svasdssvasds
เนชั่นทีวี

ORIGINAL

AO Art Ball และเวอร์ชวล ทัวร์นาเมนต์ สู่โลกเมตาเวิร์สแบบ ออสเตรเลียน โอเพน

27 มกราคม 2565
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

เมื่อเมตาเวิร์สกลายเป็นเทรนด์ของทุกวงการ ออสเตรเลียน โอเพน จึงเป็นทัวร์นาเมนต์แกรนด์สแลมรายแรกที่อาสาบุกเบิก ด้วยการนำโลกเสมือนมาบรรจบกับโลกจริง ด้วยเทคโนโลยีบล็อกเชน และ NFT

Highlights

  • ออสเตรเลียน โอเพน หนึ่งในทัวร์นาเมนต์เทนนิสสำคัญของโลก ไม่หยุดพัฒนาตัวเอง ด้วยการก้าวเข้าสู่เทรนด์ เมตาเวิร์ส ผ่านเทคโนโลยีอย่างบล็อกเชน และ NFT
  • AO Art Ball คือครั้งแรกของการจับตลาด NFT ที่กำลังเฟื่องฟู ด้วยการเชื่อมโยงของสะสมดิจิทัลกับโลกเทนนิสที่จับต้องได้
  • การสร้างพื้นที่เสมือนของเมลเบิร์นพาร์ค บนแพลตฟอร์ม Decentraland คืออีกตัวอย่างในการเข้าหาผู้ชมทั่วโลกด้วยพลังของเทคโนโลยี โดยไม่มีข้อจำกัดเรื่องพรมแดนหรือปัญหาการกักตัว

--------------------

          คำว่า "เมตาเวิร์ส" กลายเป็นเทรนด์สำคัญของโลกในเวลาสั้น ๆ หลัง มาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก ซีอีโอและผู้ก่อตั้ง Facebook ประกาศวิสัยทัศน์และโรดแมป พร้อมเปลี่ยนชื่อบริษัทแม่ของโซเชียลมีเดียยักษ์ใหญ่เป็น Meta เมื่อหลายเดือนก่อน

 

          นับแต่นั้น เราก็ได้เห็นการขยับตัวของแต่ละอุตสาหกรรม ที่พยายามนำเทคโนโลยีใหม่ ๆ มาใช้ เพื่อสนับสนุนการก้าวสู่โลกเมตาเวิร์สในแบบของตัวเอง

 

          ไม่เว้นแม้กระทั่งวงการเทนนิส ที่ ออสเตรเลียน โอเพน ประกาศตัวเป็นทัวร์นาเมนต์แกรนด์สแลมรายการแรกที่พยายามสร้างประสบการณ์เมตาเวิร์สให้เกิดขึ้นควบคู่ไปกับการแข่งขัน

 

          ผ่านเทคโนโลยี NFT (Non Fungible Tokens) ด้วย AO Art Ball และทัวร์นาเมนต์โลกเสมือนบน Decentraland

 

"AO Art Ball NFTs"
(AO Art Ball ของสะสมบนโลกดิจิทัล ที่เชื่อมโยงกับเทนนิสในโลกจริง / ภาพจาก AO)

          NFT คือสินทรัพย์ดิจิทัลรูปแบบหนึ่ง ซึ่งมีเพียงชิ้นเดียวในโลก ไม่สามารถทำซ้ำหรือคัดลอกได้ ซึ่งประยุกต์ใช้งานได้หลากหลาย ตั้งแต่ของสะสม ไปจนถึงบัตรสมาชิกสำหรับคลับต่าง ๆ

 

          ข้อมูลจาก Bloomberg ระบุว่าเฉพาะในปี 2021 ตลาด NFT น่าจะมีมูลค่าในการซื้อขายเกินกว่า 40,000 ล้านดอลลาร์

 

          ขณะที่ OpenSea มาร์เก็ตเพลสซึ่งเปิดขึ้นเพื่อรองรับการซื้อขาย NFT โดยเฉพาะ ก็เติบโตอย่างรวดเร็ว และได้รับการประเมินว่ามีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 13,000 ล้านดอลลาร์ ในการระดมทุนครั้งล่าสุด หรือเติบโตขึ้นเกือบ 1,000% ในเวลาเพียงหกเดือน

