svasdssvasds
เนชั่นทีวี

ORIGINAL

PayPal กับกฎที่เปลี่ยนไป ความตายของฟรีแลนซ์และศิลปินรุ่นใหม่ไทย

27 พฤศจิกายน 2564
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

การเปลี่ยนแปลงกฎใหม่ของ PayPal สร้างผลกระทบต่อผู้คนเป็นวงกว้าง โดยเฉพาะฟรีแลนซ์ทั้งหลายที่ใช้แพลตฟอร์มนี้เป็นช่องทางหลักในการรับเงิน กลายเป็นข้อถกเถียงร้อนแรงรวมถึงต้องหาแนวทางแก้ปัญหากันจ้าละหวั่น เมื่อจากนี้ PayPal อาจไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป

Highlights

  • PayPal ช่องทางรับเงินของบรรดาฟรีแลนซ์กำลังสั่นคลอน จากกฎระเบียบข้อบังคับใหม่ที่อาจเป็นการตัดช่องทางหากินกับบรรดาศิลปินหรือคนที่รับงานต่างประเทศโดยสิ้นเชิง
  • PayPal คือแพลตฟอร์มอิเล็กทรอนิกส์ ใช้ในการรับรวมถึงจ่ายเงินจากเว็บไซต์หรือช่องทางมากมายทั่วโลก มีจุดเด่นในด้านการใช้งานและเข้าถึงง่าย อีกทั้งได้รับการยอมรับจากทั่วโลกจึงได้รับความนิยม
  • ปัญหาเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนกฎใหม่ของ PayPal ทำให้บัญชีผู้ใช้งานสูญเสียความสามารถในการรับและพักเงิน รวมถึงถ้าจะทำธุรกิจต่ออาจถูกบังคับให้ต้องเป็นบัญชีสำหรับธุรกิจ
  • แนวทางรับมือกฎระเบียบใหม่ของ PayPal เองก็ดูวุ่นวาย ไม่เป็นมิตรต่อฟรีแลนซ์ไปจนถึงเด็กใหม่ที่เข้าวงการเลย ทำให้ต้องรอดูว่าเมื่อเข้ามาเปิดให้บริการในไทย จะมีการแก้ไขกฎให้ใช้งานได้สะดวกขึ้นหรือไม่

---------------------
          ถือเป็นหนึ่งในประเด็นร้อนกับเรื่องของบริษัทที่เป็นช่องทางชำระเงินออนไลน์อย่าง PayPal ในการเปลี่ยนแปลงกฎที่ทำให้บรรดาศิลปินต่างแสดงความไม่พอใจบนโลกออนไลน์ กลายเป็นข้อถกเถียงวงกว้าง เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงในคราวนี้ ทำให้กฎการรับเงินจากต่างประเทศเปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง

 

          สิ่งนี้สร้างผลกระทบเป็นวงกว้างโดยเฉพาะบรรดาฟรีแลนซ์ในวงการนักวาด รวมถึงศิลปินที่รับงานจากลูกค้าต่างประเทศเป็นหลัก มีไม่น้อยที่อาศัยช่องทางนี้คอยทำเงินหล่อเลี้ยงจุนเจือชีวิต เมื่อช่องทางเหล่านี้เกิดการสะดุดหรือขาดหายอาจหมายถึงเส้นทางอาชีพของพวกเขาต้องสิ้นสุดลงเลยทีเดียว

 

          กระนั้นในช่วงเวลาที่ผ่านมาข้อมูลการชี้แจงของทาง PayPal กลับยังไม่ชัดเจน ทั้งในส่วนการติดต่อสอบทางจากหน้าเว็บไซต์ อีเมล หรือแม้แต่ทางโทรศัพท์ กลับไม่ช่วยเพิ่มความกระจ่างให้แก่ผู้ใช้จนพากันฉงน พร้อมกับหวาดหวั่นว่าจากนี้อนาคตในฐานะนักวาดและศิลปินของตนจะเป็นเช่นไร?

