svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

“มัลลิกา” ห่วงรัฐแทรกแซงสื่อ! แนะนำกฎหมายไปทบทวนต่อสาธารณะ

07 กุมภาพันธ์ 2566
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

“มัลลิกา” ห่วงรัฐแทรกแซงสื่อ! แนะนำกฎหมายไปทบทวนและชี้แจงสาธารณะ ขณะที่ ส.ส.-ส.ว.ส่วนใหญ่ไม่เข้าร่วมพิจารณา

วันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2566 ดร.มัลลิกา บุญมีตระกูล มหาสุข สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ เปิดเผยว่า ในการประชุมร่วมกันของรัฐสภาครั้งที่ 8 สมัยสามัญประจำปีครั้งที่ 2 เป็นพิเศษบรรุจุวาระวันอังคาร ที่ 7 กุมภาพันธ์ 2566 นั้น เป็นการที่ทั้ง 2 สภาจะต้องพิจารณาพระราชบัญญัติส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน พ.ศ.... ที่คณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอและค้างมาจากการประชุมร่วมกันของรัฐสภาเมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2565 

ดร.มัลลิกา บุญมีตระกูล มหาสุข ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์

โดยร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ที่เสนอต่อประธานรัฐสภาเพื่อบรรจุนั้น ลงลายมือเสนอโดยพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะรักษาราชการแทนนายกรัฐมนตรี และเป็นร่างพระราชบัญญัติที่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มอบให้กรมประชาสัมพันธ์ของรัฐบาลเป็นเจ้าภาพดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2560 บัดนี้ผ่านเข้าสู่ปีที่ 6 แล้วก็นำเข้าสู่การพิจารณาอย่างรวบรัด ทำให้เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ในหมู่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาอย่างกว้างขวาง รวมทั้งแวดวงสื่อมวลชนด้วย

"ที่เห็นได้ชัดคือ สมาคมนักข่าวและโทรทัศน์ไทย ออกมาคัดค้านกฎหมายนี้และเรียกว่ากฎหมายควบคุมสื่อ ส่วนสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยก็ออกแถลงการณ์เสนอให้ถอนร่างนี้ออกไปและให้เอาไปชี้แจงต่อสาธารณะเสียก่อนด้วย

เรื่องนี้จึงเป็นเรื่องใหญ่ และสมาชิกจำนวนมากแสดงออกอย่างชัดเจนโดยการไม่เข้าร่วมประชุมส่วนด้านนอกสภาก็มีการออกแถลงการณ์ ก็ชัดเจนว่าการนำเสนอกฎหมายฉบับนี้ของรัฐบาลนั้นเป็นเรื่องนำไปสู่ความขัดแย้งและเป็นที่ถกเถียงอย่างกว้างขวางไม่ตกผลึกทางความคิดที่สำคัญที่สุดคือใช้เวลาร่างที่ยาวนานขณะที่บริบทของสังคมและบริบทของสื่อและนวัตกรรมของสี่อก็เปลี่ยนแปลงไปไกลแล้ว" ดร.มัลลิกา กล่าว 

“มัลลิกา” ห่วงรัฐแทรกแซงสื่อ! แนะนำกฎหมายไปทบทวนต่อสาธารณะ

ดร.มัลลิกา กล่าวอีกว่า ทุกฝ่ายแสดงความห่วงใยเรื่องนี้ รวมทั้งตนด้วยเพราะในฐานะที่เคยประกอบวิชาชีพนักสื่อสารสื่อมวลชน ก็มีความกังวล ประเด็นการเปิดช่องให้รัฐใช้อำนาจแทรกแซงความอิสระของสื่อมวลชน และทำลายกลไกการกำกับดูแลกันเอง ซึ่งตรงจุดนี้คือเกียรติยศของนักสื่อสารมวลชน และจุดนี้เองที่เรียกว่าจริยธรรมคุณธรรม แต่ในกฎหมายไม่สามารถนิยามสาระสำคัญนี้ได้ จึงไม่แปลกใจที่ทุกฝ่ายโดยเฉพาะนักสื่อสารมวลชนจะไม่ยอม

โดยเฉพาะที่มาของคณะกรรมการสภาวิชาชีพสื่อมวลชน และที่มาของรายได้สภาวิชาชีพสื่อมวลชน เพราะร่างพ.ร.บ.ระบุในบทเฉพาะกาล ให้อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ ซึ่งอยู่ภายใต้สำนักนายกรัฐมนตรี เป็นคณะกรรมการในวาระเริ่มแรก รวมทั้งให้รัฐบาลจ่ายเงินให้ทุนประเดิมและจัดสรรให้จากงบประมาณรายจ่าย

รวมถึงเงินที่ได้รับการจัดสรรจากกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมปีละไม่ต่ำกว่า 25 ล้านบาท ที่มาเหล่านี้ ล้วนจะนำไปสู่การเข้าควบคุมสื่ออย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ตนจึงเห็นว่าอะไรก็ตามที่จะนำไปสู่ความขัดแย้งควรจะยุติและนำกลับไปทบทวน

อย่างไรก็ตาม ต้องให้ความเป็นธรรม กับคณะรัฐมนตรีในชุดปัจจุบันด้วยเช่นกัน อันเนื่องมาจากว่ากฎหมายฉบับนี้ร่างมาตั้งแต่ปี 2560 คือก่อนที่จะมีรัฐบาลชุดปัจจุบันแล้วร่างมาต่อเนื่องทะลุมิติจนถึงรัฐบาลนี้ ขณะที่ผู้รับผิดชอบหลัก คือ นายกรัฐมนตรีคนเดียวกัน คือ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา และพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้ลงนามเสนอมาตอนที่เป็นรักษาการนายกรัฐมนตรี

logoline