          ทางผู้จัดออสเตรเลียน โอเพ่น ก็น่าจะเห็นความเป็นไปได้ที่รออยู่ในตลาดนี้ จึงร่วมมือกับ Run it Wild สตูดิโอผู้พัฒนาบล็อกเชน ซึ่งเป็นเทคโนโลยีเบื้องหลัง NFT และสกุลเงินดิจิทัลต่าง ๆ พัฒนา NFT สำหรับทัวร์นาเมนต์ในปีนี้ ภายใต้ชื่อ AO Art Ball NFT

(AO Art Ball แต่ละลูก จะเชื่อมโยงกับพื้นที่ซึ่งเกิด winning shot บนคอร์ท และซื้อขายต่อได้บน OpenSea / ภาพจาก AO)

          Art Ball ในที่นี้ คือคอลเลคชั่นงานศิลปะ NFT รูปลูกเทนนิสที่มีโลโก้ AO 2022 จำนวน 6,776 รูป ซึ่งแต่ละรูป จะมีสีและลวดลายต่าง ๆ ไม่ซ้ำกัน เพื่อวางขายให้แฟน ๆ ซื้อไว้สะสม ในราคารูปละ 0.067 ETH (ราคา ณ วันที่ 23 ม.ค. คือประมาณ 5,500 บาท) พร้อมสินค้าที่ระลึกอื่น ๆ ในเซต

 

          นอกจากคุณสมบัติพื้นฐานของ NFT ที่แต่ละรูปมีเพียงชิ้นเดียวในโลกแล้ว ความพิเศษของ Art Ball คือข้อมูลในแต่ละรูป จะถูกเชื่อมโยงกับพื้นที่ขนาด 19x19 ซม. บนคอร์ทใน ร็อด เลเวอร์ อารีนา แบบสุ่ม

 

          ทุกครั้งที่มีการทำแต้ม (winning shot) ข้อมูลจากพื้นคอร์ทที่สัมผัสบอล ก็จะส่งกลับไปยัง NFT ที่เชื่อมโยงกันอยู่แบบเรียลไทม์ พร้อมแสดงข้อมูลการแข่งขันในแมตช์นั้น ๆ

 

          เซดริค คอร์เนลิส หัวหน้าฝ่ายคอมเมอร์เชียล (ซีซีโอ) ของ ออสเตรเลียน โอเพ่น อธิบายว่าแนวคิดนี้เกิดขึ้น เพื่อพัฒนาการมีส่วนร่วมระหว่างแฟนกีฬากับทัวร์นาเมนต์ให้สดใหม่ตามเทรนด์ผู้บริโภคในปัจจุบัน และถือเป็นใบเบิกทางให้กับแนวคิดใหม่ ๆ สำหรับกีฬาเทนนิสด้วย

AO Art Ball และเวอร์ชวล ทัวร์นาเมนต์ สู่โลกเมตาเวิร์สแบบ ออสเตรเลียน โอเพน

          ในมุมกลับ เจ้าของ NFT เหล่านั้น ก็มีโอกาสจะได้เป็นเจ้าของลูกบอลที่ระลึกจากทัวร์นาเมนต์แบบจับต้องได้ด้วย

 

          ถ้าพื้นที่คอร์ทซึ่งเชื่อมต่อข้อมูลกับ Art Ball ที่ซื้อไว้ เป็นจุดที่มีการทำแต้มในนัดชิงชนะเลิศแต่ละประเภท
 

"เวอร์ชวลทัวร์นาเมนต์บน Decentraland"

(คนทั่วไปสามารถเข้าไปสัมผัสโลกเสมือนในแกรนด์สแลมพาร์ค ได้ผ่าน Decentraland / ภาพจาก Decentraland)

          โลกเสมือนที่ขับเคลื่อนบนบล็อกเชน ที่ ซัคเคอร์เบิร์ก ตั้งใจไว้ ที่จริงก็ไม่ถือเป็นแนวคิดใหม่ เพราะปัจจุบัน ก็มีผู้พัฒนาหลาย ๆ รายเริ่มต้นบุกเบิกกันไปแล้ว

 

          หนึ่งในนั้นก็คือ Decentraland

          Decentraland เป็นโลกเสมือนที่รันอยู่บนอีเธอเรียม ผู้ใช้งานสามารถเข้าไปถือครองกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์ และสร้างสิ่งต่าง ๆ ขึ้นบนแพลตฟอร์ม

