svasdssvasds
เนชั่นทีวี

ORIGINAL

เรื่องเล่าของลุงกับหลาน โทนี ผู้อยู่เบื้องหลังความยิ่งใหญ่ของ ราฟาเอล นาดาล

02 มีนาคม 2565
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ในโลกของเทนนิส คงไม่มีคู่ลุงหลานคู่ไหน จะประสบความสำเร็จได้เหมือน โทนี กับ ราฟาเอล นาดาล อีกแล้ว เมื่อโค้ชเทนนิสโนเนมจากมายอร์ก้า ปั้นหลานชายแท้ ๆ จนเป็นเจ้าของสถิติแกรนด์สแลมชายสูงสุดคนปัจจุบัน

Highlights

  • โทนี นาดาล เห็นแววของหลานชายแท้ ๆ ตั้งแต่อายุ 3 ขวบ และตัดสินใจจะปั้นเด็กคนนี้ให้เป็นนักเทนนิสอาชีพให้ได้
  • แต่สายสัมพันธ์ในฐานะญาติ ไม่ได้ทำให้ โทนี ผ่อนปรนกับหลานชายแม้แต่น้อย หรืออาจจะหนักข้อกว่าเด็กทุกคนที่เขาเคยสอนด้วยซ้ำ จนพ่อแม่ของ นาดาล ก็กังวลไม่น้อย
  • สุดท้าย โทนี ก็เป็นฝ่ายพิสูจน์ว่าเขาตัดสินใจได้ถูก เด็กหนุ่มที่มีพื้นเพจากมายอร์ก้า สร้างประวัติศาสตร์เป็นนักเทนนิสชายคนแรกที่ได้แชมป์แกรนด์สแลม 21 สมัย

--------------------

          ในแง่ผลงานในสนาม ราฟาเอล นาดาล คือนักเทนนิสชายที่ประสบความสำเร็จสูงสุดในปัจจุบัน การันตีด้วยแชมป์แกรนด์สแลม 21 รายการ

 

          เบื้องหลังความสำเร็จที่ว่านั้น ปฏิเสธไม่ได้ว่าต้องมีชื่อของ โทนี นาดาล ลุงแท้ ๆ และโค้ชคนแรกซึ่งดูแลเจ้าตัวนานกว่าสามสิบปีรวมอยู่ด้วย

 

          แต่กว่าจะมาถึงวันนี้ได้ ความสัมพันธ์ระหว่างลุงกับหลานคู่นี้ ก็ดุเดือดไม่แพ้เรื่องราวในสนามเช่นกัน

 

จากแมวน้อยสู่กระทิงดุ
(ราฟาเอล นาดาล คุ้นเคยกับคอร์ทดินตั้งแต่เล็ก / ภาพจาก Instagram)

          โทนี อดีตนักเทนนิสสมัครเล่นชั้นนำของประเทศ ผู้ผันตัวมาเป็นโค้ชระดับเยาวชน ค้นพบว่าหลานชายของตัวเอง "พิเศษ" กว่าเด็กคนอื่น ๆ ที่เขาเคยสอนมาหลายร้อยคน ตั้งแต่ตอน ราฟาเอล อายุสามขวบ

 

          "ทุกครั้งที่เราตีบอลโต้กัน ราฟาเอล จะเป็นฝ่ายวิ่งเข้าหาบอล แทนที่จะรอให้บอลไปถึงตัว ไม่เหมือนกับเด็กเล็กคนอื่น ๆ ซึ่งเป็นเรื่องพิเศษมากในความคิดผม" โทนี เล่าย้อนถึงครั้งแรกที่ได้เล่นเทนนิสกับหลานชาย บนคอร์ทดินของ มานากอร์ เทนนิส คลับ ในมายอร์ก้า บ้านเกิดของครอบครัว

          และนับจากวันนั้นเองที่ โทนี อาสาเป็นโค้ช เพื่อขัดเกลาพรสวรรค์ในตัวของหลานชาย ด้วยความเข้มข้น จนเปลี่ยนจากเจ้าแมวน้อย (มาริเบล น้องสาวของ นาดาล เล่าว่าสมัยเด็ก พี่ชายเป็นคนหงิม ๆ สุภาพเรียบร้อย และดูไม่สู้คน เหมือนแมวตัวเล็ก ๆ ขณะที่ โรเจอร์ เฟเดอเรอร์ ก็เล่าว่านอกสนาม นาดาล แทบจะเป็นคนละคนกับบนคอร์ทเลย) จนกลายเป็นกระทิงดุของวงการเทนนิส

