svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

“ไตรรงค์” พ้อ!เลือกตั้ง “ซื้อเสียง” ลามหนัก งบ 20% เงินไหลเข้า “พุงหมา”

30 มกราคม 2566
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ไตรรงค์ นำถกวงปชต.วิวัฒนาการการเมืองไทย น่าห่วงถดถอยจุดต่ำสุด ซื้อเสียง “รุ่นสู่รุ่น” ลามหนัก งบประมาณ 20 %เงินไหลเข้า “พุงหมา” เปิดตัวลูกสาว “รัดเกล้า สุวรรณคีรี” ลง ส.ส.กทม.เขตบางพลัด

30 มกราคม 2566 ที่โรงแรมรอยัลริเวอร์ บางพลัด นายไตรรงค์ สุวรรณคีรี อดีตรองนายกฯ และที่ปรึกษาพรรครวมไทยสร้างชาติ เปิดการเสวนาประสาไตรรงค์ เพื่อพูดคุยให้ความรู้กับประชาชนและผู้สนใจ ในประเด็นเกี่ยวกับสถานการณ์การเมืองในปัจจุบัน และในอนาคต โดยมีนายสมัย เจริญช่าง อดีต ส.ส.กทม.  พล.ต.อ. อัศวิน ขวัญเมือง อดีตผู้ว่าฯ กทม. ร่วมเป็นวิทยากรในการเสวนา

นายไตรรงค์ ได้เล่าย้อนถึงต้นกำเนิดของระบอบประชาธิปไตย ตั้งแต่ 3,000 ปีก่อนในประเทศกรีก ซึ่งคิดริเริ่มโดยนักปราชญ์โซลอน ที่คิดใหม่เพื่อก้าวข้ามระบอบกษัตริย์ปกครองนครรัฐ ที่เต็มไปด้วยการกดขี่ ข่มเหงขูดรีดประชาชน ทำให้ครึ่งของประชาชนต้องตกเป็นทาส นักปราชญ์โซลอนคิดระบอบขึ้นมาใหม่เพื่อคืนความเป็นมนุษย์ให้แก่คน 
ไตรรงค์ สุวรรณคีรี  ที่ปรึกษาพรรค รทสช.และพล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง สมาชิก รทสช.

มีการจัดตั้งผู้นำชุมชนมาทำหน้าที่เลือกผู้แทน เพื่อเข้าสู่สภา และศาล  โดยการใช้วิธีเอาก้อนหินใส่ในหลุมเป็นกระบวนการในการลงเสียงโหวต  ส่วนประชาธิปไตยที่ใช้อยู่ในปัจจุบันพัฒนาขึ้นมาเมื่อประมาณ 200 ปีก่อน เป็นการพัฒนาต่อยอดจากแนวคิดที่เกิดขึ้นตั้งแต่เมื่อ 3,000 ปีก่อน

แต่สิ่งที่น่าเสียดายคือ คนที่อยู่ในระบอบประชาธิปไตยปัจจุบัน ไม่เข้าใจถึงแก่นของการใช้สิทธิ์ใช้เสียงของตัวเองที่แท้จริง

ส่วนประวัติศาสตร์และวิวัฒนาการของการเมืองไทย ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน มีการพัฒนามาโดยตลอด มีทั้งขึ้นและลง  อย่างไรก็ตามในมุมมองของตน เห็นว่า ประชาธิปไตยของคนไทยถอยลงมาเรื่อย ๆ เป็นลำดับ จนน่าเป็นห่วง  โดยเฉพาะการซื้อเสียง ที่มันเริ่มต้นตั้งแต่ปี 2522 ที่ จ.ร้อยเอ็ด  ตั้งแต่นั้นมา “โรคซื้อเสียง”  ก็เริ่มลามมาสู่รุ่นถัด ๆ และเริ่มแย่ลงเรื่อย ๆ

“ไตรรงค์” พ้อ!เลือกตั้ง “ซื้อเสียง” ลามหนัก งบ 20% เงินไหลเข้า “พุงหมา”

“ในยุคปัจจุบันนี้การเลือกตั้ง อบต. อบจ. แม้แต่เลือกกำนันยัง ต้องหาเงินมาหลายสิบล้านบาทเพื่อที่จะชนะ  เพื่อที่จะให้คนเพียงกลุ่มหนึ่งเข้าสู่อำนาจ เพื่อที่เข้าไปกอบโกยประโยชน์  นี่คือการถดถอยของประชาธิปไตยในประเทศไทยมาถึงจุดต่ำสุด งบประมาณของไทยกว่า 20% กลับเข้าไปอยู่ใน “พุงหมา”  แทนที่จะไปสู่การสร้างประโยชน์ให้กับประชาชนอย่างที่แท้จริง” นายไตรรงค์ กล่าว

 

สมัย เจริญช่าง อดีต ส.ส.กทม.  สมาชิก รทสช.

