svasdssvasds
เนชั่นทีวี

ORIGINAL

สัญญาณความแปรปรวนจากธรรมชาติ วิกฤตการณ์ที่มนุษยชาติเริ่มเผชิญ

28 มกราคม 2565
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

เป็นไปได้ไหมว่าสัญญาณภัยธรรมชาติที่เริ่มเกิดขึ้นในหลายประเทศอาจเปรียบเสมือนโลกที่กำลังค่อยๆรีสตาร์ทตัวเองใหม่ ใครอ่อนแอก็แพ้ไป แล้วเราจะปล่อยให้โลกวิกฤตแบบนี้ต่อไปอย่างนั้นหรือ?

          เราจะเห็นได้ชัดเลยว่าในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา วิกฤตสภาพอากาศกำลังเกิดความแปรปรวนขึ้นทั่วโลกและไม่ใช่เรื่องไกลตัวเราอีกต่อไป ซึ่งความแปรปรวนดังกล่าวสืบเนื่องมาจากภาวะโลกร้อนและการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของสภาพอากาศ (Climate Change) ซึ่งรายงานจาก Intergovernmental Panel on Climate Change (IPCC) หรือ คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศก็ได้ออกมายืนยันว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศบนโลกในครั้งนี้ ล้วนเป็นผลจากกิจกรรมของมนุษย์ทั้งสิ้น

หิมะในรอบ 42 ปีที่ซาฮารา หิมะในรอบ 42 ปีที่ซาฮารา
          หากจะพูดถึงทะเลทรายที่ใหญ่ที่สุดในโลกและกว้างสุดลูกหูลูกตา ภาพจำของทะเลทรายซาฮาราย่อมผุดขึ้นมาในหัวของทุกคนอย่างแน่นอน ทะเลทรายซาฮารา เป็นทะเลทรายร้อนที่ใหญ่ที่สุดในโลก มีพื้นที่มากกว่า 8.6 ล้านตารางกิโลเมตร และอุณหภูมิปกติของทะเลทรายซาฮาราเฉลี่ยแล้วอยู่ที่ราวๆ 58 องศาเซลเซียสในฤดูร้อน
 

          แต่ภาพที่คุ้นเคยมาหลายทศวรรษเหล่านั้นกำลังจะค่อยๆถูกบิดเบือนไป เมื่อขั้วอากาศตรงกันข้ามดันมาเคาะประตูถึงหน้าบ้าน ‘หิมะอันหนาวเหน็บปกคลุมซาฮาราในรอบ 42 ปี’ อันเป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ

 

          โดยปกติแล้วแม้ช่วงค่ำคืนในทะเลทรายจะมีสภาพอากาศที่หนาวเย็นแบบสุดๆ แต่การเกิดหรือพบหิมะนั้นเป็นไปได้ยาก เพราะมีปริมาณน้ำไม่เพียงพอต่อการระเหยและจับตัว ซึ่งการเกิดปรากฏการณ์ธรรมชาติในครั้งนี้อาจถือได้ว่าเป็นสิ่งที่อันตรายและน่าจับตามองเป็นที่สุด แต่นักวิทยาศาสตร์บางกลุ่มกลับให้ความคิดเห็นในอีกแง่มุม ว่าทะเลทรายซาฮาราอาจกลับมาเขียวชอุ่มอีกครั้งในอีก 15,000 ปี

 

          ในช่วง 42 ปีที่ผ่านมา เหตุการณ์หิมะตกเคยเกิดขึ้นที่นี่ประมาณ 5 ครั้ง คือในปีค.ศ. 1979, 2016, 2018, 2021 และ 2022 ซึ่งอาจสังเกตุเห็นได้ว่าความถี่เริ่มเกิดบ่อยมากขึ้น

คลื่นความร้อน (Heat wave) ทะลุสถิติที่สหรัฐฯ คลื่นความร้อน (Heat wave) ทะลุสถิติที่สหรัฐฯ
           กลางปีที่ 2021 ที่ผ่านมา แถบตะวันตกของประเทศแคนาดา และสหรัฐอเมริกา ต้องเผชิญกับสภาพภูมิอากาศที่ร้อนที่สุดตั้งแต่มีการบันทึกสถิติมา ซึ่งภูมิอากาศสุดร้อนระอุที่ว่า มาจาก ‘คลื่นความร้อน (Heatwave)’ ที่พาดผ่าน อากาศที่ร้อนขึ้นจากคลื่นความร้อนใช่ว่าจะไม่มีผลกระทบต่อการใช้ชีวิต โรงเรียนหลายแห่งในสหรัฐฯต้องแจ้งปิดการเรียนการสอน จุดบริการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ก็ต้องปิดด้วยเช่นกัน รวมถึงการแข่งขันรอบคัดเลือกของงานกีฬาโอลิมปิกก็ถูกเลื่อนออกไปด้วยเช่นกัน