 

          อนา มาเรีย แม่ของ นาดาล เล่าว่าทุกครั้งหลังจบคลาส ลูกชายจะกลับมาพร้อมกับคราบน้ำตาเสมอ แต่ไม่เคยบอกว่าเกิดอะไรขึ้นบ้างที่คอร์ท พร้อมขอให้ตนเงียบไว้ เพราะไม่อยากให้เกิดปัญหา

 

          เธอมารู้ภายหลังว่าพี่เขยทั้งตะคอก และขู่ลูกชายต่าง ๆ นานา หวดบอลใส่เวลาที่อีกฝ่ายใจลอย รวมถึงเรียกเขาว่า "ไอ้ลูกแหง่" ด้วย

 

          "ที่ผมเข้มงวดกับเขามากกว่าเด็กคนอื่น ๆ ในคลาส เพราะผมใส่ใจเขาเป็นพิเศษ" ลุงโทนี อธิบายถึงการขัดเกลาหลานชายด้วยวิธีสุดโหด

 

          ไม่ใช่แค่ดุด่าเท่านั้น ทุกครั้งหลังจบคลาส โทนี ยังสั่งให้ นาดาล เก็บบอลที่กระจัดกระจายอยู่ทั่วคอร์ท ทำความสะอาดคราบต่าง ๆ ขณะที่เด็กคนอื่นได้รับอนุญาตให้กลับบ้านได้

 

          "ผมเชื่อในการทำงานหนัก และมั่นใจว่าคนที่จะเป็นผู้เล่นอาชีพได้ต้องแข็งแกร่งพอจะเผชิญหน้ากับแรงกดดันมหาศาล"

 

          "ผมไม่รู้จักวิถีชีวิตแบบอื่น เพราะในมุมมองของผม คุณต้องรู้ว่าที่ไหน คือที่ที่เหมาะกับคุณที่สุด นี่คือเหตุผลว่าทำไม ผมถึงปฏิบัติกับ ราฟาเอล แบบนี้ เพราะผมรู้ว่าเขาจะผ่านมันไปได้"

 

ความสำเร็จดีใจได้แค่ชั่วคราว
(แม้จะเริ่มฉายแววเด่นตั้งแต่อายุยังน้อย แต่ลุงโทนีไม่เคยปล่อยให้ นาดาล เหลิงไปกับความสำเร็จเล็ก ๆ / ภาพจาก TennisworldUSA)

          พัฒนาการของ นาดาล ภายใต้การดูแลของลุงโทนี เป็นไปอย่างต่อเนื่อง

 

          แต่ถึงอย่างนั้น โทนี ก็ยังสวมบทโหดกับหลานชายเช่นเดิม แม้จะคว้าแชมป์ระดับประเทศในรุ่นยู-12 มาครองได้ก็ตาม

 

          สิ่งที่เขาทำคือโทรหาสหพันธ์เทนนิสสเปน ขอรายชื่อแชมป์รายการนี้ในรอบ 25 ปีหลังสุด และยื่นให้ นาดาล ดู ระหว่างงานฉลอง และถามว่ารู้จักใครในลิสต์นี้บ้าง

          ผลคือ นาดาล รู้จักทั้งหมดนี้แค่ 5 คน ซึ่งก็คือกลุ่มที่พัฒนาต่อไปถึงระดับการเล่นอาชีพ

 

          สิ่งที่ โทนี ต้องการสื่อคือ แม้จะมาถึงระดับนี้ แต่ก็ยังห่างไกลจากความสำเร็จ เพราะโอกาสที่หลานชาย จะไปถึงการเป็นมืออาชีพได้ ยังมีแค่ 1 ใน 5 เท่านั้น

 

          และนี่ก็ไม่ใช่ครั้งเดียวที่ โทนี เตือน นาดาล ว่าเขายังห่างไกลจากความสำเร็จที่แท้จริงอีกไกล

 

          เพราะหลังจากนั้นตอนอายุ 14 นาดาล ก็เดินทางไปแข่งในทัวร์นาเมนต์นอกประเทศเป็นครั้งแรก ที่แอฟริกา

 

          ที่นั่น เขาได้เจอกับประสบการณ์แปลกใหม่ ทั้งวัฒนธรรมที่แตกต่าง รวมถึงสัตว์ป่านานาชนิดที่เขาได้เห็นด้วยตาตัวเองเป็นครั้งแรก ฯลฯ

 

          และแม้จะกลับมาพร้อมกับชัยชนะ งานเลี้ยงต้อนรับที่สมาชิกในครอบครัวจัดเตรียมไว้ให้ กลับถูกยกเลิกก่อนที่เจ้าตัวจะเดินทางมาถึง

