svasdssvasds
เนชั่นทีวี

ORIGINAL

เมื่อโลกพัฒนา “ทางม้าลายอัจฉริยะ” : เทคโนโลยี กับ วินัย ไทยจะสร้างอะไรได้ก่อนกัน?

26 มกราคม 2565
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

หลายประเทศเริ่มต่อยอดเทคโนโลยีเพื่อพัฒนาทางม้าลายอัจฉริยะ โดยมีเป้าหมายเพื่อเพิ่มความปลอดภัยของคนในประเทศ หากไทยเรามีการหยิบเทคโนโลยีเหล่านั้นมาใช้บ้าง ยอดอุบัติเหตุบนท้องถนนและยอดผู้เสียชีวิตจะสามารถลดลงได้บ้างหรือไม่?

          จากเหตุการณ์ของหมอกระต่าย ทำให้สังคมเราเริ่มหันมาตระหนักเรื่องความปลอดภัยบนท้องถนนในไทยมากขึ้น ที่ไม่ว่าคุณจะใช้ทางม้าลาย หรือทำทุกอย่างถูกต้องตามกฎจราจรมากแค่ไหน แต่สุดท้ายก็ต้องรับเคราะห์จากคนไม่มีวินัยในการขับขี่อยู่ดี ซึ่งพูดกันตามตรงในประเทศเรานี้มีให้เห็นกันยุบยับไปหมด  แล้วหากเรามีเทคโนโลยีที่ช่วยเพิ่มความปลอดภัยของคนข้ามถนนได้ มันจะดีกว่านี้หรือไม่?

 

          เมื่อพูดถึงการนำเทคโนโลยีมาใช้บนท้องถนน เราอาจนึกถึงบรรดารถไฟฟ้าหรือสัญญาณไฟจราจร แต่รู้หรือไม่ว่าในหลายประเทศเทคโนโลยีบนท้องถนนถูกนำมาพัฒนาต่อยอดกับทางม้าลาย โดยคำนึงถึงความปลอดภัยของผู้ใช้ถนนเป็นหลัก
Starling Crossing ทางม้าลายอัจฉริยะ ทางม้าลายอัจฉริยะคืออะไร?
          แม้ว่าคำจำกัดความของทางม้าลายอัจฉริยะจะยังไม่ได้มีการกำหนดขึ้นมาอย่างชัดเจน แต่ถึงอย่างนั้นเราก็ยังสามารถอธิบายได้ว่า ทางม้าลายใดๆก็ตามที่นำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อเพิ่มความปลอดภัยบนท้องถนน และปรับปรุงประสิทธิภาพของการจราจร นี่คือสิ่งที่เรียกได้ว่า Smart หรือ อัจฉริยะ

 

          กลุ่มนักออกแบบดีไซน์จากบริษัท Umbrellium ประเทศอังกฤษได้เสนอแนวคิดใหม่ของการข้าม ‘ทางม้าลาย’ ซึ่งแนวคิดนี้ก้าวหน้าไปไกลกว่าทางม้าลายแบบเส้นสีขาวที่ถูกวาดบนถนนยางมะตอยหรือถนนคอนกรีตที่เราคุ้นหน้าคุ้นตากัน เจ้าทางม้าลายที่ถูกคิดค้นมานี้ถูกเรียกว่า Starling Crossing (STigmergic Adaptive Responsive LearnING Crossing) ซึ่งเป็นทางม้าลายที่เปลี่ยนพื้นถนนให้กลายเป็นจอ LED แบบอินเตอร์แอคทีฟ สามารถแสดงกราฟฟิคบนพื้นถนนได้ ถือเป็นการนำเทคโนโลยีมาผสมผสานกับความปลอดภัยบนท้องถนน เพื่อช่วยให้ผู้ใช้รถใช้ถนนสามารถคาดเดาการเคลื่อนไหวของคนที่กำลังจะข้ามถนนได้แบบเรียลไทม์