PayPal คืออะไร? ทำไมจึงได้รับความนิยมในการใช้งาน?
          PayPal คือ บริการทางการเงินผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ มีคุณสมบัติเป็นธนาคาร ตัวกลางในการชำระเงิน จนถึงกระเป๋าสตางค์ เปรียบเสมือนธนาคารออนไลน์ที่ให้เราสามารถสร้างบัญชีขึ้นมาได้ สามารถเชื่อมโยงกับบัญชีธนาคาร บัตรเดบิต และบัตรเครดิตของเราได้ จึงสามารถทำธุรกรรม โอนเงิน หรือใช้จ่ายระหว่างประเทศได้สะดวกขึ้นด้วยค่าบริการที่ต่ำกว่า

 

          การเติบโตของ PayPal เป็นไปอย่างมั่นคงได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่อง นอกจากในด้านธุรกรรมการเงินระหว่างประเทศแล้ว บัญชี PayPal ยังถูกนำมาใช้งานในการซื้อของหรือช็อปปิ้งออนไลน์ บรรดาแพลตฟอร์มซื้อ-ขายออนไลน์ชื่อดังทั้งหลาย ต่างรองรับการทำธุรกรรมใช้จ่ายผ่าน PayPal ไม่ว่าจะเป็น Amazon, eBay, Alibaba รวมถึงอีกหลายเจ้า ถือเป็นช่องทางชำระเงินที่ได้รับความนิยมอย่างยิ่งในต่างประเทศ โดยเฉพาะในสหรัฐฯและอังกฤษ

 

          ข้อดีอีกประการของ PayPal คือความง่ายในการสมัครและใช้งาน แค่นำบัตรเครดิต เดบิต หรือบัญชีธนาคารไว้ผูก อีเมล เบอร์โทรศัพท์มือถือ ก็สามารถเริ่มต้นใช้งานได้ทันที นอกจากนี้ยังมีคุณสมบัติในการเป็นบัญชีเงินฝากไว้สำหรับรับเงินได้อีกด้วย กลายเป็นช่องทางให้สามารถใช้สมัครในการทำธุรกรรมกับเว็บไซต์ต่างๆ โดยง่าย

 

          นับจากไตรสาม 2 ปี 2021 PayPal มีจำนวนผู้ใช้งานกว่า 400 ล้านบัญชี ทั้งสำหรับบุคคลทั่วไปและภาคธุรกิจ ถือเป็นแพลตฟอร์มชำระเงินรวมถึงทำธุรกรรมออนไลน์ที่ได้รับความไว้วางใจ เป็นช่องทางชำระเงินออนไลน์ยอดนิยมที่ได้การยอมรับมากที่สุด การทำธุรกรรมกับต่างประเทศจำนวนมากเกิดขึ้นในแพลตฟอร์มนี้ทั้งสิ้น

 

          นี่จึงกลายมาเป็นประเด็นสำคัญเมื่อ PayPal กำลังเปลี่ยนกฎซึ่งส่งผลกระทบเป็นวงกว้างแก่ผู้ใช้งาน

PayPal แพลตฟอร์มชำระเงินออนไลน์ระดับโลก

ต้นตอของปัญหากับการเปลี่ยนกฎใหม่ของ PayPal
          เรื่องนี้เริ่มต้นตั้งแต่ช่วงเดือนสิงหาคม 2563 ภายหลังการปิดรับสมัครบัญชีผู้ใช้งานใหม่ โดยเกิดขึ้นเฉพาะในประเทศไทย ถือเป็นเรื่องน่าแปลกสำหรับบริการระดับโลก กระทั่งวันที่ 6 พฤศจิกายน 2564 จึงกลับมาเปิดรับสมัครสมาชิกอีกครั้ง แต่มาพร้อมนโยบายใหม่ที่มีผลทั้งผู้สมัครใหม่และเก่า

