ไม่กี่วันหลังจากซีรี่ย์ ‘All of Us Are Dead’ เปิดตัวในวันที่ 28 มกราคม ก็ขึ้นแท่นกลายเป็นซีรี่ย์ Netflix ที่มีผู้ชมมากที่สุดบนชาร์ตสตรีมมิ่งทั่วโลก โดยก่อนหน้านี้ในช่วงปี 2021 ตำแหน่งนี้เคยตกเป็นของซีรี่ย์ Squid Game และ Hellbound มาก่อน
เนื้อเรื่องของ All of Us Are Dead ว่าด้วยกลุ่มนักเรียนที่พยายามเอาชีวิตรอดจากผู้ติดเชื้อที่กลายเป็นซอมบี้ในโรงเรียน ก่อนที่จะลุกลามบานปลายไปทั่วทั้งเมือง ส่วนพวกเขาก็รอความช่วยเหลืออย่างมีความหวัง แต่แล้วก็ต้องรู้ว่าพวกเขาต้องสู้ด้วยตัวเองเท่านั้น
บางส่วนตีความซีรี่ย์เรื่องนี้ว่าเหมือนเป็นการอุปมาอุปไมยกับไวรัสโควิด-19 ที่เกิดขึ้นและได้แพร่ระบาดไปทั่วโลก ที่ผู้ติดเชื้อบางรายเสียชีวิต บางรายสามารถรักษาได้ บางรายติดเชื้อแต่ไม่แสดงอาการ ซึ่งแม้การตีความจะสามารถฉีกออกไปได้หลายรูปแบบ แต่หนึ่งสิ่งเลยที่ซีรีย์ All of Us Are Dead สะท้อนออกมาอย่างเห็นได้ชัด คือปัญหาสังคมที่ถูกกดทับไว้ในประเทศเกาหลี และในบางจุดยังเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นทั่วโลกอีกด้วย
เฟมินิสต์ และ วงการกีฬา แรงกดดันใต้สังคมปิตาธิปไตย
ในช่วงโอลิมปิกฤดูร้อนปี 2020 ที่ถูกจัดขึ้นยังกรุงโตเกียว ‘อัน ซาน’ นักกีฬายิงธนูสาววัย 20 ปีชาวเกาหลีใต้ ได้ทำลายสถิติโอลิมปิกกวาด 3 เหรียญทองจากทุกรายการที่ลงแข่งขัน ในขณะที่ประชาชนจากแดนโสมร่วมเฉลิมฉลองถึงชัยชนะในครั้งนี้ ก็ยังไม่วายมีผู้ชายบางกลุ่มที่มีความเกลียดชังต่อเพศหญิง (misogynist) แย้งขึ้นมาว่า นักกีฬาสาวรายนี้เป็นผู้หญิงแท้ๆแต่ดันตัดผมสั้นซึ่งน่าจะมีความเกี่ยวข้องกับกลุ่มสตรีนิยมหรือเฟมินิสต์ (feminism) ที่พวกเขาต่อต้าน
ในซีรี่ย์ All of Us Are Dead สะท้อนถึงความกดดันของชีวิตนักกีฬาผ่าน จางฮารี 'พี่สาวนักยิงธนู' นักเรียน ม.ปลายที่รักการยิงธนูเป็นชีวิตจิตใจและหากเธอชนะการแข่งขันยิงธนูระดับ ม.ปลายแล้ว จะเป็นหนึ่งในใบเบิกทางชั้นดีให้เธอสามารถเข้ามหาวิทยาลัยอันดับต้นๆของประเทศได้ แต่ถึงอย่างนั้นทุกอย่างก็เป็นดั่งใจหวังไปเสียทั้งหมดไม่ได้ จางฮารี ตกรอบในการแข่งขันยิงธนู ซึ่งนั่นทำให้ความหวังและอนาคตในการเข้าเรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัยของเธอต้องดับลง
มิหนำซ้ำโค้ชของทีมยังวิพากวิจารณ์เธอต่อหน้าเพื่อนร่วมทีมอย่างดุเดือด ความกดดันระดับมหาศาลนี้สามารถส่งผลให้ชีวิตเด็กมอปลายคนหนึ่งรู้สึกสิ้นหวังและคิดว่าตัวเองไร้ประโยชน์ที่จะอยู่บนโลกนี้ต่อไปได้
