svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

“เอ้ สุชัชวีร์” เสนอ 3 มาตรการแก้ PM 2.5 แบบเบ็ดเสร็จ

06 กุมภาพันธ์ 2566
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

“เอ้ สุชัชวีร์” ชูแนวคิดโซนนิ่งในเมือง ประกาศชัดต้องใช้แนวทาง Low Emission Zones "LEZ" แก้ปัญหาฝุ่นพิษ พร้อมเสนอ 3 มาตรการแก้ PM 2.5 แบบเบ็ดเสร็จ

6 กุมภาพันธ์ 2566 คณะกรรมการยุทธศาสตร์ กทม. พรรคประชาธิปัตย์ จัดเสวนา “ฝุ่นพิษ PM 2.5 ปัญหาที่ต้องเร่งแก้” วานนี้(5 ก.พ.) โดยมีผู้ร่วมเสวนาประกอบด้วย ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อดีตนายกสภาวิศวกร ประธานคณะทำงานนโยบาย กทม. พรรคประชาธิปัตย์, รศ.ดร.ปิยะบุตร วานิชพงษ์พันธุ์ นายกสภาวิศวกร, นายอภิมุข ฉันทวานิช ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.กทม. พรรคประชาธิปัตย์, ว่าที่ร.ต.ศรุต วัฒนสมบูรณ์ รองผู้จัดการมูลนิธิสถาบันราชพฤกษ์ ดำเนินรายการโดย นางดรุณวรรณ ชาญพิพัฒนชัย รองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์

องอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์

นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ กทม. กล่าวว่า วันนี้ปัญหาฝุ่นพิษ PM 2.5 รุนแรงมากขึ้น ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ หลายองค์กรรวมถึงสภาผู้แทนราษฎร ได้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ขึ้นมาเพื่อพิจารณาเรื่องการแก้ไขปัญหามลพิษฝุ่น PM 2.5 ตั้งแต่ปี 2563 และสภาผู้แทนราษฎรได้มีข้อเสนอส่งต่อให้รัฐบาลดำเนินการรวมถึงหน่วยงานต่าง ๆ แต่ยังดำเนินการไม่เพียงพอ ทำให้ปัญหายังคงอยู่ และจำเป็นต้องหาทางออกในการแก้ไขปัญหาร่วมกัน จึงมีความจำเป็นที่ต้องมีการระดมความคิดจากผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ ร่วมกันว่าปัญหาเกิดจากอะไร และจะแก้ไขปัญหาได้อย่างไร

ด้าน รศ.ดร.ปิยะบุตร กล่าวว่า สถานการณ์ปัจจุบันประเทศไทยมีฝุ่นพิษ PM 2.5  สูงเป็นลำดับที่ 12 ของโลก ในเขตกรุงเทพมหานคร พบที่เขตยานนาวาสูงสุดเป็นลำดับที่ 5 ของประเทศ โดยที่องค์การอนามัยโลก กำหนดค่า PM 2.5 ไม่ควรเกิน 25 มคก. /ลบ.ม. แต่กรมควบคุมมลพิษ ประเทศไทย กำหนดไว้ที่ไม่ควรเกิน 50 มคก. /ลบ.ม. ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้คนไม่ตระหนักถึงอันตราย

ในขณะที่ตัวเลขล่าสุดของไทยในหลายพื้นที่เกินกว่า 150 -200 แล้ว อยู่ในโซนสีส้ม สีแดง ส่งสัญญาณว่าอันตรายมากเนื่องจากระดับความเข้มข้นมีผลต่อคุณภาพชีวิต พร้อมชี้ให้เห็นถึงต้นเหตุของปัญหามลพิษฝุ่น PM 2.5 ว่า เกิดจาก 3 ส่วนหลักคือ กิจกรรมในชีวิตประจำวันของมนุษย์ เช่น การขับขี่ยานพาหนะ ภาคการเกษตร เช่น การเผาเศษวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตร  และภาคอุตสาหกรรม ที่ใช้กระบวนการเผาไหม้ไม่สมบูรณ์ ก่อให้เกิดเขม่า ควันพิษ และในสภาพอากาศปิดเป็นปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อการแพร่กระจายของฝุ่น PM.2.5 โดยเฉพาะในช่วงหน้าหนาว