 

          กฎใหม่ของ PayPal ถูกประกาศใช้พร้อมการเตรียมการกลับมาเปิดให้บริการแก่ชาวไทยอีกครั้ง แต่มีเงื่อนไขว่าหากบัญชีเปิดใช้งานก่อนวันที่ 7 มีนาคม 2564 จำเป็นต้องยอมรับข้อตกลงในการให้บริการของ PayPal รวมถึงต้องส่งเอกสารหลักฐานสำหรับยืนยันตัวตนก่อนวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2565 เพื่อให้สามารถใช้งานบริการได้ดังเดิม

 

          แต่นั่นไม่ได้หมายความว่ากฎเกณฑ์จะจบลง การเปลี่ยนแปลงกฎของ PayPal ส่งผลกระทบกับผู้ใช้งานทุกกลุ่ม

1. บัญชีส่วนตัว ช่องทางการใช้งานหรือชำระสินค้าสำหรับคนทั่วไป แหล่งรายได้สำคัญที่แค่มีอีเมลกับเบอร์โทรศัพท์ก็สามารถใช้งานได้ทันที แต่จากนี้จะเป็นไม่เป็นแบบนั้นอีกต่อไป เนื่องจาก

  • จำเป็นต้องมีการยืนยันตัวตนอีกครั้งด้วย โทรศัพท์มือถือ และ บัตรประชาชน
  • สามารถใช้บัตรเครดิตที่ผูกไว้ได้เช่นเดิม
  • กรณีผูกบัตรเดบิตไม่สามารถใช้งานในเว็บไทยได้อีกต่อไป แต่ยังสามารถใช้กับเว็บต่างประเทศได้
  • สูญเสียความสามารถในการเป็นบัญชีธนาคาร ไม่สามารถรับหรือพักเงินไว้ได้โดยสิ้นเชิง

 

2. บัญชีธุรกิจ เดิมมีไว้ใช้งานสำหรับกรณีนิติบุคคลต่างๆ เพื่อให้จัดแจ้งและสะดวกต่อการทำธุรกรรมจำนวนมาก แต่ตัวบัญชีธุรกิจเองก็มีข้อจำกัดเพิ่มเติมขึ้นมามากเช่นกัน

  • ต้องยืนยันตัวตนด้วยเอกสารแสดงหลักฐานทางธุรกิจ เช่น ใบเสียภาษี ใบชำระค่าน้ำค่าไฟ จนถึงการระบุที่ตั้งบริษัท
  • ต้องระบุเลขทะเบียนพาณิชย์ แต่ยังไม่แน่ชัดว่าเป็นทะเบียนพาณิชย์บุคคลธรรมดาหรือต้องเป็นนิติบุคคล
  • หากไม่ยืนยันตัวตน บัญชีธุรกิจจะถูกบังคับลดระดับเป็นบัญชีส่วนตัว
  • บัญชีธนาคารที่ใช้ต้องมีชื่อตรงกับบัญชีธุรกิจใน PayPal และต้องเป็นการถอนเงินเข้าบัญชีในไทยเท่านั้น
  • ค่าธรรมเนียมการถอนเงินแต่ละครั้งจะถูกคิดภาษีมูลค่าเพิ่มอีก 7%

 

          ที่สำคัญคือทั้งสองบัญชีต่างสูญเสียคุณสมบัติในการรับเงินในฐานะเพื่อน-ครอบครัว(ไม่เสียค่าธรรมเนียม)ไปโดยสิ้นเชิง อีกทั้งหากต้องการใช้งาน PayPal ต่อไป จำเป็นต้องเริ่มปรับตัวให้เข้ากับนโยบายใหม่ซึ่งสร้างผลกระทบแก่ฟรีแลนซ์มากมาย จนเกิดเสียงเรียกร้องภายในกลุ่มฟรีแลนซ์ที่รับเงินจากต่างประเทศเป็นจำนวนมาก

