svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

"อดีตผู้ว่ารฟท." จับพิรุธ เหตุใดเพิ่งมาเปลี่ยนป้าย"สถานีกลางบางซื่อ"

04 มกราคม 2566
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

"ประภัสร์" ชี้ เปลี่ยนป้าย"สถานีกลางบางซื่อ" 33 ล้านแพงไป เหตุไม่ใช่เทคโนโลยีใหม่ - ไม่ต้องผลิตใหม่ทั้งหมด ตั้งข้อสังเกตเหตุใดประวิงเวลาเปลี่ยนป้าย  ธ.ค.หวังใช้วิธีประมูลผู้ติดตั้งแบบเฉพาะเจาะจงหรือไม่

4 มกราคม 2566  "นายประภัสร์ จงสงวน"  สมาชิกพรรคเพื่อไทย และอดีตผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย ให้สัมภาษณ์ในรายการ Wake up thailand วันที่ 3 มกราคม 2566 ประเด็น "33 ล้านบาท เปลี่ยนชื่อป้ายสถานีกลางบางซื่อ แพงไปหรือไม่” โดยนายประภัสร์ ระบุว่า ราคาการเปลี่ยนป้ายดังกล่าวอาจจะแพงเกินไป

 

โดยเฉพาะค่าสถาปัตยกรรมถึง 24 ล้านบาท  ค่าทำตัวหนังสือแต่ละตัว แพงขนาดนั้นหรือ และสถานีนี้มีการติดตั้งป้ายมาแล้วครั้งหนึ่งเมื่อครั้งสร้างแล้วเสร็จ จึงเสนอแนะว่าควรให้ผู้รับเหมารายนั้นมาดูราคาการติดตั้งป้ายชื่อสถานีกลางบางซื่อป้ายแรก  ตกลงราคากันไว้เท่าไหร่  

 

"การติดตั้งป้ายแบบ Curtain Wall แบบป้ายสถานีกลางบางซื่อ  ไม่ใช่เทคโนโลยีใหม่  ใช้การออกแบบติดตั้งผ่านคอมพิวเตอร์ได้ทั้งหมด เป็นการเพิ่มตัวอักษรจากชื่อเดิม เพราะคำว่า “สถานีกลาง” ไม่ต้องทำใหม่  ส่วนการติดตั้งไม่ยาก เป็นป้ายแบบเดียวกันกับป้ายสนามบินสุวรรณภูมิ"  นายประภัสร์  กล่าว  

ทั้งนี้ "นายประภัสร์" ยังได้ตั้งข้อสังเกตว่า   

 

1.มีการ “พระราชทานชื่อ” มาตั้งแต่เดือนกันยายน 2565 หัวจดหมายระบุ “ด่วนที่สุด” ซึ่งโดยปกติด่วนที่สุด คือต้องดำเนินการไม่เกิน 1 สัปดาห์  แต่เหตุใดจึงมีการเร่งดำเนินการในเดือนธันวาคม 2565 ผ่านวิธีการประมูลแบบ“เฉพาะเจาะจง” ในเดือนธันวาคม ซึ่งวิธีการนี้เพิ่งมีขึ้นหลังการรัฐประหาร  2557  โดยรัฐสามารถเลือกได้ว่าจะว้าจ้างบริษัท โดยไม่มีคู่แข่งในการประมูล 

 

2.การชี้แจงของการรถไฟแห่งประเทศไทยในยุคปัจจุบัน เป็นการชี้แจงที่ผิดปกติหรือไม่  เพราะไม่มีผู้รับผิดชอบโดยตรงด้านการก่อสร้างออกมาชี้แจง  หากตนยังเป็นผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย สิ่งแรกที่จะดำเนินการคือ  ตนพร้อมผู้รับผิดชอบโครงการจะออกมาชี้แจงผ่านสื่อมวลชนอย่างเป็นทางการ  และเปิดเอกสารค่าใช้จ่ายต่อสาธารณชน เพื่อคลายข้อสงสัยของสังคม 

สำหรับ"สถานีกลางบางซื่อ" มีการอนุมัติการก่อสร้างในปี 2553 และเซ็นต์สัญญาก่อสร้างในปี 2556 ในรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร  นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น  นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม  ส่วนนายประภัสร์ เป็นผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย  ถูกออกแบบให้เป็นสถานีรถไฟครบวงจร ทั้งรถไฟความเร็วสูง รถไฟรางคู่ รถไฟชานเมือง  

 

ในขณะนั้นถูกปรับแบบการก่อสร้างครั้งใหญ่  เพื่อรองรับรถไฟความเร็วสูง ทั้งการปรับแบบทางวิ่งช่วงบางซื่อ-รังสิต จาก 3 เป็น 4 ทาง เพื่อให้รถไฟทางไกลสามารถวิ่งสวนกันได้โดยไม่ต้องจอดหลีก  และเนื่องจากสถานีกลางบางซื่อเป็นสถานีรถไฟขนาดใหญ่  ต้องใช้กระแสไฟฟ้าในปริมาณมาก จึงวางแผนให้มีการติดตั้งโซลาร์เซล เพื่อให้จ่ายค่าไฟฟ้าน้อยที่สุด  สามารถประหยัดงบประมาณได้ในระยะยาว และสามารถขายกระแสไฟฟ้าได้  จะทำให้การรถไฟแห่งประเทศไทยได้กำไรมาใช้หนี้ได้อีกด้วย  แต่ทุกอย่างเปลี่ยนไป นับตั้งแต่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ในขณะนั้นยึดอำนาจ

logoline