 

          เช่น อาคารหรือสิ่งปลูกสร้าง เพื่อรับผลตอบแทน (เช่นเก็บค่าเช่า หรือค่าโฆษณา) หรือแม้แต่ขายที่ดินผืนนั้นบนมาร์เก็ตเพลสก็ได้

 

          ปัจจุบัน บน Decentraland ก็มีพื้นที่ซึ่งสร้างขึ้นตามแบบ แกรนด์สแลม พาร์ค และ ร็อด เลเวอร์ อารีนา ใน เมลเบิร์น พาร์ค สถานที่จัดการแข่งขันออสเตรเลียน โอเพน ได้ ผ่านความร่วมมือกับ Vegas Ctiy บริษัทซึ่งถือที่ดินบนโลกเสมือนในแพลตฟอร์มไว้

 

          ริดลีย์ พลัมเมอร์ โปรเจกต์เมเนเจอร์ด้านเมตาเวิร์ส และ NFT ของออสเตรเลียน โอเพน อธิบายว่าแนวคิดในการสร้างเมลเบิร์นพาร์ค บน Decentraland นั้นมีขึ้นตั้งแต่ช่วงกลางปี 2021 เมื่อทางผู้จัดมองว่าการเดินทางระหว่างประเทศ ยังถูกจำกัดอยู่มากด้วยผลกระทบจากโควิด-19

 

          การนำสนามจัดการแข่งขันไปตั้งไว้บนโลกเสมือน จะช่วยให้แฟนกีฬาเทนนิสจากทั่วโลกมีโอกาสสัมผัสบรรยากาศของออสเตรเลียน โอเพนได้มากขึ้น ผ่านบรรยากาศที่บันทึกจากกล้องกว่า 300 ตัวทั่วบริเวณจัดการแข่งขัน ซึ่งจะเปิดมุมมองใหม่ ๆ ได้มากกว่าแค่ภาพเพียงไม่กี่มุมจากการถ่ายทอดสดทางโทรทัศน์

 

          รวมถึงการได้ใกล้ชิดบนโลกเสมือนกับอดีตผู้เล่นชื่อดังของออสเตรเลีย อย่าง มาร์ค ฟิลิปปุสซิส และคนอื่น ๆ ได้ด้วย

 

          และในทางกลับกัน ผู้ที่สามารถเดินทางมาที่เมลเบิร์น พาร์ค ก็สามารถสัมผัสประสบการณ์ในโลกเสมือน AO Decentraland ได้ แบบที่ พลัมเมอร์ นิยามว่าเป็น "Matrix Effect"


AO Art Ball และเวอร์ชวล ทัวร์นาเมนต์ สู่โลกเมตาเวิร์สแบบ ออสเตรเลียน โอเพน           ข้อดีของ AO Decentraland คือเปิดกว้างให้คนทั่วไป ซึ่งไม่มีความรู้ด้านสกุลเงินดิจิทัล รวมถึงมีกรกระเป๋าเงินดิจิทัล Metamask สามารถเข้าไปสัมผัสประสบการณ์ได้ แม้จะมีข้อจำกัดบางอย่างก็ตาม โดยจะเปิดให้บริการจนถึงวันที่ 30 มกราคม

 

          ลองสร้างตัวละครเพื่อเข้าสู่โลกเมตาเวิร์สของออสเตรเลียน โอเพน ได้ที่นี่

 

          แต่ในมุมของ พลัมเมอร์ แล้ว นี่จะเป็นเพียงจุดเริ่มต้นในการบรรจบกันระหว่างเทนนิสในโลกจริงกับเมตาเวิร์สเท่านั้น เพราะทางผู้จัดยังเชื่อว่าโลกเสมือนนี้ ยังสามารถสร้างประโยชน์อื่น ๆ ให้เกิดขึ้นได้อีกมาก แม้แต่ในช่วงที่ไม่ได้ถูกใช้จัดการแข่งขัน

 

          "นี่จะเป็นกลยุทธ์ในระยะยาวแน่นอน สิ่งที่เกิดขึ้นในปีนี้ เหมือนเราลองแหย่นิ้วเท้าลงในสระเท่านั้น ทุกคนยังต้องเรียนรู้กันต่อไปว่าเราจะทำอะไรกับพื้นที่เหล่านี้ได้บ้าง"

--------------------

SOURCE

logoline