svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

10 ก้าวหน้า"สิทธิมนุษยชน"ของไทยในรอบปี และอนาคตอันไกลของมนุษย์ในปี 2566

31 ธันวาคม 2565
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ส่องสถานการณ์"สิทธิมนุษยชน"รอบปีที่ผ่านมา 10 ความก้าวหน้า สู่การเริ่มต้นในปี 2566 อนาคตอันไกลของมนุษย์ในเจาะประเด็น โดย "โคทม อารียา"

ปีใหม่เหมือนการตั้งต้นใหม่สำหรับอนาคตในอีกปีข้างหน้า เป็นช่วงเวลาที่เราเฉลิมฉลอง ลืมเรื่องใดที่เราหมองเศร้าในปีที่ผ่านมา ขออภัยสำหรับสิ่งใดก็ตามที่ทำให้ผู้อื่นเป็นทุกข์ ไม่ว่าจะโดยการกระทำ การละเว้นการกระทำ ทั้งที่รู้ตัวหรือไม่รู้ตัว ทั้งที่จงใจหรือไม่ตั้งใจ เป็นโอกาสที่จะขอโทษผู้ที่มีความคับข้องใจอันมีเหตุมาแต่เราทุกคน ขออโหสิกรรมด้วย

 

สำหรับ"สังคมไทย" ขอถือว่า"สิทธิมนุษยชน"เป็นสิ่งที่จะบ่งบอกชีวิตที่ดีขึ้นในไม่ช้าไม่นาน จึงขออ้างอิงถึงความก้าวหน้าในด้านสิทธิมนุษยชน 10 ประการ ที่สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชนได้นำเสนอเป็นประจำทุกปี (ส่วนเรื่องถดถอย 10 ประการ ขอละเว้นที่จะนำมากล่าวในบรรยากาศของวันปีใหม่นี้ โปรดอ่านจากอินเทอร์เน็ตนะครับ) สิทธิมนุษยชนของไทยมีความก้าวหน้าดังนี้

10 ก้าวหน้า"สิทธิมนุษยชน"ของไทยในรอบปี และอนาคตอันไกลของมนุษย์ในปี 2566

 

เรื่องก้าวหน้าที่ 1 พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565

 

รัฐสภาได้ผ่านพระราชบัญญัติฉบับนี้แล้ว เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2565 (จะมีผลบังคับใช้ในอีก 120 วันนับจากวันดังกล่าว)  จากนี้ไปเราจะมีกฎหมายที่คุ้มครองประชาชนให้ปลอดพ้นจาก "การทรมาน การกระทำที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์" และการกระทำให้บุคคล "สูญหาย" ที่เกิดจากการกระทำหรือรู้เห็นเป็นใจของเจ้าหน้าที่รัฐ และสามารถเอาผิดเจ้าหน้าที่รัฐจากการกระทำการดังกล่าว  รวมถึงผู้ถูกกระทำ/ครอบครัวผู้ถูกกระทำ จะต้องได้รับการคุ้มครอง ชดเชยเยียวยาความสูญเสียด้วย 

 

เรื่องก้าวหน้าที่ 2 พระราชบัญญัติกำหนดระยะเวลาการดำเนินงานในกระบวนการยุติธรรม พ.ศ. 2565


มีคำกล่าวว่า "ความยุติธรรมที่ล่าช้าคือความยุติธรรมที่ถูกปฏิเสธ (justice delayed is justice denied)" รัฐสภาจึงได้ตรากฎหมายดังกล่าว ซึ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่  24 ตุลาคม 2565 โดยมีสาระสำคัญคือ การกำหนดให้หน่วยงานต่าง ๆ ในกระบวนการยุติธรรม ทั้งที่สังกัดฝ่ายบริหาร องค์กรศาล องค์กรอิสระ มีระยะเวลาการพิจารณาเรื่องต่าง ๆ ที่อยู่ในอำนาจหน้าที่ให้แล้วเสร็จภายในเวลาที่กำหนด 


