svasdssvasds
เนชั่นทีวี

ORIGINAL

Indy Autonomous Challenge : อีกก้าวของศึกยานยนต์อัตโนมัติ

04 พฤศจิกายน 2564
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ในวันที่ยานยนต์อัตโนมัติอยู่ใกล้แค่เอื้อม ด้วยแรงผลักดันจาก Tesla ในโลกของการแข่งขัน รถยนต์ที่ไร้คนขับหลังพวงมาลัยเหล่านี้ กำลังจะกลายเป็นองค์ประกอบของการชิงเจ้าความเร็วรูปแบบใหม่ในวงการมอเตอร์สปอร์ต

Highlights

  • ยานยนต์อัตโนมัติ หรือ Autonomous Vehicle คืออีกหนี่งเทรนด์ที่อุตสาหกรรมรถยนต์กำลังมุ่งหน้าไป ควบคู่กับยานยนต์ไฟฟ้า
  • และในอนาคตอันใกล้ กีฬามอเตอร์สปอร์ตที่ปราศจากคนขับ ก็กำลังจะกลายเป็นความจริงในไม่ช้า
  • นอกจาก Roborace ที่สปินออฟจาก Formula E แล้ว Indy Autonomous Challenge ก็เป็นอีกรายการที่ถูกพัฒนาขึ้น เพื่อเป็นเวทีให้วิศวกรและนักพัฒนารุ่นใหม่ ได้แสดงฝีมือในการปรับแต่งรถ ที่ทำความเร็วบนสนามได้เกือบ 300 กม./ชม.

--------------------

          เสาร์ที่ 23 ต.ค. ที่ผ่านมา ถือเป็นอีกก้าวสำคัญของวงการมอเตอร์สปอร์ต และอุตสาหกรรมรถยนต์

 

          เมื่อการแข่งขันยานยนต์อัตโนมัติ Indy Autonomous Challenge ครั้งแรก ถูกจัดขึ้นที่สนาม Indianapolis Motor Speedway และผ่านพ้นไปด้วยดี หลังจากไอเดียนี้ถูกริเริ่มขึ้น ตั้งแต่เมื่อสองปีก่อน และเจอกับความท้าทายหลายต่อหลายครั้งในช่วงที่ผ่านมา

 

ยานยนต์อัตโนมัติคืออะไร?
(ระบบขับเคลื่อนอัตโนมัติของ Tesla คือหนึ่งในเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าที่สุดในปัจุจบัน / ภาพจาก Electrek)

          ยานยนต์อัตโนมัติ (Autonomous Vehicle) คือหนึ่งในเทคโนโลยีที่อยู่ระหว่างถูกผลักดันให้เป็นจริง ควบคู่ไปกับยานยนต์ไฟฟ้า (Electric Vehicle)

 

          ด้วยแนวคิดที่ว่าความแม่นยำของเซนเซอร์ตรวจจับระยะทางและความลีก กล้อง ระบบอัตโนมัติ และปัญญาประดิษฐ์ จะช่วยลดอุบัติเหตุ รวมถึงปัญหาการจราจรในอนาคตได้ดีกว่ายานพาหนะที่ขับโดยมนุษย์

          ระดับของยานยนต์อัตโนมัติ ที่กำหนดโดยสมาคมวิศวกรยานยนต์นานาชาติ หรือ SAE มีดังนี้

  • ระดับ 0 มนุษย์เป็นผู้ควบคุมทั้งระบบ
  • ระดับ 1 ระบบช่วยเหลือการขับรถของมนุษย์ (ตัวอย่างง่าย ๆ คือ cruise control ในรถรุ่นทั่วไป)
  • ระดับ 2 มนุษย์ยังเป็นผู้ควบคุมหลัก ระบบอัตโนมัติทำหน้าที่ประคองรถไม่ให้ออกนอกเลน รวมถึงเร่ง/ลดความเร็วตามสถานการณ์ แต่ผู้ขับยังต้องคอยสังเกตการณ์สภาพแวดล้อม และพร้อมดึงการควบคุมกลับมาในสถานการณ์ฉุกเฉิน ตัวระบบมักแจ้งเตือนเป็นระยะเมื่อผู้ขับปล่อยมือจากพวงมาลัย (เช่นระบบ Autopilot ใน Tesla)
  • ระดับ 3 ระบบอัตโนมัติสามารถตรวจสอบสภาพแวดล้อม และควบคุมรถได้ แต่คนขับมนุษย์จะต้องพร้อมที่จะเข้าควบคุมรถในกรณีที่มีความจำเป็น (ปัจจุบัน ยังไม่มีรถระดับ 3 ที่มีกฎหมายรับรอง แม้ ฮอนด้า Legend รุ่นปี 2021 ที่ผ่านเกณฑ์นี้ จะวางจำหน่ายแบบจำกัดจำนวนในญี่ปุ่นแล้วก็ตาม)
  • ระดับ 4 ระบบสามารถตรวจสอบสภาพแวดล้อมและขับขี่ได้ โดยไม่มีมนุษย์ควบคุม แต่ทํางานเฉพาะในสภาพแวดล้อมและเงื่อนไขที่กำหนดไว้ (Waymo บริษัทลูกของ Google อยู่ในกลุ่มนี้ แต่การวิ่งเป็นในลักษณะเพื่อทดสอบ หรือให้บริการโรโบแท็กซี่ในพื้นที่จำกัด)
  • ระดับที่ 5 ระบบอัตโนมัติทำงานสมบูรณ์แบบเทียบเท่ามนุษย์ (ยังไม่มีรถที่ได้รับการรับรอง แม้ Tesla จะยืนกรานว่าเทคโนโลยี Full Self Driving ของบริษัททำงานได้ในระดับนี้แล้ว)

