svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

"ไทยสร้างไทย"จี้รัฐ เปิด TOR โครงการเปลี่ยนโคตรป้าย "สถานีกลางบางซื่อ"

06 มกราคม 2566
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

"ไทยสร้างไทย" กางข้อมูล บริษัท ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง ฯ เผย นับแต่ปี 58 ได้งานจากภาครัฐรวม 9 ครั้ง มูลค่ากว่า2.3หมื่นล้านบาท โดย 2 ใน 9 ครั้งเป็นวิธีเฉพาะเจาะจง  จี้รัฐ เปิด TOR ทั้งหมดโดยเฉพาะโครงการเปลี่ยนป้ายชื่อสถานีกลางบางซื่อ

6  มกราคม  2566  "นายนรุตม์ชัย บุนนาค" ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.เขตยานนาวา บางคอแหลม กทม. "พรรคไทยสร้างไทย" กล่าวถึง การเปลี่ยนป้ายชื่อ"สถานีกลางบางซื่อ" เป็น "สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์" โดยมีมูลค่า 33,169,726.39 บาท หรือหากคิดเป็นรายตัวอักษร จะตกตัวอักษรละ 589,286 บาท ทำให้เกิดการตั้งคำถามถึงความเหมาะสมในด้านราคาและความโปร่งใสของโครงการดังกล่าวเป็นวงกว้าง ทำไมการจัดทำป้ายถึงมีราคาแพงขนาดนี้ แพงด้วยเหตุผลอะไร วิธีการติดตั้ง วิธีการจัดทำ หรือเป็นเพราะมีเหตุผลแอบแฝง

โครงการดังกล่าวเป็นโครงการที่ลงนามระหว่าง "การรถไฟแห่งประเทศไทย" (รฟท.) และ บริษัท ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) โครงการนี้ถูกจับตามองเนื่องจากเป็นโครงการที่ใช้วิธีการจัดซื้อจัดจ้างด้วย "วิธีเฉพาะเจาะจง" ตามพ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้าง ปี พ.ศ. 2560 หรือกล่าวอย่างง่ายคือเป็นวิธีที่สามารถเลือกบริษัทที่จะได้รับงานได้เลยโดยไม่ต้องผ่านการประกวดราคา

 

"นายนรุตม์ชัย บุนนาค" ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.เขตยานนาวา บางคอแหลม กทม.พรรคไทยสร้างไทย

ตั้งแต่ปี 2558 บริษัท ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) ได้รับสัญญาการจัดซื้อจัดจ้างจากภาครัฐ ไปแล้วทั้งหมด 9 โครงการ โดยรวมมูลค่างานที่ได้รับจากภาครัฐทั้งหมดกว่า สองหมื่นสามพันล้านบาท ในจำนวน 9 โครงการนี้ มี 2 โครงการที่ได้รับคัดเลือกโดยวิธีเฉพาะเจาะจง คือ โครงการ "จ้างการจัดทำทางเชื่อมต่อระหว่างสถานีกลางบางซื่อ (รฟท.) กับสถานีรถไฟฟ้าใต้ดินบางซื่อ (รฟม.) โดยวิธีเฉพาะเจาะจง" โดยการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย เป็นผู้จัดจ้าง โดยมีมูลค่าวงเงินสัญญาอยู่ที่ 19,992,000 บาท โดยมีการลงนามทำสัญญา เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2564 

 

บริษัท ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) เป็นบริษัทที่ได้รับสัญญาจ้างงานจากภาครัฐ ใน 2 ด้านหลัก คืองานด้านชลประทาน และ งานด้าน การคมนาคมทางราง ในจำนวน 9 โครงการ มี 2 โครงการที่เกี่ยวข้องกับการชลประทาน และ อีก 4 โครงการที่เกียวข้องกับการคมนาคมทางราง(ไม่รวมโครงการล่าสุด) โดยสัญญาว่าจ้างฉบับที่มีมูลค่าสูงสุดที่บริษัทฯได้รับคือ โครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทย และรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ในการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงเพื่อเชื่อมโยงภูมิภาค ช่วงกรุงเทพมหานคร - หนองคาย (ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพมหานคร - นครราชสีมา) งานสัญญาที่ 4-2 งานโยธาสำหรับช่วง ดอนเมือง - นวนคร


ในปี 2564 จากรฟท.โดยมีมูลค่าทั้งหมดกว่า 1 หมื่นล้านบาท

 

สัญญาของ ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น กับรัฐ มีทั้งหมด 9 ฉบับ ได้แก่ 


1. ประกวดราคาจ้างก่อสร้างอุโมงค์ส่งน้ำ และ อาคารประกอบพร้อมส่วนประกอบอื่น อุโมงค์ส่น้ำช่วงแม่งัด - แม่กวงสัญญาที่ 2 โครงการเพิ่มปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำเขื่อนแม่กวอุดมธาราจังหวัดเชียงใหม่ ด้วยวิธีการอิเล็กทรอนิกส์ ในปี 2558 มูลค่าสัญญา 1,880,800,000 บาท กับ กรมชลประทาน