ทางม้าลายที่เปลี่ยนพื้นถนนให้กลายเป็นจอ LED

          การติดตั้งจอแบบอินเตอร์แอคทีฟที่สามารถรองรับน้ำหนักได้มาก ไม่ว่ารถจะมีขนาดใหญ่และบรรทุกหนักแค่ไหน จอที่ว่านี้ก็สามารถรองรับน้ำหนักได้อย่างไม่หวั่นไหว แถมตัวพื้นผิวของจอยังสามารถป้องกันการลื่นสไลด์เมื่อเกิดฝนตกได้อีกด้วย ที่สำคัญคือมีระบบปรับแสงสว่างของหน้าจอให้เหมาะสมที่สามารถมองเห็นได้ทั้งในเวลากลางวันและกลางคืน

 

          การติดตั้งทางม้าลายอัจฉริยะนี้ กล้องและเซ็นเซอร์ต่างๆ ถือเป็นหนึ่งในอุปกรณ์ที่สำคัญ เนื่องจากต้องนำมาใช้ตรวจจับทั้งการจราจรบนถนนและการเคลื่อนไหวของคนเดินเท้า ซึ่งความพิเศษอยู่ที่เซนเซอร์ตัวนี้สามารถจำแนกได้ว่าเป็นสิ่งที่กำลังจะข้ามถนนเป็นคน รถส่งของ รถจักรยาน หรือว่ารถยนต์ เพื่อคำนวณทิศทางของการเคลื่อนไหวนั้น ๆ ว่ากำลังเคลื่อนไปทางไหน ในความเร็วเท่าไหร่

 

          นอกจากนี้รูปแบบของทางม้าลายที่เราเคยเห็นและใช้กันมาอย่างเนิ่นนานตั้งแต่อดีต ยังถูกปรับเปลี่ยนให้เป็นสัญลักษณ์ต่างๆในแบบใหม่ที่จะเปลี่ยนไปตามสถานการณ์ เพื่อเพิ่มระบบความปลอดภัย ให้ผู้ที่พบเห็นสามารถมองและเข้าใจได้ง่าย ซึ่งการทดลองในครั้งนี้ถูกติดตั้งขึ้นที่ South London เป็นที่แรก
สัญลักษณ์ใหม่ที่ถูกนำมาใช้บน “ทางม้าลายอัจฉริยะ” การมี “ทางม้าลายอัจฉริยะ” จะเกิดประโยชน์อย่างไร?
          แม้ว่าเทคโนโลยีนี้จะอยู่ในขั้นตอนการทดสอบและทดลองใช้ ซึ่งยังอาจสร้างความมึนงงและซับซ้อนอยู่บ้าง แต่เชื่อว่าการนำทางม้าลายอัจฉริยะมาใช้จะก่อประโยชน์ดังนี้

  1. ช่วยลดจำนวนอุบัติเหตุเนื่องจากทัศนวิสัยที่ดีขึ้น
  2. ช่วยจัดการการจราจรในเมืองใหญ่ๆได้ ลดปัญหาการจราจรติดขัดที่ก่อให้เกิดมลภาวะ
  3. สามารถปรับให้เข้ากับสภาพถนนและสภาพการจราจรได้ในทุกสถานการณ์
  4. สามารถควบคุมได้ทั้งจากระยะไกลและไร้คนสั่งการ
  5. การออกแบบด้วยไฟ LED สามารถเปิดปิดได้ตามต้องการ

ความปลอดภัยบนท้องถนนที่ถูกพัฒนาไกล แต่ท้องถนนไทยกลับย่ำอยู่ที่เดิม

          ในหลายประเทศอย่างเช่น โปแลนด์ ได้มีการนำเทคโนโลยีมาร่วมใช้เพื่อความปลอดภัยของคนข้ามถนนเช่นเดียวกัน โดยติดตั้งระบบ Smartpass ที่อัพเกรดทางม้าลายให้ฉลาดขึ้น ซึ่งประกอบไปด้วย ระบบอินฟราเรดในการตรวจจับคนข้ามถนน หากระบบตรวจพบว่ากำลังมีคนจะข้ามถนน ระบบจะส่งสัญญาณไปยังไฟบนพื้นให้สว่างขึ้นอัตโนมัติ รวมถึงมีป้ายเตือนเหนือศีรษะที่จะส่องไฟสว่างขึ้นเพื่อแจ้งเตือนให้คนขับรถรู้ ซึ่งหลังจากการนำเทคโนโลยีนี้เข้ามาใช้ ก็พบว่าช่วยเพิ่มความปลอดภัยของคนข้ามถนนได้เพิ่มขึ้นถึง 25%

