svasdssvasds
เนชั่นทีวี

ORIGINAL

ส่งผ่านอารยธรรม: จากเมโสสู่ปัจจุบัน ร้องสิทธิผู้บริโภคผ่านแผ่นจารึกกว่า 3,800 ปี

16 มกราคม 2565
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

อย่าอายที่จะร้องสิทธิผู้บริโภค! เมื่อนักวิทย์พบจารึกนานกว่า 3,800 ปี แต่เมื่อถอดเนื้อความออกมามีอันต้องชวนอึ้ง เมื่อเนื้อหาทั้งหมดกลับเป็นการคอมเพลนร้านค้า เรียกร้องสิทธิผู้บริโภคและสัญญาที่ไม่เป็นธรรม

          หากจะพูดถึงอารยธรรมที่แสนจะยิ่งใหญ่และมาก่อนกาล “อารยธรรมเมโสโปเตเมีย” ถือเป็นตัวเลือกแรกๆที่ไม่ว่าใครก็ไม่สามารถปฎิเสธได้ หลักฐานทางประวัติศาสตร์มากมายชี้ว่านี่คืออารยธรรมที่เฟื่องฟูที่สุด สิ่งก่อสร้างต่างๆมากมายก็ยังเป็นที่น่าสงสัยว่าคนในยุคนั้นต้องมีความคิดสร้างสรรค์และมีฝีมือขนาดไหนจึงจะสามารถสร้างได้ และกลายเป็นอารยธรรมให้คนรุ่นหลังอย่างเราได้เรียนรู้

 

          แน่นอนว่าเหตุการณ์ชวนอึ้งจากประวัติศาสตร์ยังไม่หมดแค่นี้ บ้างอาจค้นพบแล้ว บ้างอาจยังรอการค้นหา แต่อีกหนึ่งเรื่องล่าสุดชวนอึ้งเมื่อนักวิทยาศาสตร์คาดว่าพบ “แผ่นจารึก” ที่มีอายุยาวนานกว่า 3,800 ปี และคาดว่านี่อาจเป็นจารึกที่เก่าแก่ที่สุดในโลกก็เป็นได้ หลายคนอาจคาดหวังว่าเนื้อหาที่ถูกสลักไว้ ต้องทิ้งร่องรอยใดๆเกี่ยวกับประวัติศาสตร์อันน่าจดจำไว้ แต่ที่ไหนได้ เนื้อความทั้งหมดที่ถูกถอดมา กลับเป็นจดหมายคอมเพลนร้านค้าเสียนี่! หรือนี่จะเป็นจดหมายคอมเพลนที่มีอายุยาวนานที่สุดในโลกกันแน่?
แผ่นจารึกที่เก่าแก่ที่สุดในโลก เนื้อหาคอมเพลนร้านทองแดง

แผ่นจารึกที่เก่าแก่ที่สุดในโลก เนื้อหาคอมเพลนร้านทองแดง
          นักวิทยาศาสตร์ได้ค้นพบแผ่นจารึกของชาวชาวสุเมเรียน จากอารยธรรมเมโสโปเตเมีย (ปัจจุบันเป็นพื้นที่ของประเทศอิรัก) อายุกว่า 3,800 และคาดว่าจารึกแผ่นนี้เป็นจารึกที่เก่าแก่ที่สุดในโลก ถึงแม้ว่าจารึกแผ่นนี้จะมีอายุเก่าแก่ที่สุดในโลก แต่ข้อความที่สลักไว้กลับชวนอึ้งยิ่งกว่า เมื่อถอดเนื้อหาออกมาแล้วจารึกแผ่นนี้กลับร้องสิทธิผู้บริโภค คอมเพลนร้านทองแดงเสียจนย่อยยับ ว่าได้รับทองแดงคุณภาพต่ำ ไม่ตรงกับที่ร้านเคลมไว้แต่แรก และจะไม่อุดหนุนร้านนี้อีก ซึ่งอาจเรียกได้ว่าเป็นประวัติศาสตร์การคอมเพลนร้านค้าที่ทำให้เรารู้ว่า ของแบบนี้ก็มีมายาวนานแล้วเหมือนกัน
 