จางฮารีกลับมาที่โรงเรียนพร้อมกับความรู้สึกสิ้นหวังอย่างสุดๆ แต่เมื่อพบว่าโรงเรียนต้องเผชิญวิกฤตปัญหาซอมบี้ระบาด ด้วยสัญชาติญาณและหัวอกคนเป็นพี่คนโตของบ้าน จางฮารีต้องออกตามหาน้องชายอย่างสุดชีวิต ซึ่งเธอได้ใช้ทักษะการยิงธนูเพื่อปกป้องคนมากมาย ช่วยให้พวกเขาหนีเอาชีวิตรอดต่อไปได้ และสิ่งที่เธอแสดงออกมานี้ยิ่งใหญ่แถมยังมีค่ามากกว่าการคว้าเหรียญทองในการคัดเลือกนักกีฬาเสียอีก
แหล่งบุลลี่ชั้นดีที่ชื่อว่า ‘โรงเรียน’
ปัญหาการบุลลี่เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นกับโรงเรียนทั่วโลก ซีรี่ย์ปูเรื่องตั้งแต่ต้นถึงการใช้ความรุนแรงในโรงเรียน กลุ่มนักเรียนที่รวมกลุ่มกันขึ้นมาเพื่อข่มขู่รังแกเด็กคนอื่นที่อ่อนแอกว่า เชื่อมโยงถึงระบบการศึกษาของเกาหลีที่มีการแข่งขันสูง ทำให้เด็กที่เรียนอยู่ในระดับพอใช้หรือไม่ได้คะแนนอันดับต้นๆตั้งกลุ่มขึ้นเพื่อบุลลี่เด็กที่ได้คะแนนดีกว่า ทั้งการทำร้ายร่างกาย พูดจาเสียดสีกระทบจิตใจ หรือแม้กระทั่งการพยายามกุเรื่องร้ายของอีกฝ่ายขึ้นและเผยแพร่ในโซเชียลมีเดียเพื่อพยายามกลบปมในใจของตัวเอง
จากข้อมูลอ้างอิงโดย Statista ในปี 2018 เกาหลีใต้จัดเป็นประเทศท้ายๆที่มีความตระหนักถึงไซเบอร์บุลลี่ นอกจากนี้เรื่องฐานะยังเป็นสิ่งที่เด็กนักเรียนหยิบมาใช้เพื่อแบ่งแย่งกลุ่มกันเองอีกด้วย
ในซีรี่ย์ All of Us Are Dead เองก็ตีแผ่จุดนี้อย่างหลากหลายและเห็นได้ชัดจากฉากที่ กยอง-ซู เด็กนักเรียนที่ทางบ้านยังได้รับสวัสดิการจากภาครัฐอยู่เนื่องจากมีรายได้ไม่สูงมากถูกนา-ยอน เพื่อนร่วมชั้นพูดจาถากถางเรื่องเหม็นกลิ่นคนจนอยู่เสมอ แถมเพื่อนร่วมห้องยังหัวเราะตามกันๆให้กับมุกตลกร้ายนี้ เพราะชีวิตม.6 เป็นนรกที่โหดร้ายกว่าการต้องฝูงซอมบี้
นอกจากเด็กนักเรียนในเกาหลีใต้จะเผชิญความกดดันจากโรงเรียน ทั้งเรื่องเพื่อน การถูกบุลลี่ และผลการเรียนแล้ว สิ่งที่เด็กๆยังต้องเผชิญคือความคาดหวังจากพ่อแม่ในเรื่องของ‘ความสำเร็จในการศึกษา’ ซึ่งจุดหมายของการเรียนที่พ่อแม่คาดหวัง คือ ต้องสอบเข้าระดับมหาวิทยาลัยให้ได้
จากข้อมูลขององค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (Organisation for Economic Co-operation and Development: OECD) พ่อแม่ชาวเกาหลีใต้เกือบร้อยละ 90 คาดหวังว่าลูกจะต้องเรียนจบมหาวิทยาลัยซึ่งหากเทียบกับหลายๆประเทศรอบโลกแล้วถือเป็นค่าเฉลี่ยที่สูงมากๆ จนสร้างความเครียดให้กับเด็กนักเรียน ทำให้เด็กส่วนใหญ่แทบไม่มีเวลาพักผ่อนหรือตามหาสิ่งที่ตัวเองชอบเลย
