svasdssvasds
เนชั่นทีวี

ORIGINAL

ย้อนรอยความสัมพันธ์ไทย-ซาอุฯ(1) รอยแตกร้าวจากคดีดังข้ามเวลา

28 มกราคม 2565
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

หลังรอคอยมานานหลายสิบปี ในที่สุดความสัมพันธ์ไทย-ซาอุก็กลับมายิ้มได้อีกครั้ง กับการเยือนของนายกรัฐมนตรี แต่หลายท่านอาจสงสัยว่าเหตุใดรอยแตกร้าวจึงบานปลายมายาวนาน วันนี้เราจึงพาไปย้อนชมเรื่องที่เกิดในวันวาน และคดีความที่ยังเป็นปริศนาจนปัจจุบัน

Highlights

  • ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับซาอุดีอาระเบียกลับมายิ้มได้อีกครั้ง หลังการเยือนของนายกรัฐมนตรี ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะพระราชอาคันตุกะของมกุฎราชกุมาร มุฮัมหมัด บิน ซัลมาน บิน อับดุลอะซีซ อัลซะอูด 
  • หนึ่งในประเด็นที่ต้องมีผู้ตั้งคำถามคือคดี เพชรซาอุดีอาระเบีย แต่นั่นไม่ใช่คดีเดียวที่เกิดขึ้น ชนวนความขัดแย้งยังมาจากอีกหลายสาเหตุที่เกิดขึ้นในเวลาใกล้เคียงกัน
  • ปมขัดแย้งสำคัญที่สุดคือคดีอุ้มหาย  โมฮัมหมัด อัลรูไวลี่ นักธุรกิจชาวซาอุดีอาระเบียที่ถือเป็นสมาชิกในราชวงศ์ ทำให้เกิดความแคลงใจจนกลายเป็นจุดแตกหักสำคัญ
  • ทางการไทยเองพยายามหาทางคลี่คลายคดีนี้มาตลอด จนสามารถสืบได้ว่า พล.ต.ท.สมคิด บุญถนอม อดีต ผบช.ภ.5 หัวหน้าทีมสอบสวนมีส่วนเกี่ยวข้อง
  • แต่สุดท้ายหลังยืดเยื้อยาวนานหลายสิบปี ผลลัพธ์ที่ได้กลับว่างเปล่าเมื่อไม่สามารถดำเนินคดีได้จากหลักฐานที่ขาดน้ำหนัก เช่นเดียวกับเพชรซาอุดีอาระเบียบางส่วนที่ไม่สามารถหาของจริงไปคืนได้จนถึงปัจจุบัน

--------------------
          ข่าวการเยือนของนายกรัฐมนตรี ประยุทธ์ จันทร์โอชา เดินทางไปยังซาอุดีอาระเบีย ในฐานะพระราชอาคันตุกะของเจ้าชาย มุฮัมหมัด บิน ซัลมาน บิน อับดุลอะซีซ อัลซะอูด มกุฎราชกุมารซาอุดีอาระเบีย ถือเป็นข่าวดีครั้งสำคัญในการฟื้นความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศ หลังห่างหายความสัมพันธ์เชิงการทูตยาวนานกว่า 32 ปี

 

          ถือเป็นพัฒนาการก้าวสำคัญอันน่าสนใจอีกหนึ่งครั้งภายหลังความพยายามอันยาวนาน และอาจเป็นอีกหนึ่งผลงานชิ้นสำคัญจากฝั่งรัฐบาล น่าสนใจว่าการเดินทางเยือนในครั้งนี้จะนำพาความเปลี่ยนแปลงมาในรูปแบบไหนต่อประเทศไทย ถือเป็นเรื่องที่เราต้องติดตามกันต่อไป

การเยือนครั้งแรกของผู้นำประเทศหลังความสัมพันธ์ไทย-ซาอุฯสั่นคลอน

การตัดสัมพันธ์ไทย-ซาอุฯ กับคดีดังข้ามทศวรรษ
          หลายคนคงเคยได้ยินประเด็นเรื่องเพชรซาอุดีอาระเบียกันมาบ้าง หนึ่งในสาเหตุทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างไทยและซาอุดีอาระเบียระหองระแหงกัน แต่นั่นไม่ใช่ประเด็นปัญหาเดียวที่เกิดขึ้นในช่วงเวลานั้น ยังมีอีกหลายปัญหาซ้อนทับขมวดเข้าหากันจนเป็นรอยแตกร้าวระหว่างสองประเทศมายาวนาน