และเนื่องจากฝุ่น PM 2.5 มีขนาดเล็กกว่าเส้นผม 30 เท่า ขนจมูกไม่สามารถกรองได้ จึงสะสมในปอด ทางเดินหายใจ ก่อให้เกิดมะเร็ง บางคนมีอาการตาแดง แสบจมูก ผื่นคันที่ผิวหนัง  ส่งผลกระทบต่อผู้ป่วย โรคหืด หอบ หญิงตั้งครรภ์ คนชรา โดยเฉพาะทางการแพทย์พบว่า มีผลต่อสมองเด็กอย่างมาก ก่อปัญหาระยะยาว เมื่อรู้สาเหตุของปัญหาที่มาของฝุ่นพิษแล้ว ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องต้องร่วมกันแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืนด้วยใจ ไม่ใช่แก้ปัญหาแบบขอไปที และต้องจริงจังตั้งแต่วันนี้ 

ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ หรือ ดร.เอ้ อดีตนายกสภาวิศวกร ประธานคณะทำงานนโยบาย กทม.พรรคประชาธิปัตย์

ขณะที่ ศ.ดร.เอ้ สุชัชวีร์ กล่าวว่า ในอดีตเมืองใหญ่อย่าง ลอนดอน ปักกิ่ง โตเกียว เคยประสบปัญหาฝุ่นทั้งเมือง แต่ทุกวันนี้อากาศสะอาด บริสุทธิ์ เพราะจัดการแก้ไขปัญหาจริงจัง  บ้านเราคนไม่สนใจ ไม่รับรู้ถึงพิษภัยของฝุ่น PM 2.5 ที่ทำให้เสียชีวิตได้แบบผ่อนส่ง เนื่องจากฝุ่นมีขนาดเล็ก มองไม่เห็น ไม่มีกลิ่น และในฐานะที่เป็นพ่อของลูกวัย 4 ขวบ ดร.เอ้ วิงวอนให้รัฐและกทม.ออกมาพูดความจริง เพราะสุขภาพของพลเมืองสำคัญที่สุด  พร้อมเสนอ 3 มาตรการแก้ปัญหา ประกอบด้วย

     1.แก้ด้วยกายภาพ เขตกรุงเทพฯชั้นในที่มีทั้งโรงเรียน โรงพยาบาลมากมาย ควรเป็นเขต LEZ (Low Emission Zone)  เช่น ถ้ารถสิบล้อเข้าเขตนี้ต้องเสียภาษีเพิ่ม รถควันดำห้ามเข้า เป็นต้น

     2.แก้ด้วยกฎหมาย เช่น ตึกที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างต้องมีการ Wrap ตึกและสามารถเคลมเป็นภาษีได้ แต่ถ้าไม่ Wrap ต้องมีมาตรการเพิกถอนใบอนุญาตก่อสร้างหรือโดนภาษีหนัก ก็จะช่วยแก้ปัญหาได้ อย่างนี้เป็นต้น

     3.แก้ด้วยเทคโนโลยี เช่น ติดตั้งเครื่องวัดฝุ่นคุณภาพสูงอย่างน้อย 2,000 จุดทั่วกรุงเทพฯ ขอความร่วมมือป้าย LED  แจ้งปริมาณฝุ่น พร้อมส่งสัญญาณเตือนเมื่อเกินค่ามาตรฐาน

“หากตนมีอำนาจสิ่งแรกที่จะทำคือ การบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด วันนี้ถึงแม้ไม่มีการบังคับใช้กฎหมายอากาศบริสุทธิ์ แต่มีกฎหมายอื่นที่เอื้อต่อการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ ปลายเหตุ พอสมควร เช่น ผู้ว่าฯ มีอำนาจชะลอ เพิกถอนอาคารก่อสร้างที่ไม่ Wrap ตึกที่อยู่ระหว่างก่อสร้างและก่อให้เกิดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อมได้ทันที

