svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

ปัญหาเรื้อรัง! "กรณ์-อรรถวิชช์" ชู นโยบายเล็ง "ยกเลิกแบล็กลิสต์"

16 มกราคม 2566
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

"กรณ์ - อรรถวิชช์" ใส่เต็มแม็กซ์ ออกนโยบาย "ยกเลิกแบล็กลิสต์" เปิดหน้ารื้อระบบสินเชื่อไทย ได้ประโยชน์ทันที 5.5 ล้านคน ชาวบ้านร่วมแชร์ประสบการณ์ ตกนรกทั้งเป็นเพราะแบล็กลิสต์ หมดโอกาสทำกิน เตรียมเปิดนโยบายอีกเป็นชุดเร็วๆ นี้

16 มกราคม 2566 ที่พรรคชาติพัฒนากล้า นายกรณ์ จาติกวณิช หัวหน้าพรรค พร้อมด้วย ดร.อรรถวิชช์ สุวรรณภักดี รองหัวหน้าพรรค แถลงเปิดนโยบายเศรษฐกิจชุดแรก "ยกเลิกแบล็กลิสต์ รื้อระบบสินเชื่อ" ที่มีการติดป้ายนโยบายนำเสนอต่อประชาชนในพื้นที่ไปแล้ว และยืนยันว่ามีประชาชนจำนวนไม่น้อยติดแบล็กลิสต์จริง พร้อมนำผู้ติดแบล็กลิสต์กว่า 10 ชีวิต มาร่วมแถลงในครั้งนี้ด้วย

นายกรณ์ กล่าวว่า ภาระหนี้สินประชาชนเป็นปัญหามาเรื้อรังและสาหัสขึ้นเรื่อย ๆ ด้วยสภาวะเศรษฐกิจไม่ดี ค่าครองชีพสูงขึ้น ซ้ำเติมด้วยสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด ซึ่งตนเองได้ต่อสู้กับเรื่องนี้ตั้งแต่ปี 52 สมัยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ออกนโยบายแก้หนี้นอกระบบให้เข้ามาอยู่ในระบบ ช่วยเหลือประชาชนได้กว่า 5 แสนราย และติดตามสถานการณ์หนี้สินของประชาชนมาต่อเนื่อง

แต่เรื่องหนี้สินยังเป็นปัญหาเรื้อรังมาตลอด พรรคชาติพัฒนากล้า จึงออกนโยบายที่สามารถแก้ไขปัญหาได้โดยไม่ต้องใช้เงินภาษีแม้แต่บาทเดียว ด้วยการรื้อระบบเก็บข้อมูลของบริษัทเครดิตบูโร ยกเลิกระบบแบล็กลิสต์ ใช้ระบบ Credit Scoring หรือ วิธีประเมินสินเชื่อตามจริงแทน
ปัญหาเรื้อรัง! "กรณ์-อรรถวิชช์" ชู นโยบายเล็ง "ยกเลิกแบล็กลิสต์"

“ผมยืนยันว่า ระบบเครดิตบูโรยังจำเป็นต้องมี มันเป็นวินัยทางการเงิน แต่รอบหลายปีที่ผ่านมา เรื่องแบล็กลิสต์ ยังเป็นปัญหาสำคัญ ที่หนักขึ้นเรื่อย ๆ ที่บอกว่าแบล็คลิสต์ไม่มีจริงนั้น ถามคนติดแบล็กลิสต์สิครับพวกเขาหัวเราะอย่างขมขื่น เพราะถูกปฏิเสธการกู้ยืมเงินในระบบ ต้องแบกภาระหนี้สินที่หนักอึ้ง ต้องทำงานไปจ่ายหนี้นอกระบบไป และตราบใดที่ยังไม่หลุดจากแบล็กลิสต์ ก็ยังกู้หนี้ไม่ได้" นายกรณ์ ระบุ

นายกรณ์ กล่าวอีกว่า เราจึงเสนอให้ยกเลิกระบบแบล็กลิสต์ เปิดให้เครดิตบูโรนำข้อมูลทุกชนิด ที่บ่งบอกสถานะที่แท้จริงของตัวผู้กู้ ไม่ว่าจะเป็น ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าโทรศัพท์ ประวัติทางการเงินที่เป็นบวกมาร่วมพิจารณาด้วย ที่เรียกว่าระบบ Credit Scoring ไม่ใช่เอาแค่ข้อมูลที่เป็นลบมาพิจารณาเพียงอย่างเดียว และนโยบายนี้ไม่ต้องใช้ภาษีเพิ่ม อาศัยเทคโนโลยีและข้อมูลที่เป็นธรรมในการปล่อยกู้ ให้ประชนกลับมาลืมตาอ้าปากอีกครั้ง นี่คือนโนบายของพรรคชาติพัฒนากล้า