2. จ้างก่อสร้างโครงการก่อสร้างพระเมรุมาศจำลองในพื้นที่จังหวัดกลุ่มที่ 1 จำนวน 19 จังหวัด โดยวิธีคัดเลือก ปี 2560 มูลค่าสัญญา 45,600,000 บาท กับ กรมโยธาธิการและผังเมือง


3. จ้างก่อสร้างงานก่อสร้างวางท่อประปา และงานที่เกี่ยวข้องสัญญา สศป-28 โดยวิธีคัดเลือก ปี 2562 มูลค่าสัญญา 435,548,080 บาท กับ การประปานครหลวง


4. ประกวดราคาก่อสร้างทางหลวงหมายเลข 366 สายทางเลี่ยงเมืองลพบุรีด้านใต้ ตอน 2 ด้วยวิธีปรกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) ในปี 2563 มูลค่าสัญญา 849,000,000 บาท กับกรมทางหลวง


5. จ้างเหมาบริการซ่อมบำรุงรักษาประแจสับราง ซ่อมบำรุงรักษาลิฟท์ และบันไดเลื่อน ของโครงการระบบรถไฟชานเมือง(สายสีแดง)ช่วง-บางซื่อตลิ่งชั่น ในปี 2564 โดยวิธีคัดเลือก มูลค่าสัญญา 86,000,000 บาท กับ การรถไฟแห่งประเทศไทย 


6. ประกวดราคาจ้างก่อสร้างโครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทย และรัฐบาลแห่งสาธาราณรัฐประชาชนจีน ในการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงเพื่อเชื่อมโยงภูมิภาค่วงกรุงเทพมหานคร-หนองคาย (ระยะที่ 1 ช่วง กรุงเทพมหานคร - นครราชสีมา) งานสัญญาที่ 4-6 งานโยธาสำหรับช่วง พระแก้ว - สระบุรี ด้วยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) ในปี 2564 มูลค่าสัญญา9,428,999,969 บาท กับ การรถไฟแห่งประเทศไทย 


7. จ้างการจัดทำทางเชื่อมต่อระหว่างสถานีกลางบางซื่อ (รฟท.) กับสถานีรถไฟฟ้าใต้ดินบางซ่อ (รฟม.) โดยวิธีเฉพาะเจาะจงโดยวิธีเฉพาะเจาะจง ในปี 2564 มูลค่าสัญญา 19,992,000 บาท กับ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย 


8. ประกวดราคาจ้างก่อสร้างโครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ในการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงเพื่อเชื่อมโยงภูมิภาค ช่วงกรุเทพมหานคร - หนองคาย (ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพมหานคร - นครราชสีมา) งานสัญญาที่ 4-2 งานโยธาสำหรับช่วงดอนเมือง - นวนคร ด้วยวิธีประกวดราคา อิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) ปี 2564 มูลค่าสัญญา 10,570,000,000 บาท 


9. จ้างก่อสร้างโครงการปรับปรุงป้ายชื่อสถานีกลางบางซื่อ เป็นสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ และ ตราสัญญลักษณ์ ของการรถไฟแห่งประเทศไทย ปี 2565 มูลค่าสัญญา 33,169,726.39 บาท 

รวมมูลค่าโครงการทั้งหมด ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น ได้รับจากภาครัฐ คือ 23,349,109,775.39 บาท ในจำนวนสัญญาดังกล่าว มี 2 สัญญาที่เป็นการว่าจ้างโดยเฉพาะเจาะจง 2 สัญญา เป็นเจ้าเดียวที่ยื่นซองเสนอราคา และ อีก 1 สัญญา ที่เป็นเจ้าเดียวที่ผ่านคุณสมบัติ

 

นอกจากสัญญญาที่มีชื่อของ ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น เป็นผู้รับเหมาแต่เพียงรายเดียวแล้วยังมีบริษัทร่วมทุนที่มีชื่อ ยูนิคเอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น เป็นผู้ร่วมทุน ได้รับสัมปทานจากภาครัฐอีก จำนวน 7 โครงการ คือ 


1. ก่อสร้างรถไฟทางคู่ ช่วงลพบุรี - ปากน้ำโพ สัญญาที่ 1 ช่วงบ้านกลับ - โคกกะเทียม (ทางรถไฟยกระดับ) มูลค่ารวม 10,050 ล้านบาท ในปี 2560 กับการรถไฟแห่งประเทศไทย


2. การก่อสร้างโครงการจัดหาและติดตั้งระบบอาณัติสัญญาณและโทรคมนาคม ในโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ช่วงลพบุรี-ปากน้ำโพ มูลค่า 2,768 ล้านบาท ในปี 2562 กับการรถไฟแห่งประเทศไทย


3. กรมชลประทาน ในการก่อสร้างขุดคลองระบายน้ำ หลากพร้อมอาคารประกอบ สัญญาที่ 1 โครงการคลองระบายน้ำหลากบางบาล - บางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา มูลค่า 2,758.085 ล้านบาท ในปี 2563 กับกรมชลประทาน