การตรวจสอบสภาพรถ ตรวจจริงจังหรือไม่ รถเก่าต้องมีมาตรการเด็ดขาด เช่น ต้องเสียภาษีเพิ่มตามปริมาณฝุ่นพิษที่ปล่อยออกมา เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องด้านควบคุมมลพิษต้องเอาจริงเอาจัง และอยากฝากไว้ว่าฝุ่นเลวสร้างมลพิษ ไม่เท่ากับการไม่เชื่อและไม่ตระหนักถึงอันตรายด้วยการปล่อยฝุ่นพิษทิ้งไว้ทำลายชีวิตผู้คน” ดร.สุชัชวีร์ กล่าว

นายอภิมุข ฉันทวานิช ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.กทม. พรรคประชาธิปัตย์

ด้านนายอภิมุข ในฐานะที่คลุกคลีดูแลประชาชนในเขตยานนาวาซึ่งมีฝุ่นพิษติดอันดับ 1 ใน 5 ได้แสดงความห่วงใยถึงประชาชนทุกคน และฝากถึงรัฐบาลและผู้มีอำนาจในการแก้ไขว่า ฝุ่นพิษ PM 2.5 ไม่ใช่ปัญหาใหม่ รัฐบาลต้องแก้ไขปัญหาในเชิงลึก  บังคับใช้กฎหมาย ไม่ใช่แค่ให้ใส่หน้ากากอนามัย งดกิจกรรมกลางแจ้ง หรือเวิร์กฟอร์มโฮม ถ้าไม่แก้จริงจัง อาจต้องใส่หน้ากากตลอดชีวิต ที่สำคัญคือเด็ก ซึ่งเป็นกำลังสำคัญของชาติ การศึกษาคือกลไกขับเคลื่อนประเทศ แต่ถ้าฝุ่นพิษ PM 2.5 ทำร้ายสมองเด็ก หยุดพัฒนาการ ประเทศจะเป็นเช่นไร ดังนั้นจึงต้องให้ใจ จริงใจ ในการแก้ปัญหา บังคับใช้กฎหมายอากาศสะอาด เพื่อลูกหลานในอนาคต

ในขณะที่ ว่าที่ร.ต.ศรุต กล่าวว่า ในฐานะที่มูลนิธิทำงานด้านสิ่งแวดล้อม มีข้อมูลจากการสำรวจขององค์การอนามัยโลกพบว่า การปลูกต้นไม้ในเมือง 9 ตารางเมตรต่อคน ช่วยลดมลพิษได้ ในขณะที่ ปารีส สิงคโปร์ เบอร์ลิน มีการปลูกต้นไม้ 56 ตารางเมตรต่อคนแล้ว การปลูกต้นไม้ถือเป็นแก้ปัญหาจากปลายเหตุ แต่ก็เป็นสิ่งที่ควรต้องทำ

ทั้งนี้มูลนิธิฯ ได้รณรงค์ให้ความรู้ ความเข้าใจ ปลุกจิตสำนึกรักต้นไม้ ซึมซับธรรมชาติให้แก่เด็กและเยาวชนผ่านโครงการต่าง ๆ โดยประสานความร่วมมือกับบ้าน  วัด โรงเรียน นอกจากนี้ยังผลักดันให้มีการปลูกป่าในพื้นที่ต่าง ๆ เพื่อช่วยสร้างอากาศที่บริสุทธิ์ ซึ่งเชื่อว่าถ้าทุกคนมีจิตสำนึกที่นึกถึงส่วนรวม รักษ์สิ่งแวดล้อมก็จะช่วยแก้ปัญหาเรื่องมลพิษได้บ้างไม่มากก็น้อย

ส่วนนางดรุณวรรณ กล่าวทิ้งท้ายว่า รัฐบาลต้องแก้ไขปัญหาฝุ่นพิษ PM 2.5 อย่างจริงจัง ไม่ฉาบฉวยเพราะส่งผลกระทบรุนแรงต่อสุขภาพ แต่ที่สำคัญไปกว่านั้นคือ ทุกคนสามารถช่วยกันแก้ปัญหามลพิษให้ลดลงได้ โดยเริ่มต้นที่ตัวเอง อยากได้อากาศสะอาด ก็ต้องไม่เป็นส่วนหนึ่งในการสร้างมลพิษและรอแค่การบังคับใช้กฎหมายมาจัดการ ทุกอย่างเริ่มได้จากตัวเราเอง

การแก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 พรรคประชาธิปัตย์

logoline