เรื่องก้าวหน้าที่ 3 พระราชบัญญัติว่าด้วยการปรับเป็นพินัย พ.ศ. 2565


พระราชบัญญัติฉบับนี้ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2565 มีสาระเพื่อช่วยเหลือประชาชนที่ได้กระทำผิดกฎหมายเพราะความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ กระทำความผิดเพราะภาวะความยากจนบีบบังคับ เพื่อให้มีโอกาสที่จะได้รับการพิจารณาโทษในรูปแบบอื่นที่ไม่ใช่โทษอาญา  เช่น ปรับเปลี่ยนโทษปรับเป็นมาตรการ "ปรับเป็นพินัย" โดยทำงานบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์แทนการชำระค่าปรับ 


เรื่องก้าวหน้าที่ 4 พระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2565 (PDPA)


พระราชบัญญัติฉบับนี้มีผลบังคับใช้แล้วเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2565 (หลังจากเลื่อนการประกาศใช้มาแล้ว 2 ปี)  เพื่อช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้ประชาชนว่าข้อมูลส่วนบุคคลจะถูกนำไปใช้อย่างเป็นธรรม โปร่งใส และได้รับการดูแลมิให้มีการนำข้อมูลไปใช้งานในทางที่ผิด อีกทั้งกำหนดให้การเก็บรวบรวม ใช้ หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลใด ต้องมีการขออนุญาตจากเจ้าของข้อมูลนั้นก่อน


เรื่องก้าวหน้าที่ 5 สิทธิของผู้เสียหายซึ่งเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย


สืบเนื่องจากกรณีแรงงานข้ามชาติหญิงรายหนึ่งที่เข้าเมืองโดยไม่ผ่านช่องทางที่ถูกต้องตามกฎหมาย ถูกคนร้ายข่มขืนกระทำชำเรา จึงเดินทางไปร้องทุกข์กล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวน เธอได้ยื่นขอรับเงินค่าตอบแทนผู้เสียหายในคดีอาญา อันเป็นสิทธิที่พึงได้เนื่องจากเป็นเหยื่อของการกระทำความผิดเกี่ยวกับเพศ ตามพระราชบัญญัติค่าตอบแทนผู้เสียหายและค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา พ.ศ. 2544  แต่คณะอนุกรรมการของกระทรวงยุติธรรม มีคำสั่งยกคำขอ ไม่จ่ายเงินแก่ผู้เสียหาย

 

โดยอ้างว่า "เป็นแรงงานข้ามชาติที่เข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย" จึงไม่มีสิทธิรับเงินดังกล่าว ผู้เสียหายได้ยื่นอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิจารณาค่าตอบแทนผู้เสียหายฯ แต่ไม่เป็นผล เธอจึงไปยื่นอุทธรณ์ต่อศาลอุทธรณ์กลาง ซึ่งมีคำวินิจฉัยเป็นบรรทัดฐานใหม่ว่า เหตุแห่งการที่บุคคลคนหนึ่ง "เข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย" ไม่อาจนำมาใช้กล่าวอ้างในการปฏิเสธความรับผิดชอบของรัฐไทย ในกรณีที่บุคคลนั้นกลายเป็นเหยื่ออาชญากรรมในแผ่นดินไทยได้


เรื่องก้าวหน้าที่ 6 ไม่มีข้อความใดในกฎหมายที่แบ่งแยกระหว่างลูกจ้างที่มีสัญชาติไทยกับลูกจ้างที่ไม่มีสัญชาติไทย

 

เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2565  ศาลแรงงานภาค 5 ได้อ่านคำพิพากษาในคดีที่ลูกจ้างแรงงานข้ามชาติ จำนวน 35 คน เป็นโจทก์ฟ้องคณะกรรมการกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้าง และผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อขอให้ศาลเพิกถอนมติคณะกรรมการกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้างที่ไม่อนุมัติจ่ายเงินจากกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้าง เพื่อบรรเทาความเสียหายให้แก่ลูกจ้างแรงงานข้ามชาติจากการที่นายจ้างได้ค้างจ่ายค่าจ้างคนงาน ทำให้ลูกจ้างไม่ได้รับค่าจ้างและเงินชดเชย  ซึ่งศาลได้ชี้ว่า กองทุนสงเคราะห์ลูกจ้างมีวัตถุประสงค์ในการคุ้มครองลูกจ้างทุกคน โดยไม่มีข้อความใดแบ่งแยกระหว่างลูกจ้างที่มีสัญชาติไทยกับลูกจ้างที่ไม่มีสัญชาติไทย  และแม้ว่าลูกจ้างแรงงานข้ามชาติมีสถานะเป็นผู้เข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย แต่ไม่สามารถจะยกเหตุดังกล่าวมาปฏิเสธการจ่ายเงินสงเคราะห์ลูกจ้างให้แก่แรงงานข้ามชาติที่เป็นโจทก์ในคดีนี้ได้  

