svasdssvasds
เนชั่นทีวี

ORIGINAL

Did you know? โรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร ต้นตอหมูแพงที่รัฐบาลไม่ยอมรับ

10 มกราคม 2565
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ราคาหมูที่พุ่งสูงกระทบชีวิตความเป็นอยู่ย่อมทำให้ผู้คนพากันตั้งคำถาม เหตุใดราคาเนื้อหมูจึงปรับตัวสูงขึ้นก้าวกระโดดนับแต่ปีใหม่ที่ผ่านมา สาเหตุของเรื่องนี้นอกจากโรคระบาดในบรรดาหมูด้วยกัน ยังมาจากภาครัฐที่ปกปิดความจริงเรื่องนี้มายาวนานอีกด้วย

          ช่วงเวลานี้นอกจากโควิดสายพันธุ์โอมิครอนทำผู้คนหวาดผวาทุกหย่อมหญ้า อีกสิ่งที่น่าสะพรึงกลัวไม่แพ้กันคือราคาเนื้อหมูปรับตัวสูง ราคาพุ่งขึ้นจากเดิมด้วยปัจจัยด้านสุกรเลี้ยงในปัจจุบันเริ่มขาดตลาด สวนทางกับความต้องการบริโภคเพิ่มมากขึ้น ยิ่งสร้างผลกระทบเป็นวงกว้างแก่บรรดาผู้บริโภค

 

          เลวร้ายกว่าคือสถานการณ์ไม่มีทีท่าจะดีขึ้นแม้มีคำสั่งระงับการส่งออกหมูไปแล้วก็ไม่ช่วยนัก อีกทั้งจากช่วงเวลาใกล้เทศกาลตรุษจีนที่เนื้อหมูเป็นที่ต้องการ นอกจากราคาจะไม่ลดเรายังอาจได้เห็นเนื้อหมูพุ่งไปแตะกิโลกรัมละ 300 บาทเลยทีเดียว อีกทั้งนี่ไม่ใช่ปัญหาที่สามารถแก้ได้ในเวลาอันสั้นเมื่อต้นตอของปัญหานี้เกิดจากโรคระบาดภายในฟาร์ม
Did you know? โรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร ต้นตอหมูแพงที่รัฐบาลไม่ยอมรับ อหิวาต์แอฟริกา โรคร้ายตัวการราคาหมูถีบตัวสูงในปัจจุบัน
          โรคอหิวาต์แอฟริกา หรือ African Swine Fever(ASF) เป็นโรคที่มีต้นตอมาจากทวีปแอฟริกา เกิดจากเชื้อไวรัสแพร่ระบาดทั้งในหมู่หมูเลี้ยงและหมูตามธรรมชาติ ไม่สามารถติดต่อไปสู่มนุษย์รวมถึงสัตว์ชนิดอื่นได้ แต่ยังมากพอสร้างความเสียหายต่อฟาร์มเลี้ยงหมูเป็นวงกว้าง

 

อาการของหมูติดเชื้อได้แก่

  • มีไข้สูง อาจมากถึง 40.5-42 องศาเซลเซียส
  • ผิวหนังแดง มีจุดเลือดออกและรอยช้ำ โดยเฉพาะตำแหน่งใบหู ท้อง ขาหลัง
  • มีเลือดออกตามอวัยวะภายใน โดยเฉพาะต่อมน้ำเหลือง
  • เบื่ออาหารกะทันหัน
  • ท้องเสีย อาเจียน
  • มีอาการซึม
  • เกิดปัญหาเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ
  • มีอาการแท้งลูกในทุกช่วงการตั้งครรภ์
  • เสียชีวิตกะทันหันและมีอัตราการตายสูงมาก

 

          โดยพื้นฐานอาการของโรคแทบไม่ต่างจากอหิวาต์สุกรธรรมดา แต่ที่มากกว่าคือความรุนแรงของอาการรวมถึงอัตราการตายสูง สามารถพบอาการได้ในทุกกลุ่มและช่วงมีอัตราการตายตั้งแต่ 30-100% สามารถคร่าชีวิตลูกสุกรเกือบทุกตัวที่เกิดการติดเชื้อในระยะเวลาเพียง 14 วัน