 

          ชนวนความขัดแย้งระหว่างสองประเทศเริ่มต้นนับแต่ 4 มกราคม 2532 จากเหตุเจ้าหน้าที่การทูตซาอุดีอาระเบียถูกลอบสังหารในกรุงเทพฯ นับเป็นเหตุสะเทือนขวัญทางการทูต อีกทั้งเจ้าหน้าที่ของประเทศไทยไม่สามารถสืบสวนจับกุมตัวผู้ก่อเหตุมาดำเนินคดีได้ แม้ไม่ได้จำกัดสถานที่เกิดขึ้นแค่ในประเทศไทย แต่ก็นับเป็นรอยร้าวแรกระหว่างสองชาติ

 

           ตามมาด้วยการโจรกรรมเพชรครั้งใหญ่จากฝีมือของแรงงานไทยอย่างนาย เกรียงไกร เตชะโม่ง จากพระราชวังของเจ้าชายไฟซาล บิน ฟาฮัด ขณะที่พระองค์ทรงเสด็จประทับพักผ่อนในต่างประเทศช่วงเดือนสิงหาคม 2532 เป็นอีกหนึ่งข่าวใหญ่บนหน้าหนังสือพิมพ์ทั้งของไทยและทั่วโลกในเวลานั้น

 

           จากการรายงานข่าวระบุว่าทรัพย์สินที่ถูกขโมยออกมามีมากนับร้อยชิ้น น้ำหนักรวมกันกว่า 90 กิโลกรัม ในจำนวนนั้นรวมถึง บลูไดมอนด์ อัญมณีที่เลื่องลือว่าเป็นเพชรล้ำค่าประจำราชวงศ์ซาอุดีอาระเบีย และเป็นหนึ่งในเพชรที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก จึงกลายเป็นประเด็นร้อนระหว่างประเทศขึ้นมาทันที

 

          นั่นทำให้เกิดการตั้งทีมสืบสวนขึ้นมาอย่างรวดเร็วเพื่อตามจับตัวคนร้าย โดยหัวหน้าชุดสืบสวนสอบสวนในตอนนั้นคือ พล.ต.ท.ชลอ เกิดเทศ ซึ่งสามารถจับกุมนายเกรียงไกรผู้ก่อเหตุได้สำเร็จจนถูกดำเนินคดีในข้อหาลักทรัพย์ เมื่อคนร้ายให้การรับสารภาพศาลจึงตัดสินให้จำคุก 3 ปี

          ปัญหากลับมาเกิดขึ้นตรงนี้เองเมื่อจับกุมตัวคนร้ายและตามรอยทรัพย์สินที่ถูกขโมย เมื่อถึงเวลาส่งคืนเครื่องเพชร กลับพบว่ากว่าครึ่งเป็นของปลอม รวมถึงบลูไดมอนด์ที่เป็นเพชรเม็ดเอกเองก็ยังไม่มีการค้นพบ จึงยิ่งกลายเป็นชนวนเหตุเพิ่มความบาดหมางระหว่างประเทศให้ยิ่งเข้มข้น

 

          ซ้ำร้ายในวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2533 นักการทูตซาอุดีอาระเบีย 3 คน ถูกฆาตกรรมในประเทศไทยอีกครั้งจนกลายเป็นข่าวดังไปทั่วโลก นอกจากนั้นยังมีข่าวการถูกอุ้มหายปริศนาของนาย โมฮัมหมัด อัลรูไวลี่ นักธุรกิจชาวซาอุดีอาระเบียที่มีศักดิ์เป็นพระญาติของกษัตริย์ไฟซาล และกลายเป็นฟางเส้นสุดท้ายทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างสองชาติห่างเหินกันไปในที่สุด

 