 

          โทนี ดึงป้ายผ้าแสดงความยินดีออก และบอกให้ นาดาล กลับไปซ้อมตามปกติในวันรุ่งขึ้น ตอน 9 โมงเช้า

 

          "ผมอยากให้เขารู้ว่าชัยชนะตอนอายุเท่านี้แทบไม่มีความสำคัญอะไรเลยในระยะยาว เขาต้องรู้ว่ามันเป็นแค่ก้าวเล็ก ๆ เท่านั้น และถ้าเขาอยากจะก้าวหน้าต่อไป เขายังต้องทำงานหนักเหมือนเดิม"

 

          ความเอาจริงเอาจังของ โทนี ทำให้ เซบาสเตียน กับ มาเรีย พ่อกับแม่ของ นาดาล เริ่มคิดว่าพี่ชายเข้มงวดกับลูกชายของตนเกินไปไหม

 

          ยังไม่นับเรื่องที่คนนอกซี่งมองเข้ามาไม่มั่นใจว่านี่จะเป็นการลงทุนที่คุ้มค่ารึเปล่า สำหรับการผลักดันให้เด็กคนหนึ่งเติบโตขึ้นมาเป็นนักกีฬาอาชีพ โดยไม่เผื่อทางเลือกอื่นไว้เลย

 

          แต่ โทนี ยืนกรานว่ามีการกระทบกระทั่งกันน้อยมาก ระหว่างสมาชิกครอบครัวในเรื่องนี้

 

          และสุดท้าย เซบาสเตียน กับ มาเรีย ก็เห็นด้วยกับแนวคิดของตน เพื่อผลักดันหลานชายคนนี้ให้เป็นนักเทนนิสอาชีพเต็มตัว

 

          ความไว้วางใจในตัว โทนี ทำให้ เซบาสเตียน กับ มาเรีย หรือแม้แต่ตัวของ นาดาล เอง กล้าที่จะปฏิเสธทุนการศึกษา ที่จะทำให้ นาดาล ต้องเดินทางไปฝึกเทนนิสที่ บาร์เซโลนา ตอนอายุ 14

 

          ตัวของ นาดาเอล เอง แม้จะยอมรับว่าหลายครั้งลุงโทนีทำให้เขารู้สึกท้อ แต่ลึก ๆ ก็เชื่อว่าความสัมพันธ์ระหว่างทั้งคู่มีความพิเศษอยู่ และดีใจที่สุดท้าย เลือกปฏิเสธทุนการศึกษาก้อนนั้นไป

 

          "หลาย ๆ ครั้ง ผมก็โกรธคุณลุงนะ แต่ผมก็เชื่อว่าในระยะยาว สิ่งเขาทำมันถูกต้อง"

 

หัวใจที่ถูกหล่อหลอมจนเข้มแข็ง
(นัดชิงออสเตรเลียน โอเพน ปีล่าสุด กับ เมดเวเดฟ ย้ำให้เห็นถึงจิตใจที่เข้มแข็ง ไม่เคยถอดใจของ นาดาล / ภาพ USA Today)

          โทนี รับว่าในภาพรวมแล้ว เขามีส่วนในการขัดเกลาเทคนิคของ นาดาล ไม่มาก เท่ากับการหลอมให้หลานชายมีจิตใจที่เข้มแข็ง อดทน ไม่เคยยอมแพ้ จนสามารถรับมือกับแรงกดดันมหาศาล และแก้ปัญหาเฉพาะหน้าที่เกิดขึ้นบนคอร์ท

 

          ซึ่งกลายเป็นหนึ่งในองค์ประกอบสำคัญที่ช่วยให้ นาดาล คว้าแชมป์แกรนด์สแลม 21 สมัย และระดับมาสเตอร์สอีก 37 รายการ

 

          คุณสมบัตินี้เริ่มแสดงให้เห็นตั้งแต่เขายังอายุน้อยแล้ว หนึ่งในนั้นคือการกัดฟันเล่น ทั้งที่นิ้วก้อยหักระหว่างทัวร์นาเมนต์รุ่นอายุต่ำกว่า 14 ปี ในบ้านเกิด จนได้ชัยชนะ โดยไม่แสดงอาการใด ๆ ออกมา เพียงเพราะไม่อยากให้ โทนี เห็นว่าเขาเป็นคนอ่อนแอ

 