 

เรื่องก้าวหน้าที่ 7 ปลดล็อคการผลิตสุราเพื่อการค้าและเพื่อการบริโภค


กระทรวงการคลังได้ออกกฎกระทรวงการผลิตสุรา พ.ศ. 2565 เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2565 ปรับปรุงคุณสมบัติผู้ขออนุญาตการผลิต ยกเลิกหรือเปลี่ยนแปลงการกำหนดกำลังการผลิตขั้นต่ำ และเพิ่มเติมขั้นตอนและวิธีการในการขออนุญาตให้สามารถยื่นคำขอรับใบอนุญาตผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ได้  เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนสามารถเข้าถึงการผลิตสุราได้ง่ายขึ้น  ซึ่งเป็นการยืนยันเสรีภาพในการประกอบอาชีพตามรัฐธรรมนูญ


เรื่องก้าวหน้าที่ 8 สิทธิการสวมกางเกงระหว่างการปฏิบัติหน้าที่ของทนายความหญิง


ที่ผ่านมาทนายความหญิงมักถูกผู้พิพากษาตำหนิติเตียน ถูกเลือกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมจากเหตุแห่งการแต่งกาย หรือถูกห้ามว่าความ จากการที่สวมใส่กางเกงไปศาล  จึงมีการรณรงค์สาธารณะ เพื่อให้ "ทนายความหญิงมีสิทธิสวมใส่กางเกงไปศาล" ได้  ต่อมาได้มีทนายความหญิงคนหนึ่งยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการวินิจฉัยการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ (วลพ.) เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2565 ว่าข้อบังคับของสภาทนายความฯและเนติบัณฑิตยสภา ที่กำหนดให้ทนายความหญิงต้องสวมกระโปรงตามแบบสากลนิยมนั้น เป็นการเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ

ในที่สุด เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2565  วลพ. จึงได้วินิจฉัยว่า ข้อบังคับฯ หรือการกำหนดของทั้ง 2 หน่วยงานดังกล่าว มีลักษณะที่ขัดหรือแย้งกับหลักการห้ามเลือกปฏิบัติเพราะเหตุแห่งเพศตามพระราชบัญญัติความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ. 2558 จึงให้หน่วยงานทั้ง 2 ดังกล่าวดำเนินการปรับปรุงแก้ไขข้อบังคับ กฎ ระเบียบ ประกาศ หรือแนวปฏิบัติเพื่อรับรองสิทธิทนายความหญิงให้สามารถสวมกางเกง หรือกระโปรงเมื่อสวมครุยขณะว่าความในศาลได้ 


เรื่องก้าวหน้าที่ 9 สิทธิในการยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัย


เมื่อวันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2565 ได้มีประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง การตรวจและรับคำปรึกษาทางเลือกในการยุติการตั้งครรภ์ ตามมาตรา 305 (5) แห่งประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ. 2565 ที่กำหนดให้ผู้มีอายุครรภ์ไม่เกิน 20 สัปดาห์ สามารถเข้ารับการตรวจและได้รับคำปรึกษาทางเลือก เพื่อประกอบการตัดสินใจว่าจะทำแท้ง หรือจะตั้งครรภ์ต่อไป โดยยึดหลักการมีอิสระที่จะตัดสินใจบนฐานข้อมูลที่รอบด้าน ทั้งในเรื่องสุขภาพ และเรื่องสิทธิประโยชน์ ไม่ว่าจะตัดสินใจทำแท้ง หรือตัดสินใจตั้งครรภ์ต่อ หรือจำเป็นต้องตั้งครรภ์ต่อ (ไม่สามารถทำแท้งได้โดยเหตุแห่งสุขภาพ)  
เรื่องก้าวหน้าที่ 10 สมรสเท่าเทียม  

