svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

“สมชาย” โวย เปลี่ยนวาระไม่ยอมบอก ส.ว. จี้ประธานฯ ลงมติยื้อร่างแก้ไข รธน.

25 มกราคม 2566
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

“สมชาย” โวย น้อยใจเปลี่ยนวาระไม่ยอมบอก ส.ว. จี้ประธานฯ ลงมติ ยื้อร่างแก้ไข รธน. "เพื่อไทย" เจอ "ชวน" กรีดทำไมเรื่องง่าย ๆ ส.ว.ไม่เข้าใจ แต่เดินหน้าลงมติแม้ “ส.ส.รัฐบาล-ฝ่ายค้าน” ลุกประท้วงทั้งสภาฯ ส่วน "ชลน่าน" ขู่ล่มรัฐสภาอีก

25 มกราคม 2566 ในการประชุมร่วมกันของรัฐสภา ครั้งที่ 7 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่ 2) เป็นพิเศษ เวลาประมาณ 12.25 น. ก่อนที่ประชุมจะเข้าสู่วาระพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่ง นายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้วส.ส.น่าน หัวหน้าพรรคเพื่อไทย เป็นผู้เสนอ โดยมีประเด็นสำคัญ คือ ตัดอำนาจ ส.ว. โหวตเลือกนายกฯ และกำหนดให้แคนดิเดคนายกรัฐมนตรี ต้องมาจาก ส.ส.

ในระหว่างนั้น นายสมชาย แสวงการ สมาชิกวุฒิสภา ได้หารือว่า เดิมทีในระเบียบวาระการประชุมร่วมกันของรัฐสภา จะเป็นการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ แต่ปรากฏว่ามีการประชุมร่วมกันระหว่างประธานสภาผู้แทนราษฎร วิปรัฐบาล วิปฝ่ายค้าน และตัวแทนจากคณะรัฐมนตรี เมื่อ 19 ม.ค. ที่ผ่านมา

โดยไม่มีตัวแทน ส.ว.เข้าร่วมประชุม โดยผลการหารือเพื่อแก้ปัญหาองค์ประชุมของสภาผู้แทนราษฎร แต่ได้หยิบยกวาระการประชุมร่วมกันของรัฐสภามาเปลี่ยนแปลง ให้นำวาระพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่พรรคเพื่อไทย เป็นผู้เสนอขึ้นมาก่อนในวันนี้

นายสมชาย กล่าวว่า ตนมีข้อสงสัยเรื่องการทำงานร่วมกันระหว่าง 2 สภา เมื่อตรวจสอบแล้วพบว่า ในการประชุมเมื่อวันที่ 19 มกราคม ที่ผ่านมานั้น ไม่มีตัวแทนจากวิปวุฒิสภาเข้าไปรับทราบในที่ประชุมด้วย ขณะที่ข้อบังคับการประชุมก็กำหนดว่า การจะเปลี่ยนแปลงวาระการประชุมร่วมฯ นั้น ต้องได้รับความยินยอมร่วมกันจากฝ่ายวุฒิสภาด้วย ดังที่มีแนวทางปฏิบัติมาก่อนหน้าแล้ว

“ผมจึงขอเสนอญัตติให้ที่ประชุมพิจารณาว่า กรณีร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน ถูถูกถอนออกจากวาระเดิม และเลื่อนการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญขึ้นมาแทน เป็นไปโดยชอบด้วยรัฐธรรมนูญและข้อบังคับหรือไม่” นายสมชาย กล่าว

นายชวน ชี้แจงกรณีนี้ว่า สิ่งที่ นายสมชาย กล่าวมาถูกต้อง ว่าการประชุมนอกรอบไม่ได้มี ส.ว.มาร่วมด้วย เพื่อมากำชับให้สมาชิกฯ รักษาองค์ประชุม หากไม่เห็นด้วยก็ลงมติไม่เห็นด้วย อย่าทำสภาล่มเพื่อหนีปัญหา และได้มีตัวแทนจากวิปฝ่ายค้านเสนอว่า ร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมจริยธรรมสื่อฯ นั้น เป็นเรื่องยาวและมีข้อถกเถียงมาก จึงอาจพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่จบในวันนั้นได้