          การเสียชีวิตของอัลรูไวรี่ถือเป็นชนวนเหตุครั้งสำคัญให้ทางซาอุดีอาระเบียตัดสัมพันธ์กับไทย เนื่องจากเราไม่สามารถมอบความยุติธรรมแก่ผู้ตายหรือนำตัวคนผิดมารับโทษได้ แม้มีความพยายามสอบสวนจนสาวไปถึง พล.ต.ท.สมคิด บุญถนอม อดีต ผบช.ภ.5 หัวหน้าทีมสอบสวนในขณะนั้นมีส่วนเกี่ยวข้องในการเสียชีวิตก็ตาม

 

          เช่นเดียวกับกรณีเครื่องเพชรเองที่มีการลักพาตัวภรรยาและลูกของ สันติ ศรีธนะขัณฑ์ พ่อค้าเพชรผู้รับซื้อเพชรจากนายเกรียงไกร จากความพยายามในการสอบปากคำนำไปสู่การฆ่าปิดปากรวมถึงจัดฉากให้เป็นอุบัติเหตุ สุดท้ายผู้ก่อเหตุอย่าง พล.ต.ท. ชลอ เกิดเทศ ถูกตัดสินประหารชีวิต ก่อนได้รับการปล่อยตัวออกมาหลังติดคุกยาวนาน 19 ปี

 

          เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นสร้างคำถามให้แก่กระบวนการยุติธรรมของไทยที่ไม่สามารถนำตัวคนผิดมารับโทษ ตั้งแต่กรณีเครื่องเพชรจำนวนมากที่ยังไม่ค้นพบ, คดีฆาตกรรมนักการทูตที่ไม่สามารถจับกุมตัวคนร้าย หรือความคลุมเครือในกรณีอุ้มหายอัลรูไวลี่ จึงไม่น่าแปลกเลยที่รอยร้าวเหล่านี้ทำให้ซาอุดีอาระเบียเรียกตัวเอกอัครราชทูตกลับ ลดความสัมพันธ์ที่มีต่อประเทศไทยไปยาวนานหลายสิบปี

โมฮัมหมัด อัลรูไวลี่ นักธุรกิจชาวซาอุดีอาระเบียที่ถูกอุ้มหาย ต้นตอความบาดหมางทำให้ไทยไม่สามารถสานสัมพันธ์กับซาอุดีอาระเบีย
          ใช่ว่าทางการไทยจะไม่พยายามแก้ไขเรื่องที่เกิดขึ้น ในช่วงก่อนลดความสัมพันธ์ แรงงานไทยเคยทำงานในซาอุดีอาระเบียเป็นจำนวนกว่า 2 แสนราย สร้างรายได้แก่ประเทศอย่างมหาศาล อีกทั้งข้อตกลงการค้าอีกมากมาย ทำให้การฟื้นความสัมพันธ์กับซาอุดีอาระเบียเป็นพันธกิจยิ่งใหญ่ของกระทรวงต่างประเทศเสมอมา

 

          แน่นอนถ้าคิดกลับมาสานสัมพันธ์กับซาอุดีอาระเบียทางการไทยต้องให้ความกระจ่างคดีที่ตกค้าง ในบรรดาทั้งสามเหตุการณ์ตคดีที่สร้างความไม่พอใจให้แก่ซาอุดีอาระเบียมากที่สุด ไม่ใช่เคสเพชรซาอุดีอาระเบียที่โด่งดังแต่เป็นการอุ้มฆ่าอัลรูไวลี่ที่เราจำเป็นต้องสะสางก่อนเป็นอันดับแรก

 

          เนื่องจากคดีทำร้ายหรือฆาตกรรมนักการทูต ไม่ได้มีแค่ในไทยแต่เกิดขึ้นทั่วโลก เจ้าหน้าที่การทูตซาอุดีอาระเบียถูกทำร้ายจากชนวนเหตุความขัดแย้งกับอิหร่านในปี 2530 การเข้าปราบปรามผู้ชุมนุมในพิธีฮัจญ์ จนชาวอิหร่านเสียชีวิตไปกว่า 200 คนและบาดเจ็บอีกจำนวนมาก นั่นทำให้เกิดการใช้ความรุนแรงต่อบุคลากรของแต่ละฝ่ายซึ่งเกิดขึ้นในหลายประเทศ จึงคาดว่าทางซาอุดีอาระเบียแม้ติดใจแต่ไม่ได้คิดเอาความมากนักในเรื่องนี้

