18 มกราคม 2566 นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายกฎหมาย กล่าวถึงกรณีที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรล่มซ้ำซาก ว่า การที่สภาล่ม มีสาเหตุจากล่มโดยตั้งใจ ซึ่งเป็นเทคนิคทางการเมืองเช่น ไม่เห็นด้วยไม่อยากให้ผ่าน ซึ่งไม่รู้จะใช้วิธีการใด ก็ต้องใช้วิธีไม่อยู่ในที่ประชุมก็เลยล่ม จะได้ไม่ต้องประชุม ซึ่งแม้จะเป็นที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติ เขาก็ทำกัน และล่มโดยไม่ได้ตั้งใจคือ ไม่ว่าง จึงไม่ครบองค์ประชุม
ส่วนจากเหตุสภาฯ ล่ม จะยังคงถูลู่ถูกังอยู่กันต่อหรือไม่นั้น นายวิษณุ มองว่า คงไม่เกี่ยวกัน และคงไม่ถึงกับถูลู่ถูกัง เพราะยังมีกระทู้ถามมีญัตติ อื่นๆ ที่สภาจะต้องทำ โดยจะพิจารณากฎหมายที่ยังค้างคาอย่าง พ.ร.บ. กัญชง-กัญชา และพ.ร.บ. คู่ชีวิต ซึ่งเป็นกฎหมายที่มีความเห็นแตกแยกหลายฝ่าย หากมีการนำขึ้นมาพิจารณาก็จะทำให้สภานั้นล่มอีก ล่มตลอดไปจนถึงปิดสมัยประชุมสภา
อย่างวันนี้ (18 ม.ค.66) มีการพิจารณาพ.ร.บ.กัญชง-กัญชา และเกิดสภาล่ม ซึ่งนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ก็ปล่อยให้ล่มไป แต่วันในวันพฤหัสบดี ที่ 19 ม.ค.66 มีกฎหมายที่เข้าคิวรอพิจารณาอยู่ โดยจะพิจารณากฎหมายจุฬาภรณ์ราชวิทยาลัย เป็นฉบับแรก จึงขอความร่วมมือจากทุกฝ่าย ทั้งฝ่ายค้าน ฝ่ายรัฐบาล ซึ่งหากไม่ร่วมมือก็จะไม่สามารถเลื่อนขึ้นมาพิจารณาได้ ซึ่งตนได้รายงานต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เป็นที่เรียบร้อยแล้ว จึงมีการกำชับต่อที่ประชุม ว่าขอให้ครบองค์ประชุมและทำหน้าที่
"มองว่าการล่มการประชุมสภาฯ ในวันนี้ ( 18 ม.ค.66 ) อาจเป็นการล่มด้วยการตั้งใจ เพราะไม่อยากให้กฎหมายนี้ผ่าน แล้วไม่รู้จะทำอย่างไร มันคาอยู่จะถอน ก็ไม่ถอน จะผ่านก็ไม่ผ่าน พิจารณาไม่ได้ แต่ในวันพรุ่งนี้ ( 19 ม.ค.66 ) กฎหมายที่จ่อคิวอยู่ ก็จะเลื่อนขึ้นมาพิจารณาตามลำดับ เพราะฉะนั้นก็ไม่ถึงกับถูลู่ถูกังจนไม่สามารถทำงานได้"
ส่วนร่าง พ.ร.บ.กัญชงกัญชาและ พ.ร.บ. คู่ชีวิต จะถูกแขวนยาวจนรอเปิดประชุมสภาสมัยหน้าหรือไม่นั้น นายวิษณุ มองว่าก็เป็นไปได้ แล้วจะทำอย่างไรได้ ก็เขาตั้งใจแบบนั้น พร้อมกับระบุว่า ไม่ได้มีการตั้งเป้าว่าจะต้องพิจารณากฎหมายกี่ฉบับให้ทันในการปิดสมัยประชุมสภานี้ เมื่อไม่เสร็จก็พิจารณาใหม่ไม่ว่าใคร จะเป็นนายกรัฐมนตรีไม่สำคัญ ก็สามารถเลือกและแจ้งไปยังสภาว่าจะนำกฎหมายฉบับใดขึ้นมาพิจารณา
ส่วนที่มีการมองว่าสภานั้น ทำงานไม่เต็มที่ทั้งๆ ที่นายชวน ได้กำชับแล้ว นายวิษณุ กล่าวว่า ขออย่ายืมปากผมพูดเลย เมื่อถูกมองใครมองก็มองถูก ซึ่ง ครม. เองก็ได้มีการประสานงานแล้ว และนายกรัฐมนตรี ก็สั่งการต่อที่ประชุม ครม. หากไม่เห็นด้วยก็ให้ใช้วิธีอย่างอื่น อย่าทำให้ไม่ครบองค์ประชุม