ยานยนต์อัตโนมัติในสนามแข่งขัน
(Roborace การแข่งชิงเจ้าความเร็วที่ไม่มีมนุษย์นั่งหลังพวงมาลัย / ภาพจาก Roborace)

          การแข่งขันรถรายการต่าง ๆ จากอดีตจนถึงปัจจุบัน ก็คือสนามทดลองเทคโนโลยีใหม่ ๆ ซึ่งจะถูกนำมาต่อยอดสำหรับการใช้งานบนท้องถนน

 

          ในกรณีของยานยนต์ไฟฟ้า หรือแม้แต่ยานยนต์อัตโนมัติก็เช่นกัน

 

          สำหรับยานยนต์ไฟฟ้านั้น มี Formula E ที่ริเริ่มโดย ฌอง ทอดท์ ประธาน FIA และ อเลฮานโดร อากาก มาหลายฤดูกาลแล้ว

 

          รวมถึงเป็นการปูทางไปสู่ Roborace ที่แยกออกมา ในฐานะรายการสาธิต ตั้งแต่ฤดูกาล 2016-2017 และเริ่มเข้าสู่การทดสอบตั้งแต่ปี 2019 เป็นต้นมา

 

          หลังจากผ่านช่วงทดสอบ อัลฟา และ เบต้า มาสองฤดูกาล พร้อมสร้างสถิติในกินเนสส์บุ๊ค ในฐานะยานยนต์อัตโนมัติที่เร็วที่สุดในโลก (282.42 กม./ชม.) ทางผู้จัดก็ประกาศว่า Roborace จะเริ่มแข่งขันอย่างเป็นทางการในปี 2022

 

ศึกยานยนต์อัตโนมัติระดับมหาวิทยาลัย
(9 ทีมจากตัวแทนนักศึกษามหาวิทยาลัยทั่วโลก ในการแข่งขันยานยนต์อัตโนมัติครั้งประวัติศาสตร์ / ภาพจาก IAC)           Indy Autonomous Challenge หรือ IAC เป็นการแข่งยานยนต์อัตโนมัติอีกรายการที่อยู่ระหว่างผลักดันให้เกิดขึ้น

 

          ไอเดียของ IAC นั้น ต้องย้อนกลับไปตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2019 ด้วยแนวคิดที่จะให้นักศึกษาระดับมหาวิทยาลัยได้มีส่วนร่วมพัฒนาซอฟต์แวร์สำหรับยานยนต์อัตโนมัติ โดยใช้บรรยากาศในสนามแข่งรถเพื่อเพิ่มความท้าทาย

 

​​​​​​​          เพื่อความเท่าเทียม และวัดกันที่ความสามารถในการเขียนอัลกอริทึมของนักศึกษา ทางฝ่ายจัดการแข่งขันกำหนดให้ทุกทีมใช้รถรุ่นเดียวกัน คือ Dallara AV-21 ซึ่งเป็นแชสซีส์แบบเดียวกับที่ใช้ในรายการ Indy Lights

 

​​​​​​​          หลังจากเปิดให้ลงทะเบียน มีนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยทั่วโลกกว่า 45 แห่ง แสดงความสนใจเข้าร่วม ก่อนจะเข้าสู่กระบวนการคัดเลือก ทั้งในรูปแบบจำลอง และสนามจริง จนเหลือ 20 ทีมสุดท้ายตามแผนที่วางไว้ในทีแรก

 

​​​​​​​          แต่ปัญหาจากการระบาดของโควิดในรอบเกือบสองปีมานี้ ทำให้หลาย ๆ ทีมไม่สามารถระดมทุนได้เพียงพอเพื่อเข้าร่วม จนสุดท้ายก็เหลือทีมที่เข้าแข่งเพียง 9 ทีม ซึ่งทั้งหมดมีเวลาเตรียมตัว 50 วัน ทั้งที่ Indianapolis Motor Speedway (IMS) และ Lucas Oil Raceway ในบริเวณใกล้เคียง