 

          ส่วนกรณีโจรกรรมเครื่องเพชรจากพระราชวัง แม้เป็นกรณีดังแต่ผู้ลงมือกระทำในลักษณะปัจเจกบุคคลโดยรัฐบาลไม่มีส่วนรู้เห็น อีกทั้งเหตุการณ์นี้ตอกย้ำความหละหลวมในการรักษาความปลอดภัยของพระราชวังซาอุดีอาระเบียเองด้วย ส่วนเลวร้ายคงเป็นการที่เราไม่สามารถส่งคืนเครื่องเพชรได้ครบถ้วนและมีของปลอมปะปนอยู่ในนั้นมากกว่า

 

          กรณีที่ประเด็นสูงสุดคือการอุ้มหายอัลรูไวลี่ที่เกิดจากฝีมือเจ้าหน้าที่ไทย เราไม่ได้สนใจประเด็นความขัดแย้งอิหร่าน-ซาอุดีอาระเบีย กลับพุ่งเป้าไปหาคนในประเทศแทน เมื่อมีการจับกุมตัวนายอัลรูไวลี่ไปสอบสวนนำไปสู่การเสียชีวิตอย่างเป็นปริศนานี่เองจึงเรื่องร้ายแรง นอกจากถือเป็นการจับแพะใส่ความคนของซาอุดีอาระเบียแล้วเรื่องยังซับซ้อนเมื่อเขาเป็นเชื้อพระวงศ์

 

          สำหรับชาวซาอุดีอาระเบียพูดให้ถูกคือแนวคิดของชนเผ่าทะเลทรายในแดนอาหรับ การตายของสมาชิกในครอบครัวหรือตระกูลถือเป็นเรื่องใหญ่ โดยเฉพาะกับตระกูลของผู้นำประเทศใหญ่อย่างซาอุดีอาระเบียแล้ว พวกเขาต้องยึดถือกฎเคร่งครัดเพื่อรักษาเกียรติและความสูงศักดิ์เพื่อให้ผู้คนเคารพนับถือ พวกเขาจึงยึดถือการตายของอัลรูไวลี่เป็นอย่างมาก

 

          ตามธรรมเนียมปฏิบัติของพวกเขาหากมีสมาชิกในครอบครัวถูกทำร้ายจนถึงแก่ความตายต้องมีการชดใช้ด้วยชีวิต ความขัดแย้งส่วนนี้สำหรับพวกเขาอาจกลายเป็นชนวนสงครามนองเลือดระหว่างเผ่า การหายตัวไปเป็นปริศนาจึงสร้างความบาดหมางไม่ใช่แค่กับครอบครัวผู้เสียหาย แต่เป็นในระดับตระกูลหรืออาจจะทั้งประเทศเลยทีเดียว

 

          นี่ยังไม่รวมปัญหาภายในครอบครัวจากการไม่สามารถยืนยันการเสียชีวิตของนายอัลรูไวลี่ได้ การไม่สามารถหาศพผู้เสียชีวิตส่งคืนไปหาญาติผู้ตาย หรือแม้แต่หลักศาสนาอิสลามที่จำเป็นต้องให้ผู้เสียชีวิตต้องได้รับการฝังภายใน 24 ชั่วโมงหลังการเสียชีวิตที่ถือเป็นธรรมเนียมปฏิบัติสำคัญซึ่งไม่สามารถกระทำได้ทั้งสิ้น

 

          ดังนั้นหากคิดสานสัมพันธ์กับซาอุดีอาระเบียอีกครั้ง สิ่งที่ต้องทำคือการให้ความกระจ่างแก่คดีอัลรูไวลี่เสียก่อน