จาก Nanni ถึง Ea-nasir จดหมายคอมเพลนที่เก่าแก่ที่สุดในโลก

ถอดเนื้อหาความไม่เป็นธรรม เดือดแค่ไหน ถึงต้องจารึกคอมเพลนใส่ศิลา?
          เนื้อหาบนแผ่นจารึกที่สลักไว้ถูกเขียนด้วยอักษรรูปลิ่ม หรือคูนิฟอร์ม (Cuneiform) เริ่มจากชายนามว่า Nanni บ่นพ่อค้าขายทองแดงนาม Ea-nasir เรื่องส่งทองแดงคุณภาพผิดเกรดมาให้ นักประวัติศาสตร์ Leo Oppenheim จึงได้ทำการถอดเนื้อความจดหมายทั้งหมดในหนังสือของเขาที่ชื่อว่า “จดหมายจากเมโสโปเตเมีย” โดยมีเนื้อหาดังนี้

 

          “ข้าอุตส่าห์สั่งทองแดงชั้นดีไป เจ้าก็บอกว่าจะส่งทองแดงที่คุณภาพดีที่สุดมาให้ แต่เจ้าดันเล่นไม่ซื่อไม่ทำตามที่พูดไว้ แล้วดันมาบอกข้าว่าจะเอาก็เอา ถ้าไม่เอาก็ไสหัวไป ทำแบบนี้มันดูถูกกันเกินไป เจ้าเห็นข้าเป็นตัวอะไร?"

 

          "ข้าส่งคนไปจ่ายค่าของ แต่เจ้ากลับดูถูกข้าด้วยการให้มันเดินฝ่าดงข้าศึกแล้วกลับมาตัวเปล่าทุกรอบ  แถมข้ายังโดนดูถูกราวกับมดปลวก ถึงข้าจะติดเงินเจ้าแค่นาร์เดียว แต่เจ้าดันเอาไปพูดมั่วซั่วทั้งที่ข้าอุตส่าห์ส่งทองแดงเข้าวังในนามของเจ้า มากกว่าที่เราเขียนในสัญญาที่วิหารซามาสเสียอีก"

 

          "เจ้าทำอย่างนั้นกับข้าได้อย่างไร? เงินข้าก็อยู่ในมือเจ้า ในดงศัตรู ส่งเงินข้าคืนมาให้หมดแล้วจำใส่กะโหลกไว้เลยนะ ต่อไปข้าจะไม่เอาทองแดงเก๊จากเจ้าอีก ข้าจะไปเลือกเข้าคลังทีละก้อนๆด้วยตัวของข้าเอง และข้าจะใช้สิทธิ์ปฏิเสธและคัดค้านเจ้า เพราะเจ้าดูถูกข้า!”

 

          นอกจากเนื้อหาจะเผ็ดเข็ดฟันแล้ว สาสน์ฉบับนี้ยังทำให้เรารู้ว่า การคอมเพลนร้านค้าเคยมีมาตั้งแต่โบราณกาล และสัญญาที่มีเป็นลายลักษณ์อักษรมีมาแต่ช้านานกว่า 3,800 ปี Nanni แม้เป็นลูกหนี้ตามสัญญามูลหนี้อื่น แต่เป็นเจ้าหนี้ในการสั่งทองแดง เมื่อไม่ได้รับมอบตามที่ตกลงแต่แรก ก็ต้องออกมาร้องความชอบธรรมให้กับตัวเอง เรื่องแบบนี้ถือว่าไม่ใช่เรื่องแปลกเลย แต่หลายคนอาจเกิดความกังวลและเคอะเขินอยู่บ้างจนไม่กล้าเรียกร้องสิทธิของตัวเอง

ประธานาธิบดี จอห์น เอฟ เคนเนดี้ ผู้นำโลกคนแรก ที่เห็นความสำคัญของสิทธิผู้บริโภค

สิทธิของผู้บริโภคนับตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน เปลี่ยนไปมากน้อยแค่ไหน?
          หากพูดถึงสิทธิของผู้บริโภคตั้งแต่อดีตกาลตั้งแต่อารยธรรมเมโสโปเตเมีย ก็ต้องยอมรับว่าในสมัยนั้นไม่ได้มีความตระหนักในเรื่องนี้สักเท่าไหร่นัก จนกระทั่งโลกพัฒนามาเรื่อยๆ ในวันที่ 15 มีนาคม ค.ศ.1962  (พ.ศ. 2505) ประธานาธิบดี จอห์น เอฟ เคนเนดี้ (John F. Kennedy) แห่งสหรัฐอเมริกา ได้กล่าวสุนทรพจน์ต่อรัฐสภาเกี่ยวกับการให้ความสำคัญกับสิทธิของผู้บริโภค ซึ่งการผลักดันในครั้งนี้ ทำให้เคนเนดี้กลายเป็นเป็นบุคคลระดับผู้นำโลกคนแรก ที่เห็นความสำคัญของสิทธิผู้บริโภค และได้จัดตั้งให้ 15 มีนาคมของทุกปีเป็น “วันสิทธิผู้บริโภคสากล” นอกจากนี้ยังมีการพัฒนาจัดตั้งองค์กร “สหพันธ์องค์กรผู้บริโภคสากล (Consumers International หรือ CI )” ซึ่งได้มีการกำหนดสิทธิผู้บริโภคสากล ไว้ 8 ข้อ ได้แก่

