svasdssvasds
เนชั่นทีวี

ORIGINAL

ชำแหละชีวิตพนักงานแบงก์ อยู่ทนหรือทนอยู่

20 พฤศจิกายน 2564
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

กลายเป็นข่าวครึกโครมเมื่ออดีตสาวแบงก์โพสต์ระบายถูกบังคับขายประกันเพราะมีผลต่อการประเมินการทำงาน สุดท้ายทนแรงกดดันไม่ไหว ยื่นใบลาออก ทำให้เห็นว่าอาชีพพนักงานธนาคาร แม้จะดูมั่นคง แต่อาจไม่ได้สวยหรูอย่างที่คิด

Highlights

  • รูปแบบการทำงานของพนักงานแบงก์เปลี่ยนไปจากสมัย 10-20 ปีก่อน ที่เน้นบริการนำการขาย แต่ปัจจุบันการขายนำบริการ
  • ผู้มีหน้าที่ขายผลิตภัณฑ์ธนาคารเป็นหลัก คือ พนักงานสาขา และต้องแบกรับความกดดันมากที่สุด
  • ผู้บริหารระดับสูงกำหนดเป้าการขาย ส่งไปยังสาขา พนักงานทุกคนต้องช่วยกันรับผิดชอบ แบ่งตัวเลขไปขาย
  • ค่าคอมมิสชั่น จากการขาย จะถูกแบ่งไปตามลำดับชั้นสายการบริหาร คือ ผู้บริหารระดับต่างๆ แต่ก้อนใหญ่เข้าธนาคารมากที่สุด พนักงานที่ขายได้ ส่วนแบ่ง % ขึ้นอยู่กับแต่ละธนาคารกำหนด 
  • หากพนักงานไม่สามารถขายได้ตามเป้า จะมีผลต่อการเลื่อนขั้น และอัตราการขึ้นเงินเดือน 
  • ลักษณะคล้าย KPI แบบสอดไส้ คือธนาคารไม่ได้กำหนดยอดขาย เป็นตัวประเมินผลงาน ( KPI) ในสัญญาจ้างงาน จึงไม่ผิดหลักธนาคารแห่งประเทศไทย แต่รูปแบบกดดันพนักงานให้ขาย ตั้งแต่ไม้อ่อนจนถึงไม้แข็ง  
  • พนักงานสาขาหลายคนทนไม่ได้ ก็ลาออก แต่หลายคนที่อดทนอยู่ เพราะหวังสวัสดิการ แต่ก็ต้องเผชิญกับ ปัญหาสุขภาพกายและสุขภาพจิต บางคนถึงกับต้องปรึกษาจิตแพทย์

-------------------- 

ชำแหละชีวิตพนักงานแบงก์ อยู่ทนหรือทนอยู่           กลายเป็นข่าวดังครึกโครม และ ถือเป็นการเปิดโปงอาชีพในแวดวงธนาคาร หลังจากที่อดีตสาวแบงค์ โพสต์ระบายความอัดอั้นตันใจในช่วงทำงาน ว่าถูกบังคับขายประกัน หากขายไม่ได้ต้องซื้อเอง เพราะมีผลต่อการประเมินการทำงาน จนสุดท้ายทนแรงกดดันไม่ไหว ยื่นใบลาออก 

 

          เรื่องนี้สะท้อนสังคมว่าอาชีพพนักงานธนาคาร แม้จะดูมั่นคง มีสวัสดิการที่ดี รายได้งาม แต่ดูเหมือนว่าจะไม่ได้สวยหรูอย่างที่คิด เพราะเต็มไปด้วยแรงกดดัน โดยเฉพาะพนักงานที่สังกัดตามสาขา ที่ไม่ได้มีหน้าที่แค่ให้บริการลูกค้า แต่ต้องขายผลิตภัณฑ์ต่างๆให้ได้ตามเป้า ทั้ง ประกัน บัตรเครดิต บัตรเดบิต 