พล.ต.ท.สมคิด บุญถนอม ผู้ต้องสงสัยในคดีอุ้มหายอัลรูไวลี่ ความพยายามสานสัมพันธ์ – ย้อนรอยคดีอัลรูไวลี่ที่ไปไม่ถึงฝัน
          คดีอุ้มหายนายอัลรูไวลี่มีความพยายามในการดำเนินคดหลายครั้งนับแต่ปี 2533 เป็นต้นมาแต่ก็ไม่ได้ผลตอบรับที่ดีนัก รวมถึงปี 2535 ที่มีความพยายามในการรื้อฟื้นคดีขึ้นมาใหม่ ผลการสืบสวนสาวไปถึงตัว พล.ต.ท.สมคิด บุญถนอม มีส่วนรู้เห็นเกี่ยวกับการตายของนายอัลรูไวลี่ เกิดจากการจับกุมนำตัวไปสอบสวนแต่เกิดผิดพลาดจึงเสียชีวิต และมีการทำลายหลักฐานที่จังหวัดชลบุรี แต่สุดท้ายข้อหานี้ถูกยกฟ้องด้วยเหตุผลพยานหลักฐานไม่เพียงพอ

 

          ความพยามอีกครั้งเกิดขึ้นในปี 2552 จากฝีมือ กรมสอบสวนคดีพิเศษ(DSI) รื้อฟื้นคดีนี้กลับมาปัดฝุ่นและเริ่มการสืบสวนอีกครั้ง มีการเรียกตัวพล.ต.ท.สมคิดกับพวกอีก 4 คน มารับทราบข้อกล่าวหา ร่วมกันฆ่าผู้อื่น ปิดบังซ่อนเร้นทำลายศพ กักขังหน่วงเหนี่ยว อาศัยหลักฐานจากแหวนรูปพระจันทร์เสี้ยวที่เป็นแหวนประจำตระกูลอัลรูไวลี่เป็นหลักฐานมัดตัว

 

          การรื้อคดีครั้งนี้ถูกโจมตีว่ามีส่วนเกี่ยวพันกับประเด็นทางการเมือง จากการที่พล.ต.ท.สมคิดกำลังจะขึ้นเป็นผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ กลายเป็นประเด็นร้อนจนต้องสละตำแหน่งเพื่อหลีกเลี่ยงข้อครหา อีกทั้งยังมีข้อขัดแย้งหลายอย่างตั้งแต่พยานผู้ครอบครองแหวนหลบหนีไปสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และหลักฐานจากแหวนวงเดียวมีน้ำหนักน้อยเกินไป

 

          แต่ระหว่างการพิจารณาคดีทางการซาอุดีอาระเบียเองก็มีความคาดหวังรวมถึงเคลือบแคลงในบางประเด็น เช่น การเปลี่ยนตัวผู้พิพากษากลางคันก่อนศาลชั้นต้นตัดสินคดีไม่กี่เดือน แต่ทางครอบครัวผู้เสียชีวิตกลับไม่ได้ยืนยันหรือให้น้ำหนักกับแหวนมากนัก ทำให้การตัดสินในศาลชั้นต้นจบลงด้วยการยกฟ้อง แต่ก็มีความพยายามยื่นอุทธรณ์อย่างต่อเนื่อง

 

          ท้ายที่สุดในปี 2562 ศาลอาญายกฟ้องพล.ต.ท.สมคิดในชั้นศาลฎีกา  รวมถึงพรรคพวกทั้งหมดในข้อกล่าวหาคดีอุ้มฆ่านักธุรกิจชาวซาอุดีอาระเบีย จากพยานหลักฐานไม่เพียงพอ นับเป็นการสิ้นสุดคดีดังข้ามทศวรรษที่ไม่ได้สร้างความพอใจให้แก่ทางการซาอุดีอาระเบีย ดูเป็นการดับความหวังในการสานความสัมพันธ์ให้กลับมาดังเดิม

 

          ไม่มีใครคาดคิดว่าโอกาสจะกลับมาอีกครั้งเร็วกว่าที่คาดจากการขึ้นสู่อำนาจของขั้วใหม่ที่พลิกโฉมซาอุดีอาระเบียไปโดยสิ้นเชิง

--------------------
ที่มา

logoline