svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

“พริษฐ์” แนะ ส.ว.พิสูจน์ตัวเอง โหวต “นายกฯ” ตามเสียงประชาชนหลังเลือกตั้ง

03 มกราคม 2566
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

“พริษฐ์” โต้ “พรเพชร” ส.ว. ไม่ควรเลือกนายกฯ ตามความเชื่อส่วนตัว แนะพิสูจน์ตัวเอง โหวต “นายกฯ” ตามเสียงประชาชนหลังเลือกตั้ง

3 มกราคม 2566  พริษฐ์ วัชรสินธุ ผู้จัดการการสื่อสารและการรณรงค์นโยบาย พรรคก้าวไกล กล่าวถึงท่าทีของสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ที่แสดงออกผ่าน พรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา ที่ให้สัมภาษณ์ระบุว่า ไม่มีความจำเป็นต้องรีบ “ปิดสวิตช์ ส.ว.” และการลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีของ ส.ว. ในการเลือกตั้งครั้งหน้า จะเป็นไปตาม “ดุลยพินิจของสมาชิก” 

“พริษฐ์” แนะ ส.ว.พิสูจน์ตัวเอง โหวต “นายกฯ” ตามเสียงประชาชนหลังเลือกตั้ง

โดยพริษฐ์ ระบุว่า การให้สัมภาษณ์ของประธานวุฒิสภาดังกล่าวนั้น แสดงให้เห็นถึงการละเว้นไม่พูดถึงสาระสำคัญของปัญหา เพราะแม้ ส.ว. จะเหลือวาระอีกไม่นาน แต่ระยะเวลาที่เหลือนั้นคาบเกี่ยวกับการเลือกตั้งในปี 2566 ทำให้ ส.ว. ยังคงสามารถแทรกแซงกระบวนการเลือกนายกรัฐมนตรีและการจัดตั้งรัฐบาลหลังการเลือกตั้ง

ซึ่งอาจส่งผลไปอีก 4 ปีตามวาระรัฐบาลใหม่ ซึ่ง ส.ว. ไม่ควรเลือกนายกรัฐมนตรีตามความเชื่อของตนเอง แต่ควรเลือกจากบุคคลที่ได้รับการสนับสนุนจากเสียงส่วนใหญ่ของ ส.ส. ที่มาจากการเลือกตั้ง หากต้องการให้ประเทศเป็นประชาธิปไตยที่เคารพเสียงของประชาชนที่แสดงออกผ่านบัตรเลือกตั้งจริงๆ

พริษฐ์ ยังกล่าวต่อไปว่า หาก ส.ว. อยากเห็นประเทศเดินหน้าตามวิถีประชาธิปไตย ที่เคารพ 1 สิทธิ 1 เสียงของประชาชนในการเลือกตั้ง ส.ว. ควรจะต้องทำ 2 เรื่อง ในอนาคตอันใกล้นี้ ประกอบด้วย

 1) ลงมติเห็นชอบการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่พรรคเพื่อไทยได้ยื่นต่อประธานสภาผู้แทนราษฎรไปเมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2565 เพื่อยกเลิกมาตรา 272 และปิดสวิตช์ตนเองก่อนการเลือกตั้ง

และ 2) ออกมายืนยันกับประชาชนก่อนการเลือกตั้ง หากพิจารณาการแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ทัน ว่า ส.ว. พร้อมจะลงมติสนับสนุนนายกรัฐมนตรีที่ได้รับเสียงสนับสนุนจาก ส.ส. เกินกึ่งหนึ่งของสภาผู้แทนราษฎร ไม่ว่า จะเป็นใครหรือมาจากพรรคไหน และจะไม่เข้ามาแทรกแซงกระบวนการจัดตั้งรัฐบาลหลังการเลือกตั้ง ไม่อนุญาตให้บุคคลหรือพรรคใดเอาเสียงของ ส.ว. ไปต่อรองในกระบวนการจัดตั้งรัฐบาล

“พริษฐ์” แนะ ส.ว.พิสูจน์ตัวเอง โหวต “นายกฯ” ตามเสียงประชาชนหลังเลือกตั้ง

พริษฐ์ กล่าวว่า หาก ส.ว. ไม่ประสงค์จะใช้อำนาจในทางที่ไปขัดผลการเลือกตั้งอย่างที่เคยได้อ้างไว้จริง ก็ยิ่งไม่มีเหตุผลที่จะไม่สนับสนุนการตัดอำนาจตนเองในการเลือกนายกรัฐมนตรี และควรต้องออกมาให้คำมั่นต่อประชาชนในทางสาธารณะโดยพร้อมเพรียงกันด้วย

“ถ้าท่านดำเนินการตาม 2 ข้อนี้ได้ ท่านจะพิสูจน์ให้ประชาชนเห็น ว่าแม้ที่มาของท่านเป็นสิ่งที่ขัดกับหลักประชาธิปไตยขั้นพื้นฐาน แต่ ณ วันนี้ ท่านได้พยายามแล้ว ในการทำให้ประเทศเดินหน้าตามหลักประชาธิปไตย ที่ประชาชนทุกคนมี 1 สิทธิ 1 เสียงเท่าเทียมกันในการกำหนดอนาคตประเทศ เริ่มต้นจากการเลือกตั้ง 2566 ที่กำลังจะมาถึง” พริษฐ์ กล่าว

logoline