4. โครงการเปลี่ยน ระบบสายไฟฟ้าอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดิน โครงการส่วนต่อขยายตามแนวรถไฟฟ้าสายสีม่วง ถ.กรุงเทพ-นนทบุรี  -ถ.ติวานนท์ มูลค่า 1,871.965 ล้านบาท ในปี 2563 กับการไฟฟ้านครหลวง


5. จ้างก่อสร้างโครงการทางพิเศษสาย พระราม 3- ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันตก สัญญาที่ 1 กับการทางพิเศษแห่งประเทศไทย มูลค่า 7,350 ล้านบาท ในปี 2564 กับการทางพิเศษแห่งประเทศไทย 


6. โครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษหมายเลข 82 สายทางยกระดับบางขุนเทียน-บ้านแพ้ว ช่วงเอกชัย-บ้านแพ้ว ตอน 6 มูลค่า 279.75 ล้านบาท  ในปี 2565 กับกรมทางหลวง 


7. ก่อสร้างสะพานบนสายทาง รย.4060 อ.เขาชะเมา, แก่งหางแมว จ.ระยอง, จันทบุรี 2 แห่ง มูลค่า 587.516 ล้านบาท ในปี 2565 กับกรมทางหลวงชนบท 

 

"ไทยสร้างไทย"จี้รัฐ เปิด TOR  โครงการเปลี่ยนโคตรป้าย "สถานีกลางบางซื่อ"

 

ข้อมูลล่าสุดพบว่า บริษัท ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) รายงานผลดำเนินการไตรมาส 2 ของปี 2565 พบว่ามีกำไรเพิ่มขึ้น 133.63  % เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2564 โดยครึ่งปีแรกของปี 2565 มีกำไรทั้งหมด 21.13 ล้านบาท 

 

คำถามที่เกิดขึ้นในจิตใจของประชาชนคือ ในขณะที่การรถไฟแห่งประเทศไทยยังคงค้างค่าก่อสร้างรวมดอกเบี้ยจาก ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น กว่า 7,200 ล้านบาท และ ยังอยู่ในขั้นตอนฟ้องร้องกันอยู่ แต่เหตุใดยังคงได้รับงานจากการรถไฟอยู่อย่างต่อเนื่อง รวมถึงสัญญาที่ผ่านมาเหตุใดจึงได้รับการว่าจ้างอย่างเฉพาะเจาะจง รวมถึงสัญญาบางสัญญาเหตุใดจึงมีผู้ยื่นซองเสนอราคาเพียงรายเดียว เป็นไปได้หรือไม่ว่ามีผู้มีอำนาจจากหน่วยงานภาครัฐรู้เห็นเป็นใจกับบริษัท คงไม่มีทางที่บริษัทหนึ่งจะสามารถเข้าเป็นคู่สัญญากับภาครัฐได้หลายโครงการในมูลค่าจำนวนเงินที่สูง ทั้งที่เกิดข้อครหามากมายเต็มไปหมด

 

เราเชื่อว่าการทำสัญญาใดๆกับรัฐ โดยเงินภาษีของประชาชน ควรจะต้องโปร่งใสและตรวจสอบได้ พรรคไทยสร้างไทยขอเรียกร้องให้มีการเปิด TOR ทั้งหมด     ของการจัดซื้อจัดจ้างที่บริษัทนี้ได้เข้าเป็นคู่สัญญากับภาครัฐ โดยเฉพาะโครงการเปลี่ยนป้ายชื่อสถานีกลางบางซื่อล่าสุด หากมีการเปิดเผย TOR ของโครงการเปลี่ยนป้ายชื่อ ประชาชนจะได้ทราบถึงหน่วยงานและผู้รับผิดชอบโครงการ รายละเอียดที่ทำให้งบประมาณสูงลิ้วเกินความเป็นจริง แล้วในความเป็นจริงยังมีหนทางอื่นอีกหรือไม่ที่สามารถทำให้โครงการนี้เสร็จสมบูรณ์ได้โดยที่ไม่ต้องใช้งบประมาณมากถึงขนาดนี้  ถ้ายังคงมีการประวิงและไม่เปิดเผย จะเปรียบเสมือนชี้ให้ประชาชนได้เห็นว่า โครงการนี้เป็นการคอรัปชั่นอย่างมโหราฬ หากเป็นโครงการที่มีความบริสุทธิ์จริง ภาครัฐต้องสามารถคลายข้อสงสัยให้กับประชาชนได้ เพื่อให้ประชาชนหมดข้อสงสัยในการลงทุนใดๆของภาครัฐ 

 

"พรรคไทยสร้างไทย"ขอร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการจับตาโครงการล่าสุดในการเปลี่ยนป้ายชื่อสถานีกลางบางซื่อ แม้ราคา 33 ล้านบาท จะไม่ใช่ตัวเลขที่สูงนักหากเทียบกับงบประมาณทั้งประเทศ แต่เราอยากจะตั้งคำถามถึงความเหมาะสมในการใช้งบประมาณก้อนดังกล่าวว่า ในสภาวะที่บ้านเมืองกำลังอยู่ในวิกฤตเศรษฐกิจ การใช้งบประมาณจำนวนดังกล่าวกับการทำป้ายชื่อนั้น เหมาะสมแล้วหรือไม่

logoline