ด้าน นายสมัย กล่าวว่า อยากจะให้คนไทยช่วยกันครุ่นคิดถึงประเด็นปัญหาของไทย 5 เรื่องว่า ควรจะทำอย่างไร ได้แก่ 

  1. ปัญหาเรื่องความแตกแยกของแนวคิดทางการเมือง ที่ถูกแบ่งออกเป็นสี  ทั้งสีเหลือง สีแดง หรือ การแบ่งแยกเป็น กลุ่มอนุรักษ์นิยม กับกลุ่ม หัวสมัยใหม่ ส่งผลให้เกิดความขัดแย้ง
  2. ปัญหาเศรษฐกิจ ที่แม้ พล.อ.ประยุทธ์ จะแก้ไขมาแล้วหลายเรื่องเช่นเรื่องการท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบจากโควิดก็ดีขึ้น แต่ในมุมการส่งออก ที่ต้องครุ่นคิดว่าจะทำอย่างไรให้ขายสินค้าได้มากขึ้น
  3. ปัญหาด้านการศึกษา ที่จะทำอย่างไรให้เยาวชนกลับมารักรากเหง้าของความเป็นไทย
  4. ปัญหาเรื่องยาเสพติด ที่ทำให้ประชาชนทุกข์ใจจากการที่ลูกหลานต้องไปข้องเกี่ยวกับยาเสพติด แต่กลับยังมีนักการเมืองกลุ่มหนึ่งที่ต้องการเอายาเสพติด เช่น กัญชาหรือ น้ำกระท่อมมาทำให้ถูกต้องตามกฎหมาย
  5. ปัญหาเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ที่แม้ พล.อ.ประยุทธ์จะรื้อฟื้นความสัมพันธ์กับซาอุดิอาระเบียแล้ว แต่ก็ต้องหาแนวทางเดินหน้าเรื่องนี้ต่อไป

ทั้งนี้ การเริ่มต้นแก้ปัญหาต่างๆ อยู่ที่การเลือกตั้ง ขอให้ เลือกที่คน อย่าเลือกที่เงิน เลือกคนที่มีวิสัยทัศน์ มีความสามารถเพื่อเข้ามาแก้ปัญหาทั้ง 5 เรื่องดังกล่าว 
พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง สมาชิก รทสช.
ขณะที่ พล.ต.อ.อัศวิน กล่าวว่า ตนเป็นไม่ใช่นักวิชาการ แต่เป็นนักปฏิบัติ จากประสบการณ์การทำงานที่ผ่านมาจึงไม่เคยที่จะอยู่เฉยๆ คิดว่า ต้องขยันให้มาก เพราะมีบทบาทหน้าที่ และตั้งใจจะไม่ทำให้ประชาชนผิดหวัง  ที่ผ่านมาพยายามทำโครงการหลายอย่าง เช่น การพัฒนาคลองโอ่งอ่าง ที่เป็นโบราณสถานเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมและชีวิตความทรงจำของคนไทยสมัยก่อน

จนตอนนี้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวและเป็นที่รู้จัก หรือในช่วงโควิด ได้พยายามแก้ปัญหา เยียวยาผู้เจ็บป่วยเพื่อจะได้ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายของภาครัฐโดยใช้เครือข่ายที่มีประสานขอการสนับสนุน ทั้งภาคเอกชนภาครัฐมูลนิธิต่างๆให้ได้มารวมตัวกันรวมพลังเพื่อช่วยเหลือประชาชน  ทั้งนี้ พล.ต.อัศวิน ได้กล่าวในตอนท้ายว่า การเลือกตั้งคือ โอกาสที่เท่าเทียมกันของคนไทยทุกคน และขอให้เลือกคนที่จะมาช่วยพัฒนาชาติให้ดีขึ้น โดยคำนึงถึงประโยชน์ของประเทศชาติ เป็นสำคัญ