          โรคนี้สามารถแพร่ระบาดได้หลายทางตั้งแต่สารคัดหลั่ง อาหารที่กิน หรือแม้แต่ทางอากาศ รวมถึงสามารถเกิดพาหะนำเชื้อทั้งจากเห็บ สุกรป่า แม้แต่เชื้อที่ติดตามเสื้อผ้าอุปกรณ์ของคนเรา นั่นทำให้เชื้อมีอัตราการแพร่ระบาดสูงมาก เมื่อเกิดการติดเชื้อเริ่มขึ้นภายในฟาร์มและชุมชน จึงแทบจะแน่นอนว่ามันจะลุกลามไปทั่วทั้งฟาร์มรวมถึงภายในพื้นที่อย่างรวดเร็ว

ภาพเหตุการณ์กำจัดซากหมูติดเชื้อในสโลวะเกีย บทเรียนและผลกระทบจากการแพร่ระบาดในประเทศเพื่อนบ้าน
          โรคอหิวาต์แอฟริกาเกิดการระบาดเป็นวงกว้างในทวีปเอเชียและยุโรปขึ้นครั้งแรกในช่วงปี 2018 เป็นค้นมา เกิดการระบาดวงกว้างภายในปี 2021 ในแถบประเทศเพื่อนบ้าน รวมถึงอีกหลายประเทศในเอเชียตั้งแต่ จีน, เกาหลีใต้, มองโกเลีย ไปจนถึงเกาหลีเหนือ 

 

          แน่นอนว่านี่ไม่ใช่โรคที่เกิดขึ้นครั้งแรก แต่เคยถูกตรวจพบเชื้อมาแล้วในหลายประเทศ เช่น ในเกาหลีใต้ที่เคยตรวจพบเชื้อนี้ใน เกี๊ยวหมู และ กุนเชียง ที่นำเข้ามาจากปะเทศจีน เช่นเดียวกับประเทศไทยเองก็เคยตรวจพบเชื้อจากผลิตภัณฑ์เนื้อหมูจากนักท่องเที่ยวชาวจีนเช่นกัน

 

          ส่วนการระบาดเป็นวงกว้างเกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2019 โดยเฉพาะประเทศเวียดนามที่เคยเกิดการระบาดอย่างรุนแรงจนผลผลิตเนื้อหมูลดลงเป็นจำนวนมาก อีกทั้งยังระบาดกระจายตัวไปเป็นวงกว้างทั้งในกลุ่มประเทศอาเซียนรวมถึงในเอเชีย ส่งผลกระทบต่อกำลังการผลิตเนื้อหมูลดลงกว่า 20% จากการสั่งทำลายสุกรในฟาร์มและจัดตั้งเขตกักกันเพื่อทำการฆ่าเชื้อ

 

          ในประเทศไทย กรมปศุสัตว์ยังคงยืนยันว่าไม่พบการแพร่ระบาดของโรคนี้ภายในประเทศ ขัดแย้งกับปากคำของเจ้าของฟาร์มที่ต้องเสียหมูจำนวนมากจากโรคระบาด รวมถึงอัตราการตายของฟาร์มหมูที่เพิ่มสูงขึ้นมากอย่างน่าสังเกตในระยะหลัง ชวนให้เกิดการตั้งคำถามว่าไม่มีการแพร่ระบาดเข้ามาของเชื้อตัวนี้ในประเทศจริงหรือไม่?

ภาครัฐยังคงสถานะไม่มีการแพร่ระบาดของอหิวาต์แอฟริกาในประเทศไทยจนปัจจุบัน

แนวทางรับมือการแพร่ระบาดและการตั้งคำถามต่อวิธีรับมือของภาครัฐ
          ปัจจุบันโรคอหิวาต์แอฟริกายังเป็นโรคที่ไม่มีทางรักษาหรือวัคซีนป้องกันโดยเฉพาะ ด้วยที่ผ่านมาการระบาดมักจำกัดอยู่ในกลุ่มประเทศแอฟริกา ไม่ค่อยแพร่ระบาดวงกว้างนอกพื้นที่ จึงมักยุติปัญหาด้วยการกำจัดสัตว์ที่ติดเชื้อและใช้มาตรการกักกันมากกว่า