 

          นักอุตุนิยมวิทยาอาวุโสของประเทศแคนาดา “เดวิด ฟิลลิปส์” ให้ความเห็นว่า แคนาดาเป็นประเทศที่หนาวเป็นอันดับต้นๆของโลก และมักปกคลุมไปด้วยหิมะเสมอ ตามปกติเหตุการณ์ธรรมชาติที่จะเกิดขึ้นมักจะเป็นปรากฏการณ์ ‘สแน็บเย็น’ หรืออุณหภูมิอากาศลดลงอย่างฉับพลัน และพายุหิมะ แต่อากาศที่แคนาดาตอนนี้ ร้อนและแห้งมากราวกับทะเลทราย ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ไม่ปกติเอาเสียมากๆ

 

          รัฐบริติชโคลัมเบีย ประเทศแคนาดา ยังทำสถิติอุณหภูมิสูงสุดถึง 46.6 องศาเซลเซียส สูงกว่าช่วงหน้าร้อนตามปกติ ทุบสถิติเดิมตั้งแต่เคยมีการบันทึกมาของประเทศ และนักพยากรณ์อากาศยังระบุว่า ท่ามกลางโลกที่กำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ (climate change) สถานการณ์จะแย่ลงกว่านี้
 

พายุทรายซัดถล่มจีนแผ่นดินใหญ่

พายุทรายซัดถล่มจีนแผ่นดินใหญ่
          เมื่อวันอาทิตย์ 25 กรกฎาคม ชาวจีนในนครตุนฮวง มณฑลกานซู่ ทางตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศจีน ต้องเผชิญกับพายุทรายที่มีขนาดมหึมาราวกับกำแพงยักษ์สูงเสียดฟ้าพัดถล่มปกคลุมทั่วทั้งเมืองจนบรรยากาศมืดฟ้ามัวดิน บดบังทัศนวิสัยในการขับขี่จนเหลือน้อยกว่า 5 เมตร เรียกได้ว่าแทบไม่เห็นรถที่อยู่ข้างหน้าเราเลยทีเดียว ซึ่งนับว่าส่งผลร้ายที่อันตรายต่อผู้ใช้รถใช้ถนนเป็นอย่างยิ่ง ไม่เพียงเท่านั้น พายุทรายที่พัดโหมกระหน่ำในแต่ละครั้งไม่ได้พัดพามาแค่ทรายหรือฝุ่นเท่านั้น แต่ยังหอบนำพาเชื้อโรคและไวรัสต่างๆที่ลอยฟุ้งในอากาศตามมาด้วย ซึ่งเป็นที่แน่นอนว่าส่งผลร้ายอันตรายต่อสุขภาพ

 

          ทางด้านนครตุนฮวงเอง แม้จะตั้งอยู่ในทะเลทรายโกบี ที่ขึ้นชื่อเรื่องสภาพอากาศสุดหฤโหด แต่โดยปกติแล้วในช่วงเวลาดังกล่าว (ฤดูร้อน ปลายเดือนกรกฎาคม) มักจะไม่เกิดพายุทราย พายุทรายมักจะเกิดขึ้นแค่เฉพาะในช่วงเดือนมีนาคมถึงพฤษภาคมเท่านั้น ทางด้านผู้เชี่ยวชาญระบุว่าสภาพอากาศแปรปรวนดังกล่าว สืบเนื่องมาจากภูมิอากาศร้อนและแห้งผิดปกติที่เกิดขึ้นกับโลก

ไฟป่าผลาญไซบีเรีย ไฟป่าผลาญไซบีเรีย 
          ไซบีเรีย หนึ่งในพื้นที่สุดหนาวเย็นในประเทศรัสเซีย ต้องเผชิญกับไฟป่าที่ผู้เชี่ยวชาญประมาณการว่ากินพื้นที่กว้างถึง 161,300 ตารางกิโลเมตร และอาจเป็นไฟป่าครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์โลกเท่าที่เคยมีการบันทึกมา แม้คนท้องถิ่นจะมองว่าไฟป่าในพื้นที่เป็นเรื่องธรรมดาที่เกิดขึ้นทุกปี แต่จากสถิติข้อมูลดาวเทียมบ่งชี้ว่า ไฟป่าไซบีเรียกำลังแผ่ขยายวงกว้างขึ้นอย่างมหาศาล และทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้นทุกขณะ โดยพื้นที่ซึ่งเกิดเพลิงไหม้ในเขตไซบีเรียปี 2021 ที่ผ่านมา มีขนาดใหญ่กว่าบริเวณที่เกิดไฟป่าทั่วโลกในขณะนั้นมารวมเข้าด้วยกันเสียอีก

 