ในซีรี่ย์ยังแสดงให้เห็นถึงตัวละครที่คิดว่าหากเธอสามารถเอาตัวรอดจากฝูงซอมบี้ไปได้ ชีวิตหลังจากนี้เธอต้องทำอย่างไรจึงจะสามารถสอบเข้ามหาวิทยาลัยได้ทั้งที่มีความรู้เท่าหางอึ่ง
“พวกเธอต้องอยู่รอดให้ถึงปีหน้า แล้วบอกฉันด้วยว่าซอมบี้กับการอยู่ ม.6 อะไรแย่กว่ากัน”
ประโยคนี้ของตัวละครแสดงให้เห็นถึงวิถีชีวิตเด็กนักเรียนชั้นม.6 ของเกาหลี ว่าเครียดและหมกหมุ่นกับการสอบเข้ามหาวิทยาลัยมากแค่ไหน
นัม-รา ตัวละครสาวที่ครองใจใครหลายคนจากซีรี่ย์เรื่องนี้ เป็นตัวละครที่แสดงถึงเด็กที่มีผลการเรียนติดท็อปเป็นอันดับ 1 ของโรงเรียนอยู่เสมอ แต่กลับกันเมื่อในโรงเรียนเกิดเหตุการณ์ซอมบี้ระบาด นัม-รา กลับยังเดินใส่หูฟังและอ่านหนังสือโดยไม่ได้มีความตระหนักถึงเหตุการณ์รอบตัวที่เกิดขึ้น แต่ในขณะที่ตัวละครอย่าง อน-โจ เพื่อนร่วมห้องที่ผลการเรียนรั้งท้ายอยู่เสมอกลับพยายามทำทุกวิธีทางเพื่อหาทางรอดให้ตัวเองและเพื่อนๆ
All of Us Are Dead เล่นกับประเด็นนี้ได้อย่างน่าสนใจ เมื่อทักษะการเอาชีวิตรอดของเด็กนักเรียนไม่ได้ขึ้นอยู่กับแค่ผลการเรียน หรืออิงแค่ในตำราเท่านั้น คนที่ได้ผลการเรียนดีมาตลอดใช่ว่าจะสามารถเอาตัวรอดได้เมื่อเกิดสถานการณ์ขับขัน ในทางกลับกันเด็กหลังห้องที่ไม่เคยมีใครสนใจอาจเป็นคนที่มีทักษะเอาตัวรอดในสังคมได้อย่างน่าทึ่งก็ได้
การบริหารที่ล้มเหลวจากผู้ใหญ่ กองทัพ และตำรวจ
ในปี 2014 ‘เรือเซวอลอับปาง’ เหตุการณ์ที่ทำให้คนทั้งประเทศเกาหลีลุกฮือมากที่สุด และเรียกความสนใจได้จากทั่วโลก ที่ทำให้มีผู้เสียชีวิต 304 ราย และเกือบทั้งหมดเป็นเด็กนักเรียนชั้นมัธยมปลาย ซึ่งการทำงานของรัฐบาลในยุคนั้นก็ตกเป็นที่วิพากวิจารณ์เป็นอย่างมากว่าให้ความช่วยเหลือไม่ทันท่วงที ส่วนคนที่หนีรอดเป็นคนแรกๆดันคือกัปตันเรือ ที่เป็นผู้ใหญ่และควรมีวุฒิภาวะมากกว่าแต่กลับทิ้งผู้โดยสารที่เป็นเด็กนักเรียนไว้ข้างหลัง
All of Us Are Dead ใช้ความหวังของเด็กนักเรียนมาเป็นตัวดำเนินเรื่องที่สำคัญ ความหวังที่คิดว่าจะมีผู้ใหญ่สักคนเข้ามาช่วย ความหวังที่คิดว่าตำรวจหรือกองทัพจะหยิบยื่นความช่วยเหลือเข้ามาได้ทันเวลา แต่เด็กๆก็ต้องเผชิญกับความผิดหวังซ้ำๆเมื่อคนที่มีอำนาจในการบริหารประเทศกลับเลือกที่จะทอดทิ้งพวกเขา ‘กลุ่มคนที่ได้ชื่อว่าเป็นความหวังของประเทศ’
ในขณะที่ครูบางส่วนในโรงเรียนมีความพยายามจะช่วยอพยพและช่วยเหลือเด็กนักเรียน กลับต้องรอคำสั่งอนุมัติจากผู้อำนวยการโรงเรียน อันเนื่องมาจากความกังวลว่าโรงเรียนจะเสียชื่อเสียง ซึ่งหากมีคำสั่งอนุมัติตั้งแต่เนิ่นๆ เหตุการณ์ดังกล่าวอาจไม่ลุกลามบานปลายได้ขนาดนี้