ชำแหละชีวิตพนักงานแบงก์ อยู่ทนหรือทนอยู่           ทีมข่าวเนชั่นออนไลน์ ได้สัมภาษณ์ แหล่งข่าววงใน ซึ่งเป็นพนักงานธนาคารท่านหนึ่ง ที่คลุกคลีกับการทำงานธนาคารมากว่า 10 ปี เขายืนยันว่า เรื่องที่อดีตสาวแบงค์โพสต์นั้น เป็นเรื่องจริง 100% ทุกตัวอักษร  และไม่ได้เป็นแค่ธนาคารเดียว ธนาคารเอกชนส่วนใหญ่มักมีระบบดังกล่าวเช่นกัน

 

          ธนาคารเอกชนทุกแห่งในประเทศไทย จะมีระบบบริหารจัดการจากส่วนกลาง คือ มีสำนักงานใหญ่ที่ออกนโยบาย แล้วส่งต่อไปสู่ระดับย่อยๆ จนไปถึงระดับเล็กที่สุด นั่นคือ สาขา แต่หน่วยที่เล็กที่สุดนี้กลับต้องแบกรับความกดดันมากที่สุด ต้องหารายได้เข้าองค์กรเพราะเป็นหน่วยที่ใกล้ชิดลูกค้ามากที่สุด

ชำแหละชีวิตพนักงานแบงก์ อยู่ทนหรือทนอยู่

          ผู้บริหารระดับสูงจะมอบนโยบาย และวางเป้าการขายผลิตภัณฑ์ จากนั้น ผู้บริหารระดับกลางและระดับล่าง ต้องรับนโยบายมาส่งต่อพนักงานในสาขาทุกคนช่วยกันทำให้ได้ตามเป้า นั่นคือ ออกแนวกึ่งๆบังคับว่าต้องทำ ถ้าทำไม่ได้ จะไม่ได้ถูกโปรโมตเลื่อนขั้น ไม่ได้รับการพิจารณาขึ้นเงินเดือน  มีผลต่อความก้าวหน้าในอาชีพ


          แหล่งข่าววงใน เรียกระบบการกดดันแบบนี้ ว่าเป็น “KPI สอดไส้” ไม่เข้าข่ายผิดหลักแบงค์ชาติที่ว่า “ห้ามธนาคารกำหนดตัวชี้วัดผลงาน (KPI) โดยการกดดันพนักงานให้ขายผลิตภัณฑ์” เพราะในขั้นตอนการรับพนักงานเข้ามา ธนาคารไม่ได้ระบุเป็นลายลักษณ์อักษรในสัญญาจ้างงาน ว่าต้องขายให้ได้เท่าใด จึงไม่ถือว่าผิดหลัก ส่วนพนักงานหลายคนที่เข้ามา ก็พอทราบว่าอาจต้องมีขาย แต่สุดท้ายจึงได้รู้ว่า ต้องขายจริงจัง และหนักหน่วง ถึงขั้นกลายเป็นการบังคับเลยทีเดียว โดยธนาคารจะใช้วิธีกระตุ้นแบบละมุนละม่อมให้พนักงานทำการขาย  เช่น การออกแคมเปญ กระตุ้นให้ทุกคนช่วยกันทำเพื่อองค์กร ประมาณว่า “ช่วยองค์กรหน่อยนะ” แล้วพนักงานระดับล่างจะปฏิเสธได้อย่างไร ในเมื่อลงเรือลำนี้มาแล้ว

ชำแหละชีวิตพนักงานแบงก์ อยู่ทนหรือทนอยู่           ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน งานของพนักงานสาขาจะเปลี่ยนไปจากหน้ามือเป็นหลังมือ ย้อนไปเมื่อ 10-20 ปีก่อน การทำงานจะเน้น “บริการนำการขาย” ทั้งรับฝาก-ถอนเงิน เปิดบัญชี ให้บริการเรื่องสินเชื่อ แต่มาในช่วงหลังมานี้ กลายเป็น “การขายนำการบริการ” ยิ่งโดยเฉพาะช่วงโควิดแบบนี้ พวกเขาต้องรับผิดชอบงานขายผลิตภัณฑ์และรักษายอดอย่างหนัก ทั้งบัตรเดบิต เครดิต กองทุน รวมถึงประกันที่กำลังเป็นกระเเสในข่าว และถือว่าทำเงินมากที่สุดในบรรดาผลิตภัณฑ์ทั้งหมด 

 