          "เล่นทุกแต้มให้เหมือนกับเป็นแชมเปียนชิพพอยท์" คือสิ่งที่ลุงโทนีปลูกฝังให้หลานชายตั้งแต่เล็ก และกลายเป็นส่วนสำคัญในแมตช์ประวัติศาสตร์หลาย ๆ ครั้ง

 

          อย่างการดวลห้าเซตกับ โรเจอร์ เฟเดอเรอร์ ที่เขาคว้าแชมป์วิมเบิลดันเป็นครั้งแรก ในปี 2008 หรือการเบียดกับ ดานิล เมดเวเดฟ ทั้งในนัดชิงฯ ยูเอส โอเพน 2019 และ ออสเตรเลียน โอเพน ปีล่าสุด

 

          แน่นอนว่าหัวจิตหัวใจที่เข้มแข็งอย่างเดียว คงไม่เพียงพอที่จะนำความสำเร็จมาได้

 

          แต่ โทนี ก็เลือกที่จะไม่รับเครดิตในเรื่องเทคนิคที่เขามีส่วนขัดเกลา นาดาล ตั้งแต่เล็ก ทั้งการเสิร์ฟที่ดุดัน ลูกโฟร์แฮนด์และแบคแฮนด์ การขึ้นหน้าเน็ต หรือไหวพริบในการเล่น ฯลฯ

 

          เพียงบอกแค่ว่าเขาสอนให้ นาดาล เรียนรู้ที่จะไม่หยุดพัฒนาตัวเอง

 

          "ผมเชื่อเสมอว่ามันเป็นไปได้เสมอที่เขาจะยกระดับตัวเองให้เก่งขึ้นไปอีก เพราะเขามีพรสวรรค์โดยธรรมชาติอยู่แล้ว"

 

โค้ชราคาถูกที่ไม่มีใครกล้าไล่
(โทนี พูดแบบติดตลกว่าที่ไม่โดนไล่ออก เพราะมีศักดิ์เป็นลุง และคิดค่าจ้างถูกกว่าคนอื่น ๆ / ภาพจาก Twitter)

          โทนี ยังพูดแบบติดตลกว่าจริง ๆ เขามีคุณสมบัติแค่สองข้อเท่านั้น ที่เหมาะกับการดูแล นาดาล

 

          หนึ่งคือ เขาเป็นลุงแท้ ๆ ทำให้ไม่ว่าใครก็คงลังเลที่จะไล่ญาติของตัวเองจากงานที่ทำ และสองคือ ค่าจ้างของเขาถูกกว่าทุกคนที่พ่อแม่ของ นาดาล จะจ่ายได้

 

          ถึงตอนนี้ นาดาล กับพ่อแม่ คงเห็นด้วยกับความคุ้มค่านี้แล้ว เพราะแชมป์แกรนด์สแลม 16 จากทั้งหมด 21 ครั้ง เกิดขึ้นระหว่างที่ทั้งคู่ร่วมงานกัน

 

          ก่อนที่ โทนี จะตัดสินใจรีไทร์ตัวเอง เมื่อปี 2017 เพราะไม่ต้องการเดินทางรอบโลกอีก และผันตัวมาดูแลอะคาเดมีของ นาดาล ใน มายอร์กา บ้านเกิด ซึ่งใช้เวลาเดินจาก มานากอร์ เทนนิส คลับ เพียงไม่กี่นาที

 

          และแม้จะยังคอยติดตามการเล่นของหลานชายอยู่ตลอด แต่ โทนี ก็เลิกที่จะเข้าไปยุ่มย่ามหรือพูดถึงการเล่นของ นาดาล อีก

 

          "ถ้าย้อนกลับไปที่จุดเริ่มต้น และมีคนบอกว่าเขาจะคว้าแชมป์แกรนด์สแลม 21 รายการ ผมคงคิดว่ามันเป็นไปไม่ได้"

 

          "แต่ที่ผ่านมา เขาแสดงให้เราเห็นแล้วว่าเขาได้แชมป์แกรนด์สแลมเกือบจะทุกปี และยังคงพัฒนาตัวเองจนเป็นเหมือนเรื่องปกติ"


          "มันพิสูจน์ให้เห็นว่า เด็กธรรมดา ๆ คนหนี่งจาก มานากอร์ ที่มีความมุ่งมั่น ยอมเสียสละบางสิ่งเพื่อบรรลุเป้าหมายที่เขาตั้งใจไว้ตั้งแต่อายุยังน้อย มันเกิดขึ้นได้จริง ไม่ใช่มีแค่ในเทพนิยายเท่านั้น"

--------------------

SOURCE

logoline