“ผมและพรรคพวกในห้องประชุมเห็นด้วย เพื่อให้การประชุมแก้ไขรัฐธรรมนูญนี้จบ ก็สมควรที่จะลดวาระเรื่องร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมจริยธรรมสื่อฯ ออกไป จึงนัดประชุมวันนี้พิเศษ โดยอาศัยอำนาจของประธานฯ ในการบรรจุระเบียบวาระใหม่” นายชวน กล่าว

ส่วนที่ นายสมชาย เสนอญัตติให้พิจารณาว่าการถอนญัตติชอบด้วยข้อบังคับหรือไม่ นายชวน ย้ำว่า ไม่ได้ถอนไป เพียงใช้อำนาจประธานบรรจุระเบียบวาระใหม่เท่านั้น ญัตติของร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมจริยธรรมสื่อฯ ยังคงอยู่ และต้องพิจารณากันในโอกาสต่อไป และถึงแม้ไม่มี ส.ว.เข้าประชุมด้วย แต่ตนได้แจ้งประธานวุฒิสภาแล้ว “ถ้าท่านสมชายยังติดใจ ผมก็ยินดีให้ที่ประชุมได้ลงมติ แต่อำนาจในการจัดระเบียบวาระนั้น เป็นของประธานสภาฯ” 

นายชวน ย้ำต่อไปว่า การที่ประธานฯ จะถอนญัตติใดออกไปโดยไม่ปรึกษาทุกฝ่ายนั้น เป็นไปไม่ได้ แต่ตนต้องขอย้ำว่าการประชุมร่วมฯ เมื่อวานและวันนี้ คือการประชุมพิเศษ หากไม่พิเศษ จะต้องพิจารณาร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ต่อจากครั้งก่อนหน้า สิ่งที่ นายสมชาย เสนอ จึงเป็นคนละประเด็นกัน

จากนั้น นายสมชาย กล่าวว่า ที่ผ่านมาราว 4 ปี แต่ละฝ่ายล้วนทำงานร่วมกันด้วยดีมาตลอด แต่ตนไม่สบายใจ เพราะเกรงว่าการประชุมวาระพิเศษครั้งใดก็ตาม ควรมีตัวแทนจากฝ่าย ส.ว.เข้ารับทราบด้วย ตนไม่ก้าวล่วงอำนาจประธานฯ แต่ขอย้ำว่าไม่สบายใจ เพราะวาระพิจารณารัฐธรรมนูญเคยถูกเสนอมาและตกไปแล้ว วันนี้กลับต้องมาพิจารณาซ้ำอีก

“มีการเมืองใกล้การเลือกตั้งหรือเปล่าก็ไม่ทราบ แต่ผมคิดว่าการประชุมร่วมฯ ที่เราเดินกันมาด้วยดีตลอด 4 ปี แต่ตอนนี้ผมไม่แน่ใจว่าควรเดินต่อไปอย่างไร ทั้ง พ.ร.บ.การศึกษาฯ ที่ค้างอยู่ ทั้งที่ประธานฯ กังวลเรื่ององค์ประชุมล่ม เราคงไม่อยากเดินไปอย่างนั้น จึงขอยืนยันให้ที่ประชุมลงมติในญัตติที่ผมเสนอ” นายสมชาย กล่าว

ขณะที่ นายสมคิด เชื้อคง ส.ส.อุบลราชธานี พรรคเพื่อไทย ในฐานะรองประธานวิปฝ่ายค้าน กล่าวว่า ตนได้เรียน นายสมชาย นอกรอบให้ทราบเหตุการณ์แล้ว แต่ก็เข้าใจประเด็นที่เสนอมา สำหรับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่ละฝ่ายก็ได้ตกลงกันแล้วว่าจะลงมติให้เสร็จภายในวันนี้ และจะไม่ยืดเยื้อ ที่ผ่านมาก็ประชุมด้วยวิธีเช่นนี้อยู่แล้ว จึงขอชี้แจงให้เกิดความเข้าใจตรงกัน