ด้าน ดร.อรรถวิชช์ กล่าวว่า ไม่มีนักรบใดไม่มีบาดแผล คนทำธุรกิจกับการขอสินเชื่อเป็นเรื่องคู่กันอยู่แล้ว แต่ระบบการจัดเก็บข้อมูลเครดิตของบ้านเรา เพื่อให้ธนาคารไปวิเคราะห์ มันไม่ยุติธรรม คนตัวเล็กทำมาหากิน มีรอยบาดแผลติดแบล็กลิสต์ แม้หาเงินกลับมาใช้หนี้ได้ สถานะการเงินกลับมาปกติแล้ว ก็ไม่สามารถกลับมากู้สินเชื่อปกติหรือสินเชื่อธุรกิจที่ดอกเบี้ยต่ำกว่าร้อยละ 7 ได้ ต้องไปหมุนใช้บัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคล สินเชื่อนาโน
ปัญหาเรื้อรัง! "กรณ์-อรรถวิชช์" ชู นโยบายเล็ง "ยกเลิกแบล็กลิสต์" โดยสินเชื่อกลุ่มเหล่านี้ดอกเบี้ยสูงมาก เริ่มตั้งแต่ร้อยละ 16-33 ต่อปี บางรายต้องไปยืมหนี้นอกระบบ ซึ่งดอกเบี้ยโหดกว่านี้อีกหลายร้อยเท่า ถือเป็นความผิดปกติที่ชัดเจนที่สุด ผลักให้คนไทยต้องเข้าสู่ระบบสินเชื่อ ที่ดอกเบี้ยสูงเกินจริง ซึ่งเป็นเหตุจากความไม่ยุติธรรมในระบบการปล่อยสินเชื่อ และตอนนี้มีคนติดแบล็กลิสต์ราว 5.5 ล้านคน ในจำนวนนี้มีถึง 3.2 ล้านคนที่ติดแบล็กลิสต์ช่วงโควิด

"นโยบายการยกเลิกแบล็กลิสต์ ไม่ได้ทำให้ระบบธนาคารขาดความเข้มแข็ง ในทางกลับกัน จะเป็นการทำให้ธนาคาร ปล่อยสินเชื่อได้ถูกกว่าทุกตัว มีความยุติธรรมมากขึ้น ซึ่งทุกวันนี้เห็นธนาคารพาณิชย์ จับมือร่วมกันกับแอปพลิเคชั่นสีเขียว แอปพลิเคชั่นสีส้ม ปล่อยสินเชื่อได้แล้ว ใช้ฐานข้อมูลลูกค้า แต่กฎหมายข้อมูลเครดิตกลับล้าสมัย ข้อมูลที่อยู่กับแอปพลิเคชันเหล่านี้ ไม่ได้ถูกนำมาประมวลผล ระบบการจัดเก็บข้อมูลเครดิตตอนนี้มันจึงไม่แฟร์ ไม่ยุติธรรม กับโลกที่มันเปลี่ยนแปลงไป" ดร.อรรถวิชช์ กล่าว
ปัญหาเรื้อรัง! "กรณ์-อรรถวิชช์" ชู นโยบายเล็ง "ยกเลิกแบล็กลิสต์" ระหว่างการแถลงข่าว มีการเชิญประชาชนหลากหลายอาชีพ ทั้งแม่ค้า นักดนตรี มอเตอร์ไซค์รับจ้าง และอีกหลายอาชีพที่ติดแบล็กลิสต์มาเล่าให้ฟังถึงประสบการณ์ สาเหตุ ปัญหาการเข้าถึงสินเชื่อไม่ได้ ติดหนี้บัตรเครดิต ต้องออกจากงานประจำ บางรายต้องยืมหนี้นอกระบบ คนกลุ่มนี้พร้อมร่วมสนับสนุนนโยบายยกเลิกแบล็กลิสต์แล้วใช้ระบบ Credit Scoring โดยนโยบายนี้เป็นนโยบาย เพื่อช่วยเหลือด้านการเงินให้ประชาชน และจะทยอยออกมาทีละเรื่อง เพื่อให้คนไทยมี งานดี มีเงิน ของไม่แพง ซึ่งเป็นหัวใจของทุกเรื่อง

logoline