 

          แนวทางการรับมือเมื่อเกิดการระบาดจำเป็นต้องสั่งกักปศุสัตว์ทั้งหมดในพื้นที่ ทำลายสุกรและซากทั้งหมดเพื่อยุติการแพร่ระบาด ทำความสะอาดฟาร์มจนถึงข้าวของเครื่องใช้ จัดตั้งเขตกักกันอย่างเร่งด่วนเพื่อควบคุมการขนส่งเนื้อและซากหมู พักคอกอย่างน้อย 3 เดือนเพื่อให้แน่ใจว่าเชื้อจะไม่กลับมาเกิดการระบาดอีก เป็นแนวทางรับมือจากการระบาดในเวียดนาม

 

          แน่นอนว่าขั้นตอนเหล่านี้ยังไม่เกิดขึ้นในประเทศไทย ด้วยล่าสุดเมื่อเดือนธันวาคมปี 2021 ทางกรมปศุสัตว์ยืนยันว่าไม่พบการแพร่ระบาดโรคอหิวาต์แอฟริกาในไทยและยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงคำแถลง ทำให้มาตรการกักกันควบคุมโรคทั้งหลายยังคงไม่เกิดขึ้น

 

          ส่วนนี้ขัดแย้งกับข้อมูลจากนาย วิสุทธิ์ ไชยณรุณ ส.ส. จังหวัดพะเยา ที่ประกาศว่าโรคระบาดเข้ามาสู่ประเทศไทยตั้งแต่ 3 ปีที่แล้ว เป็นช่วงเวลาที่เกิดการระบาดเป็นวงกว้างในหลายประเทศ แต่หน่วยงานรัฐขาดการตื่นตัวอีกทั้งไม่ยอมรับว่ามีการแพร่ระบาด จนทำให้เชื้อกระจายเป็นวงกว้างลุกลามไปทั่วทั้งประเทศ

 

          การแพร่ระบาดในช่วงที่ผ่านมาทำให้จำนวนสุกรกว่า 22 ล้านตัวในจังหวัดราชบุรีลดเหลือเพียง 12 ล้านตัว หายไปกว่า 10 ล้าน อีกทั้งมีการตรวจพบเชื้ออหิวาต์แอฟริกานี้จากผลิตภัณฑ์จากสุกรอย่างกุนเชียงที่ส่งออกไปจากประเทศไทย แต่ยังไม่มีแนวทางรับมือใดเป็นรูปธรรม จึงไม่สามารถยับยั้งการแพร่ระบาดและล้มตายที่เกิดขึ้นจนกลายเป็นปัญหาในปัจจุบัน

 

          นอกจากนี้เมื่อไม่มีการประกาศเขตกักกันหรือโรคระบาดเป็นทางการ โอกาสที่เกษตรกรจะหาทางรับมือจึงเป็นเรื่องยาก เช่นเดียวกับการได้รับค่าชดเชยจากการเสียปศุสัตว์และการช่วยเหลือทางการเงินจากภาครัฐ นั่นทำให้เกษตรกรผู้เลี้ยงหมูจำนวนมากต้องผันตัวไปทำอาชีพอื่น เป็นเหตุให้เนื้อหมูขาดตลาดมาถึงปัจจุบันเพราะจำนวนผู้เลี้ยงสุกรเริ่มลดลง

 

          ยากจะคาดเดาได้ว่าสุดท้ายปัญหาเนื้อหมูแพงจะจบลงเมื่อใดหรือจะอยู่กับเราไปตลอด แน่ใจแค่ตอนนี้ความเดือดร้อนในตอนนี้จะยังไม่จบลงในเวลาอันสั้น อย่างน้อยตราบที่รัฐบาลไทยยังไม่เริ่มยอมรับว่ามีการระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในประเทศ แนวทางแก้ปัญหายังคงคลุมเครือไม่ชัดเจนและมีแต่ประชาชนที่ต้องรับกรรมต่อไป

--------------------
ที่มา

logoline