          การเกิดไฟป่ารุนแรงในเขตอากาศหนาวจัดอย่างไซบีเรียเช่นนี้ สะท้อนถึงสถานการณ์ปัจจุบันของภาวะโลกร้อนที่ยิ่งเลวร้ายลงทุกที ตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา ประเทศรัสเซียมีอุณหภูมิที่เพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆเป็นสถิติ และนักวิทยาศาสตร์จำนวนมากยังระบุว่า เป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลกที่ไม่ปกติ 

 

          ไฟป่าผลาญไซบีเรียในครั้งนี้ มีความรุนแรงและกินพื้นที่เป็นบริเวณกว้าง และส่งผลให้สภาพภูมิอากาศบริเวณใกล้เคียงเกิดความวิปริตแปรปรวนด้วยเช่นกัน ซึ่งมีรายงานแล้วว่า ที่ยอดเขาของกรีนแลนด์ เกิดฝนตกลงมาแทนหิมะเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ ซึ่งอาจเป็นผลจากภาวะโลกร้อนและไฟป่าครั้งใหญ่ในไซบีเรียครั้งนี้ก็เป็นได้

ยุโรปอ่วม น้ำท่วมใหญ่  ยุโรปอ่วม น้ำท่วมใหญ่ 
          ช่วงกลางปี 2021 ที่ผ่านมา ในยุโรปเกิดน้ำท่วมใหญ่ที่เรียกได้ว่าแทบจะไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน โดยเป็นผลพวงสืบเนื่องมาจากฝนที่ตกลงมาถล่มอย่างหนัก พายุสุดรุนแรง จนทำให้แม่น้ำหลายสายเอ่อล้นทะลักและไหลท่วมอาคารบ้านเรือนแถมการสื่อสารยังถูกตัดขาด อุทกภัยใหญ่ครั้งนี้กินพื้นที่ลากยาวตั้งแต่ประเทศเยอรมนี เบลเยี่ยม สวิตเซอร์แลนด์ เนเธอร์แลนด์ และลักเซมเบิร์ก มีผู้สูญหายถึงอย่างน้อย 1,300 ราย และเสียชีวิตมากกว่า 100 ราย

 

          ด้านผู้นำชาติยุโรป ต่างกล่าวโทษว่าเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ดังกล่าวเกิดจากสภาพอากาศที่แปรปรวนอย่างรุนแรง ที่สืบเนื่องมาจากสภาพอากาศเปลี่ยนและภาวะโลกร้อน ส่วนทางด้านผู้เชี่ยวชาญก็ระบุเช่นเดียวกันว่าภาวะโลกร้อน ทำให้เกิดฝนตกหนักมากผิดปกติ ซึ่งถ้าหากนับตั้งแต่ยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม ในปัจจุบันอุณหภูมิของโลกอุ่นขึ้นราวๆ 1.2 องศาเซลเซียส  พายุลูกเห็บถล่มพะเยา
พายุลูกเห็บถล่มพะเยา
          บ้านเราเองก็มีเหตุการณ์วิกฤตชวนว้าวด้วยเช่นกัน ในช่วงเย็นวันที่ 20 มกราคม 2022 ที่ผ่านมา เกิดลมพัดกระโชกแรงพายุลูกเห็บตกที่อำเภอภูกามยาว จังหวัดพะเยา ส่งผลให้ลูกเห็บกระจายไปทั่วบริเวณ พร้อมเกิดหมอกปกคลุมขาวโพลนคล้าย สร้างความฮือฮาให้กับผู้พบเห็นเป็นอย่างมาก นับว่าเป็นปรากฏการณ์ที่ไม่น่าจะเกิดขึ้นช่วงฤดูหนาวที่มีฝนและลูกเห็บตก

 

          นอกจากนี้ผลพวงจากฝนและลูกเห็บยังทำให้สภาพอากาศลดลงอย่างฉับพลัน อุณหภูมิบริเวณนั้นลดลงเหลือเพียง 15-17 องศาฯเท่านั้น แถมยังส่งผลให้เสาไฟฟ้าหักโค่นร่วม 30 ต้น กระแสไฟฟ้าดับไปทั่วบริเวณ

 

          ความแปรปรวนและเลวร้ายของสภาพอากาศในช่วงปีที่ผ่านมาดูจะเริ่มเข้าสู่วิกฤตมากกว่าเดิม แต่นี่อาจเป็นแค่จุดเริ่มต้นที่ธรรมชาติได้ส่งสัญญาณเตือน หากในอนาคตอุณหภูมิโลกยังไม่มีวี่แววว่าจะลดลง เราอาจได้เห็นวิกฤตที่ย่ำแย่กว่าเดิม ความแปรปรวนที่เลวร้ายมากกว่านี้ และอาจส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตมากขึ้นกว่าเท่าตัว 

--------------------
อ้างอิง:

logoline