16 กุมภาพันธ์ 2566 นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ผลการสำรวจดัชนีการรับรู้การทุจริต (Corruption Perceptions Index: CPI) ประจำปี 2565 ขององค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ (Transparency International: TI) โดยประเทศไทยอยู่ในอันดับ 101 ของโลกจาก 180 ประเทศทั่วโลก มีคะแนนเพิ่มขึ้นเป็น 36 คะแนน ดีขึ้นจากปี 2564 ที่อยู่อันดับ 110 ได้ 35 คะแนน ถือเป็นอันดับที่ 4 ของกลุ่มประเทศอาเซียน
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ปี 2565 ผลการสำรวจดัชนีการรับรู้การทุจริตของไทยเป็นการประเมินจาก 9 แหล่งข้อมูล โดย ไทยได้คะแนนเพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า (พ.ศ. 2564) 2 แหล่ง คือ IMD World Competitiveness Yearbook (IMD) เพิ่มขึ้นจาก 39 เป็น 43 คะแนน และ World Economic Forum (WEF) เพิ่มขึ้นจาก 42 เป็น 45 คะแนน ในขณะที่แหล่งข้อมูลที่คะแนนคงที่มี 5 แหล่ง คือ
1) Varieties of Democracy Institute ที่ 26 คะแนน
2) Bertelsmann Foundation Transformation Index ที่ 37 คะแนน
3) Economist Intelligence Unit Country Risk Ratings ที่ 37 คะแนน
4) Global Insight Country Risk Ratings ที่ 35 คะแนน และ
5) PRS International Country Risk Guide ที่ 32 คะแนน
ทั้งนี้ แหล่งข้อมูลที่ได้รับคะแนนลดลงจากปีก่อน 2 แหล่ง คือ The Political and Economic Risk Consultancy ลดลงจาก 36 เป็น 35 คะแนน และ World Justice Project Rule of Law Index ลดลงจาก 35 เป็น 34 คะแนน
โฆษกรัฐบาล กล่าวเพิ่มเติมว่า การรวบรวม CPI นั้นครอบคลุมการคอร์รัปชันของภาครัฐ อาทิ การติดสินบน การแปลงงบประมาณ (Diversion of public funds) เจ้าหน้าที่ใช้สำนักงานของรัฐเพื่อผลประโยชน์ส่วนตัวโดยไม่ต้องเผชิญกับผลที่ตามมา ความสามารถของรัฐในการควบคุมการทุจริตในภาครัฐ กฎหมายที่รับรองว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐต้องเปิดเผยข้อมูลทางการเงินและผลประโยชน์ทับซ้อนที่อาจเกิดขึ้น และการคุ้มครองทางกฎหมายสำหรับผู้ที่รายงานกรณีการติดสินบนและการทุจริต เป็นต้น
“นายกฯ ให้ความสำคัญ และผลักดันการแก้ไขปัญหาการทุจริตคอร์รัปชัน เป็นวาระแห่งชาติ โดยได้บรรจุแนวทางการแก้ไขไว้ในทุกระดับ ทั้งระดับชาติ จนไปถึงแผนระดับรอง เพื่อขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาการทุจริตอย่างจริงจัง และเป็นรูปธรรม พร้อมทั้งสั่งการ และกำชับให้แก้ปัญหาอย่างต่อเนื่องและจริงจังมาโดยตลอด รวมทั้งกำชับการทำงานของทุกหน่วยงาน ให้ทำงานด้วยความโปร่งใส และตรวจสอบได้ รวมทั้งสร้างการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน จากการนำระบบดิจิทัลเข้ามาใช้ สร้างความตื่นตัวให้ภาคประชาชนในการจับตามองการดำเนินการของหน่วยงานภาครัฐ” นายอนุชาฯ กล่าว