  1. สิทธิที่จะเข้าถึงสินค้าและบริการที่จำเป็นขั้นพื้นฐาน (The right to basic need) เช่น ยา อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย การดูแลสุขภาพ การศึกษาและสุขาภิบาล
  2. สิทธิที่จะได้รับความปลอดภัยจากการใช้สินค้าและบริการ ( The right to safety)
  3. สิทธิที่จะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องครบถ้วนที่จำเป็นเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการ (The right to be informed)
  4. สิทธิที่จะเลือกซื้อสินค้าและบริการได้อย่างอิสระ (The right to choose)
  5. สิทธิที่จะได้แสดงความคิดเห็นในฐานะตัวแทนผู้บริโภค (The right to be heard)
  6. สิทธิที่จะได้รับการพิจารณาและค่าชดเชยความเสียหายเมื่อถูกละเมิดสิทธิ์ (The right to redress) 
  7. สิทธิที่จะได้รับความรู้เกี่ยวกับการบริโภค (The right to consumer education)
  8.  สิทธิที่จะดำรงชีวิตอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดีและปลอดภัย (The right to healthy environment)

สิทธิผู้บริโภคไทย มีอะไรเทียมเท่าสากล? สิทธิผู้บริโภคไทย มีอะไรเทียมเท่าสากล?
          สำหรับสิทธิผู้บริโภคไทยในไทยนั้น พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 กลับกำหนดไว้เพียง 5 ข้อเท่านั้น ได้แก่   

  1. สิทธิที่จะได้รับข่าวสารรวมทั้งคำพรรณนาคุณภาพที่ถูกต้องและเพียงพอเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการ 
  2. สิทธิที่จะมีอิสระในการเลือกหาสินค้าหรือบริการ 
  3. สิทธิที่จะได้รับความปลอดภัยจากการใช้สินค้าหรือบริการ 
  4. สิทธิที่จะได้รับความเป็นธรรมในการทำสัญญา 
  5. สิทธิที่จะได้รับการพิจารณาและชดเชยความเสียหาย

 

          อาจพอเห็นเค้าโครงได้ลางๆว่า การคุ้มครองผู้บริโภคในระดับสากลมีความครอบคลุมในการคุ้มครองผู้บริโภคมากกว่าสิทธิผู้บริโภคของไทย ซึ่งในระดับสากลได้รับรองสิทธิผู้บริโภคสากลไว้ถึง 8 ข้อ แต่ในขณะที่ของไทยมีเพียง 5 ข้อเท่านั้น

 

          และจากความแตกต่างที่เราได้พบเห็นในการเปรียบเทียบการรับรองสิทธิผู้บริโภคของไทยและสากล หลายองค์กรเอกชนที่ดำเนินงานคุ้มครองผู้บริโภคในไทย ได้มีการเสนอให้มีการเพิ่มเติมสิทธิผู้บริโภคจากเดิมได้แล้ว เนื่องจากกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคในไทยยังจำกัดสิทธิของผู้บริโภคเกินไป และอาจรองรับได้ไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย ไม่เท่าทันสถานการณ์ปัญหาผู้บริโภค

 

          ซึ่งหากการผลักดันสิทธินี้สำเร็จจะเป็นการขยายขอบเขตสิทธิของผู้บริโภคให้ครอบคลุมมากกว่าเดิม และโอกาสในการแสดงพลังของผู้บริโภคจะมีเพิ่มมากขึ้นอีกด้วย ก็เป็นที่น่าสนใจว่าเมื่อไหร่การผลักดันร่างนี้จะประสบผลสำเร็จ จากพรบ.เดิมที่ตราไว้ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2522 ผ่านมาแล้วกว่า 40 ปี ไทยควรมีกฎหมายที่ปรับปรุงให้เท่าทันยุคสมัยบ้างแล้วหรือยัง?

--------------------
อ้างอิง:

logoline