 

          ในไทยเองก็มีบางจุดที่ทางม้าลาย มีระบบเชื่อมต่อกับสัญญาณไฟจราจร ซึ่งหากต้องการข้ามถนนก็สามารถกดปุ่มเพื่อให้สัญญาณไฟทำงาน แจ้งเตือนรถที่กำลังขับมาได้ แต่ผู้คนส่วนใหญ่กลับไม่นิยมกดกัน เป็นไปได้ไหมว่าอาจเกิดจากความรู้สึกเคยชินที่ไม่ว่าจะมีสัญญาณไฟให้คนข้ามหรือไม่ ผู้ใช้รถส่วนใหญ่ก็แทบไม่มีใครจอดให้ทางตามสัญญาณไฟอยู่ดี การข้ามถนนของคนไทยจึงไม่สามารถพึ่งพาเทคโนโลยีใดๆได้ การใช้ชีวิตเหมือนเป็นการวัดดวงอยู่แทบจะตลอดเวลา

ระบบ Smartpass ที่อัพเกรดทางม้าลายให้ฉลาดขึ้นในโปแลนด์

          ในปี 2561 องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้รายงานว่าประเทศไทย เป็นประเทศที่มีอัตราการเกิดอุบัติเหตุสูงเป็นอันดับ 9 ของโลก เสียชีวิตปีละ 22,491 ราย หรือ คิดเป็น 32.7 คนต่อประชากร 1 แสนคน โดยเฉพาะช่วงเทศกาลใหญ่ๆอย่างปีใหม่หรือสงกรานต์ แต่จากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในปี 2563 ที่ผ่านมา ที่ส่งผลให้มีผู้ใช้รถใช้ถนนเบาบางลง สถานการณ์อุบัติเหตุบนท้องถนนของไทยจึงมีแนวโน้มดีขึ้นเล็กน้อยในภาพรวม เหมือนบุญมีแต่กรรมบังแม่ตัวเลขจะลดน้อยลงแต่ไทยก็ยังคงเป็นประเทศที่มีผู้เสียชีวิตบนท้องถนนสูงที่สุดอันดับ 1 ในเอเชียและในภูมิภาคอาเซียน

 

          สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร กระทรวงคมนาคม พบว่า 3 สาเหตุหลักที่ทำให้ไทยติดอันดับดังกล่าวมาจาก สาเหตุการชนทั่วไป จากตัวบุคคล เช่น ขับเร็วเกินกำหนด ขับปาดกันไปมา และจากอุปกรณ์ เช่น ห้ามล้อขัดข้อง ดังนั้นผู้ใช้รถใช้ถนนจึงไม่ควรเพิกเฉย และควรเพิ่มเทคโนโลยีใหม่ๆเพื่อเพิ่มความปลอดภัยในขับขี่ แต่ก็เกิดคำถามอีกว่าจึงก่อนนำเทคโนโลยีใหม่ๆเข้ามาใช้ เราควรปลูกจิตสำนึกและวินัยของคนในประเทศก่อนดีไหม? หรือวัฒนธรรมไทยไม่เคยให้ความสำคัญกับคนข้ามถนน?

หรือวัฒนธรรมไทยไม่เคยให้ความสำคัญกับคนข้ามถนน?