PayPal กับกฎที่เปลี่ยนไป ความตายของฟรีแลนซ์และศิลปินรุ่นใหม่ไทย

แนวทางแก้ไขเบื้องต้นจากกลุ่มฟรีแลนซ์ที่ได้รับผลกระทบ
          แน่นอนว่าจะปล่อยให้เป็นแบบนี้ต่อไม่ได้โดยเฉพาะกับฟรีแลนซ์ทั้งหลาย ภายใต้การนำเสนอข้อมูลจากดิสคอร์ดกลุ่ม Thai Creator Law & Tax ที่มีการแสดงความคิดเห็นจากทั้งนักกฎหมายและฟรีแลนซ์ที่ได้รับผลกระทบ สรุปแนวทางแก้ไขปัญหาออกมาดังนี้

1. จดทะเบียนพาณิชย์ตามข้อบังคับ
          ส่วนนี้ยังไม่มีความแน่นอนว่าจะสามารถจดทะเบียนพาณิชย์บุคคลธรรมดา หรือต้องบังคับให้จดทะเบียนพาณิชย์นิติบุคคล จำเป็นต้องรอความชัดเจนจากกฎข้อบังคับของทางฝั่ง PayPal อีกที ซึ่งจะมีข้อดี-ข้อเสียแตกต่างกันไป

 

          ถ้าจดทะเบียนพาณิชย์บุคคลธรรมดา ในกรณีมีรายได้มากกว่า 1.8 ล้านบาทต่อปีจะต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มที่จำเป็นต้องยื่นทุกเดือน รวมถึงต้องยื่นภงด.91 แม้อาจจะได้ภาษีคืนรวมถึงนำค่าใช้จ่ายมาหักลดหย่อนได้ แต่ก็จำเป็นต้องศึกษาและทำความเข้าใจระบบนี้อย่างละเอียด

 

          ในส่วนจดทะเบียนพาณิชย์นิติบุคคลจะยิ่งทวีความยุ่งยาก เริ่มจากต้องหาคนมาร่วมจดด้วย 2 ถึง 3 คน ต้องยื่นภาษีทุกเดือน อีกทั้งสิ้นปีต้องยื่นแบบภาษีเงินได้นิติบุคคลแก่สรรพากร และแบบแสดงผลประกอบการให้กรมพัฒนาธุรกิจโดยมีผู้สอบบัญชีลงนาม อีกทั้งมีค่าใช้จ่ายทางบัญชีประมาณ 20,000 บาทต่อปี

 

          แน่นอนว่านี่เป็นวิธีตรงกฎเกณฑ์มากที่สุด แต่กลับสร้างความยุ่งยากแก่ผู้ใช้บริการที่สุดเช่นกัน นอกจากต้องศึกษาเงื่อนไขการยื่นภาษีแล้ว หากถูกบังคับให้เป็นนิติบุคคลจะยิ่งทวีความซับซ้อน และเพิ่มค่าใช้จ่ายให้แก่ฟรีแลนซ์เพิ่มขึ้นไปอีก เพราะพวกเขาไม่มีรายได้แน่นอนขึ้นกับการจ้างอาจมีปัญหาในระยะยาวได้

 

          ยังไม่รวมถึงเด็กวัยรุ่นที่ต้องการหารายได้จากช่องทางนี้เองที่ต้องประสบปัญหา แค่การเรียนหรือหาช่องทางขายงานสำหรับพวกเขาก็เป็นเรื่องยากพอ การต้องมาพะวงเรื่องภาษีไปจนงานเอกสารเหล่านี้อาจตัดช่องทางทำกินและโอกาสของเด็กรุ่นใหม่โดยปริยาย

 

