svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

"ชวน" เผย เหตุประชุมร่วมรัฐสภาล่ม เพราะ ส.ว. ไม่อยากโดนลดอำนาจ

27 มกราคม 2566
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

"ชวน" เผย เหตุประชุมร่วมรัฐสภาล่ม เพราะ ส.ว.ไม่อยากพิจารณาร่างแก้รธน. โจมตีตัวเอง จึงไม่กดบัตรแสดงตน ย้ำยังไงก็ต้องบรรจุระเบียบวาระ เตรียมนัด 7-8 ก.พ. หลังถกร่างพ.ร.บ.จริยธรรมสื่อฯ

27 มกราคม 2566 ที่รัฐสภา นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภาและประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงปัญหาสภาล่ม ว่า สิ่งที่พยายามขอร้องสมาชิก คือเวลามีค่ามาก แม้จะเหลือเวลาน้อยแต่สามารถพิจารณาเรื่องที่สำคัญ ๆผ่านไปได้ แต่ก็ยังคงมีปัญหาและสิ่งที่ไม่คาดคิดก็คือสมาชิกวุฒิสภาอยู่ในห้องประชุม แต่ไม่แสดงตน เพื่อไม่ให้ครบองค์ประชุม

ซึ่งเดิมเข้าใจว่าเป็นความเข้าใจผิดเรื่องข้อบังคับในระเบียบวาระ แต่ล่าสุดมี ส.ว. บางคนมายอมรับกับตนว่าไม่อยากพิจารณาร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ที่ลดอำนาจและโจมตี ส.ว. แต่ถึงอย่างไรก็ต้องบรรจุระเบียบวาระ ซึ่งได้มีการประสานกับวิปทุกฝ่าย รวมทั้งประธาน วุฒิสภาแล้วว่าจะประชุมร่วมรัฐสภา ในวันที่ 7 ก.พ. โดยพิจารณา ร่างพระราชบัญญัติการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน  และวันที่ 8 ก.พ.จะพิจารณาร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ

"เที่ยวที่แล้ว ผมนึกว่าเขาเข้าใจผิด แต่ที่จริงอ๋อเขาไม่อยากประชุม และพิจารณากฎหมายรัฐธรรมนูญ เขาบอกว่ากฎหมายนี้เป็นกฎหมายที่ไปโจมตีวุฒิ เพราะมีเรื่องเดียว เป็นเรื่องของการลดอำนาจบทบาทของวุฒิสมาชิก ส่วนหนึ่งก็ไม่อยากจะประชุมเรื่องนี้" นายชวน กล่าว

ส่วนเมื่อประชุมแล้ว มีปัญหาเรื่ององค์ประชุมไม่ครบอีกจะทำอย่างไรนั้น นายชวน กล่าวว่า คงต้องเหมือนเดิม  แต่ถึงอย่างไรก็ต้องบรรจุเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญในระเบียบวาระ ทั้งนี้เห็นว่าการที่จะทำให้ไม่ครบองค์ประชุมด้วยการไม่กดบัตร อาจจะใช้ได้ในบางเรื่อง เช่นถูกรัฐบาลกลั่นแกล้งใช้เสียงข้างมากลากไป 

แต่การไม่ชอบกฎหมายแล้วไม่แสดงตน ทำให้องค์ประชุมไม่ครบเป็นเรื่องที่ไม่ค่อยควรเกิดขึ้นกับ ส.ว. จึงต้องขอความร่วมมือในช่วงสุดท้ายของวาระสภา และกรณีวาระเพื่อทราบเมื่อ 26 ม.ค. ก็ไม่ควรเกิดขึ้น ตนได้เตือนส.ส.เสมอ แต่ก็ไม่คิดว่าจะมีปัญหาองค์ประชุมไม่ครบ เพราะเป็นเรื่องที่ไม่ต้องลงมติ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็มารอชี้แจงอยู่แล้ว ส่วนจะมองว่าฝ่ายค้านล้างแค้นหรือไม่นั้น คงจะเป็นอย่างนั้น

นายชวน ยังกล่าวถึงการอภิปรายทั่วไปโดยไม่ลงมติตามมาตรา 152 ว่า การอภิปรายตามมาตรา 152 ไม่ใช่การอภิปรายไม่ไว้วางใจ แต่ที่ผ่านมาก็มักจะอภิปรายหมือนการอภิปรายไม่ไว้วางใจ หากมีการอภิปรายพาดพิง ฝ่ายรัฐบาลก็สามารถโต้ตอบได้ ซึ่งถือเป็นโอกาสที่ฝ่ายรัฐบาลก็จะได้ชี้แจง

แต่ต้องไม่พาดพิงถึงบุคคลภายนอก เพราะมีข้อบังคับกำหนดไว้อยู่ และการอภิปรายต้องเป็นไปตามกรอบเวลาที่ตกลงกันไว้คือฝ่ายค้าน 24 ชั่วโมง ฝ่ายรัฐบาล 8 ชั่วโมง 2 วัน ซึ่งรัฐบาลอาจจะไม่ค่อยชอบใจเพราะได้เวลาชี้แจงน้อยแต่ถือว่าเป็นข้อตกลงร่วมกันแล้ว

logoline