          การขายผลิตภัณฑ์เหล่านี้ หากพนักงานขายได้ตามเป้าก็รอดตัวไป ได้ส่วนแบ่งหรือที่เรียกว่าคอมมิสชัน แหล่งข่าววงใน อธิบายว่า เงินที่ได้จากการขายนั้นจะถูกแบ่งเค้กให้ส่วนต่างๆ โดยหักเข้าธนาคารมากที่สุด เพราะถือว่าเป็นต้นสังกัดที่ลงทุนอบรมพนักงาน และส่งสอบเพื่อขอหรือต่อใบอนุญาต เงินส่วนนอกจากนั้น อาจกระจายให้ผู้บริหารระดับสูง ระดับกลาง ระดับล่างตามลำดับขั้น จนถึงพนักงานที่ขาย จะเหลือมาเท่าไรก็แล้วแต่นโยบาย

ชำแหละชีวิตพนักงานแบงก์ อยู่ทนหรือทนอยู่

          แล้วถ้ากรณีพนักงานขายไม่ได้ตามเป้าล่ะ จะมีผลยังไง แหล่งข่าววงในเล่าว่า โดยทั่วไปการรับยอดหรือเป้าเพื่อขาย จะถูกแบ่งกันในสาขาว่าแต่ละคนมีหน้าที่ขายเท่าไร หากมีคนในทีมทำไม่ได้ จะมีผลต่อการจัดอับดับสาขา และ มีผลต่อการขึ้นเงินเดือน หรือโบนัสของทุกคนในสาขานั้น นั่นแปลว่า งานขายคือ งานกลุ่มที่ทุกคนต้องสามัคคี และรับผิดชอบร่วมกัน  คนที่ขายไม่ได้เท่ากับเป็นหลุมดำ สุดท้ายอาจถูกลงโทษไม่ได้รับการโปรโมต  หรือกลายเป็นว่าจะอยู่ลำบากในองค์กร บางคนจึงตัดใจยอมซื้อเองจ่ายเอง เพื่อความอยู่รอดในองค์กร ทั้งที่เงินเดือนก็น้อยนิดอยู่แล้ว จึงไม่แปลกหากอดีตสาวแบงค์คนดังในข่าวจะใช้คำพูดว่า “นี่คือการรีดเลือดกับปู”

 

          ระบบนี้ทำให้มีพนักงานลาออกจำนวนมาก เพราะสภาพแวดล้อมการทำงานกระทบต่อสุขภาพกาย และสุขภาพจิต คนที่ยังอยู่ต้องใช้ความอดทนสูงมาก สามารถเรียกได้ว่า ทั้งอยู่ทน และ ทนอยู่ เพราะแม้ระบบจะกดดัน ทำให้พวกเขาไม่มีความสุขกับการทำงาน แต่อย่างน้อยก็มีสวัสดิการ แหล่งข่าววงในเผยว่า มีพนักงานหลายคนถึงกับต้องไปปรึกษาจิตแพทย์ เพราะถูกกดดันการทำงานนานหลายปี 

ชำแหละชีวิตพนักงานแบงก์ อยู่ทนหรือทนอยู่

          แม้ว่าระบบบริหารงานแบบนี้ คือความอยู่รอดของธุรกิจ แหล่งข่าววงในท่านนี้ ได้เรียกร้องว่า ขอให้ธนาคารเห็นใจพนักงานตัวเล็กๆเหล่านี้บ้าง ควรให้ผู้บริหารระดับสูงลงมาสัมผัสความเหนื่อยยากของพนักงานสาขาบ้าง ไม่ใช่ออกแต่นโยบาย นอกจากนี้ หน่วยงานที่รับผิดชอบดูแลธนาคารพาณิชย์ควรเข้ามาตรวจสอบ และใส่ใจสวัสดิภาพของพนักงานธนาคารระดับสาขาอย่างจริงจัง 

 

          อย่าให้อาชีพนี้กลายเป็นอีก 1 อาชีพยอดแย่ที่เยาวชนไม่อยากทำมากที่สุด รายได้ที่ดี หากมาพร้อมสวัสดิภาพการทำงานที่ตกต่ำ ก็คงไม่มีใครอยากทำ

ชำแหละชีวิตพนักงานแบงก์ อยู่ทนหรือทนอยู่

logoline