เมื่อถามว่าสภาฯ จะล่มไปจนถึงปิดสมัยประชุมสภาเลยใช่หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ตนไม่ทราบ พูดอย่างนั้น เดี๋ยวก็มาดักคอต่อไปว่าจะล่มตอนเปิดอภิปราย และย้ำว่า ไม่ทราบ ไม่รู้
ส่วนรัฐบาลได้มีโจทย์ไปยังวิปแล้วหรือ ไม่ในการกำหนดวันอภิปรายทั่วไปตาม มาตรา 152 นายวิษณุ กล่าวว่า รัฐบาลได้ตอบไปแล้วว่าพร้อมตั้งแต่วันที่ 15 ก.พ. เป็นต้นไป แต่ไม่ได้มีการกำหนดว่าจะกี่วัน โดยขอให้วิปไปตกลงกันเอง พร้อมกล่าวติดตลกว่า "จะอภิปรายยาวถึงวันที่ 28 ก.พ. ก็ได้ ซึ่งก่อนหน้านี้ก็เคยมีรัฐบาล คุณหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ มีการอภิปราย 7 วัน 7 คืน แต่จะอภิปรายยาวแบบนั้นไม่ได้ เพราะคนต้องไปดูละครดูทีวี
เมื่อถามว่าขณะนี้ กกต. ได้มีการประสานมายังรัฐบาลแล้วหรือไม่ เรื่องการหาเสียงของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม นายวิษณุ กล่าวว่า ไม่มี ไม่ต้องหารือ ถ้าผิด กกต.ก็สั่งเลยว่าผิด แต่ถ้าคิดว่าเป็นเรื่องที่เดี๋ยวจะมีคนอื่นทำซ้ำอีก ก็จะออกประกาศเตือนเอง แต่ก็มีข่าวเตือนออกมาแล้ว
ส่วนจะต้องมีการนำระเบียบมาย้ำต่อที่ประชุม ครม.หรือไม่ คิดว่า น่าจะทำ แต่ยังไม่ได้ทำ เนื่องจาก กกต. มีการออกระเบียบมาหลายครั้ง จนจับต้นชนปลายไม่ถูก แต่เมื่อแน่ชัดแล้วก็ต้องประมวลออกมา ซึ่งปกติเขาก็ทำอยู่แล้วหากมีการเลือกตั้ง
ทั้งนี้ยังไม่จำเป็นต้องย้ำในที่ประชุม ครม. เพราะ กกต.ยังออกประกาศมาไม่หมด รวมไปถึง พ.ร.ป.ทั้ง 2 ฉบับ ยังไม่มีผลใช้บังคับ ไม่ใช่อยู่ๆ จะสั่งได้ตามใจชอบ เนื่องจากกฎหมายฉบับใหม่ไม่เหมือนฉบับเก่า หากจะออกประกาศเตือนอะไรใน ขณะนี้ก็จะมีการสับสนว่า ตามฉบับใหม่หรือฉบับเก่า และยังอยู่ในระหว่างคาบลูกคาบดอก
เมื่อถามว่าการปฏิบัติหน้าที่ของข้าราชการการเมือง แต่กลับมีการเผยแพร่และถ่ายทอดผ่านทางเพจพรรคการเมือง สามารถทำได้หรือไม่ นายวิษณุ อธิบายว่า กฎหมายมีหลักว่า อย่าใช้ทรัพยากรทางราชการ ทั้งงบประมาณบุคคลและสถานที่ เอื้อประโยชน์การหาเสียงให้แก่ตนหรือผู้อื่นหรือพรรคการเมือง อย่าใช้เวลาในราชการ เพราะฉะนั้นจะสังเกตว่าจะมีการลาราชการ หรือไปในเวลา 4 โมงครึ่ง 5 โมง เพื่อหลบเลี่ยงในเรื่องเวลา รวมไปถึงใช้รถยนต์ส่วนตัว
เมื่อถามยามว่าหากเป็นการประชุมส่วนราชการ แต่ใช้เพจทางการเมืองในการเผยแพร่สามารถทำได้หรือไม่ นายวิษณุ บอกว่าเป็นความเสี่ยง ที่พรรคการเมืองจะนำไปถ่ายทอดเอง แต่ก็ต้องดูทั้งหมดว่าเป็นการถ่ายทอดธรรมดาหรือแฝงไปด้วยกันหาเสียง พร้อมกับ ยังระบุว่า บุคคลที่เป็นบุคคลสาธารณะ ใครๆ ก็อยากจะเห็นอยากจะรู้ แต่ต้องไปดูคำพูดที่โปรยหัว คำพูดที่ตบท้าย หรือคำพูดที่พูดในการประชุม แต่ยืนยันว่า ไม่ได้มีการห้ามทำกิจกรรมทางสังคมใดๆ อยากไปงานศพก็สามารถไปได้สามารถให้ซองได้ แต่ห้ามเกิน 3,000 บาท พร้อมกับระบุว่า เลือกตั้งมาหลายหนแล้วพูดให้เป็น ถูกหรือผิดบางทีเราไม่รู้ แต่หากดูของเก่าเราจะเห็นบรรทัดฐาน