 

เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2565 ร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมฉบับพรรคก้าวไกล ซึ่งเป็นการแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ป.พ.พ.) มาตรา 1448  เพื่อให้บุคคลทุกเพศสภาพมีสิทธิจัดตั้งครอบครัว (จากที่ปัจจุบัน การ "สมรส" เป็นสิทธิระหว่างคู่รักชายกับหญิงเท่านั้น) ได้ถูกบรรจุเข้าสู่วาระการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร ร่วมกับร่างกฎหมายคู่ชีวิตฉบับคณะรัฐมนตรี (ร่างกฎหมายที่ทำเสร็จตั้งแต่ปี 2556), ร่างแก้ไขเพิ่มเติม ป.พ.พ. โดยคณะรัฐมนตรี และร่างกฎหมายคู่ชีวิตฉบับพรรคประชาธิปัตย์  ในที่สุดสภาผู้แทนราษฎรได้มีมติรับหลักการร่างกฎหมายทั้ง 4 ฉบับนี้ในวาระที่ 1 แล้วตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญขึ้นมาพิจารณา ซึ่งบัดนี้คณะกรรมาธิการได้พิจารณาเสร็จแล้ว รอว่าจะเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรในวาระที่ 2 และ ที่ 3 ต่อไป


ขอขอบคุณรัฐบาล รัฐสภา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่ได้ช่วยทำให้สิทธิมนุษยชนมีความก้าวหน้ารวม 10 ประการดังกล่าว นับเป็นความหวังในอนาคตที่ดีขึ้นของคนไทยและของทุกคนที่อาศัยในแผ่นดินนี้ เพราะจะมีการเคารพสิทธิมนุษยชนซึ่งกันและกันเพิ่มมากขึ้น

 

ต่อไปจะขอกล่าวถึงอนาคตทั้งในระยะกลางและระยะไกลของมนุษย์ผู้อาศัยในพิภพนี้ โดยขออ้างอิงถึงหนังสือชื่อ "La Grande Mutation" ที่เขียนโดย Jean Staune ซึ่งตั้งคำถามเพื่อให้คิด 3 คำถามว่า เราจะไปไหน? ไปอย่างไร? และทำไมต้องไป?

 

1)    เราจะไปไหน?

 

คำตอบมาจากการทำนายหรือคาดการณ์ของนักวิชาการ ซึ่งจำแนกได้เป็น 3 แนวทางคือ

 

(ก) นักวิชาการสาย "ล่มสลายวิทยา" (collapsology) ทำนายว่า อารยธรรมอุตสาหกรรม-ความร้อน (thermo-industrial civilization) จะล่มสลาย เพราะเรากำลังใช้ทรัพยากรที่ทดแทนไม่ได้ให้หมดไป มีคำกล่าวเชิงต่อว่าดังนี้ "ใครก็ตามที่คิดว่ากิจการของเราจะเติบโตต่อไปเรื่อย ในโลกที่มีทรัพยากรจำกัดนั้น ถ้าไม่ใช่คนบ้าก็เป็นนักเศรษฐศาสตร์" จึงทำนายว่า กิจการของมนุษย์จะพบอุปสรรค และการล่มสลายน่าจะเกิดขึ้นภายในปี ค.ศ. 2035

 

(ข) นักวิชาการสายอุดมสมบูรณ์ ทำนายว่า เทคโนโลยีและการปฏิรูปสังคมอย่างถึงรากโคน (รวมถึงการสิ้นสุดของทุนนิยม ดังที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน) จะนำพาสังคมมนุษย์ให้ก้าวหน้าต่อไป เราจะมีพลังงานที่เพียงพอ จากดวงอาทิตย์หรือจากปฏิกิริยานิวเคลียร์ (fission or fusion energy) เราจะมีวัสดุให้ใช้จากการทำเหมืองในอวกาศ (เช่น จากดาวเคราะห์น้อย)

 

