้านการศึกษา วิจัยพัฒนานวัตกรรม และ ระบบชลประทาน ซึ่งจะทำให้ประสิทธิภาพการลงทุนของภาครัฐดีขึ้นและส่งผลดีระยะยาวมากกว่า   

logoline