          แม้ว่าตั้งแต่เรายังเด็กจะได้ฝึกปรือเรียนรู้การข้ามถนนจากผู้ใหญ่มาพอสมควรแล้ว แต่ต้องยอมรับว่าการข้ามถนนในประเทศไทย ขนาดคนไทยเองที่ว่ามีประสบการณ์โชกโชนยังรู้สึกได้ว่าน่ากลัวและไม่ปลอดภัย ซึ่งผู้อำนวยการสำนักงานเครือข่ายลดอุบัติเหตุ “นายพรหมมินทร์ กัณธิยะ” ได้ออกมาให้ความเห็นเกี่ยวกับเรื่องการใช้ทางม้าลายในไทยด้วยเช่นกัน

 

          “มีหลักสากลอยู่แล้ว แต่ที่ผ่านมา คนไทยมีวัฒนธรรมการใช้ทางม้าลายต่างกับในต่างประเทศมาก ในเรื่องการให้ความสำคัญกับคนข้ามถนน”

 

          “ในต่างประเทศ เขาจะให้ความสำคัญกับคนเดินเท้าค่อนข้างมาก เนื่องจากเขาถือว่าคน คนเดินเท้าเป็นผู้เปราะบางต้องได้รับสิทธิ์ก่อน ดังนั้นเวลาเราไปยุโรปเราจะเห็นว่า เวลามีคนข้ามถนน คนที่ขับรถมาเขาจะหยุด หยุดเพื่อให้คนข้ามก่อนนะ ซึ่งมันตรงกันข้ามกับบ้านเราที่คนใช้รถมักจะขอสิทธิ์ก่อน บางครั้งถึงขั้นบีบแตรไล่ก็มีรอให้ฉันไปก่อน แล้วคนที่ขับรถก็ไม่ยอมหยุดให้กับคนที่จะข้ามทางม้าลายอันนี้ถือว่าเป็นจุดบอดมหาศาลนะครับ”

 

          นอกจากวินัยในการขับขี่ของคนไทยแล้ว ปัจจัยที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุตรงทางม้าลาย ยังรวมถึงมาตรฐานการก่อสร้างด้วย ซึ่งโดยปกติทางม้าลายจะมีความกว้างไม่น้อยกว่า 5 เมตร ใช้สีขาวดำ ให้เห็นเด่นชัด สีที่ใช้ต้องเป็นสีเทอร์โมพลาสติกที่มีส่วนผสมของซิลิก้า หรือผงแก้วผงทรายเพื่อให้เกิดความแวววาวจนสามารถมองเห็นในระยะไกลได้  รวมถึงป้ายเตือนก่อนถึงทางม้าลายเป็นอีกหนึ่งสิ่งสำคัญที่ไม่มีไม่ได้ เพื่อเป็นสัญญาณให้คนขับรถมองเห็นและชะลอความเร็ว แต่ที่สำคัญเลยคือต้องมีการบำรุงรักษาอยู่ตลอดเพื่อไม่ให้สีเกิดการเจือจางจนเลือนหายด้วย ซึ่งเราอาจพอสังเกตเห็นได้ว่าบางพื้นที่มีทางม้าลายจริง แต่ดันดูแลได้ไม่ครบตามมาตรฐาน

 

          เชื่อว่าเราคงเห็นกันเป็นปกติอยู่แล้ว ไม่ว่าจะนำเทคโนโลยีใหม่ๆเข้ามาใช้บนท้องถนนของประเทศเราอย่างไร ยอดคนเจ็บคนตาย ก็อยู่ระดับพอๆกันในแต่ละปี หรือต่อให้มีเทคโนโลยีเพื่อความปลอดภัยสำหรับคนข้ามถนนแบบ 100 เปอร์เซ็นต์ที่อาจใช้เวลาหลาย 10 ปีในการผลิต แต่เชื่อว่าหลายคนคงคิดคล้ายๆกันว่าจนถึงตอนนั้น วินัยและจิตใต้สำนึกของคนขับรถในไทยก็ไม่ได้ต่างไปจากเดิมอยู่ดี ยอดอุบัติเหตุคงมีเท่าเดิม คนใช้ถนนยังต้องคอยหวาดระแวงกันเหมือนเดิม เพราะสิ่งเหล่านี้หากพูดกันตามตรงแล้ว วินัยและจิตใต้สำนึกพัฒนายากยิ่งกว่าเทคโนโลยีเสียอีก

--------------------

ที่มา:

logoline