(ค) ส่วน Staune จัดตัวเองอยู่ในกลุ่มนักวิชาการที่คิดว่าอนาคตยังไม่แน่ไม่นอน ถ้ารู้จักใช้ปัญญา และลดความโลภก็ไปต่อได้ เขาคิดว่าอนาคตอันใกล้จะมีการเปลี่ยนแปลงอารยธรรมอย่างมีนัยสำคัญ ที่มาพร้อมกับความอลหม่าน การกบฏ การย้ายถิ่นฐาน ฯลฯ ยุคสมัยของ Big Data (หมายถึงการนำข้อมูลจำนวนมากมาประมวลผล วิเคราะห์และแสดงผล) และยุคสมัยของปัญญาประดิษฐ์ จะมีต่อไปได้ในช่วงเวลาหนึ่ง โดยจะมียุคสมัยอื่น ๆ ตามมา ในระยะกลาง เช่น ในกลางคริสต์ศตวรรษนี้ เราคงเห็นการแปลงรูป (mutation) ที่เริ่มขึ้นแล้ว อันจะนำไปสู่การปรากฏขึ้นของศักยภาพพิเศษของมนุษย์ ที่แปลกใหม่ไปจากปัจจุบัน     

 

อย่างไรก็ดี ไม่ว่าจะเป็นนักวิชาการจากสำนักใด ต่างก็ยอมรับว่า โลกใบนี้ของเราเป็นระบบที่ซับซ้อนมาก แถมยังเป็นระบบไม่เชิงเส้น (nonlinear) ที่ทำให้ความสามารถในการประดิษฐ์คิดค้น ตลอดจนความสร้างสรรค์ที่มนุษย์เคยแสดงให้เห็นในการก้าวพ้นนานาอุปสรรคของอดีต ย่อมไม่เป็นหลักประกันของความสำเร็จในอนาคต และการทำนายก็เป็นเพียงการทำนาย เราจึงต้องพยายามทำให้ส่วนดีของคำทำนายเป็นจริง ที่สำคัญ เราไม่ควรพิจารณาเฉพาะโลกแห่งวัตถุอย่างเดียว เรายังต้องจัดวางระบบคุณค่าของโลกอย่างเหมาะสมสำหรับวันข้างหน้าด้วย

 

2)    เราจะไปอย่างไร?

 

ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นในเอเชีย ยุโรป หรือแอฟริกา ไม่ว่าในอนาคตเราจะเผชิญกับความหายนะ หรือกับการเติบโตที่พิเศษพิสดาร คำถามสำคัญก็คือ ทัศนคติ คุณค่า และพฤติกรรมของเราในวันข้างหน้า จะปรับเปลี่ยนไปหรือไม่ หรือจะดำรงอยู่เช่นเดิมต่อไป Staune ได้ชี้แนวทางที่จะเดินไปข้างหน้าในด้านคุณค่า และพฤติกรรมโดยแบ่งเป็น 5 แนวทาง ดังนี้

 

(ก)    คุณค่าและพฤติกรรมที่เชื่อมโยงโดยตรงกับความไม่เป็นเชิงเส้นและความซับซ้อนของโลก 

 

รูปแบบเดิม ๆ ขององค์กรที่อาศัยการวางแผน การจัดระบบแบบ Taylor ที่อิงวิทยาศาสตร์ หรือเป็นระบบที่กำหนดไว้ (determinist) กำลังถูกแทนที่ด้วยท่วงทำนองที่มีพื้นฐานบนความคล่องตัว การโต้ตอบ (interactivity) ความหยุ่นตัว การมีวิธีอันหลากหลายในการเผชิญอุปสรรค การโยกย้ายพฤติกรรม วิธีการและความคิดจากโดเมนหนึ่งไปยังอีกโดเมนหนึ่ง ความกล้าที่จะทวนกระแสหรือทำสิ่งทั้งสองที่ขัดกันไปพร้อมกัน ฯลฯ หมายความว่า รัฐ และวิสาหกิจพึงอาศัยความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรมเป็นสำคัญ

 

(ข)    การปฏิรูปการศึกษา

 