 

​​​​​​​          เพื่อให้พร้อมสำหรับการแข่งขันในรอบสุดท้าย ในวันที่ 23 ตุลาคม 2021

 

รอบสุดท้าย และอนาคตของวงการยานยนต์
(TUM จากมิวนิค ทำผิดพลาดน้อยที่สุด และเป็นผู้ชนะของรายการ / ภาพจาก ROS.org)

          เดิมในการแข่งรอบสุดท้าย ที่สนาม Indianapolis Motor Speedway ระยะทาง 2.5 ไมล์ นั้น ทางผู้จัดวางแผนไว้ให้การแข่งแบบเฮดทูเฮด จำนวน 20 รอบ

 

          แต่ด้วยความไม่พร้อมในหลาย ๆ ด้าน ทำให้รูปแบบเปลี่ยนเป็นการปล่อยรถทีละคันเพื่อจับเวลา โดยรถที่มีความเร็วเฉลี่ยดีที่สุดจะได้ตำแหน่งแชมป์ไปครอง

 

          สำหรับ 9 ทีมที่ผ่านเข้ามาถึงจุดนี้ ประกอบด้วย

  1. TUM Autonomous Motorsport (มหาวิทยาลัยเทคนิคแห่งมิวนิค)
  2. Euroracing (มหาวิทยาลัยโมเดนาและเรจโจ เอมิเลีย/มหาวิทยาลัยปิซา/สถาบันวิทยาศาสตร์แห่งโปแลนด์/ETH ซูริค)
  3. Polimove (วิทยาลัยโปลีเทคนิคแห่งมิลาน)
  4. Cavalier Autonomous Racing (มหาวิทยาลัยเวอร์จิเนีย)
  5. KAIST (สถาบันวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเกาหลี)
  6. AI Racing Tech (มหาวิทยาลัยฮาวาย และมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย)
  7. MIT-PITT-RW (MIT/มหาวิทยาลัยพิตต์สเบิร์ก/สถาบันเทคโนโลยีโรเชสเตอร์/มหาวิทยาลัยวอเตอร์ลู)
  8. Autonomous Tiger Racing (มหาวิทยาลัยออเบิร์น)
  9. Black & Gold Autonomous Racing (มหาวิทยาลัยเพอร์ดิว และ เตรียมทหารเวสต์พอยท์)

 

          ในการแข่งขันจริง ทั้ง 9 ทีมจะมีโอกาสทดสอบรถในสนาม Indianapolis Motor Speedway 4 รอบ และจับเวลาอีก 2 รอบ

 

          ผลปรากฎว่ารถส่วนใหญ่แข่งขันไม่จบ เสียหลักพุ่งชนกำแพงของสนาม IMS เกือบทั้งหมด

 

          TUM Autonomous Motorsport จากมหาวิทยาลัยเทคนิคมิวนิค ได้แชมป์รายการนี้ไปครอง ด้วยเวลารวมดีที่สุด ทำความเร็วสูงสุดที่ 135.944 ไมล์/ชม. หรือ 218 กม./ชม. รับเงินรางวัล 1 ล้านดอลลาร์

 

          ถัดมาคือ EuroRacing ซึ่งทำความเร็วได้สูงสุดในรอบแรกที่ 223 กม./ชม.

 

          แต่ความผิดพลาดของทีมงาน ที่ตีความกติกาการแข่งขันผิด โปรแกรมการวิ่งของรถไว้เพียง 5 รอบ (วอร์มอัพ 4 รอบ + การแข่ง 1 รอบ) แทนที่จะเป็น 6 รอบ (วอร์มอัพ 4 รอบ + จับเวลา 2 รอบ)

 

          แม้รถจะวิ่งต่อได้ในรอบที่ 6 แต่ก็ทำความเร็วได้ที่ 144 กม./ชม. ทำให้เวลาเฉลี่ยสองรอบด้อยกว่า TUM โดยปริยาย

 

          "นี่เป็นความท้าทายที่น่าทึ่ง นักศึกษาที่เก่งที่สุดจากมหาวิทยาลัยที่ดีที่สุดทั่วโลกมาร่วมแข่งขันเพื่อเขียนซอฟต์แวร์ ที่จะส่งผลต่ออนาคตของอุตสาหกรรมยานยนต์" คือความเห็นของ พอล มิทเชลล์ ประธานและซีอีโอของ Energy Systems Network และหนึ่งในผู้ร่วมจัดการแข่งขัน

 

          "ความหลากหลายของสมาชิกในแต่ละทีม จากตัวแทนของ 4 ทวีป แสดงให้เห็นถึงความยอดเยี่ยมและทะเยอทะยานของวิศวกรรุ่นใหม่ทั่วโลก"

--------------------

SOURCE

logoline