ด้าน นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะรองประธานวิปรัฐบาล ยืนยันเช่นกัน เพราะตนก็เป็นหนึ่งในผู้เข้าประชุมนอกรอบดังกล่าว เมื่อมีความเห็นชอบจากวิป 2 ฝ่าย ประธานสภาฯ มีอำนาจเลื่อนวาระการประชุม พร้อมย้ำว่าการประชุมวาระพิเศษเป็นทางออกเดียวให้มีกฎหมายบังคับใช้

ส่วน นายวิรัช พันธุมะผล ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย ยืนยันว่า การเปลี่ยนวาระตามอำนาจของประธานสภาฯ ถูกต้องตามข้อบังคับแล้ว รวมถึง ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย ประธานวิปฝ่ายค้าน นายสุทิน คลังแสง เกรงว่าจะเสียเวลาไปด้วยการถกเถียงเรื่องนี้ เพราะญัตติที่ นายสมชาย เสนอมาอาจไม่ถือเป็นญัตติ เพราะเป็นคนละประเด็นกัน ขอให้ประธานฯ วินิจฉัยว่าญัตติดังกล่าวไม่ใช่ญัตติ

จากนั้น ได้มี ส.ส.อีกหลายคน ลุกขึ้นโต้แย้งญัตติของ นายสมชาย ว่า ไม่ชอบด้วยกระบวนการ อย่างไรก็ตาม นายชวน ตัดสินใจว่าจะดำเนินการลงมติตามญัตติที่ นายสมชาย เสนอ ก่อนจะกดออดเรียกองค์ประชุมมาออกเสียงลงคะแนน

“ไม่ใช่เรื่องเข้าใจยากอะไรเลย เป็นเรื่องพื้น ๆ ที่เข้าใจได้ แต่เมื่อระดับ ส.ว.ยังเข้าใจอย่างนี้ ผมก็ต้องให้เกียรติเขา” นายชวน ระบุ ก่อนจะสั่งให้มีการลงมติ แม้จะมี ส.ส. พยายามประท้วงกระบวนการดังกล่าว เพราะไม่ชอบด้วยข้อบังคับ และจะทำให้เกิดเรื่องวุ่นวายตามมา

โดยในระหว่างรอองค์ประชุมมาลงมติ นายชวน ย้ำว่า แม้สมาชิกฯ จะไม่เห็นด้วยก็ตาม แต่ขอให้รักษาองค์ประชุมให้ครบ อย่าประชดกันด้วยการไม่แสดงตน

นายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว ในฐานะผู้นำฝ่ายค้านในสภาฯ ประท้วงว่าประธานฯ ทำผิดข้อบังคับ เนื่องจากพยายามให้มีการลงมติในญัตติที่ไม่เป็นข้อเท็จจริง จะสร้างบรรทัดฐานที่ผิด ๆ ต่อไปในอนาคต เพราะบิดพลิ้วไปจากบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ ด้วยเหตุนี้พรรคร่วมฝ่ายค้านทั้งหมดจะไม่ร่วมมือในการลงคะแนน “ท่านต้องการเพียงล้มองค์ประชุมโดยใช้วิธีการที่ไม่ชอบ และผมอาจจะกล่าวหาว่า ท่านประธานฯ ก็ให้ความร่วมมือด้วย อย่างนี้น่าเสียหาย” นายแพทย์ชลน่าน กล่าว

หลังจากนั้น มีสมาชิกฯ พยายามประท้วง แต่ นายชวน ยังคงเร่งรัดสู่การลงมติต่อ โดยย้ำว่า สุดท้ายแล้วประธานฯ จะต้องรับผิดชอบผลที่ตามมา และตนไม่เห็นด้วยที่ นายแพทย์ชลน่าน จะใช้วิธีไม่ร่วมเป็นองค์ประชุม

“สิ่งที่เราทำวันนี้จะเป็นบันทึกด้วยว่า ใครเข้าใจข้อบังคับ กฎหมายอย่างไร ใครฉลาดมากฉลาดน้อยแค่ไหน ใครเข้าใจอะไรอย่างไร จะบันทึกไว้ด้วย แต่เมื่อมันเป็นญัตติ ผมก็ต้องขอญัตติจากที่ประชุม” นายชวน กล่าว โดยที่ในห้องประชุมส่งเสียงฮือฮากับคำพูดของประธานฯ 

logoline