เราต้อง "เรียนรู้ที่จะเรียนรู้" การศึกษาปัจจุบันแบ่งนักเรียนเป็นชั้น ๆ ตามวัย แต่ละชั้นมีหลักสูตรเหมือนกัน มีตารางเวลาเดียวกัน และทุกคนผ่านการวัดผลโดยการให้คะแนนเหมือน ๆ กัน เราควรพัฒนาการศึกษาในรูปแบบใหม่ ๆ เช่น ที่มีพลวัตและเปิดเสรีมากขึ้น ที่นักเรียนแต่ละคนได้ศึกษาค้นคว้าในหัวข้อที่ตนสนใจ รู้จักรักษาระยะห่างจากข้อมูลอันล้นหลามในอินเทอร์เน็ต ฝึกให้มีความคิดเชิงวิพากษ์วิจารณ์และมีความอยากรู้อยากเห็น ให้สนใจความคิดที่แตกต่างจากความคิดของตน มีภูมิคุ้มกันจากอิทธิพลเคลือบแฝงที่แอปพลิเคชันของบรรดายักษ์ใหญ่ทางอินเทอร์เน็ตมีต่อเรา ฯลฯ และการศึกษาควรเป็นการศึกษาตลอดชีวิต

 

(ค)    ความไว้วางใจ

 

เราต้องมีความไว้วางใจต่ออนาคต มีความไว้วางใจระหว่างสมาชิกและกับผู้นำของสังคม ความไว้วางใจเป็นปัจจัยความสำเร็จของประเทศและของวิสาหกิจ และต้องคำนึงว่า ความไว้วางใจใช้เวลาในการเพียรสร้างขึ้น เช่น โดยการทำสิ่งที่พูด (walk the talk) และโดยการพูดสิ่งที่ทำ (talk the walk) แต่ทำลายได้ง่ายนิดเดียว แม้ความไว้วางใจจะไม่เพียงพอที่จะเป็นหลักประกันความสำเร็จ แต่สังคมที่ขาดแคลนความไว้วางใจมักเดินไปสู่ความล้มเหลว

 

(ง)    ปัญญาส่วนรวม (collective intelligence)

 

ในโลกที่ซับซ้อน เป็นไปไม่ได้ที่จะทำนายว่า โอกาสที่ดีจะมาถึงเมื่อไร หรืออุปสรรคใดกำลังจะเกิดขึ้น บุคคลคนหนึ่งหรือกลุ่มบุคคลกลุ่มเล็ก ๆ กลุ่มหนึ่งยากที่จะบริหารบริษัทหรือประเทศให้ดีได้ เราจึงต้องแทนโลกแห่ง ‘การสั่งและการควบคุม’ (command and control) ด้วยโลกแห่งการริเริ่ม ให้อำนาจส่วนหนึ่งได้กระจายไปในแนวราบ รัฐต่าง ๆ จำเป็นต้องนำประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม มาเสริมประชาธิปไตยแบบตัวแทน เพราะในสังคมปัจจุบัน ข้อมูลข่าวสารหมุนเวียนเปลี่ยนไปเร็วมาก และได้เปลี่ยนแปลงปฏิสัมพันธ์ระหว่างพลเมือง ทั้งในทางที่ดีและที่แย่ลง ในทางที่ดีน่าจะหมายถึงพลเมืองรู้เท่าทันข้อมูลข่าวสารและพร้อมที่จะมีส่วนร่วมตัดสินใจ

 

(จ)  ความเข้าอกเข้าใจและการเอาใจใส่ซึ่งกันและกัน (empathy)


คุณค่านี้ควรเป็นคุณค่าร่วมของสังคม ปัญญาประดิษฐ์อาจวิเคราะห์ข้อมูลจำนวนมากและวินิจฉัยโรคมะเร็งได้ดีกว่าหมอคนหนึ่ง แต่มีใครบ้างที่อยากให้ปัญญาประดิษฐ์มาบอกว่าเขาเป็นมะเร็ง อีกตัวอย่างหนึ่งคือ เราชอบการตอบโทรศัพท์โดยเครื่องที่ให้เรากดเลือกไปเรื่อย ๆ จนได้รับคำตอบ หรือชอบคุยและถามพนักงานรับโทรศัพท์มากกว่ากัน ข่าวดีคือเราคงชอบมนุษยนิยมและคุณค่าของมนุษยนิยมต่อไปในอนาคต แม้ว่าจะมีปัญญาประดิษฐ์ที่เก่งกาจ ที่แสดงเสมือนว่ามีอารมณ์ความรู้สึกได้อย่างดี แต่เราคงเลือกชอบความอบอุ่นของมนุษยสัมพันธ์ รวมทั้งความไม่แน่ไม่นอนของมัน

 

3)    ทำไมเราต้องไปข้างหน้า ?