ในช่วงท้ายของการเสวนา นายไตรรงค์ ได้แนะนำตัวลูกสาว นางรัดเกล้า สุวรรณคีรี หรือ เนเน่ ซึ่งจะเป็นตัวแทนพรรครวมไทยสร้างชาติ ลงสมัคร ส.ส.กทม. เขตบางพลัด บางกอกน้อย
 
รัดเกล้า สุวรรณคีรี ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.กทม.รทสช. บุตรสาว นายไตรรงค์ สุวรรณคีรี
โดย นางรัดเกล้า กล่าวว่า แม้จะถูกมองว่า เป็นหน้าใหม่ในวงการการเมือง แต่จริงๆ แล้วทุกคนก็รู้ว่า ตนเติบโตมาจากครอบครัวนักการเมือง ได้เห็นการทำงานของบิดามาโดยตลอด และ ผู้ที่เข้ามาจะต้องพร้อมที่จะทุ่มเทและเสียสละ  การเมืองมันไม่ง่าย แต่มันก็ไม่ยากเกินไป

“เรียนมาทางสายเทคโนโลยีที่ San Francisco ทำให้ได้ทำงานบริษัทพัฒนาวิดีโอเกมอันดับหนึ่งของโลกที่ Silicon Valley และตัดสินใจบอกกับพ่อว่า จะไม่กลับเมืองไทย ครั้งนั้นทำให้เห็นว่า พ่อน้ำตาคลอ ทั้งที่ไม่เคยเห็นพ่อร้องไห้มาก่อน และบอกกับลูกว่า เสียใจ การลงทุนสร้างลูกออกมาเป็นคนเก่งคนดี"

"แต่ลูกกลับไม่เคยคิดที่จะตอบแทนกลับ โดยไม่ได้หวังให้ตอบแทนกลับมาที่ตัวพ่อ แต่อยากให้คิดตอบแทนกลับสู่ประเทศ เพราะทุกคนที่มีโอกาสคิดถึงแต่ตัวเอง ประเทศก็จะไม่มีคนเก่งมาพัฒนา ทำให้เป็นจุดเปลี่ยนของตนที่ตั้งใจใช้ชีวิตที่เหลือ เพื่อทำตัวเองให้เป็นประโยชน์กับคนไทย กับประเทศไทย” นางรัดเกล้า กล่าว

 

“ไตรรงค์” พ้อ!เลือกตั้ง “ซื้อเสียง” ลามหนัก งบ 20% เงินไหลเข้า “พุงหมา”
นางรัดเกล้า กล่าวอีกว่า สำหรับความสนใจของตนนั้น จะเป็นเรื่องการศึกษา เพราะที่ผ่านมามีประสบการณ์ในการทำโครงการ ConnextED หรือที่เดิมชื่อโครงการโรงเรียนประชารัฐ ซึ่งเป็นโครงการที่ริเริ่ม ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และเป็นโครงการที่ดีมาก โดยได้ไปดูโรงเรียนขยายโอกาสกว่า 10 โรงเรียนในภาคอีสาน ที่เห็นว่า ขาดโอกาสหลายอย่าง ทั้งเรื่องของอุปกรณ์การเรียนการสอน หรืออาหารการกินเนื่องจากครอบครัวยากจน 

 

จึงตั้งใจที่จะเข้ามาทำงานด้านการศึกษาเพื่อสร้างความฝันให้เด็กๆ เป็นจริง  รวมทั้งประเด็นปัญหาอื่นๆ ที่ต้องการเข้ามาทำงานเพื่อประเทศชาติในฐานะ ของ ส.ส.ด้วย



สำหรับในพื้นที่เขตบางพลัด บางกอกน้อย ยังมีปัญหามากมายที่ต้องเร่งแก้ไข ไม่ว่า จะเป็นปัญหาในเรื่องของคุณภาพชีวิต ตั้งแต่เรื่องผู้ป่วยติดเตียง ไปจนถึงเรื่องเขื่อนฟันหลอ  ตั้งแต่เรื่องขยะล้นเมือง ไปจนถึงเรื่องน้ำขังและเน่า หลายๆ เรื่องแก้ไขได้ด้วยการผลักดันให้เกิดความร่วมมือ ร่วมใจ ระหว่างหน่วยงานภาครัฐ และชุมชน

logoline