2. เปลี่ยนตัวกลางการรับเงิน
          ถือเป็นอีกตัวเลือกที่ถูกหยิบมาพูดถึงเช่นกัน กับทางเลือกในการย้ายเว็บให้บริการสำหรับจ่ายเงินไปยังช่องทางที่สะดวกกว่า โดยยกตัวอย่างแพลตฟอร์มจ่ายเงินของต่างประเทศเจ้าอื่นขึ้นมา เช่น Payoneer ที่เริ่มได้รับความนิยมมากขึ้นและเชื่อมโยงธนาคารกรุงเทพ หรือ Wise ที่ชูจุดเด่นในด้านเรทแลกเปลี่ยนสกุลเงินระหว่างประเทศที่สูงกว่าเจ้าอื่น

 

          แต่ก็ยังมีข้อเสียคือแพลตฟอร์มเหล่านี้ยังมีข้อจำกัดมากกว่า บางเว็บไซต์ที่ใช้ในการจับจ่ายซื้อสินค้าเองก็รับแค่ PayPal เป็นหลักไม่รับของเจ้าอื่น รวมถึงลูกค้าหรือผู้จ้างในบางครั้งก็ยังนิยมใช้งาน PayPal จากความสะดวก ทำให้หากเปลี่ยนแพลตฟอร์มรับเงินเพิ่มความยุ่งยาก อาจทำให้ลูกค้าไม่สะดวกจนตัดสินใจไม่จ้างแทน

 

3. ร้องเรียน PayPal ให้แก้ไขข้อบังคับ
          อาจเป็นทางดีที่สุดสำหรับฟรีแลนซ์ทั้งหลายในการเรียกร้องให้แก้ไขข้อบังคับ อย่างน้อยปรับปรุงให้สอดคล้องกับการใช้งาน อาจต้องยื่นหนังสือร้องเรียนต่อทาง PayPal, ยื่นต่อสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งเคยได้ผลในกรณี e-sports, ยื่นหนังสือต่อกรมสรรพากร กรมพัฒนาธุรกิจการค้า หรือธนาคารแห่งประเทศไทยให้ปรับระเบียบข้อบังคับ


          แน่นอนค่อนข้างเป็นเรื่องยากแต่หากอยากแก้ไขที่ต้นเหตุก็จำเป็นต้องทำ มิเช่นนั้นไม่ว่าพยายามย้ายเว็บไซต์หรือแพลตฟอร์มหนีขนาดไหนสักวันปัญหานี้ก็ต้องเกิด การยื่นหนังสือร้องเรียนผ่านช่องทางตามระเบียบ ถือเป็นวิธีแก้ปัญหาที่ดีอีกทางหนึ่ง
ช่องทางการสนทนากฎหมายและวิธีรับมือมาตรการของ PayPal           แน่นอนเราไม่อาจทราบได้ว่าปัญหานี้จะจบลงเช่นไรเมื่อยังไม่ถึงเวลาครบกำหนดที่บอกไว้ แต่จากแถลงการณ์ล่าสุดของ PayPal สถานการณ์อาจไม่เลวร้ายอย่างที่คิด ฟังก์ชั่นที่ขาดหายไปจากระบบกำลังอยู่ในขั้นตอนพัฒนา ระหว่างความพยายามในการเข้ามาให้บริการและจดทะเบียนนิติบุคคลในประเทศไทย จึงต้องมีการโอนย้ายข้อมูลลูกค้าภายในประเทศ

 

          จากแถลงการณ์ล่าสุดที่ผ่านมาชัดเจนว่ากฎข้อบังคับ ฟังก์ชั่น หรือรูปแบบการใช้งานยังคลุมเครืออยู่ระหว่างการปรับปรุง เราจึงต้องมารอดูกันอีกทีว่า หลังจากนี้ PayPal จะขับเคลื่อนไปในทิศทางไหน เช่นเดียวกับบรรดาฟรีแลนซ์ทั้งหลายที่ได้รับผลกระทบจะมีแนวทางรับมือและแก้ปัญหาเช่นไร คงต้องรอบทสรุปของเรื่องในปีหน้ากันอีกที

--------------------
ที่มา

logoline