เรื่องเล่าที่ยิ่งใหญ่ (grand narrative) และวิสัยทัศน์ที่ยิ่งใหญ่นั้น จำเป็นในการขับเคลื่อนวิสาหกิจหรือประเทศสู่การมีวัตถุประสงค์ร่วมกัน น่าเสียดายที่ความรู้สึกว่าเราเป็นส่วนหนึ่งของโลกพิภพใบเล็ก ๆ ใบนี้ ที่เคว้งคว้างอยู่ท่ามกลางความมหาศาลของเอกภพ ได้พัฒนาขึ้นอย่างช้ามาก เทียบไม่ได้กับความรู้สึกว่าเราเป็นส่วนหนึ่งของชาติ ศาสนา หรือวัฒนธรรมหนึ่ง ๆ อันที่จริง เรามีคำตอบบางประการที่อาจใช้เป็นเรื่องเล่าของพวกเราได้ เช่น

ก) เรารู้ว่าในอีกหลายล้านปีข้างหน้า เมื่อดวงอาทิตย์เริ่มดับลง จะไม่มีสิ่งมีชีวิตเหลืออยู่ในโลกนี้ แล้วการสืบทอดสายพันธุ์ของมนุษย์จะมีประโยชน์ใดเล่า แต่กระนั้นเราอยากสืบทอดสายพันธุ์ให้นานเท่านาน ด้วยความหวังและความเป็นไปได้ที่จะให้มนุษย์ในอนาคต สามารถไปอยู่อาศัยในดาวดวงอื่น

ข) แม้ชีวิตจะผุดบังเกิดโดยความบังเอิญ แต่ท่ามกลางเอกภพที่เมินเฉย ชีวิตที่มีปัญญาก็มีคุณค่าในตัวมันเอง เพราะเราเป็นสิ่งเดียวที่มีจิตสำนึก

ค) ลองนึกถึงเรื่องเล่าของภาพยนตร์ Matrix บางทีเราอาจเป็นเพียงสิ่งเสมือนหรืออวตาร ที่อารยธรรมที่อยู่ในอีกมิติหนึ่งสร้างขึ้นมา เราต้องพยายามสืบทอดการดำรงอยู่ของมนุษย์ต่อไป เหมือนการทำคะแนนในเกมวิดีโอ
 

ไม่ว่าจะเชื่อในเรื่องเล่าใด แต่พฤติกรรมของเรายังควรเป็นการใช้จินตนาการ การสร้างสรรค์ การพัฒนา การใช้ทรัพยากรที่มีให้แก่เราในโลกนี้หรือที่อยู่ไกลออกไป ให้เป็นประโยชน์ เรารู้ว่าเราแต่ละคนจะต้องตาย แม้แต่อารยธรรม เช่น อารยธรรมอุตสาหกรรม-ความร้อนก็กำลังเคลื่อนคล้อยไป อย่างไรก็ดี ยังจะมีชีวิตใหม่ มีอารยธรรมใหม่ที่ต้องดำเนินต่อไป บางทีในหลายศตวรรษข้างหน้า เมื่อเผชิญความท้าทายที่ใหญ่หลวง เราอาจต้องนำบรรดาเทพเจ้าทั้งหลายกลับคืนมา เพราะถึงอย่างไร อาณาจักรแห่งความหมายยังดีกว่าความมืดมนที่ไร้ความหมาย

 

คำตอบว่าทำไมเราต้องเดินหน้าก็คือ เพื่อมวลมนุษยชาติจะได้สืบหาซึ่งความหมายต่อไป
 

logoline