“เพราะขั้นตอนพวกนั้น ทำให้มีหลายครั้งที่เราช่วยคนไว้ไม่ทัน”
คุณพ่อของอน-โจ พนักงานดับเพลิงที่พูดถึงประโยคนี้ได้เปี่ยมไปด้วยความเศร้า ที่ตัวเขาเองก็ไม่สามารถช่วยเหลือเหยื่อผู้เคราะห์ร้ายได้อย่างอิสระ เพราะได้รับคำสั่งให้ดูแลกลุ่มคนที่มีอภิสิทธิ์เหนือชาวบ้านชาวช่องอย่าง ‘ส.ส.’ ที่เรียกได้ว่าเป็นระดับ VIP ซึ่งแม้ภารกิจดูแลคนระดับ VIP จะจบสิ้นลง แต่คุณพ่อของอน-โจก็ยังไม่สามารถไปช่วยลูกสาวของเขาได้ อันเนื่องมาจากกฎระเบียบและขั้นตอนมากมาย จนสุดท้ายเขาต้องยอมตกเป็น ‘ผู้กระทำผิด’ เพียงแค่ฝ่าฝืนคำสั่งเพราะอยากไปช่วยลูกสาวเท่านั้น ซึ่งเหตุการณ์ต่างๆที่ All of Us Are Dead เลือกที่จะถ่ายทอดออกมา สะท้อนจากเหตุการณ์จริงได้เจ็บแสบเป็นอย่างดี
เมื่อเด็กคือความหวัง ผู้ใหญ่คือความรู้ เราให้ค่าอะไรมากกว่ากัน?
“บางประเทศจะรู้สึกเศร้ายิ่งกว่า เวลาที่ผู้ใหญ่ตาย บางประเทศจะเศร้าที่เด็กตายยิ่งกว่า คิดว่าเกาหลีเป็นประเทศแบบไหน?” - ประโยคตราตรึงหัวใจใครหลายๆคนที่ถูกถ่ายทอดออกมาโดยนัมรา
“การที่เด็กตายแปลว่าความหวังหายไป ส่วนการที่ผู้ใหญ่ตายแปลว่าความรู้หายไป ความหวัง และความรู้ เราให้คุณค่าอะไรมากกว่ากัน”
ด้วยวิกฤตต่างๆที่เกิดขึ้นในซีรี่ย์ All of Us Are Dead ยิ่งวันเวลาผ่านพ้นไปโดยปราศจากความช่วยเหลือ ความหวังของเด็กนักเรียนที่มีต่อผู้ใหญ่เริ่มมีลดน้อยถอยลงไปเรื่อยๆ และสุดท้ายคนที่มาช่วยจริงๆกลับเป็นเพียงพ่อแม่ของพวกเขา บุคคลที่ไร้ซึ่งอาวุธใดๆในการต่อกรกับซอมบี้ และยอมเอาชีวิตเข้าแลกเพียงเพื่อให้ลูกของตัวเองปลอดภัย สิ่งนี้ยิ่งทำให้ความศรัทธาในภาครัฐและผู้มีอำนาจของประเทศลดน้อยลง
ท้ายที่สุดเมื่อตัวละครบางส่วนรอดชีวิต สิ่งที่พวกเขาเรียกร้องคือการขอให้ลงโทษผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง และพวกเขาจะไม่ขอให้ผู้ใหญ่ช่วยอะไรอีกแล้ว
All of Us Are Dead ถือเป็นซีรี่ย์เรื่องหนึ่งที่สะท้อนปัญหาสังคมได้เป็นอย่างดี โดยเลือกใช้วิธีถ่าทอดผ่านการแพร่ระบาดของไวรัสที่ทำให้คนกลายเป็นซอมบี้ นอกจากนี้ยังถือเป็นกระบอกเสียงให้กับคนทุกช่วงวัย ว่าสิ่งที่สามารถทำได้หรือสิ่งที่ควรทำมีอะไรบ้าง และหากผู้ใหญ่เลือกที่จะทำสิ่งที่ไม่สมควร เด็กๆก็พร้อมจะสู้และทำทุกวิธีทางเพื่อยืนหยัดถึงความถูกต้องที่พวกเขาควรได้รับ
--------------------
อ้างอิง